xs
xsm
sm
md
lg

บุกแทงนักเรียนเซนต์โยฯ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการคนในข่าว (9 ก.ย.48) หลังเกิดเหตุการณ์สยอง หญิงวิกลจริตบุกแทงเด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ บาดเจ็บ 4 คน และ 1 ในนั้นอาการยังน่าเป็นห่วง ทำให้ต้องมีการมาถกกันเรื่องการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนกันใหม่ ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเพราะโรงเรียนนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้ระบบการดูแลความปลอดภัยไม่ทันต่อเหตุการณ์ ผู้ปกครองชี้พ่อแม่ควรอบรมหามาตรการให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง ขณะที่หมอจิตเวชเผยคนร้ายอาจจะเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่ทั้งนี้การป่วยและทำร้ายคนอื่นนั้นมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมด และเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาให้หายได้

รายการคนในข่าว ออกอากาศทาง News 1 เวลา 21.05-22.00 น. ดำเนินรายการโดยจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ

จินดารัตน์ – สวัสดีค่ะ คุณผู้ชมคะ ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการคนในข่าวค่ะ วันนี้นะคะคงไม่มีข่าวใดที่สร้างความระทึกขวัญให้กับบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้มากเท่ากับข่าวที่มีคนร้ายซึ่งเป็นหญิงอายุประมาณ 25-30 ปี บุกเข้าไปไล่แทงเด็กนักเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์นะคะ ซึ่งในช่วงเช้านั้นเด็กนักเรียนจำนวนมากมายที่จะยังไม่ได้เข้าแถว วิ่งหนีกันจ้าละหวั่นทีเดียว ปรากฏว่ามีเด็กที่ถูกแทงได้รับบาดเจ็บไป 4 รายด้วยกัน 3 รายนั้นอาการสาหัสค่ะ แต่เนื่องจากว่าเคราะห์ดีนะคะที่โรงเรียนนั้นอยู่ติดกับรั้วของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งก็รับตัวเข้ารับการรักษา แต่อาการยังน่าเป็นห่วงอยู่อีก 1 คนค่ะ ซึ่งเราก็จะติดตามอาการว่าล่าสุดเป็นอย่างไรกันบ้าง
 
แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนครั้งนี้นะคะ ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเกิดความหวาดวิตก หวาดกลัวกันว่านี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ครั้งแรก และอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่เหตุร้ายแรงขึ้นยิ่งกว่าวันนี้ก็เป็นได้ ซึ่งหลายคนอาจจะจำเหตุการณ์หลายๆครั้ง ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่สหรัฐอเมริกาและที่ญี่ปุ่นได้นะคะว่า ถึงขั้นควงปืนควงมีดกันเข้าไปไล่ฟันไล่แทงไล่ยิงเพื่อนๆในโรงเรียน ตายและบาดเจ็บกันไปหลาย 10 คน บ้านเราแน่นอนที่สุดถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้ว หลายหน่วยงานตอนนี้ตื่นกลัวเหมือนกันค่ะ เร่งออกมาประชุมแล้วก็คุยกันว่า จะทำอย่างไรเรื่องของมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน

วันนี้นะคะต้องถือได้ว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนทุกๆแห่ง ดิฉันไม่ได้หมายถึงโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งที่อาจจะคิดว่า มาตรการของตัวเองนั้นหละหลวมอยู่หรือเปล่า แน่นอนที่สุดวันนี้ต้องหันกลับมามองกันแล้วค่ะ เราจะคุยกันถึงเรื่องนี้นะคะ กับแขกรับเชิญของเราทั้งหมด 5 ท่านด้วยกันค่ะ ท่านแรกนะคะ ดร.วิชัย ตันศิริค่ะ ท่านเป็นอดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการค่ะ ท่านต่อมาค่ะ ดร.ปัญญา แก้วกียูร ท่านผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานค่ะ

ท่านต่อมา นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ วันนี้คุณหมอได้เดินทางไปที่เกิดเหตุด้วย ไปดูเด็กๆด้วยนะคะ ท่านเป็นจิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิตค่ะ ท่านต่อมานะคะ คุณดิลก ทองวัฒนา ซึ่งมีลูกสาวเรียนอยู่ที่นั่น วันนี้ไปรับลูกสาวและไปดูอาการของเด็กๆที่ได้รับบาดเจ็บด้วยค่ะ และท่านสุดท้ายนะคะ อาจารย์เกื้อกุล เตือนกุล นายกสมาคมสหพันธ์โรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทยค่ะ สวัสดีค่ะทุกท่านนะคะ สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นคงจะต้องเรียนถามคุณดิลกก่อนวันนี้ ไปในที่เกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้า ทราบข่าวได้ยินข่าว รับรู้ข่าวสารเมื่อไหร่อย่างไรคะ

ดิลก – 7 โมง 40 ครับ ก็ได้รับโทรศัพท์จากพี่เลี้ยงซึ่งไปส่งลูกทุกๆวันนี่นะครับ คือพอแจ้งให้ทราบนี่นะครับตอนแรกก็ตกใจ แต่ว่าเนื่องจากว่าตอนนั้นข่าวสารครอบครัวมันยังไม่ชัด รับรู้แต่เพียงว่าลูกอยู่บนโรงเรียน เหตุการณ์ที่ดูจะร้ายแรงมากกว่าก็คือว่า ตอนนั้นเราทราบแล้วว่ามีเด็กที่ถูกทำร้ายนะครับ เหตุการณ์ในวันนี้นี่อาจจะอยู่ไกลตัวกว่าพ่อแม่พี่น้องหรือว่าคนดูอยู่นี่นะครับ แต่อยากจะบอกว่าวันนี้มันเป็นเหตุการณ์รุนแรง คงไม่ใข่เกิดขึ้นเฉพาะเด็ก 4 คนเท่านั้น ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนี้นี่นะครับอาจจะเกิดกับใครก็ได้ หรือแม้กระทั่งวันนี้สามารถพูดได้เลยว่า วันนี้เด็ก 4 คนนี่ได้รับบาดเจ็บ แต่เหตุการณ์วันนี้ทำร้ายหัวใจของพ่อและแม่ ของคนที่มีลูกเล็กๆนี่ทั้งประเทศ เมื่อรู้อย่างนั้นก็พยายามติดต่อสื่อสารกัน

จินดารัตน์ – แสดงว่าพี่เลี้ยงไปส่งแล้วยังไม่ได้กลับถูกไหมคะ เพราะว่าเกิดเหตุตอน 7 โมงครึ่ง 10 นาทีหลังจากนั้นคุณดิลกก็ทราบข่าว

ดิลก – รับทราบแล้วครับ แล้วก็เตรียมตัวไปแล้ว เพราะว่ารู้แล้วนะครับว่า สถานการณ์ที่เริ่มมีความสับสนไม่แน่นอน เพราะว่าเท่าที่เช็คข่าวกับเพื่อนผู้ปกครองด้วยกันนี่ ก็ไม่สามารถจะบอกว่าอะไรคือความชัดเจน ณ ตรงนั้น ข่าวลือเยอะมากนะครับ เพราะว่าตอนนั้นทางโรงเรียนก็ดี ทางการก็ดี ยังไม่ได้ออกข่าวสารอย่างชัดเจนออกมา เพียงแต่ว่ามีข่าว แล้วก็เป็นข่าววงในเท่านั้นเอง เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วก็เลยบอกให้เด็กที่บ้าน Stand by รออยู่ตรงนั้น เดี๋ยวจะต้องเดินทางไป แต่ก็รู้มาอีกว่ารถจะต้องติดมาก ก็เลยเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแล้วก็วิ่งตรงไปตรงนั้น

จินดารัตน์ – ไปถึงตรงนั้นแล้วความชุลมุนที่เกิดขึ้น ภาพที่เห็นเป็นยังไงบ้างคะ

ดิลก – ไม่เคยเห็นนะครับ คือตั้งแต่มีความเป็นพ่อเป็นแม่มา ก็ไม่เคยเห็นอะไรที่มันวุ่นวาย จลาจลอย่างนั้น เหตุและผลก็เพราะว่าทุกคนนี่ลูกของตัวเองอยู่ข้างใน แต่ไม่รู้ว่าลูกตัวเองปลอดภัยตรงไหนหรือไม่ แต่โชคดีตรงที่ว่าบางครั้งผมเองนี่นะครับ ก็มีการติดต่อสื่อสารกับคุณครูประจำชั้น มีโทรศัพท์มือถือกันอยู่ นี่ล่ะครับก็คือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องมาเป็นกรณีศึกษานะครับ ว่าการติดต่อระหว่างโรงเรียนนี่ ความชัดเจนนี่ เพราะว่าเราคงจะพึ่งการแถลงข่าวคงจะไม่ทันนะครับ เพราะฉะนั้นการรับรู้ด้วยโทรศัพท์มือถือนี่ดูจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

จินดารัตน์ – ตรงที่สุดถูกไหมคะ

ดิลก – ตรงที่สุดครับ แล้วก็เด็กๆที่มีโทรศัพท์มือถือนี่ ก็จะถือเพื่อนๆนี่นะครับต้องการที่จะใช้กันอย่างมากมายวันนี้ วันนี้ลูกสาวซึ่งปกติแล้วก็เคยมีโทรศัพท์มือถือ แต่ว่าทางโรงเรียนก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้ เพราะเล็กเกินไป ป.3 เองนะครับ

จินดารัตน์ – กี่ขวบแล้วคะ

ดิลก – 8 ขวบเองครับ วันนี้ก็เลยได้เห็นประโยชน์ของมือถือ มันเป็นของฟุ่มเฟือยแต่จำเป็นจริงๆ

จินดารัตน์ – เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนราชินีล่าง ตอนไฟไหม้ ก็เห็นชัดเจน คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็บอกว่า ต่อไปนี้ครูจะว่ายังไงไม่สนแล้ว ขอให้ลูกพกโทรศัพท์มือถือไปโรงเรียนไว้ก่อน เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไร ความรู้สึกของพ่อแม่ที่ยืนอยู่นอกรั้วโรงเรียน วันนี้คุณดิลกนี่ชัดเจนมากว่าสัมผัสมากับตัวเอง หลังจากที่โทรศัพท์ถามคุณครูรู้ว่าปลอดภัย และลูกสาวเรามั่นใจว่าปลอดภัยแน่ๆ

ดิลก – เรารู้ว่าปลอดภัย แต่หัวอกของผู้ปกครองคนอื่นสิครับ เขาไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่าลูกของเขานี่ ปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะว่าหัวอกของพ่อและแม่นั้นต้องการเห็น แต่ว่าคือไม่สามารถจะปล่อยออกมาได้ เนื่องจากว่าตอนนี้โรงเรียนต้องเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย เพราะว่าตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคนร้ายนี่ยังคงอยู่ในโรงเรียนหรือไม่ เพราะฉะนั้นนี่โรงเรียนยังไม่ปล่อยเด็กนักเรียนออกมาแน่นอน ฉะนั้นก็เลยปล่อยให้เด็กอยู่ในห้อง เป็นการกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในห้องเรียนของตน ปิดประตูแล้วล็อคเลย

จินดารัตน์ – รั้วก็ยังล็อคด้วยนะคะ ผู้ปกครองก็ยืนออกันเต็มหน้าโรงเรียน ถูกไหมคะ

ดิลก – ครับ เหตุการณ์เกิดขึ้นตอน 7.30 น.นี่นะครับ เข้าใจว่า 7.45 น.นี่ต้องมีการเคารพธงชาติ แต่วันนี้โรงเรียนก็ไม่มีการเคารพธงชาติแล้ว เพราะว่าหลังจากนั้นแล้วนี่ พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นนี่มันชุลมุนครับ ผู้ปกครองก็เลยถูกเชิญออกจากโรงเรียนทั้งหมด พอถูกเชิญออกจากโรงเรียนแล้วก็กักเหลืออยู่แต่เด็กนักเรียนเท่านั้น อันนี้ก็เลยคือปัญหาของมันว่าจะทำอย่างไร ที่จะเข้าไปสู่ลูกๆของพวกเราได้ในตอนนั้น

จินดารัตน์ – ก่อนหน้านี้คุณดิลกคะ เดี๋ยวดิฉันเรียนถามย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดเหตุ โดยปกติโรงเรียนนี้นะคะ เขามีมาตรการการรักษาความปลอดภัยอย่างไร ในการตรวจสอบว่าเป็นผู้ปกครองจริงไหม มาส่งคืนจริงไหม เป็นบุคคลภายนอก หรือว่าเป็นบุคคลแปลกปลอมมีไหมคะ

ดิลก – ถ้าบอกว่าเป็นบัตรนี่ ในการตรวจสอบโดยบุคคลต่อบุคคลจะไม่มี แต่สิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นมาของโรงเรียนนี้นี่นะ เรามั่นใจนะครับว่ามีความปลอดภัยในระดับที่ดีพอสมควร เพราะว่าประตูเข้าออกนี่มีแค่ประตูเดียว เป็นประตูใหญ่เลย หรือแม้กระทั่งเวลาโรงเรียนเลิกก็เข้าออกเพียงแค่ประตูเดียวเท่านั้น แล้วบริเวณหน้าโรงเรียนนี่นะ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งจัดการจราจรบริเวณนั้น แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่หน้าประตู มีเนตรนารี มีลูกเสือ มีคุณครูยืนอยู่เต็มเลย ดูแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลซักเท่าไหร่

จินดารัตน์ – แล้วอยู่ในชุมชนด้วย ผู้คนก็สัญจรไปมา แต่ว่าประตูที่คุณดิลกบอกว่า เวลาเข้าก็ให้เข้าประตูเดียว เวลาเลิกเรียนก็ให้ออกประตูเดียว หมายถึงว่าคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเข้าไปส่งในโรงเรียนได้ ถูกไหมคะ

ดิลก – ครับ

จินดารัตน์ – บุคคลภายนอกก็สามารถเดินเข้าไปในโรงเรียนได้ในช่วงเช้าที่จะไปส่ง

ดิลก – ครับ

จินดารัตน์ – อันนี้ดิฉันเรียนถามจริงๆว่า อันนี้เป็นช่องโหว่อย่างนึงไหมคะ ทีพอเกิดเหตุวันนี้แล้วควรจะกลับมาคุยกัน

ดิลก – น่าจะเป็นจุดนึงที่พิจารณา แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ อย่าลืมว่าโรงเรียนนี้นี่นะครับ ถึงเวลาเคารพธงชาตินี่ประมาณ 7.45 น. เด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟนี่มีประมาณ 4000-5000 คน เป็นนักเรียนหญิงล้วนนะครับ และก็เวลาที่เด็กเริ่มเข้าโรงเรียนก็น่าจะเป็นช่วงตั้งแต่ 6.00-7.30 น. พอถึง 7.30 น.นี่นะครับก็เริ่มจะเชิญผู้ปกครองออกจากโรงเรียนแล้ว 1 ชั่วโมงครึ่งที่จะบริหารให้คนเข้าไป 4000-5000 คนนี่นะครับ ตรงนี้ก็เคยมีการเรียกร้องเหมือนกันนะครับว่าให้การตรวจสอบบัตร
แต่ขณะเดียวกันในความเป็นจริงปริมาณนักเรียนที่มากก็เป็นการทำร้ายระบบ เพราะว่าถ้าหากว่ามีการตรวจสอบ ก็เรียกว่าคิวที่จะต้องเข้ามานี่สาทรทั้งเส้นแน่นอนนะครับ สีลมทั้งเส้นแน่นอน มันจะเป็นอย่างนั้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นในตัวของมันเองนี่ข้อดีของระบบที่ว่า ผู้ปกครองสามารถเดินเข้าไปในโรงเรียน ก็คือผู้ปกครอง 1 คนก็คือพิทักษ์ลูกของตัวเอง 1 คน ก็มองแล้วก็เป็นความปลอดภัยอย่างสูงสุด ที่ใครๆก็เข้าออกแต่ก็นั่นแหละ มันก็ไม่มีอะไรแน่นอน ความ 100% มันไม่มีหรอกครับ

จินดารัตน์ – แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงอะไรในโรงเรียนนี้เลย ถูกไหมคะ

ดิลก – ไม่มีครับ

จินดารัตน์ – เรียนถามอาจารย์วิชัย ฟังอย่างนี้ มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยแบบนี้ ถือว่าโรงเรียนทั่วไปเขาทำกันแบบนี้ไหมคะ

ดร.วิชัย – ถ้าเป็นผม ผมว่าไม่ปลอดภัยนะ เพราะว่ายิ่งจำนวนมาก ก็เห็นใจว่าจำนวน 3000-4000 นี่มากนะ

จินดารัตน์ – แล้วอยู่ใจกลางเมืองด้วย

ดร.วิชัย – ครับ แล้วมันเรื่องการจราจรลำบาก แต่ที่จริงๆนี่จำเป็นจะต้องควบคุม คือตอนที่ผู้ปกครองเอาเด็กเข้าไปนี่นะครับ จริงๆบางแห่งเขาทำกันนี่ ที่ผมทราบนี่นะครับ ก็จะต้องมีรูปบัตรของผู้ปกครอง ไม่ใช่ผู้ปกครองมีรูปตัวเองเท่านั้นนะ มีรูปของเด็กนักเรียนที่เป็นลูกด้วยคู่กัน แล้วเด็กก็จะต้องมีรูปของตัวเอง และรูปผู้ปกครองด้วย คือเด็กจะเข้ามาก็ต้องมีรูปนี้ให้

จินดารัตน์ – หรือจะกลับก็เหมือนกันใช่ไหมคะ

ดร.วิชัย – ครับ ต้องมี ประเด็นตอนกลับนี่อีกทีนึง นี่ตอนเข้ามานะครับ แล้วยามจะต้องปิดประตูแน่นอน ไม่ให้คนที่ไม่มีบัตรเข้า และคนที่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองเข้า เพราะฉะนั้นคนที่เดินมาแล้วไม่มีเด็กมาด้วยนี่ แสดงว่าต้องสงสัยไว้ก่อนว่าไม่ใช่ผู้ปกครองนะครับ โดยเฉพาะตอนเย็นที่จะมารับนี่ คือเด็กของเรามันอยู่ข้างในแล้วใช่ไหมครับ ผู้ปกครองจะมารับนี่ก็มาตัวเปล่า ไม่มีเด็กอยู่ในรถ ก็ต้องแสดงบัตรตรงนี้ ถ้าไม่มีบัตรตรงนี้เราไม่มีทางเช็คได้ว่าเป็นผู้ปกครองหรือไม่ใช่ผู้ปกครอง

จินดารัตน์ – แสดงว่าอาจารย์วิชัยคิดว่าถ้าวิธีการแบบนี้ โรงเรียนทั่วไปนี่ถือว่าไม่ปลอดภัยนะคะ

ดร.วิชัย – ไม่ปลอดภัยครับ

จินดารัตน์ – ถามอาจารย์เกื้อกุลนิดนึงว่า โรงเรียนราษฎร์ทั่วไป ที่อยู่ในสังกัดของสมาคมนี่นะคะ เคยคุยกันถึงเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยไหมคะ ว่าวิธีการตรวจบัตรจะทำอย่างไร จะทำให้เหมือนกันไหม หรือว่าแล้วแต่นโยบายของโรงเรียน

เกื้อกุล – นโยบายแบบนี้คุยกันบ่อยมาก สำหรับกรรมการของสมาคมสหพันธ์โรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทยนี่ แล้วแต่ละโรงเรียนก็เสนอมา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าเรื่องบัตรนี่เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเรื่องครูที่ตรวจอยู่หน้าประตูนี่ต้องประชุมครูพวกนี้บ่อยมาก เพราะว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่รุนแรงยุคปัจจุบัน เราจะเอามาพูดกันเสมอว่า เรามีข่าวว่ามีแก๊งค์ที่มาขโมยลักเด็ก หรือว่าเอาเด็กขึ้นรถไปอะไรทำนองนี้ เราก็มาพูดว่าป้องกันยังไง มาแลกเปลี่ยนกัน

แต่ละโรงเรียนก็มีมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพราะโรงเรียนตระหนักเสมอว่าถ้าพลาดไป และโรงเรียนจะเสียชื่อเสียง เราก็พยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน บัตรนี้เป็นเรื่องสำคัญ หน้าตาเด็ก ครูที่ยืนอยู่หน้าประตูนี่ต้องสังเกต ต้องเป็นครูที่สังเกต อย่ามายืนใจลอยอะไรอย่างนี้ เราต้องประชุมกันว่า ต้องหมั่นประชุมครูพวกนี้บ่อยๆ เพราะครูบางคนก็อาจจะมายืนแบบใจลอยก็มี เราก็ต้องมากระตุ้นครูพวกนี้ว่าจำเด็กให้แม่น จำผู้ปกครองให้แม่น ถ้าผู้ปกครองเปลี่ยนหน้ามาปั๊บเราต้องถามก่อน

จินดารัตน์ – เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุยกันทุกครั้งหรือเปล่าคะ

เกื้อกุล – ทุกครั้งเลยค่ะ เพราะเราบอกว่าพ่อแม่มาฝากเรานี่นะ เขาเอาดวงใจมาฝากไว้ที่เรา เขาจะทำงานสุขสบายได้ ดวงใจของเขานี่ต้องปกติสุข เราพูดกันเสมอว่าเราดูแลลูก เขาต้องดูแลให้ยิ่งกว่าลูกของเรา ฉะนั้นเราต้องหาวิธีป้องกัน วิถีทางทุกวิถีทางที่จะให้ปลอดภัย ซึ่งแต่ละคนก็บอกเราพยายามทุกอย่างค่ะ ประตูนี่บางทีนี่อาจเปิดครึ่งเดียวตอนสมัยที่มีข่าวว่ามีคนจะมาขโมยเด็ก เราเปิดแค่ครึ่งเดียวให้ทยอยกันเข้ามา จัดจราจร เราประชุมกันว่าตอนเย็นเราต้องทำอย่างนี้ พรุ่งนี้เช้าต้องทำอย่างนี้

จินดารัตน์ – แต่ว่าอันนี้ก็แล้วแต่แนวนโยบาย หรือว่าโรงเรียนไหนจะปฏิบัติหรือไม่ก็แล้วแต่โรงเรียนนั้นๆถูกไหมคะ

เกื้อกุล – แต่ละโรงเรียนนี่มีมาตรการที่เข้มแข็งทุกโรงเรียน แต่ถ้ามันเกิดอย่างนี้ ดิฉันว่ามันสุดวิสัยจริงๆ ไม่มีใครอยากให้เกิด โดยเฉพาะหัวใจของเจ้าของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ท่านจะเสียใจไปไม่น้อยกว่าผู้ปกครองหรอกค่ะ เราไม่อยากให้เกิด

จินดารัตน์ – ก็เรียนถาม ผอ.ปัญญานะคะว่า กระทรวงศึกษาธิการเอง ได้มีส่วนเข้าไปมองหรือว่ากำหนดแนวนโยบาย ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับเด็กๆในโรงเรียนด้วยหรือเปล่า หรือว่าแล้วแต่ว่าโรงเรียนไหนจะมีนโยบายอย่างไร

ดร.ปัญญา – ครับ ขอบคุณคุณจินดารัตน์ครับ ก่อนอื่นผมขออนุญาตแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน เรื่องที่ 2 ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความชัดเจนในเรื่องของการที่จะออกนโยบาย ในการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนนะครับ ในส่วนของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานเองนี่ เรามีนโยบายในการที่จะแจ้งให้เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในจังหวัดได้ทราบนะครับ ว่าประเด็นแรกนี่เราจะมีนโยบายจากกระทรวง จากส่วนกลางนี่ไปว่า ให้เขตพื้นที่และโรงเรียนนี่ จัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจริงๆจะมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ทั้งเรื่องที่เกิดความปลอดภัยของนักเรียน เรื่องอุบัติภัย เรื่องของการดูแลช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน เรื่องของความไม่ปลอดภัยในเรื่องของประตูรั้วอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เรามีหมดแหละครับ

เมื่อกำหนดไปแล้วนี่ เราก็จะมีการประสานงานกับเครือข่ายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนะครับ ประเด็นที่ 3 นี่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญว่า เราจะส่งเสริทและสนับสนุนให้หน่วยงานทางการศึกษา มีการพัฒนาระบบดูแลความปลอดภัยนักเรียนที่เข้มแข็งนะครับ แล้วก็จะติดตามประเมินผลระบบดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียน อย่างเช่นวันนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นนี่ หลังจากนั้นประมาณซักชั่วโมงเศษๆ ทางสำนักงานการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็มีทางฝ่ายติดตามรับรองผลร่วมไปกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กทม. เขต 1 เข้าไปดูแลให้ขวัญกำลังใจ และก็ประสานงานเรื่องข้อมูลต่างๆ

จินดารัตน์ – ถ้ามองวิธีการรับเด็กเข้าโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองเข้าไป ใครจะเข้าไปก็ได้แบบนี้ ถ้าโดยภาพรวมถือว่าหละหลวมไหมคะ

ดร.ปัญญา – ผมคิดว่าโรงเรียนมีระบบ และก็เช็คตรวจสอบ มีเวรมียาม มีตำรวจจราจร ทีนี้เป็นอย่างนี้ครับ โดยปกตินี่โรงเรียนจะมีหลายขนาด ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลาง มีโรงเรียนที่เป็นขนาดใหญ่ไม่มากโรงเรียนนัก แต่โรงเรียนโดยปกติท่านนึกภาพนะครับว่า เด็กไปโรงเรียนทุกวัน ผู้ปกครองไปโรงเรียนทุกวัน เห็นมาตั้งแต่ ป.1 เห็นมาตั้งแต่อนุบาลน่ะ เพราะฉะนั้นเด็กมากับใครนี่รู้เห็นชัดเลยครับว่ามากับใคร คนที่แปลกปลอมเข้ามานี่จะรู้แหละครับ

จินดารัตน์ – จะรู้ทันที บางครั้งไม่ต้องตรวจบัตรก็ได้อย่างนั้นหรือคะ

ดร.ปัญญา – ครับ ไม่ได้ แต่โดยหลักแล้วนี่ โรงเรียนในสังกัดนี่จะมีนักเรียนไม่มาก ยกเว้นโรงเรียนใหญ่ๆ โรงเรียนใหญ่ๆจริงๆก็ไม่ให้ผู้ปกครองเข้านะบางส่วนนะ ก็แล้วแต่โรงเรียน

จินดารัตน์ – ส่งแค่หน้าประตู

ดร.ปัญญา – ทีนี้อย่างบางโรงเรียนอาจจะไม่สะดวก หน้าส่งหน้าประตูนี่รถจะติดยาวมาก

จินดารัตน์ – ก่อนที่เราจะถามท่าน ผอ.ต่อเรื่องมาตรการต่างๆ การวางแผนอย่างไรก็แล้วแต่ ดิฉันเรียนถามคุณหมอบุรินทร์ก่อน วันนี้คุณหมอไปดูอาการของเด็กๆทั้ง 4 คน ตกลงว่ามีสาหัสอยู่ 3 คนถูกไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – ใช่ครับ

จินดารัตน์ – เรื่องของสุขภาพจิตที่คนเป็นห่วงกันมาก คุณหมอดูแล้วเด็กๆเป็นยังไงกันบ้าง ถึงแม้ว่าเด็กที่จะไม่ได้บาดเจ็บหรืออะไรไปดูเพื่อนๆนี่ โดยรวมแล้วเป็นยังไงคะ คุณหมอ

นพ.บุรินทร์ – ครับ เท่าที่ประเมินดูจากเด็ก 4 คนนี่นะครับ จริงๆแล้ว 3 คนอย่างที่เราทราบก็คือ ตอนที่ผมไปประมาณ 10 โมงนะครับ เด็กทั้ง 3 คนที่มีอาการค่อนข้างหนัก คือเราสงสัยว่าอาจจะมีเรื่องของอวัยวะที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากเรื่องของการแทง ก็เข้าห้องผ่าตัด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ประเมินตรงนี้นะครับ ก็คงต้องให้น้องเขาได้รับการผ่าตัดจนเสร็จขั้นตอนและกระบวนการ แต่มีเด็กคนนึงที่ได้รับบาดเจ็บไม่มาก

ดิลก – น้องเพลง

นพ.บุรินทร์ – ครับ น้องเพลงนี่ก็นอนอยู่ที่ห้องนึงนะครับ และก็เท่าที่ดูได้ไปประเมินคุยกับน้องเพลงเองนี่ ช่วงที่ไปประเมินนี่แกยังดูขวัญกำลังใจค่อนข้างดี แกยังค่อนข้างจะร่าเริง ยังพูดได้ค่อนข้างดี แต่เนื่องจากว่ามีครอบครัวของน้องเพลงก็คือคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย แล้วก็มีญาติมาเยี่ยมหลายคนนะครับ ก็เลยได้ลองประเมินและก็ลองได้คุยดูอีกที พอคุณพ่อกับคุณแม่ลองซักถามน้องเพลงดู ก็พบว่าน้องเพลงค่อนข้างจะพูดเสียงเครือๆ และก็จะเริ่มเล่าเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นเท่าที่ดู ประเมินคิดว่าตอนนี้เขายังไม่พร้อมที่จะเล่าเหตุการณ์อะไรมาก เพราะว่าถ้าทางจิตเวชนี่ เราถือว่าถ้ายังไม่เล่าเหตุการณ์ หรือด้นเหตุการณ์ซึ่งมันค่อนจะทำให้รู้สึก ทำให้ข้างในให้ใจเขาบาดเจ็บอีก เรายังไม่รีบครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือปลอบประโลม แล้วก็ให้เขาใช้เวลานี้อยู่กับครอบครัว และก็คุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้ามีปัญหาอะไรเราก็ยินดีที่จะช่วยเหลือต่อ

จินดารัตน์ – คุณหมอคะ อย่างอาการที่บอกๆว่าจะต้องให้เด็กกลับไปพูดคุยกับพ่อแม่ ให้สภาพจิตใจเขาอยู่ในสภาวะปกติก่อนสำหรับเด็กที่ถูกทำร้าย แต่เด็กทั่วๆไปในโรงเรียนล่ะคะ คุณหมอประเมินดูแล้วเป็นยังไงบ้าง

นพ.บุรินทร์ – เท่าที่ประเมินดูวันนี้นะครับ ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ 100% ว่า เด็กทั้งหมดมีผลกระทบต่อจิตใจแค่ไหน เนื่องจากว่าอย่างที่คุณดิลกบอกว่า สภาพโรงเรียนนี่คือค่อนข้างจะวุ่นวายเล็กน้อยนะครับ

ดิลก – ผมจะขออนุญาตแทรกนิดนึงนะครับ ก็คือตัวเองอยู่ในลิฟท์พอดีเลยในช่วงที่มีคำถามแบบนี้ขึ้นมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นในจิตใจเด็กนักเรียนเซนต์โยฯ ณ เวลานี้ คงจะแบ่งได้ซัก 2-3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกก็คือคนที่ถูกกระทำ 4 คน อันนี้แน่นอนแรงที่สุด ในระดับ 2 น่าจะเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิด เพื่อนในหัอง เพราะคำถามที่เกิดขึ้นในลิฟท์เขาถามว่า แล้ววันจันทร์นี่เราจะมาโรงเรียนกันหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กนักเรียนที่ใกล้ชิดเป็นเพื่อนเขา แต่พอต่างห้อง ต่างชั้นเรียนไปนี่ ความรู้สึกก็คือก้ำกึ่งแหละครับ มาหรือไม่มา

จินดารัตน์ – อย่างลูกสาวคุณดิลกเองอายุ 8 ขวบ ดิฉันถามก่อนที่จะเข้ารายการว่า รู้สึกหวาดกลัวหรือตกใจไหม อาการลูกสาวเป็นยังไงคะ

ดิลก – อาการลูกสาวก็ตกใจครับ แต่ว่าน่าจะเป็นอุปทานหมู่ที่เกิดจากว่าเพื่อนๆนี่ร้องไห้ร่วมกันในห้อง เพื่อนคนหนึ่งไปเห็นเลือดครับแล้วก็มาเล่าให้ฟัง ทีนี้เด็ก ป.3 คุยกันน่ะครับ 7-8 ขวบ เล่าให้ฟังก็เกิดอารมณ์หมู่ขึ้นมาก็ร้องไห้

จินดารัตน์ – ทั้งที่ไม่ได้เห็นด้วยตัวเองถูกไหมคะ

ดิลก – ครับ แต่ผลกระทบที่ชัดเจนนั้นจะไปเกิดกับเด็กที่โต เพราะเด็กที่โตประมวลเหตุการณ์เป็นแล้ว รับรู้ มีความรู้สึกแล้วนะครับ ผลกระทบจะรุนแรงกว่าครับ

จินดารัตน์ – คุณหมอคะ อย่างกรณีที่เกิดขึ้น เด็กเล็กๆนี่การรับรู้อาจจะไม่เท่ากับเด็กโตนี่นะคะ ถ้าอย่างกรณีแบบนี้เด็กโตกับเด็กเล็ก เราควรจะเยียวยาสภาพจิตใจเด็กที่ต่างกันไหมคะ อย่างโรงเรียนนี้ควรจะทำยังไงก่อน

นพ.บุรินทร์ – จริงๆแล้วนี่นะครับ ถ้าสมมุติว่าเกิดเหตุการณ์โดยตรงนี่นะครับ สิ่งที่จะทำก็จริงๆผมว่าโรงเรียนได้ทำไปค่อนข้างเยอะแล้วก็คือ การที่ทำยังไงก็ได้ให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย การเคลื่อนย้ายเด็กนักเรียนและครูไปในที่ๆคิดว่า ที่ๆเขามีทีและเขาอยู่แล้วเขารู้สึกปลอดภัยก็คือเข้าไปอยู่ในห้องเรียน เพราะตอนนั้นเท่าที่ฟังมาสถานการณ์ค่อนข้างยุ่งเหยิง เราไม่แน่ใจว่าคนร้ายยังอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นทุกคนนี่จะอยู่ในคล้ายๆว่าเซฟเฮ้าส์ของตัวเอง ปิดประตู และก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีคนข้างนอกเข้ามาเป็นตัวที่ก่อกวนนะครับ

รวมทั้งเรื่องของตัวสื่อ ตัวอะไรด้วย จริงๆเราจะต้องควบคุมสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ก่อนอันดับแรก ข้อสองที่คิดว่าน่าจะทำต่อนี่ ก็คงจะต้องเป็นการพูดคุย หรือบอกว่าตอนนี้เขาอยู่ในที่ๆปลอดภัยแล้วนะ แล้วก็ค่อยๆให้แต่ละที่มีการจัดการความรู้สึกของคล้ายๆว่าเป็นเครือข่าย อย่างเช่นอาจารย์แต่ละคนควบคุมเรื่องของสถานการณ์ในห้อง เราคงจะมีเรื่องของปฏิกิริยาของเด็ก ที่บางคนเห็น บางคนไม่เห็น หรือว่าบางคนอย่างที่คุณดิลกบอกว่า เห็นแล้วก็เอามาเล่าต่อ พอเล่าต่อเด็กประมวลเหตุการณ์แล้วเขาคิดเองนะครับ

จินดารัตน์ – คุณหมอนอกจากวันนี้ไป ถึงขั้นว่าต้องใช้นักจิตวิทยาหรือว่าคุณหมอเข้าไปช่วยไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – ครับ ตามหลักนะครับ ผมคิดว่านะครับ เท่าที่เราเคยดูและก็มีการศึกษามานี่ ประมาณ 27% นะครับ ของเด็กที่เห็นเหตุการณ์ หรือเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง หรือถูกฆ่านะครับ ในอเมริกาหรือในยุโรปนี่ 27% นะครับที่จะพัฒนาโรคที่เขาเรียกว่า โรค PTSD โรคนี้ฮิตมาก ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Posttraumatic Stress Disorder เป็นโรคที่เกิดจากความเครียด เนื่องจากเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดานะครับ เพราะฉะนั้นโรคนี้ค่อนข้างจะมีความรุนแรงครับ เป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่ทำให้เด็กมีการเสียการเรียน เสียหน้าที่การงานของตัวเอง และก็เสียศูนย์ เสียเรื่องความสัมพันธ์ได้ กลุ่มนี้ 27% เลยแค่เห็นนะครับไม่ใช่โดนกระทำนะครับ

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในระยะยาว ต้องติดตามเด็กในกลุ่มนี้ และก็ช่วยเหลือให้เขามีการระบายออกอย่างเหมาะสม เพราะเด็กหลายๆคนนี่อาจจะยังบอกไม่ได้นะครับ ว่าเด็กแค่คนเห็นเหตุการณ์ แต่ในสภาพโรงเรียนที่มีเรื่องของความโกลาหลที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนเลย การที่เพื่อนมาเล่าให้ฟังถึงเลือด หรืออาจจะเห็นสถานที่ที่เกิดเหตุ และก็มีเรื่องวุ่นวายที่ผู้ปกครองจะมาดึงเด็กไป มีเสียงดัง ซึ่งเด็กไม่เคยเจอมาก่อน มันไม่เคยเจอ ไม่เคยเกิดขึ้น

จินดารัตน์ – เหมือนเกิดอาการช็อก พูดกันง่ายๆถูกไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – มีโอกาสครับ

จินดารัตน์ – เมื่อซักครู่ดิฉันฟังที่คุณหมอบุรินทร์พูดถึงว่า เห็นด้วยกับวิธีการที่โรงเรียนทำว่า เอาเด็กเข้าไปอยู่ในห้อง ล็อกประตูไว้ และครูประจำชั้นอยู่ด้วยทุกห้อง ปิดโรงเรียนไม่ให้ใครเข้าออก แต่มีผู้ปกครองหลายคนไม่พอใจกับวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เพราะว่าโรงเรียนเองพยายามไล่จับคนร้ายด้วยตัวเอง ไม่ยอมแจ้งตำรวจ คุณดิลกในฐานะที่เป็นผู้ปกครองคิดยังไงคะ

ดิลก – คือต้องยอมรับว่า ณ ตรงนี้ผมไม่ทราบว่าอะไรเกิดขึ้นตรงนั้น เพราะว่าเท่าที่รู้นี่นะครับ ข่าวที่พูดกันไปพูดกันมานี่เยอะมาก ตอนแรกก็บอกว่าคนร้ายเป็นเกย์ ต้องยอมรับว่าคนไทยนี่เวลาพูดแต่ละปากต่อปากแล้วนี่ ข้อมูลค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนเยอะ ฉะนั้นเวลาพูดอะไรบริเวณหน้าโรงเรียนนี่นะครับ ตรงนั้นก็จะเป็นแรงกระเพื่อมอย่างแรง ทำให้เกิดแรงปฏิกิริยาเกิดว่าพอใจหรือว่าไม่พอใจ ซึ่งถ้าหากว่าถ้าให้โอกาสโรงเรียนนิดนึง ผมก็ไม่ได้เข้าข้างโรงเรียนนะครับ แต่ว่าลูกก็อยู่ในนั้น ผมก็รอ คือยังไงก็ต้องรอครับ เพราะว่าผมว่าก่อนที่เราจะรู้ว่าลูกเราเป็นอะไรนี่ ขอให้ลูกรู้ คือขอให้โรงเรียนแจ้งออกมาว่าลูกอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยไหม อยู่ในห้องนี่ผมก็พอใจในระดับนึงแล้ว

จินดารัตน์ – ยอมที่จะรอให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ให้โรงเรียนจัดการแก้ปัญหาไปก่อน อาจารย์เกื้อกุล ถ้าเรียนถามอาจารย์ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ปกครองและอาจารย์นี่นะคะ วิธีการอย่างนี้ถูกต้องไหมคะ ในการแก้ปัญหา

เกื้อกุล – จริงๆแล้วเรื่องใหญ่ที่ทางโรงเรียนจะต้องคิดก็คือ 1. ทำยังไงให้ผู้ปกครองเกิดความสบายใจ เราจะต้องคิดในผู้บริหารนี่ จะต้องคิดว่าทำยังไง อันที่ 2 เด็กจะต้องอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน แล้วจึงจะแจ้งผู้ปกครองว่าเขาปลอดภัย ซึ่งจริงๆแล้วครูประจำชั้นหรือผู้บริหารจะมีเบอร์โทรของผู้ปกครองเวลาด่วน ถ้าไม่ได้ผู้ปกครองก็ต้องมีบุคคลที่ 2 เป็นใคร บุคคลที่ 3 เป็นใคร เราจะแจ้งทันทีเพื่อให้เขาไม่ต้องขับรถมาอย่างโกลาหล อาจจะเกิดอุบัติเหตุก็ได้ อันนี้เราตระหนักกันในผู้บริหารโรงเรียนมาก

จินดารัตน์ – แสดงว่าสิ่งที่เซ็นต์โยเซฟพลาดวันนี้ก็คือ อาจจะไม่ได้โทรศัพท์หาผู้ปกครองถูกไหมคะ

เกื้อกุล – ไม่เรียกว่าพลาดหรอกนะคะ เพราะว่ามันเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด บางครั้งก็ตระหนกน่ะค่ะ แต่จริงๆทุกโรงเรียนจะเขียนมาตรการไว้ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ 1,2,3 ทุกโรงเรียนเลย

ดิลก – คืออย่างนี้ครับ คือเรื่องเบอร์โทรศัพท์นี่นะครับ ที่บังเอิญครอบครัวผมได้รับการติดต่อจากครูประจำชั้น แล้วเราติดต่อประสานงานได้นี่เนื่องจากว่า เราก็บริหารความสัมพันธ์ด้วยดีกับครูประจำชั้น เราก็เลยมีหมายเลข แล้วบังเอิญครูก็อนุญาตด้วย เหตุผลในการที่ครูประจำชั้นอาจจะให้หรือไม่ให้ บางทีก็ต้องเห็นใจคุณครูประจำชั้นเหมือนกัน เนื่องจากว่าผู้ปกครองแต่ละคนนี่นานาจิตตัง บางครั้งก็ก้าวล่วงนะครับ ใช้เวลาของครู หรือใช้อะไรก็ไม่ทราบแล้วแต่ อันนี้ผมไม่ได้ว่าผมได้แล้วผมอะไรนะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าความพอดีนี่แหละครับ เวลาเกิดเหตุการณ์จริงๆสอนให้รู้ว่า ผู้ปกครองก็ต้องดูตัวเองเหมือนกัน ว่าจะต้องสะท้อนตัวเองเหมือนกันว่า ก็ต้องพร้อมให้ความร่วมมือกับโรงเรียน โรงเรียนถึงจะให้ความร่วมมือกับเรา ทำนองนั้นด้วยครับ

จินดารัตน์ – อาจารย์วิชัยคะ ถ้ามองจากต่างประเทศ ถ้าเหตุการณ์ครั้งนี้คล้ายๆกันแบบนี้ เขาจะแก้ปัญหากันยังไงคะ คือหลายคนติดใจกรณีไม่ยอมแจ้งตำรวจแล้วไล่จับคนร้ายเอง

ดร.วิชัย – ตรงนั้น 2 ประเด็นนะครับ ประเด็นแรกคือให้เด็กที่เหลือปลอดภัยก่อน อันนี้สำคัญอย่างที่อาจารย์เกื้อกุลว่า แจ้งผู้ปกครองมาอันดับ 2 เพราะถ้ามัวไปแจ้งอยู่แล้วเด็กไม่ปลอดภัยจะทำยังไง เพราะฉะนั้นต้องเอาเด็กให้ปลอดภัยก่อน

จินดารัตน์ – อย่างนี้แสดงว่าถูกต้องแล้ว ที่เอาเด็กเข้าไปอยู่ในห้องเลย

ดร.วิชัย – แล้วให้ครูประจำชั้นเขาดูแลเด็กไป เพราะว่าเขารู้จักเด็กทุกคนนะครับ ขอให้ความเสียหายมันจำกัดแค่ 4 คนที่โดนไปแล้วนะครับ ตรงนี้ก็ถูกต้องแล้ว ทีนี้เรื่องไล่จับขโมยนี่มันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ตรงนั้น คือถ้ามันชุลมุนอยู่ยังบอกตำรวจไม่ทันใช่ไหมครับ แต่ความจริงเขามีครูหลายคนใช่ไหม ระหว่างที่คนนึงไล่จับ อีกคนนึงก็ไปบอกได้ มันไม่ใช่ว่ามีครูใหญ่คนเดียว ตรงนี้เขาอาจจะไม่มีปฏิภาณรวดเร็วพอ

ดิลก – ทราบว่าช่วงนั้นก็มีการระดมอาสาสมัครจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชายครับ ผมมาทราบภายหลัง ว่าให้เดินหลายๆคนพร้อมๆกันทำนองนี้

ดร.วิชัย – คือแต่มันทำ 2 อย่างพร้อมกันได้ไง อย่างที่ผมว่า การที่เราจัดการด้วยตัวเองที่จะหาขโมย หาผู้ที่มากระทำนี่ กับอีกคนหนึ่งก็ไปแจ้งตำรวจได้ ใช่ไหมครับ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าผมว่าอย่างไรเสียก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็ต้องเข้าใจตรงนี้

จินดารัตน์ – อาจจะเกิดความตระหนก อาจจะตัดสินใจไม่ทัน

ดร.วิชัย – แต่ผมว่าต่อไปอยากจะให้โรงเรียนทุกแห่งต้องป้องกันนะครับ พยายามต้องเสียเวลาผู้ปกครองหน่อยอย่างที่คุณดิลกพูดมาเมื่อตะกี๊นี้ คุณดิลกก็เข้าไปในโรงเรียนนี้ได้โดยที่ไม่ต้องมีบัตรใช่ไหมครับ

ดิลก – แต่ว่าเขาจะมีโซนครับ

ดร.วิชัย – ผมว่าไม่ถูกครับ ต้องมีบัตรครับ ผมยอมไม่ได้ตรงนี้

จินดารัตน์ – เอาล่ะค่ะ คุณผู้ชมคะ ขออนุญาตพักกันตรงนี้ก่อนนะคะ ช่วงหน้าเดี๋ยวกลับมา แขกรับเชิญหลายท่านของเราเกิดความหวาดวิตก กลัวกันว่าเหตุการณ์ครั้งหน้ามันจะรุนแรงกว่านี้หรือเปล่า มันจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบหรือเปล่านะคะ เดี๋ยวช่วยหน้ากลับมาคุยกันต่อค่ะ

*********************************************************
จินดารัตน์ – กลับมาช่วงสุดท้ายของรายการคนในข่าวนะคะ เราคุยกันถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นกับโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์วันนี้ ซึ่งผู้ปกครองหลายคนกังวลใจเหลือเกินว่า แบบนี้มันถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบหรือเปล่า ต้องเรียนถามคุณหมอบุรินทร์แล้วล่ะค่ะ ว่าอย่างนี้เป็นพฤติกรรมเลียนแบบไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – หมายถึงต่อไปใช่ไหมครับ ต่อไปนี่นะครับยังตัดสินไม่ได้นะครับ ว่าจริงๆแล้วพฤติกรรมอันนี้จะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบต่อไปในอนาคตนะครับ เพราะว่า 1. เรายังไม่แน่ใจ เรายังไม่มีตัวที่บอกว่าคนร้ายคนนี้นี่เป็นลักษณะไหนที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเรายังระบุหรือคาดเดาถึงพฤติกรรมครั้งต่อไป ว่าจะเกิดเลียนแบบได้หรือเปล่า แต่ถามว่าถ้าดูจากในต่างประเทศนะครับ หลายๆที่ที่เกิดขึ้นคือญี่ปุ่นหรืออเมริกา ซึ่งเป็นประเทศทที่เจริญแล้ว และก็เป็นสังคมเมืองที่ค่อนข้างจะใหญ่ พฤติกรรมตรงนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันอาจจะสะท้อนในเรื่องของตัวสังคม

จินดารัตน์ – และดูเหมือนว่ามันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนะคะ คุณหมอ

นพ.บุรินทร์ – มันจะรุนแรงและแปลกขึ้นเรื่อยๆครับ เพราะว่าเท่าที่ดูนะครับ ดูจากสถิติที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นนี่ในอนาคตถามว่าเกิดไหม ผมคิดว่าอาจจะมีอีก คิดว่านะครับ ยังไม่สามารถฟันธงไปได้ 100% ว่าพฤติกรรมนี้จะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบหรือเปล่า

จินดารัตน์ – ผอ.ล่ะคะ กลัวเหมือนที่คุณหมอกลัวไหมคะ

ดร.ปัญญา – ความเห็นผม ผมคิดว่าโรงเรียนมีมาตรการ และก็ในอนาคตนี่ความเข้มแข็ง ความละเอียดถี่ถ้วนจะมากขึ้น ประเด็นที่ผมเรียนยกตัวอย่างเช่นเซนต์โยเซฟนี่นักเรียนตั้งเกือบ 5000 คน มีครูกว่า 300 คน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มาก เพราะฉะนั้นความทั่วถึงนี่อาจจะมองไม่เห็น ถ้าไปดูลึกๆจะเห็นว่าคนร้ายนี่เป็นผู้หญิงด้วยก็เลยดูกลมกลืน แต่โดยหลักในอนาคตข้างหน้านี่ มาตรการตรงนี้ต้องออกมาชัดเจน ผมคิดว่าการประชุมวันนี้ก็ดี วันพรุ่งนี้ที่อาจจะมีขึ้นก็ดี ก็คงจะบอก ทั้งนี้จริงๆแล้วนี่สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานนี่ ได้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือรักษามาตรการความปลอดภัย หรือระบบดูแลนักเรียนนี่ ซึ่งก็จะส่งให้กับทางโรงเรียนปลายเดือนนี้

จินดารัตน์ – แต่ว่าไม่ได้บังคับถูกไหมคะ เป็นข้อแนะนำ

ดร.ปัญญา – ไม่ได้เป็นข้อแนะนำครับ เป็นนโยบายบอกให้ทางสถานศึกษากำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัย

จินดารัตน์ – ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมคะ ผอ. ว่ามีอะไรบ้าง

ดร.ปัญญา – ยกตัวอย่างเช่นลักษณะการจัดตั้งเวรยาม ซึ่งโดยปกติมีอยู่แล้วนะครับ ทุกโรงเรียนจะมีครูเวรทุกวันเลย ว่า 2 คน 3 คน 10 แล้วแต่กรณี แล้วแต่ขนาดโรงเรียน มาตรการนี้ต้องชัดเจนมากขึ้น ช่วงไหนจะต้องมีครูบาอาจารย์มายืนอยู่ในจุดที่สำคัญๆ แม้กระทั่งการดูแลจากในโรงเรียนแล้ว หน้าโรงเรียนนะครับ เรื่องการข้ามถนนอะไรนี่ ปกติจะมี แต่เรื่องภายในโรงเรียนโดยปกติโรงเรียนทั่วไป ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปเดินเล่นอะไรอย่างนี้ แม้กระทั่วรถนี่ก็ให้เข้าไม่ได้ เกือบทุกโรงเรียนเป็นอย่างนี้อยู่แล้วครับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นนี่ ก็เป็นชัดเจนว่า 1. เรื่องของการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยจะเข้มแข็งมากขึ้น ประเด็นที่ 2 เขตพื้นที่การศึกษาก็จะดูแลและตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เราไม่ทราบว่าสภาพสังคมลักษณะนี้ มันจะมาเกิดขึ้นเมื่อไหร่

จินดารัตน์ – ผอ.บอกได้ชัดๆไหมคะ มีอะไรบ้างที่บังคับไปเลย อย่างเช่น ไม่ให้ผู้ปกครองเข้าไปในบริเวณโรงเรียน หรือต้องมีการตรวจบัตรทุกครั้ง มีไหมคะที่บังคับไปเลย

ดร.ปัญญา – ที่บังคับไปเลยตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดนะครับ เพราะว่าเรากำหนดนโยบายอย่างที่ผมนำเรียนตั้งแต่แรกว่า เราถือว่าหลักแรกคือนักเรียนทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองดูแลความปลอดภัย เราก็บอกแล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ทุกคนต้องได้รับการดูแลความปลอดภัย ประเด็นที่ 2 ทุกคนจะต้องมีแนวทางในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้นักเรียน อันที่ 3 เราก็ประสานกับเครือข่าวที่เกี่ยวข้องนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทางตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นทางจราจร หรือจะเป็นทางอาสาสมัครผู้ปกครอง หรือกรรมการสถานศึกษาอะไรอย่างนี้ และสุดท้ายก็เห็นว่า การประกอบการที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น รถรับส่งก็ดี พ่อค้าแม่ค้าก็ดี จะมีการตรวจสอบมากขึ้น

จินดารัตน์ – ก็คือหมายถึงมาตรการจะเข้มงวดมากขึ้น

ดร.ปัญญา – ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่จะกำหนดให้เขตพื้นที่และโรงเรียน หรือสถานศึกษานี่กำหนดอีกครั้ง เพราะว่าสภาพแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

จินดารัตน์ – ผอ.คะ อย่างนี้เรายอมรับไหมคะว่าที่ผ่านมา เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงเอง หรือว่าโรงเรียนเองอาจจะหละหลวม เพราะว่าไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้

ดร.ปัญญา – มีการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเมื่อเร็วๆนี้นะครับ เมื่อ 2 สัปดาห์ ก็ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยในเรื่องการจัดระบบดูแลนักเรียน ก็พยายามจะดูแลมาตรการให้เตรียมการป้องกันไว้

จินดารัตน์ – หลังจากนี้ก็จะเข้มงวดมากขึ้น

ดร.ปัญญา – แน่นอนครับ

จินดารัตน์ – อาจารย์วิชัยคะ อาจารย์วิชัยกลัวอะไร กลัวอย่างที่คุณหมอกลัวไหมคะว่า จะเกิดพฤติกรรมแปลกๆ วิธีการแปลกๆ ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น

ดร.วิชัย – แน่นอนครับ อันนี้มันเป็นไปตามกระแสโลกครับ แล้วจะตามอย่างกันนะครับ แต่ถ้าเราจับได้อย่างกรณีนี้นะครับ ก็จะทำให้การทำแบบนี้อีกลำบากแต่จะทำในรูปแบบอื่น เขาจะคิดรูปแบบอื่นขึ้นมานะครับ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเกิด ก็ต้องมานั่งคิดกันเรื่อยๆนะ มาตรการที่จะควบคุม อย่างสมมุติผมบอกว่าต่อไปต้องตรวจบัตรนี่นะครับ ทีนี้เขาอาจจะต้องมีวิธีหาทางที่จะปลอมบัตรกันใหม่ล่ะ มันก็มีวิธีตรงนั้นล่ะครับ พวกที่ต้องการจะทำความชั่วมันมีตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาทางแก้ไปอีกหลายๆชั้นไว้นะครับ แล้วก็ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรานักการศึกษาคิดนี่นานมาแล้ว โรงเรียนไม่ควรจะขนาดใหญ่ถึง 5000 คน เราคิดมานานแล้วว่าไม่ควรจะเกิน 1000 นะครับ แต่ในเมื่อเขาไม่เชื่อเรา เขาต้องการให้มีขนาดใหญ่น่ะ

จินดารัตน์ – คือพอใหญ่แล้วการดูแลมันก็ลำบากนะคะ อันนี้ต้องยอมรับ

ดร.วิชัย – ทฤษฎีของนักการศึกษานี่ 1000 คนนี่ก็ลำบากแล้วนะครับ

จินดารัตน์ – เพราะฉะนั้น 4000-5000 คนนี่ อยู่ที่โรงเรียนแล้วนะคะ ว่าจะหามาตรการอะไรเข้มงวด

ดร.วิชัย – แต่ถ้าเป็นโรงเรียนของมัธยมปลายก็ไม่เท่าไหร่หรอก เด็กโตแล้ว แต่ก็จะมีปัญหาอื่นอีก เรื่องความรุนแรงระหว่างเด็กโตด้วยกันเอง แต่ถ้าเด็กเล็กๆนี่เขาไม่ให้ใหญ่นะครับ เด็กเล็กนี่ดูแลลำบาก ประถมนี่ 500-600 นี่ก็ใหญ่แล้วนะครับ

จินดารัตน์ – แสดงว่าวิธีจะแก้จริงๆนี่ มันแก้ได้หลายอย่างด้วยนะคะ ก็คือทำให้โรงเรียนเล็กลง

ดร.วิชัย – ครับ ประถมนี่เล็กๆหน่อย

จินดารัตน์ - -แต่ว่ามาตรการถ้าเข้มงวดแบบนี้ อาจารย์เชื่อว่าจะช่วยให้ความปลอดภัยมากขึ้นได้ไหมคะ

ดร.วิชัย – ถ้ากระทรวงอย่าไปรีรอ หรืออย่าไปรู้สึกเกรงใจนะ ก็ออกเป็นคำสั่งออกไปเลย ประสบการณ์ผมนี่ถ้าบอกว่าควรไม่ควร หรือไม่ควรไม่ได้ไม่ทำตาม ต้องสั่ง

จินดารัตน์ – อาจารย์เกื้อกุลคะ ถ้าฟังอย่างอาจารย์วิชัยแบบนี้แล้วว่า ขนาดโรงเรียนนี่มันใหญ่ มันดูแลไม่ทั่วถึง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ไหมคะ

เกื้อกุล – ก็เป็นปัญหานะ แต่ว่าแต่ละที่เขาก็ถือว่าเขาก็ดูแลมาได้ ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นนะคะ เขาก็ยังมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะว่าดูแลมาก็เด็กปลอดภัย ทุกอย่างปลอดภัย แต่ชิ้นที่เกิดวันนี้เป็นชิ้นที่ว่า มันเหนือความคาดหมาย และก็มันเป็นสิ่งที่ว่าเศร้ากันหมดทั้งประเทศว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน

ดร.ปัญญา – จริงๆที่มานี่ยังไม่ได้คาดหมาย แต่ต่อไปนี้ไม่ให้เกิดอีก

จินดารัตน์ – ต้องคาดว่ามันต้องไม่เกิด ถูกไหมคะ

ดร.ปัญญา – ครับ ที่แล้วมาแล้วก็เข้าใจร่วมกัน

เกื้อกุล – ค่ะ แต่มาตรการนี่อยากจะฝากไปถึงท่านผู้ปกครองนะคะ ขอให้ท่านให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน บางทียามหรือครูประจำชั้นบอกรอตรงนี้นะคะ ไม่ต้องเข้าไป เพราะว่าท่านเข้าไปบางทีเด็กบางคนอาจจะกลัว ร้องไห้อะไรอย่างนี้ บางท่านก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือเท่าไหร่ อันนี้ก็ฝากไว้ด้วยเพื่อความปลอดภัยของลูกท่านเอง

จินดารัตน์ – คุณดิลกคิดเหมือนอาจารย์เกื้อกุลไหมคะ ผู้ปกครองนี่มีส่วนสำคัญ

ดิลก – มีส่วนครับ และบังเอิญประเทศไทยนี่นะครับ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นลำดับดีมากเลย คือวันก่อนนี่ก็มีการอยู่ในสถานที่ที่น่าจะปลอดภัย กักขังก็คือแหกคุกไงครับ นั่นก็คือมาตรการ 100% ก็ยังเอาไม่อยู่ ใช่ไหมครับ วันนี้นี่เมื่อมาตรการบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะทยอยออกมาในอนาคตนี่ การควบคุมก็คงจะเป็นการควบคุมโดยระบบ เพื่อให้ระบบนี่ดูแลระบบ ไม่ว่าจะเป็นรับไม่ว่าจะเป็นส่งอะไรก็สุดแล้วแต่ วันนี้ในฐานะที่ผมเป็นผู้ปกครอง และก็เผชิญเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง ผมว่าเหตุการณ์นี้มันมีคุณอยู่ในตัวเองเหมือนกันสำหรับพ่อและแม่ สำหรับตัวผมเองนี่ก็คงจะต้องพึ่งมาตรการส่วนบุคคล สอนลูกเราเอง ว่าการตระเตรียมเหตุการณ์แบบนี้นี่ ในเฉพาะส่วนบุคคลนี่มีคู่มือในการรับมือสถานการณ์แบบนี้อย่างไร 1,2,3 เอาแค่ 3 ข้อเพราะลูกยังไม่เกิน 10 ขวบ 1,2,3 นี่ลูกต้องทำยังไง

จินดารัตน์ – เอาง่ายๆให้เขาจำได้

ดิลก – ใช่ครับ เพราะว่าเด็กนี่พอตระหนกตกใจแล้วนี่ ต่อให้มีระบบที่ดีแค่ไหนก็ตาม ต่อให้มีการตระเตรียมซักซ้อมเหตุการณ์ซักแค่ไหนก็ตามแต่นี่นะครับ เขางงครับ เขาไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปเข้ากับระบบอย่างไร เพราะฉะนั้นก็ทำได้อย่างเดียวคือบอกตัวเองให้คิดในเวลานี้ 1,2,3 ผมต้องไปคิดให้ลูกนี่ จะต้องมีอะไรบ้าง ผมหมายมั่นว่าโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าโรงเรียนจะออกกฎห้ามอย่างไรก็แล้วแต่ ผมถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือยที่จำเป็นสำหรับเด็กๆ

ดร.วิชัย – แต่ขอให้ถูกๆหน่อยนะ

ดิลก – ครับ แต่กฎในการใช้ ต้องเรียนรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มา ต้องเปิด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่โรงเรียนให้สัญญาณว่าปิดก็ต้องปิด อาจจะฝึกง่ายๆแค่นี้ก่อน

จินดารัตน์ – เด็กก็ต้องมีระเบียบด้วย

ดิลก – ใช่ครับ ต้องฝึกตรงนี้

จินดารัตน์ – โรงเรียนเองล่ะคะ คุณดิลกอยากให้โรงเรียนเป็นยังไง

ดิลก – ผมก็อยากให้โรงเรียนได้หันดูเหตุการณ์ตรงนี้ ผมเชื่อว่าโรงเรียนนี่เสียใจ ผมเชื่อว่าโรงเรียนต้องเสียใจ เพราะว่าโรงเรียนก็คงไม่มีโอกาสได้เคยรับเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อนนะครับ ผมเชื่อว่าโรงเรียนคงจะต้องมาตรวจสอบตัวเองเหมือนกันครับ ว่าต่อไปนี้การที่ยอมให้ผู้ปกครองเข้ามาอยู่ในโซนของโรงเรียนบางส่วนนี่ เป็นสิ่งที่จะทำต่อไปหรือไม่นะครับ

จินดารัตน์ – คุณดิลกก็คิดว่าผู้ปกครองควรจะมีส่วนเข้าไปร่วมตัดสินใจกับโรงเรียนด้วยไหมคะ

ดิลก – ด้วยครับ แล้วผู้ปกครองก็ไม่ควรจะเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคล ควรจะมองเห็นภาพรวมนะครับของการเซ็ตระบบนี้ขึ้นมานะครับ

จินดารัตน์ – พ่อแม่บางคนไม่ยอม จะเข้าไปส่งลูกให้ถึงเก้าอี้นั่งเลย คุณหมอคะ เรียนถามเรื่องของคนร้ายนิดนึง อย่างที่เขาบอกรูปพรรณสัณฐานหรือว่าอากัปกิริยา ถ้าคุณหมอดูข่าวหรือฟังข่าวแบบนี้แล้ว จากคำให้การของพยานทั้งหลาย ฟันธงอย่างที่ตำรวจเขาพูดได้ไหมคะ อย่างท่านโกสินทร์บอกว่า วิกลจริตแน่ๆได้ไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – วิกลจริตนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าคำจำกัดความของมันคืออะไร ถ้าเป็นวิกลจริตนี่ถ้าเป็นทางกฎหมายก็คือ การกระทำแบบไม่รู้ผิดชอบ และควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างรายนี้นี่นะครับ เขาอาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ก็เป็นไปได้ แต่ว่าถ้าถามว่าไม่รู้ผิดชอบนี่ตอนนี้ก็ยังประเมินเขาไม่ได้ครับ ว่าเขารู้หรือเปล่าว่าสิ่งที่เขาจะเกิดอะไรขึ้น และเขาคาดหวังอะไรตามมา ซึ่งมันจะเกิดผลอะไร ตรงนี้นี่ผมก็ยังสองจิตสองใจในเรื่องของบอกเขาว่าคนๆนี้วิกลจริตหรือเปล่า แต่ถามว่าความผิดปกติในเชิงของการกระทำที่เขาบุกขึ้นไปทำนี่นะครับ และก็คิดว่าอาจจะไม่ได้เลือกคนที่ทำด้วย ตรงนี้นี่กระจัดกระจายค่อนข้างเยอะ และก็มีพฤติกรรมแปลกๆอย่างที่บอกว่ามีคนเห็นแล้วก็ดูเขาแปลกๆว่าตั้งแต่ 2-3 วันที่แล้ว หรือมีพฤติกรรมที่ให้ตามไปดูเด็กๆหลายคนที่บ้านนี่ ตรงนี้นี่ผมคิดว่าเขาอาจจะมีความผิดปกติระดับนึงแน่ๆ

จินดารัตน์ – คุณหมอคะ ดิฉันเคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า คนวิกลจริตหรือผู้ป่วยทางจิต จะไม่สามารถทำร้ายคนอื่นได้จริงหรือเปล่าคะ หรือว่าไม่แน่เสมอไป

นพ.บุรินทร์ – ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องดีมากนะครับที่เสนอมา คงต้องบอกว่าจริงๆแล้วนะครับ ในคนไข้จิตเวชนี่นะครับ มีน้อยกว่า 1% ครับจะก่อความรุนแรง เพราะฉะนั้นหมายถึงว่า 100 คนนี่น้อยกว่า 1 คนนะครับที่จะก่อความรุนแรงจริงๆ คนไข้จิตเวชหรือคนไข้โรคจิตของเรานี่นะครับ เราถูกตราหน้าด้วยหลายๆเรื่อง อย่างเช่นเรื่องของสื่อ เรื่องของภาพยนตร์ ซึ่งใช้ความรุนแรงหรืออะไรก็ได้ที่แรงๆแล้วมันเกิดอิมแพค อย่างผลกระทบนี่ทำให้คนเขารู้สึกว่าคนกลุ่มนี้น่ากลัว จริงๆตรงนี้ผมอยากจะเรียนสื่อและก็เรียนกับท่านผู้ชมหลายๆท่านด้วยว่า ตรงนี้นี่นะครับคนไข้ทางจิตเวชหรือคนไข้โรคจิตหลายๆคนนี่นะครับ เรามองว่าเป็นโรคทางสมอง ซึ่งเดี๋ยวนี้รักษาได้นะครับ และก็กินหยูกกินยา ถ้าติดตามสม่ำเสมอถึงเขาเป็นโรคเรื้อรัง มันจะเหมือนเบาหวานหรือความดัน ซึ่งถ้าเขากินยาสม่ำเสมอ เขาจะควบคุมพฤติกรรมได้ ควบคุมความนึกคิดได้ แล้วก็ในที่สุดก็สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้เหมือนกับคนอื่น กรณีนี้นะครับถ้าสมมุติว่าเขาเป็นโรคจิตจริงๆนี่ ผมยังคิดว่ามันเป็นกรณีส่วนน้อยมากที่เกิดขึ้น อย่างที่บอกว่าน้อยกว่า 1%

จินดารัตน์ – แล้วคุณหมอคะ อย่างกรณีคนที่ชอบความรุนแรง ชอบเห็นความรุนแรง ชอบทำร้ายร่างกายคนอื่น อย่างนี้ถือว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – ยังบอกไม่ได้ครับ ผู้ป่วยทางจิตนี่นะครับ คือทางจิตเวชเรามองว่าผู้ป่วยทางจิต หรือผู้ป่วยโรคจิตนี่นะครับ ก็คือผู้ป่วยที่เขามีอาการที่แปลกๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วก็ไม่รับรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคจิตนะครับ อาจจะมีหูแว่ว หรือมีภาพหลอน ตรงนี้นี่คืออาการของโรคจิต ถ้าผู้ป่วยทางจิตในความหมายของตัวคุณว่านี่เป็นทางโรคจิตแบบนี้นี่นะครับ ก็คงจะยังตัดสินไม่ได้ว่าเขาควบคุมตัวเองไม่ได้และก็ทำร้ายคนอื่น

ดิลก – มีตัวเลขผู้ป่วยโรคจิตในประเทศเราซักเท่าไหร่ครับ

นพ.บุรินทร์ – ตอนนี้นี่นะครับ ตัวเลขผู้ป่วยโรคจิตนี่ ค่อนข้างจะมีคือถ้าจะเอาตามเปอร์เซ็นต์นะครับ ก็คือประมาณ 1% เป็นมาตรฐานครับ 0.9% 100 คนมี 1 คนครับ ถือว่าเยอะไหมนะครับถ้าเทียบกับโรคอื่นๆนี่ ทางจิตเวชนี่ยังถือว่าน้อยนะครับ ยังมีโรคซึมเศร้าซึ่งอาจจะค่อนข้างเยอะกว่า แต่ว่าคนไข้โรคจิตอย่างที่บอกนะครับว่า เขาถูกตราหน้าหลายเรื่องมานานแล้ว การมองภาพของสังคมในทางที่ผิด และก็ความรุนแรงในเรื่องของเรื้อรัง เพราะฉะนั้นคนไข้กลุ่มนี้มีส่วนน้อยที่ก่อความรุนแรง แต่เมื่อรุนแรงแล้วนี่มันฝังใจ ประชาชนและก็คนที่ยังไม่เข้าใจตรงนี้

จินดารัตน์ – คุณหมอคะ จากการไปตรวจสภาพที่เซนต์โยฯ เด็กๆนี่นะคะ คุณหมอวิตกเรื่องอะไรมากที่สุดคะตอนนี้

นพ.บุรินทร์ – ที่วิตกมากที่สุดในขณะนี้นะครับ ผมคิดว่าผมวิตกในเรื่องของพฤติกรรมของเด็ก เพราะเรารู้แล้วว่าเด็กที่เห็นเหตุการณ์ก็ตาม หรือว่าเด็กที่ได้รับการทำร้ายก็ตามนี่นะครับ มีกลุ่มนึงนะครับซึ่งยังบอกเรื่องของร้อยละไม่ได้ มีโอกาสที่จะมีอาการทางพฤติกรรม หรืออาจจะเกิดเรื่องของการกินการนอนที่มันผิดปกติไปนะครับ เอาเบื้องต้นง่ายๆก็คือเรื่องของการกินการนอน ที่เจอได้เยอะคือเรื่องของการนอนไม่หลับ เรื่องของอาการป่วยทางกาย มีเจ็บป่วยทางกายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือว่าเด็กอาจจะมีเรื่องของผวาตกใจง่าย ตรงนี้อาจจะไม่ได้เจอในช่วงแรก หมายถึงว่าเจอเหตุการณ์ปุ๊บเขาจะมีอาการ แต่บางทีตามไปประมาณ 1-2 วันอาจจะเริ่มมีอาการ และก็บางคนเป็นเดือนกว่าจะลงมา นอกจากนี้ตัวที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือพฤติกรรมของเด็ก มีเด็กกลุ่มนึงนะครับเขาแสดงออกมาถึงโรคทางจิตเวช โดยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อาจจะหนีโรงเรียน ไม่สามารถที่จะเรียนได้เหมือนปกติ ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้เหมือนเดิมกับเพื่อนๆ ตรงนี้นี่นะครับเป็นตัวที่เราคิดว่าน่ากลัวมากกว่าในระยะยาว

จินดารัตน์ – คุณหมอจะต้องให้คำปรึกษาของโรงเรียนด้วยไหมคะ ให้คำแนะนำไหมคะ

นพ.บุรินทร์ – ใจผมเองนะครับ คิดว่าในอนาคตนะครับ วันนี้ที่ไปคงยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่าเขาต้องดูแลเรื่องอื่นก่อนนะครับ แต่ในอนาคตนี่นะครับยังอยากจะเสนอแนะให้กับทางโรงเรียน แล้วก็จริงๆถ้าเป็นไปได้คือระบบการศึกษาเลยทุกโรงเรียนนี่นะครับ มีระบบป้องกัน และก็มีระบบที่รีบจัดการถ้ามันเกิดปัญหาตรงนี้ได้ มีคนบอกว่ายิ่งเร็วเท่าไหร่ ตรงนี้จะลดเรื่องของการเกิดภาวะแทรกซ้อนกับเด็ก กับผู้ปกครอง และก็กับตัวโรงเรียนเอง ทั้งครูทั้งอะไรต่างๆได้มากที่สุด คงต้องเร็วครับ

จินดารัตน์ – มาดูเสียงของคุณผู้ชมทางบ้านบ้างนะคะ มีหลายสายบอกว่าอย่าให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย ใจคอไม่ดี และอีกท่านนึงบอกว่าการแก้ปัญหาที่ดี คือการป้องกันไม่ให้เด็กเจอปัญหาแบบนี้เลยจะดีกว่า สุดท้ายนี้อยากจะให้อาจารย์วิชัยทิ้งท้ายไว้นิดนึง

ดร.วิชัย – มันเป็นสมัยเกิดความวุ่นวายมากทางอารมณ์นะครับ ฉะนั้นจริงๆแล้วมันก็อยู่ที่การศึกษา เมื่อกี๊พูดกันถึงเรื่องสภาพจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาต่อไปนี่ต้องเข้าใจว่าไม่ให้พัฒนาสมองอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาอารมณ์ของเด็กทุกคนด้วยนะครับ เรียกว่ามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ที่มันก่ำกึ่งชอบความรุนแรงมากๆนี่ เพราะมันขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราไม่สามารถจะสร้างให้ความอบอุ่นให้แก่เด็กของเราได้ และก็อย่างคนนี้ที่เป็นผู้ที่เราถือว่าจะต้องไปจับนี่นะ อาชญากรผู้นี้ ก็คงได้รับผลกระทบจากสังคมในปัจจุบันนี่นะครับที่มีความผิดหวังกับชีวิต อะไรต่อมิอะไร อาจจะผิดหวังในเรื่องการเรียนหนังสือก็ได้เราไม่ทราบ ผมว่าจะน่าสนใจมากถ้าเราได้ศึกษาเขานะครับ ฉะนั้นผมคิดว่าต่อไปทุกโรงเรียนก็ควรจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดจริงๆ ถือว่าเด็กทุกคนนี่เป็นลูกของเราอย่างที่อาจารย์เกื้อกุลว่า ยิ่งกว่าลูกของเราอีก เพราะฉะนั้นตรงนี้อยากให้มีเวรยามที่เข้มแข็ง 24 ชั่วโมง ให้มีให้มากๆ ไม่ใช่มีคนสองคนนะครับ อย่าถือว่าเป็นเรื่องการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ผมว่าตรงนี้ฝากไว้ด้วยแล้วกันนะครับ

จินดารัตน์ – คุณดิลกในฐานะเป็นผู้ปกครอง ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองเด็กนักเรียนเซนต์โยเซฟเท่านั้น อยากฝากอะไรไปถึงผู้ปกครองทั่วๆไปด้วยคะ

ดิลก – ผมอยากจะให้มองไปถึงตัวหนึ่งของปัญหาวันนี้ ส่วนของปัญหาวันนี้ที่เกิดขึ้นก็คือว่า โรงเรียนนี่ หรือว่าโรงเรียนทั่วประเทศนี่นะครับจะต้องมีมาตรการในการรับปัญหา หรือว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร อีกส่วนหนึ่งผมอยากให้ครอบครัวทุกครอบครัวในบ้านเรา หันมามองคนในครอบครัวของเรา หันมารับผิดชอบ จากที่ตัวเลขของคุณหมอให้ว่ามีประมาณไม่ถึง 1% อาจจะมีคนในครอบครัวของเราอยู่ในนั้น อาจจะมีตัวเลขของคนที่เป็นผู้ป่วยอยู่ในครอบครัวของท่าน คนเหล่านั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมหรอกครับ เพียงแต่ว่าพาเขาไปรักษา เยียวยานะครับ ช่วยกันเยียวยา ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เพราะผมเชื่อว่าเด็กๆทุกคนนั้นเป็นลูกเป็นหลานของท่านเหมือนกันนะครับ แล้วคนที่ป่วยก็ยังต้องการความช่วยเหลือ เขายังต้องการการเยียวยา ผมเชื่อว่าถ้าคุณป่วย และคนที่ยังเป็นปกติในทุกวันนี้อยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ว่าสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันครับ

จินดารัตน์ – ยังเกิดความเข้าใจผิดอีกเยอะนะคะคุณหมอ

นพ.บุรินทร์ – มากครับ

จินดารัตน์ – ค่ะ พวกเราก็ล้วนแล้วแต่เอาใจช่วยน้องๆทั้ง 4 คนนะคะ ว่าให้ทุกคนปลอดภัยโดยเฉพาะน้องอภิษฐาซึ่งอาการน่าเป็นห่วง และที่สำคัญที่สุดอย่าให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกแม้แต่ครั้งเดียว วันนี้ขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสุงเลยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ขอบคุณทุกสาย0ที่โทรศัพท์เข้ามานะคะ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

********************************************************
กำลังโหลดความคิดเห็น