คำปราศรัยอย่างชนิด “มันปาก” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าคนขับรถแท็กซี่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร และสะท้อนอะไรบ้าง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จะพูดจะถามในวันนี้
เพราะที่สงสัยมานานวันตั้งแต่ปี 2545 แล้วก็คือการที่ท่านพูดต่อเนื่องมาหลายครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันถึงความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ในทำนองว่า....
ได้ดื่ม “น้ำพระพิพัฒน์สัตยา” มาแล้ว !
ล่าสุดในคำปราศรัยนัดมันปากเมื่อ 3 วันก่อน ก็พูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งในประโยคต่อไปนี้
“เอะอะอะไรก็กล่าวหาว่าผมไม่จงรักภักดี ปัดโธ่...ถ้านายกฯไม่จงรักภักดีแล้วผีที่ไหนจะไปจงรักภักดีวะ ผ่านโรงเรียนทหารตำรวจมาแล้ว โดดร่ม ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ได้รับพระราชทานเหรียญจุลจอมเกล้าฯ อย่างนี้ไม่เรียกว่าจงรักภักดีแล้วใครจะจงรักภักดี เอ็งเอาอะไรมาพูด...”
ครั้งแรกที่ได้ยิน คือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในระหว่างการอ่านคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในดีที่ถูกกล่าวหาว่าแจ้งบัญชีรายการทรัพย์สินไม่เป็นความจริง
ครั้งที่เป็นการแถลงพร้อมน้ำตา
"ชีวิตผมก็ผ่านการปฏิญาณตนทุกวัน ตอนเป็นนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อยตำรวจ มาถึง 6 ปี เคยดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งสัจจาธิษฐานว่า จะต้องตายด้วยคมหอกคมดาบ หากทรยศต่อชาติ และราชบัลลังก์"
ครั้งต่อมาที่ได้ยินชัดเจน ก็คือเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 ท่านได้พูดในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวาระรายงานผลการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
“ผมเองดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยามา เป็นรัฐมนตรี ผมถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาไม่ต่ำกว่า 8 ครั้ง ผมได้รับสมรสพระราชทาน พรที่พระราชทานก็ถูกใช้และได้นำมาใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ในการดำรงชีวิตคู่ของผมตลอดมา เพราะฉะนั้นเรื่องเทิดทูนเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ท่านไม่ต้องห่วง"
นอกจากนั้น ยังมีอีกบางครั้งที่ท่านกล่าวในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ท่านใช้คำตรงกันว่า “ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา” คือไม่มีคำว่า “พระ” อยู่ด้วย
ก็ไม่รู้ว่าเหมือนกับ “ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ตามที่คนทั่วไปเข้าใจหรือไม่
การดื่มพระพิพัฒน์สัตยาตามที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น จะต้องกระทำใน “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” อันเป็นพระราชพิธีที่กระทำต่อเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นพระราชพิธีสำหรับบุคคลที่ได้รับพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” เท่านั้น !
ไม่ใช่พระราชพิธีสำหรับทหารตำรวจทุกคน
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตัวสะกดที่ถูกต้องแต่เดิมคือ “น้ำพระพิพัทธ์สัตยา” โดยคำ “พัทธ” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผูกมัด” ส่วน “สัตยา” น่าจะมาจากคำว่า “สัตฺยปาน” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “น้ำสัตยสาบาน” คำนี้ในรูปภาษาบาลีคือ “สัจจปาน” ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า...
“พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล”
"ปานะ" แปลว่า "เครื่องดื่ม" หรือ "น้ำสำหรับดื่ม" นั่นเอง
คำว่า “พิพัทธ์สัตยา” เปลี่ยนไปเป็น “พิพัฒน์สัตยา” ในกาลต่อมา
ถือเป็นพระราชพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีอย่างถึงที่สุด
สังคมไทยได้แบบอย่างมาจากขอม ซึ่งรับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง
พิธีกรรมที่ทำคือ ทำพิธีให้น้ำเกิดความศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “น้ำพิพัฒน์สัตยา” แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธต่าง ๆ ลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำเพื่อสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ ก็ให้มีอันเป็นไปด้วยอาวุธหอกดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนดื่ม
แต่โบราณกาลมา (ก่อนปี 2475) ผู้ที่ถือน้ำในพิธีดื่มน้ำสาบานได้แก่
- ข้าราชการประจำ
- ศัตรูที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- ทหารที่ถืออาวุธ
แต่โบราณกาลนั้น การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการประจำทำปีละ 2 ครั้ง คือในเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำ และในเดือน 10 แรม 13 ค่ำ
เป็นพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีเว้นว่าง เพราะมีคำอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง
วัตถุประสงค์อันสำคัญของพิธีนี้เพื่อหวังจะหล่อหลอมกล่อมขวัญของบรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนให้ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ตั้งหน้าปฏิบัติราชการแผ่นดินแต่ในทางที่ถูกที่ควร
มาจากตามแนวคิดที่ว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพ และพระมหากษัตริย์แต่ก่อนก็ล้วนทรงเป็นนักรบ ดังนั้นจึงได้ยึดถือเอาการกระทำสัตย์ปฏิญาณตนด้วยวิธีดื่มน้ำชำระล้างอาวุธ ถือว่าการถือน้ำฯเป็นพิธีสำคัญที่บรรดาข้าราชการผู้มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความยุติธรรมแห่งบ้านเมืองจะขาดเสียไม่ได้ ถึงกับตราเป็นตัวบทไว้ในกฎมณเฑียรบาลไว้ว่า
1. ผู้ที่ขาดการถือน้ำพิพัฒน์สัตยามีโทษถึงตาย เว้นแต่ป่วยหนัก
2. ห้ามสวมแหวนนาก แหวนทอง มาถือน้ำ
3. ห้ามบริโภคอาหารหรือน้ำก่อนดื่มน้ำ
4. ดื่มน้ำแล้วห้ามยื่นน้ำที่เหลือให้แก่กัน
5. ดื่มแล้วต้องราดน้ำที่เหลือลงบนผมของตน
ข้อปฏิบัติดังกล่าว ระวางโทษไว้เหมือนหนึ่งว่าเป็นกบฏ คือโทษใกล้ความตาย ทั้งนี้เพื่อประสงค์จะให้น้ำพิพัฒน์สัตยาที่ทำขึ้นนั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และดื่มในโอกาสแรกของวันนั้น
แต่ต่อมาภายหลัง ปรากฏว่าวิธีการเช่นนั้นทำความลำบากให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทนหิวไม่ได้ จนอาจถึงกับมีอันเป็นไปก่อนพิธี รัชกาลที่ 5 จึงทรงอนุญาตให้บริโภคอาหารมาก่อนได้และไม่ถือว่าเป็นกบฏ การดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแต่เดิม พระมหากษัตริย์มิได้เสวยด้วย
แต่ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า องค์พระมหากษัตริย์นั้นทรงมีมีพระราชภารกิจที่จะต้องปฏิบัติราชการแผ่นดิน เพื่อความเจริญของประเทศชาติและเพื่อความสุขแห่งปวงชนด้วย ก็ควรที่จะเสวยสำแดงความสุจริตในพระราชหฤทัยด้วย จึงได้เสวยร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทมาตั้งแต่ปีแรกที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
นับแต่นั้นมา พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มาก็ได้ทรงถือเป็นเยี่ยงอย่างการปฏิบัติสืบต่อมา
พิธีกรรมทำน้ำให้ศักดิ์สิทธิ์ก็คือการสวด “โองการแช่งน้ำ” !
โองการแช่งน้ำเป็นบทสวดที่ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ให้ข้าราชบริพารมาสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกษัตริย์ มิฉะนั้นจะมีอันเป็นไปด้วยเหตุร้ายต่าง ๆ เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 – ร่ายนำ 3 บท สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม โดยอธิบายลักษณะของแต่ละองค์ให้เห็นชัด แล้วลงท้ายด้วยการแทงศรศักดิ์สิทธิ์แต่ละเล่มลงไปในน้ำที่ใช้ดื่มเพื่อทำพิธี
ส่วนที่ 2 – กล่าวย้อนไปถึงความเป็นมาของโลก ที่เชื่อกันว่าโลกจะแตกดับเป็นคราว ๆ ก่อนพระพรหมสร้างขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นด้วยไฟบรรลัยกัลป์มาล้างโลกใบก่อน
ส่วนที่ 3 -- เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นพยานและลงโทษผู้ทรยศการถือน้ำ คือ พระรัตนตรัย เทพ ภูติผีปีศาจ
มองในเชิงสังคม จะเห็นได้ว่าเป็นส่วนผสมของ 3 ศาสนา คือ พุทธศาสนา พราหมณ์ (ฮินดู) และความเชื่อพื้นเมือง (ผี)
เพราะมีทั้งพระนารายณ์ พระศิวะ พระพรหม มีแม้แต่พระรามพระลักษณ์ ส่วนผีพื้นเมืองก็คือเจ้าป่า (ภูติพนัสบดี) ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร ซึ่งพบในลิลิตพระลอ เป็นผีดั้งเดิมในถิ่นแหลมทอง
ส่วนที่ 4 -- แจกแจงรายละเอียดการลงโทษอย่างพิลึกน่าสะพรึงกลัว ด้วยการตายในสารพัดรูปแบบ และการให้รางวัลผู้ซื่อสัตย์ด้วยดี เช่นการปูนบำเหน็จรางวัลและยศศักดิ์
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตนาดั้งเดิมมาเลิกไปเมื่อถึงยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
มาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลปัจจุบัน
โดยผนวกเป็นการเดียวกับพระราชพิธีพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” หรือพูดง่าย ๆ ว่าคือ “เหรียญกล้าหาญ” ของประเทศไทย
จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2512 นี่เอง !
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้มีมาตั้งแต่ปี 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ราชการทหารเป็นกิจการพิเศษ จำต้องใช้กำลังและปัญญาอย่างอุกฤษฏ์ พร้อมที่จะสละชีวิตและร่างกายเป็นราชพลี จึงสมควรให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพิเศษ
ได้มีการกำหนดฐานันดรของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานตามชั้นยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เป็น 4 ชั้นและระดับเหรียญอีก 2 ชั้น รวมเป็น 6 ชั้นด้วยกัน คือ
ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี ใช้อัษรย่อ ส.ร. ประกอบด้วย ดารารูปไข่ ทำด้วยทอง มีปลายแหลมออกไปทั้ง 4 ทิศ กลางดาราด้านหน้าเป็นรูปพระปรศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ อยู่บนพื้นลงยาสีลูกหว้าอ่อน ด้านหลังเป็นรูปอักษรพระปรมาธิไธยย่อ ร.ร. กับเลข 6 อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ บนพื้นลงยาสีขาว ขอบสีขาบ มีรัศมีเงินแฉกใหญ่ 8 แฉก รัศมีทองแฉกเล็กแทรก 8 แฉก การประดับให้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย แพรแถบสายสะพายกว้าง 10 เซนติเมตร สีดำมีริ้วแดงกว้าง 2 เซนติเมตร อยู่ใกล้ขอบทั้ง 2 ด้าน มีดวงตราสำหรับห้อยกับสายสะพาย เป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลายรูปอย่างเดียวกับกลางดาราแต่ไม่มีรัศมี สายสะพายนี้ให้สวมเฉียงจากขวาไปซ้าย
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน ใช้อัษรย่อ ม.ร. ประกอบด้วยดารา มีลักษณะเช่นเดียวกับเสนางคะบดี แต่ใช้ประดับที่หน้าอกเบื้องขวา ดวงตรามีลักษณะเช่นเดียวกับเสนางคะบดี แต่ใช้ห้อยแพรแถบ กว้าง 45 มิลลิเมตร สีเดียวกับสายสะพายเสนางคะบดี สำหรับห้อยคอ
ชั้นที่ 3 โยธิน ใช้อัษรย่อ ย.ร. มีดวงตราลักษณะเดียวกับมหาโยธิน ห้อยกับแพรแถบคล้องคอ ไม่มีดารา
ชั้นที่ 4 อัศวิน ใช้อัษรย่อ อ.ร. มีดวงตราลักษณะเดียวกับโยธิน แต่ขนาดย่อมกว่า ใช้ห้อยกับแพรแถบ ขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ใช้อัษรย่อ ร.ม.ก. ตัวเหรียญเป็นรูปไข่ ทำด้วยเงิน ด้านหน้าเป็นรูปปรศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. กับเลข 6 อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ห้อยกับแพรแถบ กว้าง 32 มิลลิเมตร มีเครื่องหมายวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ในกรณีแต่งเครื่องแบบ ให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ในกรณีที่แต่งชุดสากลให้ประดับที่คอพับเสื้อนอกเบื้องซ้าย ใต้ดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา มีลักษณะเช่นเดียวกับชั้นที่ 5 แต่ไม่มีเครื่องหมายวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีการระงับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ไประยะหนึ่ง จนถึงรัชกาลปัจจุบันเมื่อปี 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีขึ้นใหม่
ถวายเป็นพระราชอำนาจแด่พระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้โดยไม่ต้องผ่านผู้ใด
ผู้ที่จะได้รับพระราชทาน กฎหมายได้กำหนดลักษณะความชอบไว้ว่า ต้องทำความดีความชอบเป็นพิเศษ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควร
ผู้ที่มีเกียรติอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ อาจพระราชทานได้เป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตั้งแต่ชั้น 4 อัศวิน ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร ลงพระปรมาภิไธย และประทับตราพระราชลัญจกร
ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้น 5 และชั้น 6 จะประกาศนามในราชกิจจานุเบกษาอย่างเดียว ไม่มีประกาศนียบัตร
เมื่อผู้ได้รับวายชนม์หรือได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นไม่ต้องส่งคืน เว้นแต่จะทรงเรียกคืนเป็นกรณีไป
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่เคยได้รับพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” ไม่ว่าชั้นใดทั้งสิ้น
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจึงไม่ได้เข้าร่วมพระราชพิธี “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัต ยา” ซึ่งกระทำต่อเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในพระอุโบ สถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่ในเมื่อท่านพูดมาหลายครั้งในรอบ 4 ปีมานี้ว่าผ่านการ “ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา” มาแล้ว
จึงก่อให้เกิด “คำถาม” ที่ท่านควรจะต้องตอบและอรรถาธิบายประชาชนให้กระจ่าง
อย่าคิดว่านี่เป็นคำถามที่มาจาก “ใคร” เหมือนที่เป็น ๆ มา
ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ – เชื่อกัลยาณมิตรคนนี้เหอะ !