xs
xsm
sm
md
lg

อย่าไชโยโห่ร้องจนเกินงาม หลังโปรดเกล้าฯ โผทหาร

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


•• ที่สุดแห่งการรอคอย โผทหาร ก็คลอดออกมาแล้วตามที่ กระทรวงกลาโหม เสนอเข้าไปใหม่เมื่อ วันที่ 2 กันยายน 2548 ก็เลยทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำและเต็มภาคภูมิได้ในการแถลงข่าวว่า “...ไม่มีการเปลี่ยนแปลง.” และยังทำให้คำกล่าวอันลือลั่น “...ขอยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโผทหารแล้ว ใครจะเปลี่ยนได้ นายกรัฐมนตรีเซ็นไปแล้ว ไม่มีการเปลี่ยน.” ของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม 2548 ไม่ถึงกับ เสียหาย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็ ไม่ผิดข้อเท็จจริง หากจะตีความว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เสนอไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 แต่จะ ไม่ตรงข้อเท็จจริง หากไปเปรียบเทียบกับ บัญชีที่เสนอขึ้นไปครั้งแรก – เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน 1 ตำแหน่ง คือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ จาก พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ เป็น พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เพราะฉะนั้นก็อย่าถึงกับ ไชโยโห่ร้อง, ได้ทีขี่แพะไล่ กันจน เกินงาม อย่างที่ทั้ง บ่าว ทั้ง นาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาย กำลังทำกับ ประมวล รุจนเสรี อยู่ทุกวันนี้

•• เรื่องนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” พูดไปแล้วในประเด็น 3 โผ เมื่อ วันที่ 2 กันยายน 2548 และประเด็น อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของคณะองคมนตรี เมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม 2548 โดยตบท้าย ณ วันนั้นว่า บทสรุป จะเป็นอย่างไรสุดแต่ พระบรมราชวินิจฉัย – ตามพระราชอำนาจในพระราชสถานะจอมทัพไทย วันนี้ขอยืนยันเช่นเดิม

•• ที่ยืนยันว่าไม่ว่า บทสรุป จะเป็นอย่างไรสุดแต่ พระบรมราชวินิจฉัย – ตามพระราชอำนาจในพระราชสถานะจอมทัพไทย ทุกประการถือว่า จบ ก็เพราะเชื่อมั่นเช่นเดียวกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่กล่าวไว้ในการตอบปัญหาในเว็บไซด์ของท่านว่า “...ต้องเข้าใจกันว่าในประเทศไทยไม่มีใครที่จะรับรู้ถึงปัญหาของบ้านเมือง มีความห่วงใยในความเป็นไปของบ้านเมืองและความสุขทุกข์ของราษฎร ความราบรื่นของการบริหารบ้านเมือง รวมตลอดทั้งความเป็นธรรม เท่ากับพระเจ้าอยู่หัว.” จบ

•• ไม่อยากจะพูดถึง รายละเอียด และพัฒนาการของ โผที่ 1, โผที่ 2 และ โผที่ 3 เพราะถึงที่สุดแล้วทั้ง โผที่ 1 (คือโผที่รัฐบาลเสนอเข้าไปเมื่อ วันที่ 19 สิงหาคม 2548 อันเป็น ต้นเหตุของความล่าช้า) และ โผที่ 2 (คือโผที่ คณะองคมนตรีมีความเห็น) นั้นล้วน ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ พูดไปรัฐบาลก็ ปฏิเสธได้ อย่าพูดดีกว่า

•• แม้ว่า โผทหาร จะมีการเปลี่ยนแปลงใน ส่วนหัว เพียง 1 ตำแหน่ง และเป็นการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลเอง ก็ไม่ได้ทำให้ สารัตถะของเรื่องที่รัฐบาลถูกวิจารณ์ เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด

•• จุดเริ่มต้นของเรื่องคือ กอล์ฟนัดพิเศษ ที่ สนามกอล์ฟอัลไพน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2548 อันเป็นระยะเวลา 1 วันให้หลัง หลังจาก ทูลเกล้าฯถวายโผทหารขึ้นไปตามกระบวนการ ภาพที่ปรากฏก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับนายทหารผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญมาดวลวงสวิง พร้อมหน้าพร้อมตา ตั้งแต่ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ผู้ที่ ณ วันนั้นและก่อนหน้านั้นได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.สส., ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. รวมทั้ง พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา อดีตผบ.ทอ.ปัจจุบันมท. 1 ผู้สนับสนุนคนสำคัญของพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ ทำให้เสมือนกับเป็นการยืนยันต่อสาธารณะกลาย ๆ ว่าทั้งหมดนี้คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพรุ่นใหม่ ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้น ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมา วันนั้นมีอยู่เพียงท่านเดียวที่ บังเอิญ – ติดราชการอยู่ภาคใต้ ทำให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน – ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นเป็นผบ.ทบ. ไม่สามารถมา ปรากฏตัว ในก๊วนกอล์ฟวีไอพี ความเหมาะสม ของกอล์ฟนัดพิเศษนั้นขึ้นอยู่แก่ใจคนที่นัดหมายว่า จงใจ หรือ ไม่จงใจ ที่จะให้เป็น เสมือนชิงประกาศโดยปริยายต่อสาธารณะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามไม่บังควรให้เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

•• ถ้าไม่มีการอภิปรายจากสังคมในประเด็น ความเหมาะสม ของ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ ใช่หรือไม่ว่าที่สุดแล้วก็ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง – โดยรัฐบาลเอง และถ้าไม่มีการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของ คณะองคมนตรี จนเกิด โผที่ 2 ขึ้นมาใช่หรือไม่ว่าที่สุดแล้วก็ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง – โดยรัฐบาลเอง ไม่บังควรให้เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

•• อย่าถึงกับ ไชโยโห่ร้อง, ได้ทีขี่แพะไล่ กันจน เกินงาม และอย่าไป ผูกขาดความรักภักดีไว้แต่กับเฉพาะรัฐบาล ชนิด คนอื่นห้ามพูด ประโยคที่บอกว่า “...รัฐบาลนี้จงรักภักดีเกินร้อย ทำงานทุกอย่างให้พระเจ้าอยู่หัวสบายพระทัย ทราบดีว่าพระองค์เหนื่อยยาก รัฐบาลทราบดี.” และ “...กรณีปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สื่อบางสื่อไม่เข้าใจคิดว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่เป็นกลไกขององค์กรอิสระ แล้วยัดเยียดมาให้รัฐบาลเกี่ยวข้อง.” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “....พูดกันสับสนเรื่อยเปื่อย คนพูดมากให้ระวังเหา ไม่มีอะไร ถ้ามีปัญหาอะไรผมจะกราบบังคมทูลโดยตรง.” นั้นอยากจะถามกลับไปว่าถ้า คนอื่นเงียบหมดนิ่งเฉยหมด – จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ ตอบได้ไหม

•• ประเด็นเรื่อง แปรรูปรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค นั้นมีความคิดเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ที่แสดงไว้ในการตอบทำถามในเว็บไซด์ของท่าน คม แบบ เรียบ ๆ น่านำมาถ่ายทอดต่อ

•• กล่าวคือมีผู้ถามเข้ามาว่า 1) มีหนทางใดที่จะยับยั้งการแปรรูปกฟผ.ไปเป็นบริษัทหมาชนได้บ้าง และ2) มีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ปตท.กลับมาเป็นของรัฐ 100 % แทนที่จะถือไว้ 70 % ดังที่เป็นอยู่ ท่านตอบว่า1) ไม่มี และ 2) ไม่มี – ทั้งนี้เพราะได้หลวมตัวเลือกเขามาเป็นรัฐบาลเสียแล้วนี่ จบ

•• แหม – เสียดายที่ไม่มีคำถามอีกข้อ 3) อยากทราบว่าจะมีหนทางใดที่จะเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยเร็วไหม นะ

•• จาก ปตท. ตอนนี้ก็มาถึงคิวของ กฟผ. แล้วที่กำลังแปรเปลี่ยนปรัชญาจาก ช่วยเหลือประชาชน ไปเป็น แสวงหากำไรสูงสุด เป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อเปลี่ยนแปลงเป็น บริษัทมหาชนจำกัด ก็ต้องหวังให้ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูง และการจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องให้ นักลงทุนมั่นใจ ว่าการบริหารจัดการจะต้องเป็นไปตาม กลไกราคา, กลไกการตลาด อย่างเสรี ไร้ข้อจำกัด ใบเสร็จที่จะยืนยันได้ก็คือข่าวนำของหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับต่าง ๆ ที่พาดหัวใกล้เคียงกันมาต่อเนื่องว่า กฟผ.เลิกอุ้มค่าเอฟทีกำไรผู้ถือหุ้นมาก่อนผู้ใช้ไฟ, ข่าวร้าย – ลอยตัวค่าไฟ มาจนถึงล่าสุด เก็บค่าเอฟทีล่วงหน้า โปรยข่าวแต่ละครั้งก็มีสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่เห็นภาพชัดว่า “...เตรียมลอยตัวค่าไฟฟ้า สร้างหลักประกันให้นักลงทุนต่างประเทศก่อนเอาหุ้นไปขาย ขณะที่คนภูธรต้องลุ้น เงินชดเชยค่าไฟหดหาย.” หรือยาวอีกหน่อยเพื่อภาพที่ลงถึงรายละเอียดยิ่งขึ้นว่า “...สัญญาณอันตรายผู้ใช้ไฟ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเลงมติอุ้มกฟผ.ทุกด้านเพื่อเป็นหลักประกันในการขายหุ้น ให้บริหารงานอย่างเสรี ไม่ขึ้นต่อนโยบายรัฐ เหมือนปตท. ปล่อยค่าเอฟทีลอยตัวสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิง มีผลให้ค่าไฟขึ้นลงตามราคาน้ำมัน -ก๊าซธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็คงอำนาจผูกขาดไว้ด้วยการยกโควต้าผลิตไฟฟ้าในอนาคตให้ถึง 50 % สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้รัฐสนองนักลงทุนแทนบริการสาธารณะ กังขาโควต้า 50 % วัดฝีมือกฟผ.ไม่เจ๋งจริง ซัดปตท.ตัวการสำคัญสร้างความเสียหาย ไฟตก ไฟดับ โยนภาระประชาชนแบกต้นทุน.” สะท้อนกันชัด ๆ อีกครั้งถึง นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบรัฐบาลไทยรักไทย ที่กำลังจะ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ในอนาคตอันไม่ไกล

•• สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือในขณะที่คนไทยที่ไร้อำนาจวาสนาทุกคนมีอันต้อง กระเป๋าแฟบลง เพราะ จ่ายราคาน้ำมันแพงขึ้น, จ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น บริษัทน้ำมันใหญ่ที่มีอำนาจนำตลาดและบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าผูกขาดที่สร้างความยิ่งใหญ่ขึ้นมาจาก งบประมาณแผ่นดิน กลับ กระเป๋าตุง จริงอยู่ที่ 2 บริษัทนี้ยังมี สัญชาติไทย แต่ก็จริงอีกเช่นกันว่า ผลกำไรจะไม่ตกแก่คนไทยทุกคน – เหมือนเดิม เหมือนสมัยที่เป็น รัฐวิสาหกิจรูปแบบเดิม เพราะรัฐบาลได้ เฉือนหุ้นส่วนหนึ่งของ 2 บริษัทนี้ไปให้กับคนไทยเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจวาสนา – ทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้จะเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีค่าเท่ากับมา ยักยอก ผลกำไรที่ควรจะ เป็นของประชาชนทั้งประเทศ ไปอยู่ในกระเป๋าของ อภิสิทธิชนกลุ่มเดียว แล้วลองคูณดูสิว่า 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไรของทั้ง 2 บริษัทนั้น คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลเพียงใด กันแน่

•• มิพักต้องพูดว่า ปตท. นั้น ขายแก๊สธรรมชาติให้กฟผ. ในลักษณะที่ กำไรเกินเหตุ, กำไรเกินจริง และ แพงกว่าที่ขายให้บริษัทในเครือ อีกกี่บาทกี่สตางค์

•• มันทำให้รัฐบาล ขาดเครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเฉพาะหน้า เพราะไปทำลาย ปรัชญาพื้นฐานของการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่แต่เดิมว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในยามสถานการณ์จำเป็น แทนที่ ปตท., กฟผ. จะสามารถ ยอมสละกำไรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กลับทำไม่ได้

•• ข้อดีที่ชอบอ้างกันจนเป็นสูตรสำเร็จว่า มูลค่าตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น, จีดีพีโตขึ้น ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ ก็ขอบอกว่านี่เป็นเพียง ความจริงทางทฤษฎี แต่ความจริงในทางปฏิบัติก็คือประชาชนกลุ่มแรกที่จะ ได้รับอานิสงส์ทันที ก็คือประชาชนกลุ่มที่ ผูกความมั่งคั่งของตนไว้กับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ ว่ากันง่าย ๆ มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นไปเท่าไร ความมั่งคั่งของพวกเขาก็ เพิ่มขึ้นไปในอัตราเดียวกัน ส่วนที่จะตกถึงประชาชนนั้น น้อยกว่ามาก อย่างเทียบกันไม่ได้

•• ภายใต้นโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ, ส่งเสริมการบริโภค ผลประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตกแก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่อภิสิทธิชนนั้นจำนวนหนึ่งก็จะ ไหลกลับคืนสู่คนกลุ่มน้อย ในรูปของ การบริโภคที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่หรือ

•• ดำเนินนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ, ส่งเสริมการบริโภค กันมา 4 ปี จู่ ๆ จะพลิกกลับมา ส่งเสริมการออม – โดยไม่ลดการส่งเสริมการบริโภค มันจะ ได้ผล ได้อย่างไร

•• เป็นธรรมดาอยู่เอง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค ถ้าคิดแบบ ธุรกิจ, ซีอีโอบริษัท ก็แน่นอนละว่าต้อง เฉือนหุ้นส่วนหนึ่งเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่ม มูลค่ารวมของตลาด, จีดีพี แต่ถ้าคิดแบบ การเมืองที่ถูกต้อง, ผู้นำชาติที่ถูกต้อง ก็จะต้องคำนึงถึงปัญหา การทำลายตัวรองรับความเดือดร้อนของประชาชนไปเป็นความมั่งคั่งของคนกลุ่มเดียว ด้วย

•• ต้องไม่ลืมความแตกต่างในเชิงปรัชญาที่มีอยู่ว่า กำไร ของ บริษัท โดยเฉพาะ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นั้นเป็นวัตถุที่จับต้องได้นับคำนวณได้คือ เม็ดเงิน, ความมั่งคั่ง ซึ่งจะเป็นผลโดยตรงไม่เฉพาะต่อ ผู้ถือหุ้น เท่านั้นยังจะเป็นผลโดยตรงต่อ รายได้ของซีอีโอบริษัทและคณะผู้บริหาร ซึ่งนอกจากจะมี ค่าจ้างสูงตามปกติ แล้วในบางกรณียังจะมี โบนัสพิเศษก้อนโต เมื่อ ทำยอดกำไรทะลุเป้าในแต่ละขั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ กำไร ของ ชาติ แน่นอนละว่าส่วนหนึ่งเป็นวัตถุที่จับต้องได้คำนวณได้แต่อีกส่วนหนึ่งที่ สำคัญกว่ามาก นั้นเป็น นามธรรม ในเชิง จริยธรรม, ศีลธรรม, วัฒนธรรม และอื่น ๆ ที่ล้วนเป็น คุณค่าทางจิตใจ จะปฏิเสธหรือว่าเป้าหมายสูงสุดหรือกำไรสูงสุดของชาติใดก็ตามลึก ๆ แล้วล้วนเป็น “...ความสงบสุข สังคมร่มเย็น สภาวะไม่แก่งแย่งชิงดีกันจนเกินไป โดยมีระบบคุณธรรมที่ยึดโยงสังคมเอาไว้แน่นหนา.” และไม่ว่าเป้าหมายสูงสุดหรือกำไรของชาติใดก็ตามจะมีมากเพียงใดขนาดไหนก็ไม่อนุญาตให้เกิด โบนัสพิเศษก้อนโต ประเภทที่ทำให้ รายได้ของผู้นำชาติและคณะผู้บริหาร ขยับ สูงขึ้น แม้แต่คำว่า อยู่ดีกินดี ในความหมายเชิงชาติก็แตกต่างกับเชิงธุรกิจ ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่มีทางจะเหมือนกับ ผู้ถือหุ้นได้เงินปันผลมาก – ขายหุ้นกำไรมหาศาล เพราะนอกจากจะวัดกันที่ เม็ดเงินในกระเป๋า แล้วยังจำต้องคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมทุกประเภท ที่จะต้อง ไม่สูญเสียไป ด้วย

•• ประเด็น กฟผ. นี้ยังแสดงให้เห็นถึง ระดับแห่งการรักษาสัจจะ ดังได้เคยกล่าวไว้ ณ ที่นี้บ้างครั้งแล้วว่าคณะกรรมการร่วมกันภาครัฐและเอ็นจีโอที่มี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็น ประธาน ตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2545 จัดการประชุมกันสัปดาห์ละครั้งสองครั้งข้ามปีจนมามี ข้อสรุปชุดหนึ่ง ออกมาโดยที่ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น รู้เห็นมาโดยตลอด เพราะปรากฏว่าเป็น ผู้ลงนามท้ายเอกสาร โดยบันทึกว่า เห็นชอบในหลักการ เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 มิหนำซ้ำหลังจากนั้นอีก 1 เดือนเศษ ๆ ก็มีการแถลงออกมาอย่างเป็นทางการโดยตัวท่านเองเมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เนื้อหาหนึ่งในนั้นคือ จะพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยหลักการแล้วจะจำแนกรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 ประเภท มีประเภทเดียวที่ แปรรูปได้เต็มรูป อีกประเภทหนึ่ง รัฐต้องถือหุ้นไว้ 70 % แต่ที่สำคัญก็คือประเภทที่เกี่ยวกับ สาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างเช่น ไฟฟ้า, ประปา, กิจการขนส่งมวลชน และ ฯลฯ นั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องถือหุ้น 100 % ทั้งนี้เพื่อ “...คุ้มครองสิทธิของประชาชน.” แต่แล้วแทนที่จะมีการสานต่อใน ขั้นปฏิบัติการ ทุกอย่างกลับ หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ตรงข้ามกับ กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่อาศัยกฎหมายฉบับเดิม ล้วน เดินหน้า อย่าง เร่งรัด เสร็จจาก ปตท. แล้วก็พุ่งเป้าไปที่ กฟผ. ทันที

กำลังโหลดความคิดเห็น