xs
xsm
sm
md
lg

กางผลสอบ"ทุจริตฮ. 19 ลำ" ทวงถามสัจจะนายกฯทักษิณ ชินวัตร !

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

ถ้าการนัดหมายเล่นกอล์ฟนัดพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2548 ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ รวมทั้งพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนรักใคร่ชอบพอกัน – ก็แล้วไปเถิด !

แต่ถ้าจะเป็นสัญลักษณ์เพื่อยืนยันต่อสาธารณะกลาย ๆ ว่านายทหารเหล่านี้คือผู้บัญชาการเหล่าทัพรุ่นใหม่ – ก็เห็นจะต้องท้วงติงกันอย่างแรง !!

เพราะการยืนยันต่อสาธารณะในขณะที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายทหารรับราชการ แม้ว่าจะทูลเกล้าฯขึ้นไปตามขั้นตอนแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่ามิบังควรอย่างยิ่ง

นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าจงใจกระทำการโดยไม่แยแสไม่ใส่ใจไม่ให้ความสำคัญแด่พระราชอำนาจแล้ว

ยังจะเสี่ยงต่อการที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะถูกเข้าใจไปผิด ๆ อีกด้วยว่า....

เป็นผู้นำที่ไร้สัจจะ !

โดยเฉพาะในประเด็นของนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความเหมาะสม

พล.อ.อ.ระเด่น พึงพักตร์

เรื่องพรรค์นี้ไม่ใช่จะพูดจากล่าวหากันลอย ๆ

จึงขอใช้พื้นที่นี้ชี้แจงแสดงเหตุผลของสิ่งที่เรียกว่า “ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความเหมาะสม” ของนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนนี้

................................

ก่อนอื่น ขอทวนความทรงจำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่าเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 ท่านได้ประกาศไว้ในงานก่อตั้งเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่อาคารไบเทค บางนา ความตอนหนึ่งว่า....

“ผมประกาศชัด ๆ อีกครั้ง รัฐบาลภายใต้การนำของผมจะไม่ยอมให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นใด ๆ เพราะฉะนั้น ยินดีที่จะให้ท่านบอกเบาะแส เพียงแต่การสืบสวนชัดเจนว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น เราจะดำเนินการทางการปกครองก่อน หรือทางบริหารก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งหลักฐานที่แน่นหนา ถึงจะดำเนินการทางกฎหมายทางอาญาต่อไป”

“ทันทีที่มีการสืบสวนค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า พฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ผมไม่เอาไว้”


ขอย้ำสองสามประโยค

“เราจะดำเนินการทางการปกครองก่อน หรือทางบริหารก่อน”

“ผมไม่เอาไว้”


ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ผิดในคดีซุกหุ้น ท่านก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า...

“ผมพร้อมที่จะร่วมมือกับป.ป.ช.ในการปราบคอร์รัปชั่นของประเทศ”

“ขอให้สิ่งที่แล้วมาให้ผ่านพ้นไป ให้เป็นเมฆหมอกที่มันผ่านพ้นประเทศไทยไป และเราจะร่วมมือร่วมใจกัน ผมใจกว้างพอครับ ใจกว้างพอที่อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ผมไม่อยากได้เครดิตคนเดียว แต่ผมอยากให้เครดิตทั้งหมดนี้เป็นเครดิตของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อพระเจ้าอยู่หัวของเราครับ ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายมามากแล้ว”


ขอย้ำอีกสักประโยค...

“เพื่อพระเจ้าอยู่หัวของเราครับ ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายมามากแล้ว”

ขอย้อนเวลาใกล้เข้ามาอีกนิด -- เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา

วันที่ 30 กันยายน 2547 มีการประชุมเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เป็นการประชุมที่ใหญ่มาก มีประธานป.ป.ช. ประธานองค์กรอิสระ กรรมการองค์กรอิสระ และคณะรัฐมนตรีไปร่วมเกือบยกคณะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้กล่าวปาฐกถาครอบคลุมแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตในหลายเรื่อง มีความตอนหนึ่งว่า

“ผมได้บอกกับรัฐมนตรีทุกคน แล้วบอกให้รัฐมนตรีทุกคนว่าต้องเป็นแม่ทัพในการปราบทุจริตคอร์รัปชันของกระทรวงท่านเอง เพราะฉะนั้นผมขอเรียนว่าผมต่อรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่อข้าราชการ มันมี 2 สเต็ป”

“สเต็ปที่มีหลักฐาน ส่งป.ป.ช.ดำเนินคดี สเต็ปที่ไม่มีหลักฐาน แต่รู้ชัดเจนว่ามีพฤติกรรมแห่งความสงสัยว่าเป็นคนไม่ดี เราจะใช้อำนาจทางปกครอง ผมต่อรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่อข้าราชการประจำ”


.......................

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ถึงการปฏิบัติงานในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างปรับปรุง ฮ. 6 (UH – 1 H) เมื่อปี 2544 แล้วสรุปว่า...

“พฤติกรรมน่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต”

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บรรยายสรุปพฤติกรรมและผลการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้ในหนังสือ ที่ ตผ (คตพ.) 0002/14 ลงวันที่ 16 มกราคม 2547 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มีใจความของเรื่องราวดังนี้

................

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการจัดจ้างซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์แบบ 6 (UH – 1 H) จำนวน 19 เครื่อง ของกองทัพอากาศ ตามสัญญาเลขที่ 1/2545 จพ. ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 จำนวนเงิน 21,700,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือ 998,200,000 บาท

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลการตรวจสอบปรากฏว่า

1. กองทัพอากาศจัดจ้างซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์แบบ 6 (UH – 1 H) จำนวน 19 เครื่อง โดยวิธีพิเศษ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะหรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (1) เป็นการดำเนินนการที่ไม่เปิดกว้างโปร่งใส และไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการเสนอราคา เพราะการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบฯ ข้อ 24 (1) นั้น ต้องเป็นงานที่มีผู้มีฝีมือหรือมีความชำนาญพิเศษ โดยเฉพาะเพียงรายเดียวหรือน้อยราย ซึ่งกองทัพอากาศควรทราบดีว่าแม้ในประเทศไทยจะไม่มีบริษัทเอกชนรายใดรับจ้างซ่อมเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ แต่บริษัทที่ดำเนินกิจการดังกล่าว ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชียมีเป็นจำนวนมาก โดยข้อเท็จจริงได้ปรากฏให้เห็นแล้วในการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งที่ 1 ที่ถูกยกเลิกไปนั้น มีบริษัทที่เข้าเสนอราคาถึง 14 ราย การดำเนินการจัดจ้างครั้งที่ 2 กองทัพอากาศจึงควรพิจารณาดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ แต่กองทัพอากาศก็ยังดำเนินการจัดจ้างครั้งที่ 2 โดยวิธีพิเศษอีก พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษดังกล่าว นอกจากเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 21 แล้ว ยังเป็นการกีดกันมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

นอกจากนี้ การจัดจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งที่ 2 คณะกรรมการจัดจ้างได้เชิญชวนบริษัท BAE SYSTEM ซึ่งเป็นผู้ได้รับคะแนนทางเทคนิคสูงสุดในการจัดจ้างครั้งแรก แต่ถูกยกเลิกไปก่อนให้เข้าร่วมเสนอราคาทางโทรศัพท์ ซึ่งปรากฏต่อมาภายหลังว่า ผู้ที่รับเอกสารเชิญชวนมิใช่ผู้ประกอบการหรือผู้แทนของบริษัท BAE SYSTEM แต่อย่างใด สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุว่า การรับหนังสือเชิญชวน บริษัทผู้ประกอบการจะต้องมารับด้วยตนเอง หากมอบหมายตัวแทนจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ที่มีอำนาจของบริษัทตามกฎหมาย และการติดต่อทางโทรศัพท์ก็มิใช่วิธีปฏิบัติของทางราชการที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีหลักฐานให้ตรวจสอบได้ว่ามีการติดต่อกันจริงหรือไม่

2. การที่กองทัพอากาศแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างปรับปรุง ฮ. 6 โดยวิธีพิเศษตามคำสั่งที่ 485 ต่อมาได้สั่งยกเลิกการดำเนินการจัดจ้าง โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างรับโอน ฮ. จากกองทัพเรือจำนวน 4 เครื่อง แต่ภายหลังกองทัพอากาศได้รายงานปลัดกระทรวงกลาโหมว่า คณะกรรมการจัดจ้างดำเนินการขัดต่อระเบียบ และทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ และผู้บัญชาการทหารอากาศได้ชี้แจงกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า การยกเลิกการจัดจ้าง เพราะคณะกรรมการทำผิดระเบียบและเงื่อนไขในการจัดจ้าง แต่ที่ไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพราะเห็นว่าได้กล่าวตำหนิในที่ประชุมน่าจะเป็นการลงโทษทางวินัยทางทหารที่มากพอแล้ว และการดำเนินการยังไม่เกิดความเสียหาย แต่หากดำเนินการต่อไปอาจจะเสียหาย การพิจารณาดำเนินการของผู้บัญชาการทหารอากาศดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10

3. คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามคำสั่งที่ 129 พิจารณาจัดทำเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้รับจ้างแตกต่างไปจากเงื่อนไขการจัดจ้างครั้งที่ 1 และแนวทางที่กองทัพอากาศได้อนุมัติให้ใช้ประกอบการจัดจ้างบางรายการ โดยมีเจตนาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง และพิจารณาคัดเลือกบริษัท Israel Aircraft Industries Ltd. ที่เสนอผิดเงื่อนไขในสาระสำคัญหลายรายการ ซึ่งต้องพิจารณาให้ตกไป แต่คณะกรรมการจัดจ้างกลับเรียกบริษัทดังกล่าวมาต่อรองราคาโดยยอมให้บริษัททำข้อเสนอราคาให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในภายหลัง เพื่อใช้เป็นเอกสารการต่อรองราคา และพิจารณาให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับกองทัพอากาศ นอกจากนั้น ยังพิจารณาจัดทำสัญญาเสียเปรียบบริษัท Israel Aircraft Industries Ltd. ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 90,766,924 บาท 46 สตางค์ พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติและหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เจตนาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง ทำให้ไม่มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต

สำหรับผู้บัญชาการทหารอากาศซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (1) จึงถือได้ว่าเป็นการกีดกันมิให้มีการแข่งขันการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมแต่แรก และพิจารณาเห็นด้วยกับคณะกรรมการจัดจ้างและเสนอขออนุมัติจัดจ้างต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ต่อมาปลัดกระทรวงกลาโหมให้กองทัพอากาศรายงานข้อมูลรายละเอียดอย่างสมบูรณ์เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา กองทัพอากาศก็ยังคงยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการจัดจ้าง และได้ลงนามในสัญญากับบริษัท Israel Aircraft Industries Ltd. ในเวลาต่อมา จนทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวข้างต้น พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว จึงมีเจตนาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต


....................

ในหนังสือฉบับนี้มีเอกสารแนบ 2 รายการคือ....

1. สำเนาหนังสือถึงคณะกรรมการป.ป.ช.

2. สำเนารายงานการตรวจสอบสืบสวน

หมายความว่าถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังไม่กระจ่าง ก็สามารถจะขอดูรายงานการตรวจสอบสืบสวนได้ ในฐานะตำรวจเก่าน่าจะพอบอกได้ว่าการทำงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเชื่อถือได้แค่ไหน

ในหนังสือฉบับนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ขอให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการ 2 ทางคือ

1. ดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการจัดจ้างปรับปรุง ฮ. 6 (UH – 1 H) ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ 129 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10 หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0216/ว 69 ลงวันที่ 24 เมษายน 2539 เรื่อง การดำเนินการเร่งรัดติดตามผลกรณีเงินของกระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล และรัฐวิสาหกิจขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ทุจริต และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. พิจารณาหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ทางแพ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อเรียกชดใช้เงินจำนวน 90,766,924 บาท 46 สตางค์ ส่งคืนกระทรวงการคลัง


โดยมีข้อความกำกับไว้ตอนท้ายด้วยว่า....

“ผลการดำเนินการเป็นประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบภายใน 90 วัน”

..............................

ในวันเดียวกันนั้น คือวันที่ 16 มกราคม 2547 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือ ที่ ตผ (คตพ.) 0002/13 ส่งไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. สรุปรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องเดียวกัน

โดยสรุปผลการตรวจสอบสืบสวนว่า....

“ถือเป็นการปฏิบัติและหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เจตนาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง ทำให้ไม่มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12”

จึงขอให้ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

...............................

กระทรวงกลาโหมทำหนังสือ ที่ กห 0193/061 ไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2547 มีเนื้อหายอมรับว่าพบว่ามีความจริง

แต่เรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขอให้ดำเนินการ 2 ประการนั้น

1. กระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจลงโทษทางอาญา ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ

2. ความผิดทางวินัย ให้กองทัพอากาศดำเนินการ

แต่ในประการที่ 2 นั้น กองทัพอากาศได้มีหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงกลาโหมว่าขณะนี้เรื่องยังอยู่ในการสอบสวนของป.ป.ช. จึงรอการสอบสวนของป.ป.ช.ก่อนว่ามีมติเช่นไร

...............................

นายสราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องการตรวจสอบการทุจริตซ่อมเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศที่มีพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์เป็นประธาน ไว้แล้วตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ผ่านมา

มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบสำนวนไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รอเพียงการพิจารณาสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.


แต่เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ผ่านมา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน จึงยังไม่ได้พิจารณาสำนวน

ถือว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติในส่วนของป.ป.ช. !

...............................

แน่นอน คณะกรรมการป.ป.ช.ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์มีความผิด

ไม่มีใครพูดได้ว่าพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ผิด

พรรคพวกของพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์มีสิทธิที่จะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของท่านผู้นี้ มีสิทธิที่จะพูดว่าท่านเป็นคนดี คนบริสุทธิ์ คนที่ถูกรังแกโดยอีกขั้วอำนาจหนึ่งในกองทัพอากาศ และ ฯลฯ

และแม้แต่ในส่วนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ชี้ไว้ชัดเจนแล้ว พรรคพวกของพล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ก็มีสิทธิ์ที่จะคิดและเชื่อว่าเป็นการวางแผนกลั่นแกล้งกันอย่างแยบยล

แต่ถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรควรจะปฏิบัติอย่างไร ?

นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว เพราะต้องตระหนักว่า...

คนที่อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นต้องไม่เป็นพรรคพวกกับผู้ใด นอกจากเป็นพรรคพวกกับประชาชน และเป็นข้าแผ่นดินในองค์พระประมุข !

จึงจะต้องวางมาตรฐานไว้อย่าง “เข้ม” ในเรื่องของ....

มาตรการทางปกครอง

มาตรการทางบริหาร


และ...

สเต็ปที่มีพฤติกรรมแห่งความสงสัย

.............................

คนไทยทุกคนไม่มีใครไม่พูดจาโดยเปิดเผยว่าจงรักภักดีในองค์พระประมุข ไม่มีใครไม่บูชาพระองค์ท่านด้วยอามิสบูชา

แต่ปฏิบัติบูชานั้นเล่า ?

การรักษาความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพระบรมราโชวาทสำคัญ ที่ทรงพระราชทานให้คนไทยทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ ข้าราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทรงพร่ำเตือนทุกฝ่ายมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน

แต่พระบรมราโชวาทนี้กลับได้รับการปฏิบัติสนองตอบอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายน้อยที่สุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระบรมราโชวาทมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันแก้ไขอย่างเต็มที่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 และทรงแช่งผู้ทุจริตไว้เป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

ถ้าทุจริตคิดมิชอบเสียเอง – ก็ทรงสาปแช่งให้มีอันเป็นไป

ปฏิบัติบูชาของคนไทยทั้งมวล คืออะไร ?

ปฏิบัติบูชาของรัฐบาล และของผู้นำรัฐบาล คืออะไร ?

ปฏิบัติบูชาของผู้นำรัฐบาลที่กล่าวออกมาจากหัวจิตหัวใจเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 ว่า...

“เพื่อพระเจ้าอยู่หัวของเราครับ ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายมามากแล้ว”

ควรจะคืออะไร ?

........................

ถ้าการนัดหมายเล่นกอล์ฟนัดพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2548 ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และ พล.อ.อ.ระเด่น พึ่งพักตร์ รวมทั้งพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนรักใคร่ชอบพอกัน – ก็แล้วไปเถิด !

แต่ถ้าจะเป็นสัญลักษณ์เพื่อยืนยันต่อสาธารณะกลาย ๆ ว่านายทหารเหล่านี้คือผู้บัญชาการเหล่าทัพรุ่นใหม่ – ก็เห็นจะต้องท้วงติงกันอย่างแรง !!

เพราะการยืนยันต่อสาธารณะในขณะที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายทหารรับราชการ แม้ว่าจะทูลเกล้าฯขึ้นไปตามขั้นตอนแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่ามิบังควรอย่างยิ่ง

นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าจงใจกระทำการโดยไม่แยแสไม่ใส่ใจไม่ให้ความสำคัญแด่พระราชอำนาจแล้ว

ยังจะเสี่ยงต่อการที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะถูกเข้าใจไปผิด ๆ อีกด้วยว่า....

เป็นผู้นำที่ไร้สัจจะ !


กำลังโหลดความคิดเห็น