xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ “ทักษิณพบสื่อฯ” - ปลดเมืองไทยรายสัปดาห์/ดูดหุ้นมติชน-โพสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (22 ก.ย.)  เมื่อเวลา 08.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตี แถลงข่าวประจำสัปดาห์ “นายกฯ ทักษิณพบสื่อมวลชน” ครั้งที่ 3 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าว - ท่านนายกฯ มองปรากฏการณ์ของการที่ภาคธุรกิจเข้ามาซื้อหุ้นของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอย่างไรบ้างครับ

พ.ต.ท.ทักษิณ - ก็ต้องถามก่อนว่า วันนี้สื่อบางสื่ออยู่นอกตลาดฯ เป็น Privately Own คือเป็นการถือหุ้นโดยบุคคล เจ้าของกิจการ กรณีนี้ใครเข้าไปซื้อไม่ได้ เพราะเขาถืออยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทที่ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หมายความว่าใช้เงินชาวบ้านไปขยายกิจการ ก็คือ Other People Money นั่นเอง คือไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปเพิ่มทุน แล้วเอาเงินตัวนั้นไปขยายกิจการ โดยการลดสัดส่วนการถือครองของตัวเอง ได้เงินของนักลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยรายใหญ่ เอาไปขยายกิจการตัวเอง โดยเจ้าของเดิมถือหุ้นลดลง แล้วต่อมาเจ้าของหุ้นเกิดเอาหุ้นตัวเองที่มีอยู่ขายต่อไปอีก ได้เงินไปใช้เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่าตัวเองลดการถือครอง เมื่อลดการถือครอง หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นหุ้นที่เสรีที่มีการซื้อขายทั่วไป

ฉะนั้น ถ้าใครเข้าไปซื้อขาย เขาก็มีสิทธิ์ที่จะถือหุ้นตามนั้น ถ้าไม่อยากให้ใครซื้อขาย ก็อย่าขายหุ้นตัวเองเกิน ถ้าสมมติไม่อยากให้ใครครอบงำต้องอย่าขายหุ้นตัวเองหรือกลุ่มของตัวเองให้เหลือต่ำกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือหลักทั่วไป แต่ในเมื่อขายไปแล้วจนเหลือน้อย ใครก็สามารถไปตรวจสอบได้ว่าในตลาดแต่ละคนถือหุ้นเหลืออยู่เท่าไร เมื่อเขาเห็นว่าเจ้าของเดิมถือหุ้นน้อย บางคนจะไปซื้อ อันนั้นเป็นเรื่องของตลาดทุน คนละเรื่องกันนะครับ ถ้าไม่อยากให้ใครเข้ามายุ่งก็ต้องไม่จดทะเบียน ไม่ปล่อยหุ้นลอยอยู่ในตลาด นั่นคือหลักการ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่างประเทศมีกันบ่อย เขาเรียกว่าเป็น Hostile Take Over เป็นการเทคโอเวอร์โดยการที่แอบซื้อหุ้นจนถือหุ้นมากกว่าเจ้าของเดิม ในต่างประเทศมีบ่อย แต่บ้านเราไม่ค่อยมี บ้านเรามันเพิ่งเกิดการที่ไปซื้อหุ้นจากต่างประเทศ ที่หุ้นนี้ต่างประเทศถือหุ้นอยู่ ก็มีการเข้าไปซื้อ เมื่อซื้อก็เลยมีหุ้นมากขึ้น จึงเกิดการเจรจา เข้าใจว่าการเจรจาเป็นข้อที่ยุติกันแล้ว ตกลงกันด้วยดี ระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมกับผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นใหม่ ขายหุ้นคืนผู้ถือหุ้นเดิมไปแล้ว ทุกอย่างก็ดูยุติแล้ว

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพยายามจะลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย กรุณาอย่าลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ด้วยเหตุผลทางการเมืองก็ถือว่าโง่ ถ้าทำ เพราะไม่มีสื่อฉบับเดียว มีสื่อเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ฉบับที่ยอดขายสูงสุด ไทยรัฐ ก็รู้จักกันดี ฉบับยอดขายสูงอันดับ 2 คือเดลินิวส์ ก็รู้จักกันดี มติชน ผมก็รู้จักกันดี ทำไมผมต้องเข้าไปเป็นเจ้าของ ไม่มีความจำเป็นโดยเหตุผลทางการเมือง โดยเหตุผลทางธุรกิจ ถ้าตัดสินก็โง่อีก ทำไมต้องลงทุนอย่างนี้ ทำไม แล้วตัวผมเองก็ถือว่าไม่ได้สนใจเรื่องของธุรกิจมาแล้ว ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เคยคิดเรื่องทางธุรกิจเลย เพราะฉะนั้น ทั้งเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางธุรกิจ ถ้าตัดสินใจแบบนั้นก็คือโง่”
แต่สำหรับคุณไพบูลย์ซึ่งรู้จักกันดี เขาตัดสินใจก็เป็นเรื่องของเขา เงินของเขา ธุรกิจของเขา มันไม่เกี่ยวกับผม เขาจะรวยก็ไม่เกี่ยวกับผม เขาจะจนก็ไม่เกี่ยวกับผม เขาจะยิ่งใหญ่เขาจะเล็กลงก็ไม่เกี่ยวกับผม แต่เป็นคนรู้จักกัน รู้จักกันทั้งนั้น ประเทศไทยแคบจะตาย รู้จักกันดีทุกคน เพราะฉะนั้นก็กรุณาอย่าลากผมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บางกอกโพสต์มายืนชี้ตึก นี่เสื่อมเสีย ประเทศเสียหาย คุณเล่นอะไร คุณอยากเล่นอะไรก็เล่น อย่ามาเล่นที่ตึกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องของประเทศ อันนี้ก็ขอร้องกันว่ากรุณาอย่าลากผมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าเรื่องของการโฟลตหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องยอมรับว่า ในเมื่อโฟลตหุ้น หุ้นมันก็เปลี่ยนมือตลอดเวลา ถ้าไม่อยากเปลี่ยนมือก็เอาออกจากตลาดได้ ก็สามารถเทนเดอร์ขอออกตลาดได้ ไม่มีใครว่านะครับ นี่ถ้าหากว่าจะต่อยมวยสากล ก็ต้องใช้กติกาสากล นี่เป็นธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าว - กรณีที่นายกฯไปกล่าวสปีชที่ยูเอ็น ร้องนานาประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมเสรีให้แข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม กรณีที่แกรมมี่ที่แอบเจรจานอกตลาดและเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทสื่อฯ นายกฯ มองว่าเป็นการเจรจาเสรีที่เป็นธรรมตามที่นายกฯว่าไหม และอีกข้อที่นายกฯไปพูดที่สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน นายกฯ บอกว่าภูมิใจที่ประเทศไทยมีสื่อฯที่มีเสรีภาพที่สุดที่สามารถวิจารณ์นายกฯจนบางครั้งเสรีภาพก็ถูกนำไปใช้ในทางสนุกสนาน จึงอยากขอรับทราบนโยบายจากนายกฯเกี่ยวกับเรื่องสื่อฯ

พ.ต.ท.ทักษิณ - เรื่องวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา ประเทศไทยได้เลื่อนจากคอนโทรลสู่อันคอนโทรล ไม่ได้เลื่อนจากคอนโทรลมาสู่ฟรี คือคอนโทรลและก็ต้องฟรี ไม่ใช่คอนโทรลและอันคอนโทรล ฟรีคือมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลด้วยระบบอาชีพตัวเอง มีระบบวิชาชีพที่จะต้องตรวจสอบถ่วงดุลตัวเอง เพื่อให้สถาบันสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ยอมรับและน่านับถือ อันนั้นต้องมี แต่ของเราดูเหมือนมีแต่ไม่มี ต้องเป็นเรื่องสื่อฯที่ต้องทำกันเอง สำหรับรัฐบาลถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ต้องเป็นเรื่องซึ่งกันและกัน หากสิทธิ์สื่อฯ ละเมิดสิทธิ์คนอื่นเขาต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง แต่ถ้าไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่นก็ไม่มีใครว่า วิจารณ์กันก็เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เกิดเรื่องการซื้อขายหุ้น

อย่างที่บอก ระบบการตลาดทุนเป็นระบบที่ทุกคนโฟลตหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และจะเปลี่ยนมืออย่างไร มันก็เป็นสิทธิ์ผู้ซื้อจะขายต่ออย่างไร สมมติ ผมมีหุ้นจำนวนหนึ่ง มีคนขอซื้อ แม้กระทั่งหุ้น เมื่อก่อนนี้ ตอนสมัยผมทำธุรกิจหุ้นผมเองมีคนซื้อเป็นบล็อก ก็ขายเป็นบล็อก หุ้นที่อยู่ในตลาดถือเป็นเสรีภาพ อันนี้เป็นเรื่องกติกาเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้กติกาเป็นอย่างนั้นรับไม่ได้ ก็ต้องไม่เข้า ถ้าเข้าแล้วก็ต้องยอมรับกติกา กติกาประกาศก่อนแล้วก่อนจะเข้า เพิ่มทุนนะเอาหุ้นขายตลาด เริ่ม 20% เจ้าของเดิมเหลือ 80 คนใหม่ซื้อ 20 และต่อมาเจ้าของเดิมเกิดอยากปลูกบ้านขายหุ้นไป ได้เงินไปปลูกบ้านแล้ว หุ้นก็ต้องหายไปธรรมดา หายไปแล้วไปไหน คนอื่นที่ซื้อไปก็ไปขายต่อ ราคาหุ้นขึ้นเขาก็ขาย เขาทำกำไร อันนี้คือกติกาที่ต้องยอมรับ ถ้าไม่รับกติกาตรงนี้ก็ไม่ต้องขายหุ้นตลาดเท่านั้น เดลินิวส์ ไทยรัฐเขาก็ไม่ขาย เพราะเขาไม่อยากให้หุ้นลอยและคนอื่นเกี่ยวข้อง อันนั้นเป็นกติกาของมัน กฎหมายว่าด้วยบริษัทจดทะเบียน

ผู้สื่อข่าว - ที่ท่านนายกฯ พูดตอนแรกว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงและค่อนข้างโง่ในเชิงธุรกิจถ้าจะหลักเอาเงินเป็นหลักพันๆ ล้านมาซื้อหุ้นของสื่อ อยากถามว่าได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ถึงยอมปล่อยกู้เพื่อเอามาลงทุนในความเสี่ยงในตลาดหลักทรัพย์ของสื่อในขณะนี้ และอีกคำถามหนึ่งสมมุติว่าท่านนายกฯ ไม่ลงเล่นการเมือง ยังเป็นนักลงทุน ยังเป็นนักธุรกิจอยู่ จะสนใจซื้อหุ้นมติชนมั๊ย ซึ่งเป็นหุ้นของสื่อในตลาดหลักทรัพย์

พ.ต.ท.ทักษิณ - คือการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดมันมีเหตุผล 2-3 เหตุผล เหตุผลที่ 1 คือว่า คาดว่าหุ้นจะขึ้นก็ซื้อเพื่อจะทำกำไรในโอกาสต่อไป เหตุผลที่ 2 คือว่า คาดว่าผลประกอบการจะดี ดีกว่าเอาเงินไปฝากแบงก์ ก็ซื้อเพื่อหวังจะได้เงินปันผล เพื่อจะเอาเงินนั้นแทนดอกเบี้ยที่ตัวเองไปฝากแบงก์ ประการที่ 3 ก็อาจจะมองถึงเรื่อง ถ้ามีธุรกิจอยู่แล้วเขาก็หวังว่าจะมีซินเนอร์จี้ ต่อกัน ซินเนอร์จี้หมายความว่า ใช้ประโยชน์จากการที่เป็นพันธมิตรกัน เช่น ใช้ดาต้าเบสบ้าง ใช้ระบบมาร์เก็ตติ้งชาแนล อะไรบ้าง อันนี้เป็นเรื่องที่แล้วแต่จะมอง

ทีนี้ถ้าหากว่า ถ้าผมไม่อยู่ในการเมืองผมก็ต้องถามก่อนว่า ผมจะลงทุนในฐานะอะไร ถ้าลงทุนในฐานะนักลงทุนผมก็ต้องดูว่าผลประกอบการดีมั้ย พีอี เป็นกี่เท่า ถ้า พีอี 20 เท่าก็ไม่รู้จะลงทุนทำไม พีอี 7-8 เท่า น่าสนใจ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของระบบธุรกิจ แต่กรณีถามว่าธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้เขาคงไม่มองปล่อยกู้ วิธีการปล่อยกู้เขาต้องมองว่า ใครกู้ ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะมองว่าใครกู้แล้วเขามีอะไรอยู่ข้างหลัง มันไม่ใช่เป็นโปรเจกต์ไฟแนนซิ่ง ถ้าเป็นโปรเจกต์ไฟแนนซิ่งแล้วเป็นนันรีคอสเขาจะต้องดูว่าโปรเจกต์นี้ฟีสไม่ฟีส แต่ถ้ามันเป็นการกู้โดยบริษัทซึ่งมีรายได้จากหลายซอร์ส อันนั้นก็เป็นเหตุผลอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะต้องดู อันนี้ผมไม่รู้รายละเอียด เพียงแต่ว่าหลักการของแบงก์มันจะเป็นอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าว - กรณีที่จีเอ็มเอ็มไปซื้อหุ้นของ 2 บริษัท จีเอ็มเอ็มเป็นสื่อมีเดียแล้ว 2 บริษัทนี้เป็นสื่อในทางข่าวทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ตรงนี้การครอบครองกิจการทั้งหมดอย่างนี้จะมีความน่ากลัวในการที่จะผูกขาดทางความคิดประชาชนในเรื่องสื่อทุกรูปแบบรึเปล่า ท่านนายกฯ มองยังไง อีกข้อคือ ท่านนายกฯ บอกว่าการเข้าไปเทกโอเวอร์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องเสรีทางธุรกิจ ดังนั้น เพื่อดูแลตรงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีกฎหมาย หรืออาจจะออกอะไรที่จะดูแลการซื้อหุ้นข้ามประเภทอะไรได้มั๊ย

พ.ต.ท.ทักษิณ - คือถ้าเราขายหุ้นไปแล้วเราเหลือหุ้นน้อยคนอื่นก็ต้องซื้อหุ้นได้ ซื้อหุ้นก็ต้องเปลี่ยนมือได้ อันนี้คือระบบของตลาดหลักทรัพย์ แต่ว่าการจะเข้าไปบริหารหรือไม่ต้องอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโหวตกัน สมมุติเกิดว่าแกรมมี่ถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ทางผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ เวลาตอนประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่เค้าจะโหวตกันว่าจะให้ใครบริหาร ซึ่งผู้ถือหุ้นยังมีอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นสวิงโหวตอยู่ ซึ่งเค้าต้องมั่นใจผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ถือหุ้นเดิมก็มีโอกาสได้บริหารต่อ มันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว คือมันมีกฎหมายแต่ละชั้นๆ รองรับอยู่
เพราะฉะนั้น ระบบของการเปลี่ยนกรรมการก็ดี เปลี่ยนผู้บริหารก็ดี เปลี่ยนกรรมการก่อน กรรมการนั้นเปลี่ยนไปตามมติผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะเป็นคนเลือกกรรมการ ถ้าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เลือกกรรมการอย่างไรมันก็จะเป็นอย่างนั้น อันนี้คือเวียนตามกฎหมาย เสร็จแล้วหลังจากนั้นกรรมการแล้ว กรรมการเป็นคนตั้งผู้บริหาร ถ้ากรรมการส่วนใหญ่มาจากผู้ถือหุ้นกลุ่มไหนกลุ่มนั้นจะเป็นคนตั้งผู้บริหาร มันมีสองสามชั้น ผู้ถือหุ้นตั้งกรรมการ กรรมการตั้งผู้บริหาร มันเป็นของมันอย่างนั้น อันนี้คือระบบของกฎหมายที่เราจะต้องเข้าใจกัน ถ้าเราไม่เข้าใจกฎหมายมันก็เป็นเรื่องของอารมณ์ แต่ถามว่า สมมุติว่า แกรมมี่ซื้อได้หมด เกิดอะไรขึ้น ถามว่าจะครอบงำได้มั๊ย คนที่รู้ข่าวสารจากประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากทีวี ทีวีทุกช่องรวมกัน 80 เปอร์เซ็นต์ สื่อเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ นิดเดียวเท่านั้นเอง สื่อทุกฉบับรวมกัน สื่อหนังสือพิมพ์ พริ้นเต็ดมีเดีย มาจาก มา 10 ประมาณ 12
ทีวีทุกช่องรวมกัน 80% สื่อฯเพียง 10 กว่า% สื่อหนังสือพิมพ์ประมาณ 12% อีก 8% เป็นวิทยุ นี่คือผลการสำรวจ เพราะฉะนั้นไม่มีหรอกเรื่องครอบงำ แต่ทั้งนี้มันมีความสุขแล้วในเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายออกมาแถลงการณ์ร่วมกันแล้วว่า ไม่เข้าไปครอบงำ ยุ่งเกี่ยว ถือหุ้น 20% อีก 10กว่า% ปาดคืนให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อไป ก็จบ

ผู้สื่อข่าว - อยากจะขอย้อนกลับไปถามเรื่องสื่อ จะถามกรณีที่บริษัท อสมท ในกำกับดูแลของรัฐบาล ที่ถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถามว่ากรณีนี้มันเกี่ยวกับแทรกแซงสื่อหรือไม่

พ.ต.ท.ทักษิณ - มันเป็นเรื่องของ อสมท ในฐานะผู้ให้เช่าเวลา และเรื่องนี้ผมทราบมาว่า ทั้งประธาน ทั้งผู้จัดการ เขาได้ไปปรึกษาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่ามันเกิดอะไรขึ้น อันนี้เป็นเรื่องของเขา ผมไม่เกี่ยว ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของ อสมท ซึ่งเขาเป็นคู่สัญญา เป็นเรื่องคู่สัญญา อะไรที่เขาคิดว่ามันไม่เหมาะสม ซึ่งเขาเองในฐานะเป็นเจ้าของช่อง ซึ่งเขาอาจจะต้องถูกฟ้องถูกอะไร เขาก็ต้องดูแลของเขาเอง เป็นเรื่องของเขา ถ้าให้ดี ลองสัมภาษณ์คุณมิ่งขวัญกับท่านประธาน ก็จะรู้เรื่องดี อ้าวเปลี่ยนหน้าบ้างสิ ผู้จัดการอ่ะ

ผู้สื่อข่าว - ต่อเนื่องนิดหนึ่งค่ะ เดี๋ยวจะเลยไปค่ะ ในฐานะที่รัฐบาลเองก็ดูแลในส่วนของ อสมท แม้ว่า อสมท จะแปรรูปไปแล้ว แต่รัฐเองก็ยังถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้คงหลีกหนีไม่พ้นกับวิจารณ์ที่ว่า รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงแน่นอน ถึงทำให้รายการนี้ถูกถอดออกจากช่อง 9 โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเรื่องของการที่รัฐ เรื่องของพระราชอำนาจเข้ามา ขณะที่ท่านนายกฯ เองก็เคยชี้แจงไปแล้วครั้งหนึ่งตรงนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องพระราชอำนาจ ก็คือทาง อสมท เขารายงานว่าเขาได้ไปปรึกษาสำนักพระราชวังแล้ว ท่านนายกฯ จะชี้แจงให้ชัดเจนอย่างไรคะว่า..

พ.ต.ท.ทักษิณ - ผมจะไปชี้แจงได้ไง ในเมื่อผมไม่ใช่เป็นคน อสมท

ผู้สื่อข่าว - ในฐานะที่ดูแลสื่อของรัฐ

พ.ต.ท.ทักษิณ - ผมไม่ได้ดูอ่ะ ถ้าถามก็ถามรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีก็ เป็นเรื่องของ อสมท โดยตรง มันไม่เกี่ยว มัน อสมท. โดยตรง

ผู้สื่อข่าว- เพราะทราบว่าวันนั้น ท่าน ผอ.อสมท เองก็มีการเข้ามาพบท่านรองนายกฯ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวในช่วงบ่าย 2 และท่านรองนายกฯ เองก็ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ท่านนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงอย่างไรว่าจะไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเลย

พ.ต.ท.ทักษิณ- มันเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของ อสมท มันไม่ใช่เรื่องการทำหน้าที่ของรัฐบาล เป็นการทำหน้าที่ของ อสมท เขานะครับ และเรื่องนี้ อสมท เขาไปปรึกษาสำนักพระราชวังว่า เรื่องมันเป็นยังไง ไปปรึกษาท่านราชเลขาธิการว่า เหตุการณ์ในการพูดจามันไม่เหมาะสมมานานต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าว- 80 เปอร์เซ็นต์ คนดูสื่อทีวี แต่บ้านเราผมมีข้อสังเกตก่อนที่จะถามท่านนายกฯ ว่า ส่วนใหญ่สื่อทีวีเอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่าน เพราะหนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อหลักที่สื่ออื่นๆ เอาไปอ่าน เอาไปขยายต่อ ทีนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมถามนายกฯ ว่า คิดอย่างไรที่มีข้อเสนอว่า การห้ามถือหุ้นข้ามสื่อ เช่น เป็นสื่อบันเทิงอยู่แล้ว จะมาถือหนังสือพิมพ์เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ เป็นหุ้นทีวีอยู่แล้ว จะมาถือหนังสือพิมพ์กี่เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ นายกฯ คิดอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้

พ.ต.ท.ทักษิณ- ผมไม่มีปัญหาครับ อันนี้เป็นเรื่องของการที่ทางสมาคมสื่ออาจจะคุยกัน ตกลงกัน แล้วเสนอมาก็ได้ ผมไม่มีปัญหาเลย แต่ปัญหาคือว่า ราคาหุ้นของกลุ่มสื่อที่อยู่ในตลาดอาจจะมีปัญหา อันนี้ผมไม่รู้ เพราะว่ามันฟรีโฟลว์ โฟลว์มันไม่ฟรีปุ๊บ มันก็ทำให้ดีมานด์-ซัปพลายเป็นปัญหาหลัก นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ขัดข้องถ้าสมาคมวิชาชีพจะเสนอมาอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองไม่เห็นอันตราย แต่ก็แล้วแต่ ถ้าสื่อมองเห็นอันตราย สื่อก็สามารถเสนอมาได้ สมาคมวิชาชีพประชุมกันแล้วเสนอมาได้
......

ผู้สื่อข่าว - คุณหญิงจารุวรรณ อธิบายได้ไหมท่าทีเกี่ยวกับเรื่องมีการเขียนเกี่ยวกับการแข่งอำนาจระหว่างฝ่ายพระราชวังกับฝ่ายรัฐบาล ตีความหรือไม่ พระราชวังไม่ต้องการให้เปลี่ยน ท่านจะให้คุณหญิงจารุวรรณดำเนินการต่อหรือไม่

พ.ต.ท.ทักษิณ - เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดหลายเดือนแล้ว ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเลย เป็นหน่วยงานอิสระขึ้นกับวุฒิสภาไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้น บุคคลที่ลงนามในข้อเสนอคือประธานวุฒิฯ แต่มีบางคนพยายามดึงรัฐให้เกี่ยวกับปัญหานี้ ขบวนการทั้งหลายจะผ่านวุฒิสภา และประธานวุฒิฯ จะเสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลทำอะไรไม่ได้เลย
......

ผู้สื่อข่าว - ขอเปลี่ยนเป็นเรื่องน้ำมันเพราะตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก อยากให้รัฐบาล ถ้าปล่อยให้ราคาน้ำมันขึ้นไปแบบนี้น่าจะเป็นห่วงว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ และจีดีพีที่ตั้งไว้คงจะไม่ได้ตามเป้า เพราะฉะนั้นอยากทราบว่ารัฐบาลมีมาตรการจะแทรกแซงราคาน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะว่า ปตท.เมื่อก่อนเคยเป็นที่พึ่งในการแทรกแซงราคาน้ำมัน หรือตรึงราคาน้ำมันไว้ แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้วเพราะว่า ปตท.เป็นของบริษัทมหาชน และมีธุรกิจเป็นกำไร ตรงนี้รัฐบาลน่าจะทำอะไรบางอย่างได้หรือไม่ที่จะปล่อยให้เป็นแบบนี้

พ.ต.ท.ทักษิณ- รัฐบาลได้คุมมาร์จิ้นพอสมควรทีเดียว มาร์จิ้นคือตัวกำไรของราคา เพราะว่ามันเป็นหลักที่เราต้องซื้อจากต่างประเทศ ซื้อครูต มาจากต่างประเทศ ค่ากลั่นเราก็คุมอยู่ ซึ่งวันนี้เราพยายามดูว่า ให้มันเป็นไปตามกลไกตลาด คือว่า ตลาดต่างประเทศที่ต้นทุนที่เราซื้อมามันแพง มันก็ต้อง ต้นทุนมันแพงถ้าเราไปแทรกแซงในลักษณะที่ให้เค้าขายขาดทุนมันก็ผิดกติกาของระบบเศรษฐกิจ แล้วก็ถ้ารัฐบาลไปอุ้ม รัฐบาลก็อุ้มยังเป็นหนี้อยู่เกือบแสนล้าน อุ้มไปแล้วอุ้มมาเต็มที่แล้ว เมื่ออุ้มมาเต็มที่แล้วขณะนี้ไม่มีประเทศไหนที่ต้องการจะอุ้มราคาน้ำมัน เพียงแต่ว่าไม่ให้มีการค้ากำไรผิดปกติเท่านั้นเอง ซึ่ง ปตท.พยายามขึ้นช้ากว่าคนอื่นมาโดยตลอด ไม่ใช่ ปตท.ไม่ทำหน้าที่ ปตท.ได้ทำหน้าที่โดยการขึ้นช้ากว่าคนอื่นมาตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น