xs
xsm
sm
md
lg

จากกัลยาณมิตรถึงนายกฯทักษิณ ชินวัตร (10) : “ซ้ายก็ด่า – ขวาก็ตี” จุดจบน่าอเนจอนาถ ทำเองหรือถูกวางยา

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

เป็นเรื่องน่าตระหนกอย่างยิ่งที่เกิดความไม่ชัดเจนขึ้นในแนวทางการบริหารประเทศในด้านสำคัญที่สุด

ด้านความมั่นคง !

ด้านการแก้วิกฤต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ !


ประเด็นสำคัญในการออกมาชี้แจงทางโทรทัศน์คู่กันของนายกฯทักษิณ ชินวัตรและอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุนเมื่อคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 นั้นถึงที่สุดแล้วก็คือการแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคน 2 คนที่พยายามจะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ซึ่งกันและกัน

แม้นายกฯทักษิณ ชินวัตรจะพยายามชี้แจงให้เห็นว่าเป็นการทำงานในลักษณะ “คู่ขนาน” ที่มีเป้าหมายเดียวกัน

แต่ก็น่าสงสัยว่าในที่สุดแล้วน่าจะเป็น “คู่ขนาน” ในอีกความหมายหนึ่งเสียละมากกว่า

“เส้นขนาน 2 เส้นที่ไม่มีวันบรรจบกันได้”

เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยขณะนี้เสมือนมีนายกรัฐมนตรี 2 คนที่มีความคิดแตกต่างกัน

คนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีทางกฎหมายตามระบบรัฐสภา

อีกคนหนึ่งเป็นคนที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องอาศัยเป็นใบบุญพึ่งพิงในด้านนโยบายความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

และเป็นการแสดงให้เห็นว่านายกฯทักษิณ ชินวัตรแพ้ทางการเมืองอย่างราบคาบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง -- การตราพ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 !


ถ้าไม่หมดหนทางและจนแต้มจริง ๆ แล้ว คิดหรือว่าคนที่ทระนงในตนเองและเชื่อมั่นในความถูกต้องแห่งความคิดเห็นของตนเองสูงล้นอย่างนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ จะบากหน้าเดินทางจากทำเนียบรัฐบาลไปพบอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ที่ไม่มีทั้งพรรคไม่มีแม้แต่เสียงสักเสียงเดียวในรัฐสภา ถึงบริษัทสหยูเนียน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 เพื่อยืนยันหนักแน่นว่ายังคงเดินแนวทางแก้ปัญหาวิกฤต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติและสมานฉันท์

ภาพที่ปรากฏ ไม่เพียงแต่นายกฯทักษิณ ชินวัตรถูกล็อกความคิดไว้กับแนวทางของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เท่านั้น

ยังจะถูกหนีบใส่สะเอวมาออกโทรทัศน์เพื่อพูดจาต่อสาธารณะว่าจะไม่เดินแนวทางตาต่อตาฟันต่อฟัน

เรื่องนี้คิดกันได้ง่าย ๆ

ถ้ารู้ตัวว่าถึงอย่างไรก็ต้องให้ความสำคัญต่อกระแสสังคม ทั้งภายในประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องไม่ให้ประเทศไทยและรัฐบาลไทยถูกจับตามองว่าจะเดินแนวทางตาต่อตาฟันต่อฟัน

ก็ไม่มีเหตุผลที่จะส่งสัญญาณที่ผิด ๆ ออกไป

โดยการหุนหันพลันแล่นตราพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

มันน่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548

นายกฯทักษิณ ชินวัตรคิดเองและตัดสินใจเอง

หรือ....

ถูก “วางยา” โดยที่ปรึกษากฎหมายคนใด ?

ซึ่ง....

มันย่ำแย่พอ ๆ กันทั้ง 2 ทาง !

ถ้าเป็นการคิดเองตัดสินใจเอง นายกฯทักษิณ ชินวัตรได้ใช้สมองทุกส่วนคิดให้รอบคอบรอบด้านสมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลอย่างหาตัวจับยากแล้วหรือ

หรือยังคงเป็นการคิดการตัดสินใจโดย “ใช้อารมณ์” เป็นสำคัญ

การแก้ปัญหาวิกฤต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีล้วนวนเวียนอยู่ภายในกรอบ “ทฤษฎี 3 ใช้” คือ “ใช้อำนาจ, ใช้เงิน และใช้อารมณ์” จึงล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

ถ้าเป็นกรณีถูก “วางยา” ก็น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าคณะรัฐมนตรียังคงมีคนลักษณะนี้ร่วมส่วนอยู่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญแล้ว อายุคงจะไม่ยาวนัก หากไม่รีบนำไปกุดหัวหรืออย่างเบาที่สุดก็ต้องเร่งเฉดหัวออกมาให้พ้นวงในของการบริหารชาติบริหารแผ่นดิน

ถ้าไม่หุนหันพลันแล่นตราพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็คงจะไม่ต้องมาแก้เกมในลักษณะเดินหน้า 1 ก้าวถอยหลัง 3 ก้าวแล้วเซถลาถอยกรูด ๆ ชนิดไม่มีรูปมวย

....เริ่มจากจะประกาศพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จังหวัด 4 อำเภอ มาเหลือประกาศแค่ 3 จังหวัด

....และจากอำนาจกว้างขวาง 16 ข้อในพ.ร.ก. ลดลงมาเหลือในประกาศที่ทำตามข้อเสนอของประธานกอส. ชนิดที่ต้องส่งประกาศไปให้ตรวจตราก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี ว่าจะใช้เพียง 7 ข้อ

....ลงท้ายด้วยการซมซานไปโหนกระแสสมานฉันท์แห่งชาติ และโหนอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยคนที่สังคมยังเชื่อว่าหากเกิดวิกฤตก็มีโอกาสกลับมาขัดตาทัพเป็นสมัยที่ 3

....ซ้ำยอมถูกหนีบมาทำหน้าเจี๋ยมเจี้ยมหน้าจอโทรทัศน์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เป็นความเสียหายทางการเมือง

เป็นความพ่ายแพ้ทางการเมือง


.........................

นายกฯทักษิณ ชินวัตรแพ้ทางการเมืองอย่างราบคาบอย่างไร ?

หนึ่ง – ถ้าจะเอาแนวทางสมานฉันท์และสันติ อย่างที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเสนอมาในมาตรการระยะสั้น 14 ประการ ก็สู้รับแนวทางของจาตุรนต์ ฉายแสงที่เสนอมา 6 ประการตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ อย่างน้อยจนถึงวันนี้ก็ทำงานไปกว่า 1 ปีแล้ว โดยมีแกนนำเป็นคนของพรรคไทยรักไทยเอง

สอง -- ออกพระราชกำหนดมาเพราะอารมณ์ และเพื่อต้องการกวาดความผิดพลาดของตนเองเป็นขยะเข้าซุกไว้ใต้พรมพระราชกำหนด แต่ออกมาแล้วก็ถอยกรูด ๆ ๆ ๆ ไม่มีรูปมวย ต้องดึงอานันท์ ปันายารชุนมากู้ภาพลักษณ์อีก ออกแล้วเหมือนไม่ได้ออก เชื่อว่าในที่สุดจะต้องออกพระราชบัญญัติใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของสังคมทุกส่วนมาใช้แทนพระราชกำหนดในไม่ช้า

สาม -- เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่รู้จะปฏิบัติตัวเองอย่างไร วิธีที่ง่ายที่สุดคือไม่ต้องทำอะไรเลย

สี่ -- ความโลเล ละล้าละลัง กลับไปกลับมา จะทำให้ตกอยู่ในที่นั่ง “ซ้ายก็ด่า – ขวาก็ตี” ในอนาคต

ห้า – ดึงอานันท์ ปันยารชุนมาสู่โฟกัสของสังคมอีกครั้ง

ด้านหนึ่งเหมือนมาช่วย แต่อีกด้านหนึ่งทำให้ประชาชนพิจารณาโดยเปรียบเทียบ

คู่แข่งของนายกฯทักษิณ ชินวัตรจะยังไม่ใช่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่จะเป็นอานันท์ ปันยารชุน

อานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีหลังวิกฤตมาแล้ว 2 ครั้ง

ประชาชนจำนวนหนึ่งจะเริ่มเห็นว่าอานันท์ ปันยารชุนน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในลักษณะ “ชั่วคราว, ขัดตาทัพ และเฉพาะกิจ” ได้ในอนาคตหากวิกฤตยังไม่หมดไป และนายกฯทักษิณ ชินวัตรยังคงโลเล ละล้าละลัง กลับไปกลับมา และไม่เป็นตัวของตัวเอง

โดยเฉพาะหลังการปรับคณะรัฐมนตรีทักษิณ 2/2 ที่จะไม่มีอะไรใหม่ และสร้างความผิดหวังให้ประชาชนอย่างยิ่ง


................................

ขอยืนยันว่า “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่ได้คัดค้านการมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคง

อันที่จริง “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่ได้คัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ที่มีความจำเป็น โดยใช้เท่าที่จำเป็น เสียด้วยซ้ำ

ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายความมั่นคงลักษณะดังเช่นพ.ร.ก.ฉบับปัญหานี้

เพราะการที่ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ทำให้บ้านเมืองขาดเครื่องมือสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของชาตินั้นจำเป็นต้องมีถึง 3 ระดับ คือ ระดับทั่วไป ได้แก่ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม...ระดับหนึ่ง กฎหมายการบริหารราชการในยามฉุกเฉิน...ระดับหนึ่ง และกฎหมายที่ใช้ในยามศึกสงครามได้แก่กฎอัยการศึก...อีกระดับหนึ่ง

ประเทศไทยเคยมีแต่กฎหมายทั่วไปและกฎอัยการศึก โดยขาดกฎหมายการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินมานานแล้ว

และที่ยังขาดอยู่อีกฉบับหนึ่งก็คือกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหาร ซึ่งมีบทบัญญัติหลักไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประการ แต่นับถึงวันนี้ล่วงเข้า 8 ปีแล้วก็ยังไม่มีการตรากฎหมายรองรับ

ทำให้ทหารกลายเป็น “ยักษ์ไร้กระบอง” อยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไหนในโลกนี้ก็ล้วนต้องมีบทบัญญัติที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นธรรมดา

ดังนั้นการตรากฎหมายฉบับนี้จึงไม่ผิด และเป็นเรื่องจำเป็น

ทั้งควรต้องทำมาตั้งนานแล้ว


แต่ที่ผิดก็คือวิธีการ

เป็นความผิดถึงขนาดกล่าวหาได้ว่า – เป็นเรื่องที่เสมือนมีใครก็ไม่รู้วางหมากกลที่จะส่งผลให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน

เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา

สามารถออกกฎหมายที่มีความจำเป็นแก่บ้านเมืองเมื่อใดก็ได้

ยิ่งเหตุวิกฤตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คุกรุ่นมาเป็นเวลา 18 เดือนแล้ว ก็ยิ่งจำเป็นต้องตรากฎหมายนี้

แต่เนื่องจากกฎหมายนี้ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

จึงควรต้องให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณากลั่นกรอง


ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ก็พ้นไปจากความรับผิดชอบ และพ้นจากความเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลุแก่อำนาจหรือเป็นนักเผด็จการไปได้ อย่างน้อยก็โดยทฤษฎี

โดยข้อเท็จจริง ก็มีการตระเตรียมจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งนานแล้ว

แต่กลับไม่เสนอในยามเปิดรัฐสภา

และในพลันที่เกิดเหตุการณ์ปิดเมืองยะลาก่อความไม่สงบ ก็หุนหันพลันแล่นตรากฎหมายฉบับนี้ในลักษณะของพระราชกำหนด

เท่ากับเป็นการผลักภาระทั้งหมดจากรัฐสภามาเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี !

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงต้องรับภาระนี้ไปเต็ม ๆ

ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการตราพระราชกฤษฎีกาบางฉบับที่ให้นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีเพียงคนเดียวหารือกันแล้วมีผลเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ทำให้การต่อภาพ “เผด็จการ” มีความชัดเจนมากขึ้น


ดังนั้นพลันที่ตราพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงมีเสียงคัดค้านกันกระหึ่มทั้งบ้านทั้งเมือง

กระทั่งมีเสียงเรียกร้องว่าหากภายใน 3 เดือนนี้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่คลี่คลาย รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

นี่คือการรับภาระที่ไม่ควรเป็นภาระของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของรัฐสภาโดยแท้ และถ้าหากเสนอต่อรัฐสภา กฎหมายนี้ก็ย่อมผ่านรัฐสภาโดยไม่ยากไม่ลำบาก

นี่คือความจำเป็นที่ต้องคำถามสำคัญข้างต้นว่า

นายกฯทักษิณ ชินวัตรคิดเองและตัดสินใจเอง

หรือ....

ถูก “วางยา” โดยที่ปรึกษากฎหมายคนใด ?

......................

เพราะอะไรน่ะหรือ

ก็เพราะว่าถ้าเป็นการ “วางยา” เสียแล้วก็ต้องถามต่อไปว่า....

หนึ่ง – คนวางยานั้นคาดคิดล่วงหน้าได้อยู่ก่อนแล้วใช่ไหมถึงความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ตามมาของนายกฯทักษิณ ชินวัตร

สอง – คนวางยานั้นเสนอทางออกให้ด้วยใช่ไหมว่าต้องพึ่งพาอานันท์ ปันยารชุน

สาม – คนวางยานั้นรู้ใช่ไหมว่าเท่ากับเป็นยกระดับอานันท์ ปันยารชุนขึ้นมาสู่สายตาการเปรียบเทียบของสังคมอีกครั้งหนึ่ง ทำให้อานันท์ ปันายารชุนกลายมาเป็น “แคนดิเดท” นายกรัฐมนตรีคนต่อไปหากเกิดวิกฤตที่ทำให้นายกทักษิณ ชินวัตรหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศได้ต่อไป


เป็นเรื่องที่นายกฯทักษิณ ชินวัตรต้องคิดให้ดี

เพื่อคอยแก้เกมกลที่อาจจะมีการวางไว้แล้วอย่างลึกซึ้งให้จงได้ในอนาคต เพราะผลเบื้องหน้าอย่างไรก็พอแลเห็นกันอยู่แล้ว

..............

ขอย้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่าที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ก็เพราะเห็นถึงภาพรวมของความจำเป็นที่ประเทศทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้

แต่...ไม่เห็นด้วยว่าวิกฤต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายฉบับนี้

เป็นคนละเรื่อง เป็นคนละส่วน และไม่เป็นเหตุเป็นผลกันแต่ประการใดเลย

วิกฤต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่กรณีปฏิบัติการเจาะไอร้องเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ลุกลามบานปลายมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายฉบับนี้ แต่เพราะว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างไม่ถูกต้อง

เริ่มจาก – การประเมินสถานการณ์ตั้งต้นที่ว่าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพียงการกระทำของ “โจรกระจอก” หากกำจัดเสียได้แล้ว เหตุการณ์ก็จะสงบ และภาระหน้าที่นี้ก็ต้องให้ทหารพ้นจากหน้าที่ไปก่อน แล้วให้ฝ่ายตำรวจเข้ารับภาระแทน

ตามมาด้วย -- สถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ถูกอุ้มฆ่า ถูกสังหาร จนไม่รู้ใครเป็นใครและไม่รู้ใครทำ ทำให้สถานการณ์พลิกผันใหญ่หลวง จากสถานการณ์ที่ “ผู้มีอิทธิพลอำนาจมืดเป็นปัญหาหลัก การแบ่งแยกดินแดนเป็นปัญหารอง” พลิกกลับเป็น “การแบ่งแยกดินแดนเป็นปัญหาหลัก ผู้มีอิทธิพลอำนาจมืดกลายเป็นปัญหารอง แต่เป็นปัญหารองที่ขยายให้ปัญหาหลักยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น” นั่นเอง

เหตุผลสำคัญเกิดจากชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นั้นล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น

ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งถูกสังหารและเชื่อว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำให้ประชาชนทั้งหมู่บ้านหันเหออกจากรัฐไปเข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ


ตามมาด้วย -- การมองปัญหาว่าเป็นเพียงปัญหาอาชญากรรมที่ใช้กระบวนการสืบสวน สอบสวน ตรวจค้น จับกุม ฟ้องศาล เป็นด้านหลัก โดยให้ฝ่ายทหารเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น

ยาขนานนี้ไม่ตรงกับโรคและรักษาโรคไม่หาย

เพราะโรคที่แท้จริงนั้นการแบ่งแยกดินแดนได้ยกระดับเป็นด้านหลัก กลายเป็นสงครามประชาชนที่มีแนวทางการเมืองคือ “เชื้อชาติ ศาสนา มาตุภูมิ” เป็นธงนำ ไม่ใช่สงครามธรรมดา แต่เป็นสงครามประชาชนลักษณะพิเศษที่มีธงการเมืองชนิดนี้เป็นธงนำ


ในสงครามชนิดนี้เราไม่เคยเรียนรู้หรือเข้าใจมัน ไม่เคยรับมือกับมัน ไม่เคยจัดกระบวนรบและแนวรบเผชิญหน้าหรือต้านทานมันเลย ดังนั้นอัตราเร่งของการขยายตัวจึงลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

ตามมาด้วย -- การจัดการปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจในทางยุทธศาสตร์ ไร้เข็มมุ่งและมาตรการที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ในระดับปฏิบัติการขาดความเป็นเอกภาพ สถานการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทั้ง “ทฤษฎี 3 ใช้” คือ “ใช้เงิน, ใช้อำนาจ และใช้อารมณ์” และ “ทฤษฎีแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง” นั้น ไม่ได้ผล ที่หนักหนาสาหัสก็คือคนดีมีความสามารถชำนาญการด้านความมั่นคงคนแล้วคนเล่าต้องพ้นไปจากหน้าที่ ทำให้กำลังในการแก้ไขปัญหาของรัฐอ่อนแอลงอย่างน่าใจหาย

ตามมาด้วย – การใช้ความรุนแรงในทางความเป็นจริงสวนทางกับการเคลื่อนไหวตามแนวทางสันติวิธี กลายเป็นว่าสันติแต่ปาก ทำให้ความคับแค้นชิงชังแพร่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ดังที่อานันท์ ปันยารชุนได้กล่าวว่าคนในพื้นที่ “ไม่มีความไว้วางใจรัฐบาล” นั่นเอง

และสุดท้าย -- ประสิทธิภาพในการทำงานอ่อนแออย่างน่าใจหาย จนบัดนี้จึงยังไม่รู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร ไม่รู้ว่าใครคือคนร้าย ยังไม่รู้ว่าเครือข่ายบัญชาการเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายบนถนนและในเมืองได้ กระทั่งไม่สามารถควบคุมวัตถุระเบิดใด ๆ ได้เลย

ทำให้สถานการณ์สูญเสียอำนาจรัฐขั้นที่ 1 คืออำนาจในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหมดสิ้นไป กระทบต่ออำนาจรัฐขั้นที่ 2 คือกลไกของรัฐในพื้นที่ไม่สามารถบริหารดำเนินการได้ตามปกติ และกำลังเข้าสู่ระยะสูญเสียขั้นสุดท้ายคือการอพยพของประชาชน ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ปกครองดูแลไม่ได้

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ใช่ปมเงื่อนหลักในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะตราบใดที่ไม่แก้ปมปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้น ถึงจะใช้มาตรการตามกฎหมายฉบับนี้เต็มอัตราศึกก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาอะไรได้

ซ้ำร้าย อำนาจตามกฎหมายนี้หากนำไปใช้โดยไม่ถูกต้องหรือโดยผู้ใช้ที่ขาดประสบการณ์แล้วจะทำให้ปัญหายิ่งบานปลายขยายตัว

และเมื่อผสมโรงเข้ากับการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถี่ยิบและต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้แล้ว

ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทยยิ่งมีความเสี่ยงภัยต่อการที่จะสูญเสียดินแดนในอนาคตมากขึ้น

ต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรที่มีบทบาทและความสำคัญของสหประชาชาติ ดังนั้นหากความเข้าใจที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้องและเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนประชาชนไม่ยอมให้ปกครองหรือปกครองคุ้มครองความปลอดภัยกันไม่ได้แล้ว องค์กรนี้ก็อาจเสนอญัตติต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ลงประชามติในพื้นที่นั้นก็ได้

ถ้ามีการลงประชามติกันผลจะเป็นอย่างไร ?

นี่ใช่ไหม -- คือเหตุผลที่จำเป็นต้องบากหน้าไปหาอานันท์ ปันยารชุนคนที่สหประชาชาติเชื่อถือและไว้วางใจ !

แต่ 10 อานันท์ 100 อานันท์ก็ช่วยไม่ได้หากอำนาจตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ถูกนำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง หรือโดยผู้ที่ขาดประสบการณ์ แล้วทำให้ปัญหายิ่งบานปลายขยายตัว


..........................

ในการออกโทรทัศน์ครั้งสำคัญ นายกฯทักษิณ ชินวัตรพูดความจริงไม่หมด

เพราะไม่เคยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกิดการอุ้มฆ่า โดยเฉพาะตำรวจ มีแต่ได้ดีกันทุกคน ย้ายออกจากพื้นที่เพื่อหลบการตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ไปสู่พื้นที่เงินพื้นที่ทองอื่น ๆ กระทั่งมาลงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในเมืองหลวง

กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรนั้น แม้จะมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แต่ในที่สุดทุกคนก็ได้ประกันตัวไป

และคนสำคัญที่สุด ปัจจุบันก็กลับมารับราชการเป็นรองผู้กำกับการในกองบังคับการตำรวจปราบปรามเหมือน เดิม และไม่มีความพยายามที่จะสืบขึ้นไปถึงคนสั่งการเบื้องบน

นอกจากนั้นยังไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนสำคัญ 2 ประการที่สังคมสนใจอย่างยิ่ง

หนึ่ง – อำนาจจับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างกว้างขวางตามมาตรา 11 (1) ที่ถ้าหากทำผิดตัวแล้วจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์

สอง – การกำหนดไว้ในมาตรา 17 (และมาตรา 16) ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำการโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย


นายกฯทักษิณ ชินวัตรบอกว่าไม่ใช่จับกุม แค่เชิญมาให้ปากคำ ถ้าจะจับกุมต้องขออำนาจศาล

แต่จริง ๆ แล้วเนื้อหาในมาตรา 11 (1) ใช้คำว่า “จับกุมและควบคุมตัว” อย่างชัดเจน

แม้ว่าจะกำหนดให้ต้องไปขออำนาจศาลตามมาตรา 12 แต่ก็ยังมีปัญหาว่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลจะอนุมัติได้หรือไม่ และจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความชัดเจน

นายกฯทักษิณ ชินวัตรชอบใช้คำพูดที่ว่า “ไปอ่านดี ๆ ก่อนวิจารณ์” หรือ “คนที่วิจารณ์ไม่ได้อ่านกฎหมาย” แต่สุดท้ายก็ตัวท่านเองนั่นแหละที่ชี้แจงโดยไม่ตรงกับคำในตัวบทกฎหมาย

และเป็นเพียงการนำการแก้ต่าง ๆ ของวิษณุ เครืองามมาเปิดซ้ำอีกครั้งเท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเพียงการแก้ต่างที่ไม่ได้รับการยอมรับ

นายกฯทักษิณ ชินวัตรที่รักควรเลิกใช้วิธีการแบบนี้เสียที

เลิกดูถูกผู้คนเสียที !


คนในสังคมไทยยุคนี้มีสติปัญญาที่พอจะอ่านกฎหมายออก หรือสังเคราะห์ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ไม่ได้เป็นขี้ข้ารัฐบาล ขี้ข้ายศถาบรรดาศักดิ์ มาประกอบวิจารณญาณได้

มาตรา 11 (1) นี่แหละคือปัญหาใหญ่ !

วิชา มหาคุณ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างรุนแรงหลายวันมาแล้ว

หนึ่ง -- มาตรา 11 (1) เป็นบทยกเว้นรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไปกำหนดให้ควบคุมตัวไว้ 7 วัน ไม่ใช่แค่ 48 ชั่วโมง แล้วจะมาขอให้ศาลอนุมัติตามอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อย่างไร ในเมื่อกรอบอำนาจของศาลที่มีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ให้ควบคุมตัวได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น

สอง – เป็นการดึงเอาศาลไปรับรองความชอบธรรมให้การกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญของเจ้าหน้าที่หรือเปล่า อย่าลืมว่าศาลเป็นองค์กรเดียวที่กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จะอนุมัติการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อย่างไร

....................................

นายกฯทักษิณ ชินวัตรเดินมาถึงจุดที่ “แพ้ทางการเมืองราบคาบ” ชนิดที่อุตส่าห์ออกพระราชกำหนด แต่ผลเสมือนไม่ได้ออก และมีแนวโน้มจะต้องออกพระราชบัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงในอนาคต นี้ได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องตอบคำถามต่อตัวเองอย่างซื่อสัตย์


คิดเอง, ตัดสินใจเอง

หรือถูกวางยาโดยที่ปรึกษากฎหมายคนใด ??

กำลังโหลดความคิดเห็น