เจาะลึก SU – 30 MK
ข้อจำกัดในเกณฑ์พิจารณาเลือกซื้อ
ปัญหาและค่าใช้จ่ายที่จะบานทะโรค
ก่อนที่สนธิ ลิ้มทองกุลจะเปิด “ทีเด็ด” ใน SU – 30 MK ภาค 2 ในวัน “ศุกร์กันเถอะเรา” พรุ่งนี้ที่เวทีกลางแจ้ง สวนลุมพินี วันนี้ขอ “เซี่ยงเส้าหลง” สรุปประเด็นความเป็นมาปูพื้นรองรับสักเล็กน้อย
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือไม่เคยบอกว่า SU – 30 MK ดีหรือไม่ดี
เพียงแต่บอกเล่าและตั้งคำถามใน 2 ประเด็น
1. ความเหมาะสมกับภารกิจที่ประเทศไทยต้องการมีไว้ใช้งาน และวิธีเลือกซื้ออย่างชนิด “มองป่าทั้งป่า” คือให้เข้ากับระบบป้องกันภัยทางอากาศของทั้งประเทศโดยองค์รวม และค่าใช้จ่ายทั้งระบบ
2. แนวโน้มความไม่ชอบมาพากล ที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีการบีบบริษัทผู้ผลิตให้เปลี่ยนเอเยนต์ในประเทศไทยให้เป็นพรรคพวกตัวเอง
3. พฤติกรรมในข้อ 2 ที่ขัดหลักธรรมาภิบาล และอาจถึงขั้นขัดกฎหมาย ของอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็น “เพื่อนเขย” ของคุณหญิงของนายกรัฐมนตรี
4. ทวงถามคำมั่นสัญญาที่ว่าจะจัดการกับการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาดจากนายกรัฐมนตรี
ซึ่งก็เห็นมีแต่ชี้แจงกันไปข้าง ๆ คู ๆ
หรือไม่ก็โกหกกันหน้าด้าน ๆ
นั่นก็เป็นเรื่องที่สนธิ ลิ้มทองกุลจะฉีกเป็นชิ้น ๆ ในวันพรุ่งนี้ที่เวทีกลางแจ้ง สวนลุมพินี
เพื่อความเร้าใจในการติดตาม โปรดรับรู้ความเป็นมาพื้นฐานดังต่อไปนี้ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จะพยายามเรียบเรียงด้วยภาษาชาวบ้านง่าย ๆ เป็นลำดับ ๆ ไป
ก่อนอื่น การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทนเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ F - 5 E/F
กองทัพอากาศ (ทอ.) มี F - 5 E/F ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 28 เครื่อง ที่กองบิน 4 และกองบิน 7
จำนวนหนึ่งผ่านการซ่อมใหญ่ยืดอายุการใช้งานมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยว่าจ้างบริษัทต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
แต่จะหมดอายุการใช้งานอย่างสิ้นเชิงในปี 2550
จึงต้องมีการจัดหาทดแทนให้เต็มอัตราการบรรจุ/ประจำการให้ทันเวลาและสถานการณ์
เพื่อวางกำลังไว้ ณ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี สำหรับยุทธศาสตร์เหนือภาคใต้ ภาคตะวันตกตอนใต้อ่าวไทย และทะเลอันดามัน
โครงการจัดหาได้เริ่มต้นตั้งแต่ 2542 แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคด้านงบประมาณจากวิกฤตเศรษฐกิจ การจัดหาและการตัดสินใจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นตามเป้าหมาย ทำให้เกิดการล่าช้า
เมื่อถึงขณะนี้ หากการจัดหาล่าช้าออกไปจะไม่มีเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เข้าประจำการทันเวลา เกิดความเสียหายต่อทางยุทธศาสตร์ของ ทอ. และยุทธศาสตร์รวมของแผนป้องกันประเทศ ที่บรรจุอยู่ใน 2 แผน
“แผนยอดฟ้า”
และ...
“แผนจักรี”
ทอ. จึงต้องรับนโยบายจากรัฐบาลในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในรูปแบบการค้าต่างตอบแทนกับประเทศผู้สร้างเครื่องบิน
ทอ. ต้องการเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ 1 ฝูง ขนาดฝูง 4 หมู่บิน (18 เครื่อง) โดยประจำการในหมู่เป็นปกติ 16 เครื่อง และอะไหล่อีก 2 เครื่อง อันเป็นฝูงบินมาตรฐานโดยทั่วไป โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด
การจัดหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดำเนินการหลายด้านจากหลายประเทศผู้ผลิตคือ
• การพิจารณาเครื่องบินของอังกฤษ คือ HAWK - 300 โดยมี พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ เป็นประธานกรรมการตามคำสั่ง ทอ. (เฉพาะ) ที่ 295 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2547
• การพิจารณาเครื่องบิน AN - 74 แทนการชำระหนี้ค่าข้าวของรัสเซียที่ยังค้างชำระอยู่ โดยมี พล.อ.ท.สมหมาย ดาบเพ็ชร เป็นประธานกรรมการ ตามคำสั่ง ทอ. (เฉพาะ) ที่ 377 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2547
• การพิจารณาเครื่องบินจากสวีเดน คือ JAS - 39 GRIPPEN ผู้บัญชาการทหารอากาศมอบหมายให้กรมยุทธการทหารอากาศ (ยก.ทอ.) รับผิดชอบ
• การพิจารณาเครื่องบิน SU - 30 MK จากรัสเซีย ในส่วนของกองทัพอากาศยังไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบ เพราะในส่วนของกระทรวงกลาโหมเอง ก็ได้มีการพิจารณาในภาพรวมของทุกเหล่าทัพ ว่าเหล่าทัพใดมีความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเช่นไรบ้าง โดยประสานรายละเอียดการจัดหาจากรัสเซียของกองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพ ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน
โดย SU - 30 MK ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย
ทอ. จึงยังมิให้กำหนดผู้รับผิดชอบโดยตรง เพราะต้องรอการพิจารณาของกระทรวงกลาโหมเป็นหลักก่อน
กระทรวงกลาโหมได้แต่งตั้งรองปลัดกระทรวงกลาโหม (สายงานด้านการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ) เป็นประธานกรรมการ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้แทน และผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือผู้แทน ร่วมเป็นกรรมการ กำหนดหน้าที่พิจารณาข้อเสนอความต้องการการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย โดยให้ประสานรายละเอียดกับกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ก็ให้กองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการของหน่วย เพื่อพิจารณาความต้องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จากรัสเซียให้ได้รายละเอียดข้อมูลในประเด็นที่สำคัญ
โดยให้มีการประสานและเจรจาตกลงกับฝ่ายรัสเซียให้ได้ข้อยุติในระดับกองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพ
โดยเสนอผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการให้คณะกรรมการของกระทรวงกลาโหมพิจารณาเป็นอันดับแรก
ทอ. จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการของหน่วยขึ้นมาพิจารณาเรื่อง SU - 30 MK เพื่อรายงานต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดและต่อคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหม
โดยพิจารณาคู่ขนานไปกับ ยก.ทอ. ซึ่งรับผิดชอบเรื่อง JAS - 39 GRIPPEN ของสวีเดนด้วย
จะเห็นได้ว่าเป็นการพิจารณาในกรอบจำกัด
เพราะพิจารณาได้เฉพาะประเทศผู้ผลิตเครื่องบินที่เข้าเกณฑ์นโยบายการค้าต่างตอบแทนเท่านั้น
ทำให้การพิจารณาไม่เป็นไปอย่างกว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็นตามยุทธศาสตร์ความเหมาะสมและความต้องการ
คือ...
• มีเพียงสวีเดนและรัสเซียเท่านั้น ที่เสนอเครื่องบินกับสินค้าการเกษตรของไทยในรูปแบบการค้าต่างตอบแทน ทำให้การจัดหาเครื่องบิน HAWK ของอังกฤษ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐบาล
• F-16 C/D BLOCK 52 ของสหรัฐอเมริกา เหมาะสมเป็นอันดับ 1 ของการเป็นเครื่องบินทดแทน F – 5 E/F
ทั้งนี้เพราะ....
1. เป็นเครื่องบินที่มีคุณลักษณะเฉพาะแบบเครื่องบินสหรัฐอเมริกาที่นักบินของ ทอ. มีความคุ้นเคยมานาน การบินเปลี่ยนแบบไม่เป็นการยากนักสำหรับนักบิน สามารถสร้างความชำนาญได้ประสบการณ์ในการบินได้อย่างรวดเร็ว
2. ระบบอาวุธก็เป็นระบบเดียวกับที่สรรพาวุธ (สพ.) ทอ. มีอยู่ สายสรรพาวุธมีความชำนาญทางเทคนิคและการซ่อมบำรุง โดยมีอุปกรณ์และเครื่องมือใช้กันได้กับสิ่งที่มีอยู่แล้วในทันทีโดยไม่ต้องจัดหาใหม่ หรือจะต้องจัดเพิ่มเติมก็มีเพียงเล็กน้อย
3. ทางด้านการช่าง หรือช่างอากาศ (ชอ.) ก็มีความชำนาญอยู่แล้วกับระบบซ่อมบำรุงของเครื่องบินตระกูล F - 16 ที่มีประจำการอยู่ก่อน ทั้งการซ่อมเบาหรือซ่อมระดับโรงงาน
4. นักบินก็สามารถทดแทนกัน โดยการย้ายฝูงบินหรือกองบินทำได้ทันที ทำให้เป็นการพิ่มพูนสมรรถนะโดยรวม
แต่ก็ประสบข้อจำกัดของกรอบนโยบายรัฐบาล
เพราะสหรัฐอเมริกาไม่ตอบรับข้อเสนอพิเศษของโครงการเช่นสวีเดนและรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่าเขามีความตกลงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารผ่านระบบ FMS กับประเทศไทยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่มีการปฏิบัติกันมานานในลักษณะการซื้อขายรัฐต่อรัฐ
ซึ่งแม้ว่าจะต้องชำระเป็นเงินสด แต่เป็นการผ่อนชำระตามกำลังงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับ ทอ. เป็นระยะเวลายาวได้ถึง 5 ปี
ทำให้ต้องตัด F - 16 C/D BLOCK 52 ออกไปจากการพิจารณาของ ทอ.
ซึ่งปัญหานี้จะหมดไปหากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย ด้วยการหันมาพิจารณา “ป่าทั้งป่า” ถึง “ต้นทุน” ตัวอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าเครื่องบิน...
• ต้นทุนการใช้ งบประมาณสำหรับ สพ. และ ชอ. ที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าถ้าหากใช้เครื่องบินของสวีเดนหรือรัสเซีย ซึ่งมีค่าเสมอเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีใช้เครื่องมือของ สพ. และ ชอ. ทั้งหมด เพราะใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วไม่ได้เลย อีกทั้งต้องพิจารณาถึง
• งบประมาณด้านบุคลากร คือ นักบอน, ช่าง สพ. และ ชอ.ที่จะต้องเริ่มต้นใหม่หมดตั้งแต่ฝึกฝนไปจนถึงหาความชำนาญกันใหม่
• ยังมี “มูลค่าความเสียหายแฝง” คือระยะเวลาของการเริ่มต้นใหม่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และประสบการณ์ของนักบิน และสาย สพ., ชอ. ที่เคยทำกันได้จากรุ่นสู่รุ่นก็จะต้องขาดตอนลง ใช้บุคลากรกำกับพลทดแทนกันไม่ได้
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการพิจารณา “ป่าทั้งป่า” ในเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศโดยองค์รวม
ไม่ใช่พิจารณา “ต้นไม้ต้นเดียว” ว่าจะซื้อเครื่องบินแบบใด
หรือเลวร้ายที่สุด คือพิจารณา “ใบไม้ใบเดียว” ว่าจะได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าไร !!
ต้องไม่ลืมว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ทดแทน F - 5E/F นั้น ก็เพื่อมีไว้ประจำการที่ บน. 7 (สุราษฎร์ธานี)
ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าภารกิจของ บน. 7 คือการดูแลน่านฟ้าภาคใต้ อ่าวไทยฝั่งตะวันตก และทะเลอันดามัน รวมทั้งภาคตะวันตก คือ จังหวัดกาญจนบุรีไปจนจรดชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดระนอง
เครื่องบินขับไล่ที่ประจำการ ณ บน. 7 จึงจะต้องประสานภารกิจกับ บน. 56 (หาดใหญ่) ได้อย่างเหมาะสม
รวมทั้งประสานการปฏิบัติกับกองบินทหารเรือ (ทร.) ของกองเรือยุทธการ ในภารกิจเหนืออ่าวไทยและทะเลอันดามัน ได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
อีกทั้งในส่วนของ ทอ. เอง ก็จะต้องประสานกับระบบป้องกันภัยทางอากาศส่วนที่ 2 (อ่าวไทยและภาคใต้ ภาคตะวันออก) ได้อย่างรวดเร็วไม่มีอุปสรรคด้วย
โจทย์คือข่ายการสื่อสารที่มีอยู่เดิมล้วนแต่เป็นระบบของสหรัฐอเมริกา
หากใช้ F - 16 C/D BLOCK 52 ก็จะเข้าสู่การสื่อสาร ประสานงาน ทั้ง C/C (คอมมานด์/คอนโทรล) ได้ถึง ROOM WAR ของกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยการสื่อสารผ่านสื่อสารทหาร (ส.ทหาร) ที่วางระบบผ่านดาวเทียมไว้สมบูรณ์แล้ว
หากใช้ JAS - 39 GRIPPEN ของสวีเดน ที่มีระบบสื่อสารใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา คือ “นาโต้” ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย
แต่หากเป็น SU - 30 MK ของรัสเซีย ก็จะต้องมีการเคลียร์ทั้งภาคส่งและภาครับ ทั้งของ ทอ., ทร. และบก.ทหารสูงสุด ทั้งระบบ เพื่อให้ติดต่อกันได้ตามภารกิจ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณทั้งของ ทอ. ไปถึง ทร. และบก.ทหารสูงสุด รวมทั้ง ทบ. อีกเป็นบางส่วน
คำถามคือคิดและเตรียมรับมือไว้หรือยัง ?
และหากว่าผลสรุปว่าจะต้องใช้ SU - 30 MK ของรัสเซีย ก็ต้องคำนึงผลสะเทือนต่อเนื่องในอนาคตเรื่องสนามบินด้วย
บน. 7 มีสนามบินและรันเวย์ที่เครื่องบินพลเรือนและเครื่องบินพาณิชย์ใช้ร่วมอยู่ด้วย
การใช้เครื่องบินทหารและเครื่องบินพลเรือนในขณะนี้ เป็นอย่างเหมาะสมไม่มีปัญหา
แต่หากว่ามี SU - 30 MK ไปประจำการที่ บน. 7 จะเกิดอุปสรรคในอนาคต เพราะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่
นอกจากจะต้องสร้างโรงเก็บใหม่เพื่อการรับแล้ว ยังอาจจะต้องขยายพื้นที่ลานจอดและโรงเก็บออกไปอีก เพราะถ้าไม่ทำก็จะเป็นเหตุให้การใช้สนามบินและรันเวย์ร่วมกันมีปัญหาได้
เรื่องทำนองนี้เคยเกิดกับ บน. 1 (นครราชสีมา) ที่สุดท้ายต้องมีการสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่แยกออกต่างหากจากสนามบินทหาร
ยังมีโจทย์ใหญ่ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอีก
ตามคู่มือการใช้ในการศึกษาเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการของ ทอ. พบว่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินในรัสเซีย รวมทั้งระบบหล่อลื่นทั้งหมด มีค่าทางเคมีและสารประกอบแตกต่างกันกับที่ใช้อยู่ใน ทอ.
หากมีการปรับเครื่องยนต์ให้รับกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กันตามปกติในเครื่องบินต่างๆ ของ ทอ. ก็เท่ากับเป็นการปรับสมรรถนะของเครื่องยนต์
อีกทั้งระบบการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ขนาดของหัวบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง, ถังบรรจุ และรถบรรทุก น้ำมันเชื้อเพลิง
ที่อาจจะต้อง “เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด” ด้วย
ไม่เพียงแต่ บน. 7 (สุราษฎร์ธานี) เท่านั้น โจทย์ข้างต้นยังต้องนำไปใช้กับ บน. 56 (หาดใหญ่) ที่เป็นฐานบินสำรองของเครื่องบินที่จะซื้อเข้ามาด้วย
จะต้องพิจารณาความยาวของรันเวย์ บน. 56 ว่าเพียงพอต่อการรับการขึ้นลงของ SU - 30 MK ได้หรือไม่
ที่สุด ก็อาจจะต้องมีการเพิ่มความยาวของรันเวย์ออกไปอีก
ล้วนต้องใช้งบประมาณทั้งนั้น
โจทย์ข้อสุดท้ายที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จะปูพื้นฐานไว้เป็นข้อสุดท้ายของการนำเสนอในวันนี้ มาจากความกังวลของนักบินโดยตรง
ระบบเก้าอี้ (Ejection seat) ของ SU - 30 MK แตกต่างกับที่มีใช้อยู่กับเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์โดยทั่วไปที่มีอยู่ใน ทอ. ซึ่งโดยปกติก็น่าจะต้องมีการเปลี่ยนทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจในการบินของนักบินที่คุ้นเคยกับระบบเก้าอี้ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ความจำเป็นในข้อนี้มีอยู่สูงมาก
เพราะหากใช้ระบบที่ติดมากับตัวเครื่อง นอกจากจะทำให้นักบินไม่มีความคุ้นเคยต่อการใช้งานเวลาฉุกเฉินขณะทำการบินแล้ว การซ่อมบำรุงของ สพ. ยังมีปัญหา เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
แต่แม้คิดจะลงทุนเปลี่ยน ก็ยังต้องพิจารณาในโครงสร้างของเครื่อง -- โดยเฉพาะห้องนักบิน -- ที่ออกแบบไว้สำหรับระบบเก้าอี้ของรัสเซียโดยเฉพาะ ไม่สามารถจะนำระบบเก้าอี้ของชาติอื่นเข้าไปใส่แทนได้ง่าย ๆ หรือไม่
นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นพื้นฐานที่น่าเป็นห่วงทั้งนั้น “เซี่ยงเส้าหลง” ขอจบลงด้วยคำถามที่ตั้งไว้ตอนกลาง ๆ เรื่อง ณ บรรทัดสุดท้ายนี้อีกครั้ง....
จะพิจารณา “ป่าทั้งป่า” ในเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศโดยองค์รวม
หรือพิจารณา “ต้นไม้ต้นเดียว” ว่าจะซื้อเครื่องบินแบบใด
หรือจะเลวร้ายที่สุดด้วยการพิจารณา “ใบไม้ใบเดียว” ว่าจะได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าไร !!