อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ตอนที่ 1 ย้อนรอย 14 ตุลา...วันมหาวิปโยค
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ตอนที่ 2 ย้อนรอย 6 ตุลา...วันล้อมปราบนักศึกษาประชาชน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ตอนที่ 3 จากใจญาติวีชนเดือนตุลา...ประชาธิไตยที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ตอนที่ 4 ขอชำระ...ละครแขวนคอ 6 ตุลาไม่ได้หมิ่น
ประวัติศาสตร์มิได้แต่ภาพที่สวยงามเสมอไป บางเหตุการณ์เป็นความจริงที่เจ็บปวดและไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในผืนแผ่นดินไทยนี้ การย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในทุกๆ ปีที่ผ่านไป คงมิใช่..แค่สดุดีวีรชนผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้น แต่น่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้นำประเทศในทุกยุคทุกสมัยได้ตระหนักถึงประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องสู้และแลกมาด้วยเลือดเนื้อ อย่าทำลายประชาธิปไตยนั้น ด้วยเผด็จการไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
1.
“ย้อนรอย 14 ตุลา...วันมหาวิปโยค”
การสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองไทย ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอย่างยาวนาน และดูท่าไม่มีที่สิ้นสุด สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไป ถนอม กิตติขจร มา และคงจะเรื่อยไปถึงประภาส จารุเสถียร และ ณรงค์ กิตติขจร นั้น นอกจากเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้นักศึกษาถามหาประชาธิปไตย และความไม่พัฒนาของการเมืองการปกครองไทยแล้ว ยังถูกสำทับด้วยพฤติกรรมของรัฐบาลจอมพลถนอมในขณะนั้น ที่จุดชนวนให้การชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่ง
ประเทศไทย(ศนท.)ช่วง 14 ตุลา 2516 ยกตัวอย่างให้ฟัง
“ปลายปี 2515 รัฐบาลของจอมพลถนอมก็ประกาศใช้”ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299” พวกเราเรียกกันว่า”กฎหมายโบดำ” เป็นกฎหมายที่รัฐบาลประกาศขึ้นมาเพื่อให้ฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็ไปคัดค้านมีแถลงการณ์คัดค้านและไปชุมนุมคัดค้านที่ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม มีนักศึกษาประชาชนไปร่วมชุมนุมคัดค้านกันจำนวนมาก เรียกว่ามากเป็นประวัติการณ์ทีเดียว ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม เป็นครั้งแรกที่นักศึกษาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการจัดเวทีไฮปาร์คเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้สนับสนุนผู้ร่วมชุมนุมต่างๆ นั่นก็เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับ ศนท. และกระบวนการนักศึกษาก็รู้ว่า เป็นพัฒนาการที่เติบโตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงต้นปี 2516 ก็มีกรณีทุ่งใหญ่(นเรศวร)ขึ้นมา คือมีกลุ่มทหารใช้เฮลิคอปเตอร์พาดาราไปล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ และเกิดกรณี ฮ.ตกขึ้นมา ศนท. ก็แถลงการณ์ขอให้รัฐบาลตรวจสอบนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอะไรแบบนี้ และเหตุการณ์เชื่อมโยงกัน ก็คือ มีนักศึกษาของรามคำแหง 9 คนทำวารสารเล็กๆ แล้วก็มีภาพการ์ตูน เขียนว่า “สภาสัตว์ป่ามีมติต่ออายุประธานสภาสัตว์ป่าออกไป 1 ปี” ซึ่งขณะนั้นเขากำลังต่ออายุจอมพลถนอม ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็สั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คนออกจากการเป็นนักศึกษา เพื่อเอาใจรัฐบาล ศนท.ก็แถลงการณ์คัดค้านและขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งนี้โดยด่วน และเคลื่อนไหวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21-22 มิ.ย.2516 มีนักศึกษาประชาชนมาร่วมกันหลายหมื่นคน …ในที่สุด รัฐบาลก็ยอมยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษาออก”
จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น นักศึกษาเยาวชนคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ได้ตระหนักว่า หากไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว การแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ คงจะเป็นไปได้ยาก จึงได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลถนอมประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน นอกจากไม่ได้ผลแล้ว กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ นำโดยธีรยุทธ บุญมี ยังถูกจับไปคุมขังรวม 13 คน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2516 พร้อมถูกตั้งข้อหาหลายข้อ เช่น มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง และกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
หลังจากนั้น กระแสชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนและให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนได้เริ่มขึ้น โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) ได้ประชุมลับ และมีมติให้งดสอบเพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าว แนวร่วมในการเรียกร้องไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่รวมถึงนักศึกษาและประชาชนในต่างจังหวัด จำนวนผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์เริ่มมากขึ้นๆ ขณะที่ ศนท. แนวร่วมสำคัญ ได้พยายามเจรจากับจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง แต่ถูกปฏิเสธ อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการ ศนท.ขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้นำคณะเข้าเจรจากับจอมพลถนอม เล่าให้ฟัง
“วันที่ 11 ตุลาคม 2516 ทางกรรมการ ศนท.ก็ไปพบกับจอมพลประภาสที่วังปารุสกวัน และขอเจรจายื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไข จอมพลประภาสปฏิเสธ ไม่ยอม ทาง ศนท.ก็มาประชุมร่วมกัน ในที่สุดก็ได้ประกาศยื่นคำขาดว่า ให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขภายในเที่ยงวันที่ 13 ตุลา ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะไม่อยู่ในธรรมศาสตร์อีกต่อไปแล้ว วันที่ 12 ทางจอมพลประภาสก็ประกาศให้ประกันตัวนักศึกษาและผู้ต้องหา 13 คน ทาง ศนท.ก็เห็นว่าเป็นกลเม็ดของจอมพลประภาสหรือของรัฐบาลเผด็จการ ก็แจ้งไปให้กับผู้ต้องหา 13 คนว่า อย่าออกมานะ ในที่สุดวันที่ 13 ก็ได้มอบหมายได้มีมติให้มีการเคลื่อนไหว”
เมื่อรัฐบาลยังตั้งเงื่อนไขในการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม คลื่นมหาชนนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็ได้เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสู่ถนนราชดำเนิน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า จำนวนผู้ชุมนุมวันนั้นประมาณว่ามากกว่า 5 แสนคน ซึ่งมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย และนั่นหมายความว่า 1 ใน 7 ของทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนั้น ได้ออกมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้
“วันที่ 13 ตุลาคม 2516 นั้น ประมาณกันว่า มีคนออกมาเดินขบวนในถนนราชดำเนิน ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาชุมนุมกันอยู่ถึง 5 แสนคน ถ้าเราคิดว่าสมัยนั้นมีประชากรทั้งประเทศไม่ถึง 40 ล้าน ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 3.7 ล้าน ก็แปลว่า คน 1 ใน 7 ของทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เนี่ยออกมาอยู่ในถนน อันนี้ยังไม่นับคนที่นั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน ยังไม่นับคนที่ฟังวิทยุอยู่ที่บ้าน ยังไม่นับคนซึ่งอ่านหนังสือพิมพ์ ยังไม่นับคนที่อยู่ต่างจังหวัด มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการขยายตัว มีมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด นิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็เคลื่อนไหว เชียงใหม่ก็ดี ขอนแก่นก็ดี สงขลาก็ดี เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้ แปลว่า สถานการณ์ในตอนนั้น คนโดยปริมาณมีคนเข้าร่วมในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาชนไทยมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติ ในแง่ของปริมาณ ในแง่ของคุณภาพก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่มีการศึกษาระดับสูงมาก มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเข้ามา นิสิตนักศึกษา แล้วก็ไล่ลงไปถึงระดับของนักเรียน ผู้ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในขบวนการก็คือ นักเรียนอาชีวะ ซึ่งสมัยนั้นก็เคยมีชื่อเสียงไม่ดีแบบตีรันฟันแทงอะไรแบบนี้ แต่กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากๆ ในแง่การผลักดันในช่วงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม”
ขณะที่การชุมนุมดำเนินไป และเคลื่อนขบวนไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า กรรมการ ศนท.ได้เจรจาครั้งสุดท้ายกับรัฐบาล ปรากฎว่า รัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขและจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี ซึ่งไม่ใช่ 6 เดือนตามคำเรียกร้อง แต่ถึงกระนั้น ฝ่ายนักศึกษาก็มีมติว่าจะสลายตัว โดยตัวแทนส่วนหนึ่งได้เข้าเฝ้าถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดาฯ ว่าตกลงกับรัฐบาลได้แล้ว และมีการนำพระบรมราโชวาทมาอ่านให้ผู้ชุมนุมทราบ แต่ขณะที่ผู้ชุมนุมจะแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปิดกั้นทางไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่าน จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น แล้วเจ้าหน้าที่ก็สลายฝูงชนด้วยกระบองและแก๊สน้ำตา ทำให้ผู้ชุมนุมต้องหนีตายเข้าสวนจิตรฯ ณ ย่ำรุ่งของวันที่ 14 ต.ค.
และจากจุดนั้น ก็ได้นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาประชาชนอย่างรุนแรง โดยรัฐบาลใช้ทั้งทหาร ตำรวจ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และอาวุธสงคราม จุดปะทะและนองเลือดมีตลอดสายถนนราชดำเนิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบางลำภู กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุ เมื่อค่ำวันที่ 14 ตุลา 2516 ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้ง ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ขณะที่จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ได้รับแรงกดดันหลายทาง ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปต่างประเทศ
เหตุการณ์ 14 ตุลาวันมหาวิปโยค วีรชนคนหนุ่มสาวหลายคนออกจากบ้าน ไปมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ บางคนกลับมาด้วยร่างกายพิการ แต่หลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ทางการบอกว่า 77 ศพ บาดเจ็บ 857 คน!!
2.
“ย้อนรอย 6 ตุลา...วันล้อมปราบนักศึกษาประชาชน”
หลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 2516 ที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการขณะนั้น ที่ถูกเรียกว่า 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร ,จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม และลูกเขยจอมพลประภาส ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ!
บรรยากาศการเมืองไทยหลังจากนั้น เปลี่ยนจากยุคเผด็จการเรืองอำนาจ มาเป็นยุคทองของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยมีนักศึกษาเป็นแกนกลางในการเชื่อมประสานการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนาเข้าด้วยกัน ด้านรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปลายปี 2517 พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีคำพูดเปรียบเปรยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาว่า “กระเบื้องหลุดไป 3 แผ่น แต่ตัวตึก โครงสร้างรากฐานยังอยู่” ซึ่งหมายถึง แม้จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พ.อ.ณรงค์ จะลี้ภัยไปแล้ว แต่ระบบยังคงเดิม ชนชั้นปกครองยังคงเดิม ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มอำนาจเก่าได้เริ่มฟื้นตัวก่อตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้น และเคลื่อนไหวต่อต้านพลังของนักศึกษาประชาชน อาทิ กลุ่มกระทิงแดง ,กลุ่มนวพล ,กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน และชมรมแม่บ้าน เป็นต้น บ่อยครั้งที่มีการปาระเบิดใส่กลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวน เรื่อยไปจนถึงการสังหารผู้นำชาวนา นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย
สถานการณ์ขณะนั้น นักศึกษาหลายคนเริ่มคาดเดาได้ว่า เหตุรุนแรงหรือการปราบปรามนักศึกษาเพื่อชำระแค้นจากเหตุการณ์ 14 ตุลา จะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้ ทำให้นักศึกษาบางส่วนตัดสินใจเข้าป่าก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
และสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อจอมพลถนอมบวชเป็นเณรแล้วเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้นจอมพลประภาส กลับเข้ามา แล้วถูกนักศึกษาประชาชนต่อต้าน จนต้องกลับออกไป แต่การกลับมาของจอมพลถนอมในภาพของเณร แล้วไปบวชเป็นพระทันทีที่วัดบวรนิเวศน์วิหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2519 เกิดกระแสต่อต้านในหมู่นิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างหนัก มีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้จอมพลถนอมกลับออกไป แต่ก็ไร้ผล ขณะที่การลอบสังหารนักศึกษาประชาชนผู้ต่อต้านจอมพลถนอมเกิดขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งการที่ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอหลังติดป้ายโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม
เหตุการณ์ดังกล่าว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำมาแสดงละครล้อเลียนเพื่อประณามถึงการใช้ความรุนแรง โดยจำลองภาพแขวนคอดังกล่าวโดยใช้นักศึกษาแสดง และเมื่อภาพละครแขวนคอถูกตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ ได้กลายเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา ซึ่งสนับสนุนอำนาจเก่า นำมาโจมตีว่า นักศึกษาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระแสกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายขวา กล่าวหานักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ จ้องล้มล้างสถาบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในที่สุด ได้นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ระหว่างชุมนุมเรียกร้องให้จอมพลถนอม ออกนอกประเทศ เจ้าหน้าที่และกลุ่มอันธพาลการเมืองได้ใช้อาวุธสงครามยิงกราดเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ตั้งแต่รุ่งอรุณของวันที่ 6 ต.ค.2519
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งช่วง 6 ตุลา ทำหน้าที่โฆษกบนเวทีชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ต.ค. บรรยากาศกึกก้องไปด้วยเสียงระเบิดเสียงปืนที่ยิงเข้าไปไม่ขาดสาย ราวกับอยู่ในสมรภูมิรบ และแม้นักศึกษาจะพยายามขอร้องตำรวจว่า อย่ายิงเข้าไป แต่ก็ไม่มีประโยชน์ จะขอเอารถพยาบาลออกเพื่อส่งคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ก็ไม่ยอมให้ออก
“ตอนแรกที่ผมอยู่บนเวที มันเริ่มมีคนบาดเจ็บ แล้วเราเอารถพยาบาลขอออก เขาไม่ให้ออกด้วย ผมจำได้ว่า ถึงขนาดต้องมาที่เวที แล้วกระจายเสียงไปว่า ขอให้เอารถพยาบาลออก .. ผมเจอคุณประยูร อัครบวร ซึ่งเป็นรองเลขาศูนย์นิสิตฯ ฝ่ายการเมืองของสุธรรม (แสงประทุม) เขาก็เจรจากับตำรวจที่คุมอยู่แถวด้านหน้าประตูท่าพระจันทร์ บอกว่า ขอเอาเฉพาะผู้หญิงกับเด็กออกไปก่อนได้มั้ย ทยอยออกไป เอาแค่เป็นหลักประกันว่า ออกไปไม่ใช่โดนยิงทิ้ง เพราะแถวนั้นที่มาอ่านทีหลัง ทั้งตำรวจ ทั้งกระทิงแดง แถวนั้นมันอยู่เต็มไปหมด …ตลอดเวลาเสียงปืนไม่เคยหยุด เสียงปืนที่มันถล่มเข้ามาเนี่ย แล้วตอนคุณอยู่มหาวิทยาลัยเนี่ย เสียงที่มันถล่มเข้ามา มันฟังน่ากลัวมาก เพราะมันก้อง มันสะท้อน ก้องอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมศาสตร์ มันเป็นตึกล้อมรอบสนามฟุตบอล พอมันยิงนิดหนึ่ง มันดังมาก ฟังดูมันดังไม่หยุดเลย น่ากลัวมาก ผมยอมรับว่า ไม่เคยได้ยินมากขนาดนี้เลย ความรู้สึกมันเหมือนผมอยู่ในสมรภูมิ ..แล้วตอนหลังประยูร(อัครบวร)เจรจา ..เราก็เลยเริ่มให้ผู้หญิงกับเด็กทยอยเข้าแถวจากตรงคอมมอนรูม หมายถึงผู้ที่ยังหลบอยู่ใต้คอมมอนรูมศิลป์ ก็ทยอยเข้าแถว และวิ่งออกไปด้านประตูท่าพระจันทร์ ทีละคนสองคน ตอนหลังถึงมารู้ว่า ที่ออกไป ก็ไปไม่ได้ไกล ส่วนใหญ่ก็ไปหลบอยู่แถวๆ บ้านคนบ้าง”
ไม่ว่านักศึกษาจะไปหลบอยู่บ้านใครในละแวกนั้น ก็ถูกค้นและจับกุมหมด ขณะที่ ดร.สมศักดิ์ เอง ก็ถูกจับกุมเช่นกัน หลังไปหลบอยู่ในกุฏิพระในวัดมหาธาตุฯ ข้างธรรมศาสตร์พร้อมกับนักศึกษาอีกหลายสิบคน
ขณะที่คุณวิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ 6 ตุลา เล่าให้ฟังว่า ตนเองทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ของธรรมศาสตร์ พอมีการยิงกราดมาจากทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตอนประมาณตี 5 ครึ่ง ก็หนีตายกัน แต่ก็มาถูกยิงเข้าจนได้ที่ขาทั้ง 2 ข้างขณะหลบอยู่ใต้ต้นชงโคแถวสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ แม้จะไม่เสียชีวิตจากการถูกยิง แต่คุณวิทยา ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดในเวลาต่อมา
“พอสว่างแล้ว สัก 7 โมงเศษๆ นี่ มันมีการใช้รถเมล์วิ่งชนประตูใหญ่บุกเข้ามา ซึ่งในนั้นก็มีคนพวกกระทิงแดงบ้าง อะไรบ้างเต็มหมด บุกเข้ามา แล้วก็วิ่งกรูกันเข้ามาทางหอประชุมใหญ่ ผมนอนดูอยู่ พวกนั้นวิ่งเข้ามาพร้อมๆ กับพวกที่ยิงผมชุดแรกที่อยู่ทางด้านพิพิธภัณฑ์ ฝั่งตรงข้ามน่ะ ก็ยิงใส่พวกที่เอารถเข้ามาเหมือนกัน ความรู้สึกผมตอนนั้นก็คือ มันคงเกิดความสับสน หรือพยายามสร้างสถานการณ์ให้รุนแรง เหมือนกับว่านักศึกษายิงพวกที่กำลังบุกเข้ามา แต่จริงๆ เป็นการยิงมาจากด้านพิพิธภัณฑ์ แล้วพวกที่โดนไล่ยิงจากพิพิธภัณฑ์ก็วิ่งลงมาหมอบอยู่ใกล้ๆ ผม สักพักเสียงปืนทางโน้นก็เงียบ พวกนี้ก็เริ่มมาหมอบอยู่ข้างๆ ผม ก็มาตรวจค้นตัวผม ส่วนใหญ่พวกที่มาค้นก็นึกว่าผมตายแล้ว เพราะเลือดมันท่วมมาถึงหน้าอกหมดแล้ว มันนาน โดนยิงไปชั่วโมงกว่า ก็พลิกตัวผมขึ้น แล้วก็ล้วงในกระเป๋า ได้เงินสัก 2 พันกว่าบาท พวกนั้นก็เอาเงินไปเลย พอรู้ว่าผมไม่ตาย ก็ช่วยกันหามออกมา พอหามออกมา แล้วก็มาเปลี่ยนกัน ตอนนั้นผมยังหลับตา แต่รู้สึกตัว ผมเข้าใจว่า ใกล้ๆ จะถึงหน้าหอประชุมใหญ่ ก็มีคนหนึ่งหามทางหัว คนหนึ่งหามทางขา แล้วมีคนมารับต่อใส่เปล ช่วงที่รับต่อใส่เปลก็สับสน ผมไม่ได้ลืมตาดู ฟังเสียงดูสับสนหมด คือพวกที่เอาผมใส่เปลเข้าใจว่า ผมเป็นคนที่บุกเข้าไปแล้วโดนยิง พอหามผมออกมา ผมเข้าใจว่าถึงกลางถนน คนที่อยู่ข้างนอกปรบมือรับ ทำนองว่า ปรบมือให้วีรชนหน่อย พวกเราโดนยิงเจ็บออกมา ..วิ่งเอาผมใส่เปล เข้าใจว่าน่าจะเป็นริมสนามหลวง คงมีรถพยาบาลจอดอยู่ ผมยังไม่ได้ลืมตาดู และมีคนมาตะโกนว่า มันไม่ใช่พวกเรา เริ่มรู้ว่าผมไม่ใช่คนที่บุกเข้าไป ผมเป็นนักศึกษา และมีเสียงถกเถียงกันว่า เอาลงมาตีให้ตาย และเข้าใจว่าเป็นบุรุษพยาบาลที่มา ก็พยายามเถียงว่า เขาจะตายอยู่แล้ว อย่าไปทำเลย เห็นแก่มนุษยธรรมเถอะ พอเสียงพูดอย่างนั้นจบ เปลที่หามผม ก็โยนผมทั้งเปลเลย คือเหวี่ยงผมไปในรถ เข้าใจว่าเป็นรถพยาบาล เหวี่ยง ไม่ใช่อุ้มขึ้นไป ยกเปลแล้วก็เหวี่ยงเข้าไปในรถ ผมก็กลิ้งไปตามพื้น แล้วมีเสียงปิดประตูรถ และรถก็ออกวิ่งเลย”
การกราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ในตอนใกล้เที่ยง และจับกุมนักศึกษากว่า 3,000 พันคน หลังการล้อมปราบ ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน แต่ทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแค่ 40 คน
คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่คนไทยจะฆ่าคนไทยด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์และเลือดเย็นเช่นนี้อีกแล้ว และคงไม่มีความตายครั้งใดที่ศพของผู้เสียชีวิตจะถูกกระทำย่ำยีอย่างป่าเถื่อนเท่ากับครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงนักศึกษา แล้วใช้ผ้าลากคอไปกับพื้น การฆ่าแขวนคอและทำร้ายศพจนยับเยิน ไปจนถึงการเผาทั้งเป็น!
หลังจากการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้มีคำสั่งยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านหลังเที่ยงคืน-ตี 5 และสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ หลังจากนั้นได้นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ เพื่อประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่การปราบปรามนักศึกษาที่ได้รับการประกันตัวหรือไม่โดนจับ ก็ดำเนินไปอย่างรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้นักศึกษาหนีเข้าป่าจำนวนมาก ส่วนผู้ที่ถูกจับกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวเกือบหมด เหลือเพียง 18 คนที่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ด้วยข้อหานับสิบ กว่านักศึกษาที่ถูกฟ้องจะได้รับอิสรภาพ ก็ภายหลังรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำการปฏิวัติ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมเวลาผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ถูกคุมขังระหว่างสืบพยานโจทก์ นานถึง 2 ปี!!