xs
xsm
sm
md
lg

“ภาคประชาชน” แฉ!กลโกง “ซีทีเอ็กซ์ 9000” หมดเปลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานภาคประชาชนตรวจสอบทุจริตฯ แฉกลโกงการจัดซื้อ “ซีทีเอ็กซ์ 9000” ในสนามบินสุวรรณภูมิหมดเปลือก เผย “3 ยุทธการโกงชาติ” พร้อมเปิดหลักฐาน-ชี้แจงข้อมูลเปรียบเทียบ

วันนี้ (26 มิ.ย.) คณะทำงานภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วย วิศวกร นักบัญชี ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบภายใน นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิจัยสังคมวิทยาจำนวนหนึ่งร่วมกันตรวจสอบทุจริตเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยการแจกจ่ายไปตามสื่อต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ภาค 1 CTX หนองงูเห่า ยุทธการโกงชาติ
1. ความผิดปรกติของงานเริ่มจากการเพิ่มงานเพื่อให้สนามบินรองรับผู้โดยสารได้จาก 30 ล้านคน เป็น 45 ล้านคน โดยมอบหมายให้ MJTA ออกแบบ ปรับปรุงเพิ่มจำนวน Check-in Counter แล%เครื่องตรวจวัตถุระเบิด โดยเฉพาะไม่นำผลการศึกษาจำนวนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ของ MJTA และของ ASI มาใช้ ซึ่งออกแบบระบบที่สมเหตุผล สำหรับประเทศไทยมากที่สุดไม่ใช่ระบบตรวจกระเป๋า 100% แต่ตรวจเฉพาะผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงเท่านั้น

2. บทม.มอบหมายการออกแบบระบบตรวจวัตถุระเบิดให้ ITO ดำเนินการพร้อมงานก่อสร้างโดยไม่มีการประมูลใหม่โดย บทม.เป็นผู้กำหนดงบประมาณวงเงิน 4,500 ล้านบาท ให้ คณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) อนุมัติ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองในภายหลัง

3. แต่ก่อนหน้านั้นได้มีการหารือและบันทึกเป็นผลการประชุมว่า สตง. ป็นหน่วยงานที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มงานเพื่อให้สนามบินรองรับผู้โดยสารได้จาก 30 ล้านคน เป็น 45 ล้านคน และต่อมาไม่นานพบว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งพิเศษเรียกว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 2/2546 ยกเว้น ไม่ต้องนำคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และ มติ ครม. มาใช้บังคับกับ บทม.สำหรับงานก่อสร้าง การบริหาร พัสดุ การเงิน การทำสัญญา การควบคุมแผนงาน ฯลฯ เท่ากับเป็นการรองรับให้ บทม.สามารถดำเนินการว่าจ้างและทำสัญญากับ ITO หรือที่ปรึกษาอื่นๆ ได้โดยสามารถอ้างได้ว่าเพื่อเป็นความสะดวกให้สามารถก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จ ภายในกันยายน 2548

4. บทม.อ้างเหตุผลยกเลิกไม่ให้ MJTA เป็นผู้ออกแบบระบบตรวจวัตถุระเบิด โดยอ้างว่าจะใช้เวลาถึง 6 เดือน ตั้งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 แต่ บทม.ได้ให้ ITO เริ่มงานออกแบบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 และเห็นชอบรับงานออกแบบของ ITO วันที่ 15 มกราคม 2547 รวมแล้วระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ยกเลิก MJTA จนถึงออกแบบเสร็จประมาณ 11 เดือน ซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่าที่ให้ MJTA ออกแบบ ถึง 5 เดือน การกระทำดังกล่าวแสดงความไม่ชอบมาพากลของ บทม. ที่ต้องการ ให้ ITO รับงานโดยไม่มีการประมูล ซึ่ง บทม.สามารถควบคุมการทำงานของ ITO และล็อกเสปกอุปกรณ์ได้ง่าย

5. ภายหลัง บทม.ยกเลิกไม่ให้ MJTA เป็นผู้ออกแบบระบบตรวจวัตถุระเบิด ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 มีบริษัท System Design &Develop Inc เกิดขึ้นโดยจดทะเบียนที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุนจดทะเบียน 25,000 เหรียญ (ประมาณ 1 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2546 และต่อมาบริษัท System Design &Develop Inc เปลี่ยนชื่อเป็น Quatrotec โดยย้ายมาอยู่ที่เมือง Los Angelis California และได้เข้ามารับงานเป็นที่ปรึกษาให้ บทม. ด้วยความไม่ปกติของการว่าจ้างที่ปรึกษาทั่วไป

6. บทม.ก็ทราบอยู่แล้วว่าการออกแบบระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ITO ไม่สามารถทำงานดังกล่าวด้วยตัวเอง จึงได้ว่าจ้างบริษัท Cage เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งปรากฏว่าบริษัท Cage ก็มิได้มีประสบการณ์การออกแบบระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดโดยตรงจึงเป็นช่องว่างที่ บทม.และ ITO จะต้องหาบริษัทที่ทำหน้าที่รับรองการออกแบบและการทำงานของระบบ(IDCE) แยกต่างหากจากบริษัท Cage โดยในครั้งแรกตามเอกสารของ บทม.ที่ NBIA/ITO/TB/4465 ลว. 2 กรกฎาคม 2546 ITO จะต้องเป็นผู้จัดหา IDCE เอง แต่ปรากฏว่าภายหลัง บริษัท Quatrotec ได้เข้ามามีบทบาท เป็น IDCE โดย บทม.เป็นผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ ITO โยนให้ บทม.รับภาระค่าจ้างและรับผิดชอบ และโดยที่สัญญาได้ออกแบบไว้ได้กำหนดให้ IDCE จะต้องอนุมัติแบบให้ ITO ภายใน 7 วันหาก IDCE ไม่สามารถทำได้ทันภายใน 7 วัน ก็ถือว่าแบบของ ITO ได้รับอนุมัติโดยอัตโนมัติ สัญญาดังกล่าวเป็นฝ่ายที่ บทม.เสียเปรียบ ITO ทุกประการ และหากพบว่ามีความบกพร่องต่อระบบไม่ว่าจะเกิดเนื่องจากการออกแบบหรือการควบคุมงานที่ได้รับรองโดย IDCE เอง บริษัท Quatrotec ซึ่งจดทะเบียนในต่างประเทศจะรับผิดชอบได้หรือไม่

7. บริษัท Quatrotec เริ่มมีบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบงานออกแบบระบบดังกล่าวให้แก่ บทม.ทั้งๆที่ยังไม่มีสัญญาว่าจ้างโดย บทม.ได้นำรายงานการศึกษาของ Quatrotec ส่งให้ ITO สองครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 และรายงานครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 แต่ บทม.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท Quatrotec เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2547 ดังนั้น การที่ บทม.ใช้รายงานของ Quatrotec จึงถือว่าเป็นรายงานเถื่อนที่ บทม.ยอมรับ การที่ บทม.กล้ากระทำเช่นนี้ได้จึงน่าเชื่อได้ว่าต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังบริษัท Quatrotec ที่มีเส้นสายใหญ่โต การกระทำของ บทม. ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีระเบียบใดรองรับแต่มีผลกับสัญญาโดยตรง เพราะมูลค่าสัญญางานนี้สูงถึง 4,400 ล้านบาท เลือกใช้เครื่อง CTX 9000 ตามความเห็นของ Quatrotec ที่เป็น ผู้ล็อกเสปก

8. ผู้ออกแบบทั้ง ASI และ Cage ต่างศึกษาเครื่องตรวจวัตถุระเบิด สองยี่ห้อ คือ CTX9000 และ L-3 eXaminer แต่ Quatrotec ซึ่งไม่มีหน้าที่ออกแบบกลับล็อกเสปกให้ใช้เฉพาะเครื่อง CTX9000 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่า บทม.ได้สั่งให้ที่ปรึกษาทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติและประวัติการทำงานเครื่องตรวจระเบิดที่เกี่ยวกับสมรรถนะและความสามารถเครื่องที่ดีที่สุด โดยควรศึกษาอ้างอิงกับเครื่องและระบบที่คล้ายกันที่ได้รับการติดตั้งในสนามบินต่างๆของสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียดรอบครอบ จึงเป็นไปได้ว่าการที่ Quatrotec สามารถกระทำดังกล่าวได้และ บทม. ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขก็เพื่อตอบสนองใบสั่งของผู้อยู่เบื้องหลัง

9. บทม.ได้ทำการลงนามในสัญญากับ ITO เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยใช้หลักเกณฑ์การเพิ่มงานโดยไม่มีการประมูลใหม่ ไม่มีราคากลางเพียงแต่นำวงเงินที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ 4,500 ล้านบาท ลดลงเหลือ 4,400 ล้านบาท และในการทำสัญญาปรากฏว่ามีชื่อบริษัท Patriot Business Consultant Co.Ltd ซึ่งเป็นตัวแทนของ Invision Inc. ผู้ผลิต CTX9000 เป็นผู้รับเหมาช่วงของ ITO

10. บทม.ได้ทำการว่าจ้างบริษัท Quatrotec เป็น IDCE เมื่อ 30 กันยนยน 2547 โดย บริษัท Quatrotec อ้างอิงผลงานสนามบิน San Francisco International Airport เมื่อปี 2545 แต่บริษัท Quatrotec จดทะเบียนเมื่อปี 2546 ดังนั้น จึงถือว่าบริษัท Quatrotec กระทำการทุจริตใช้เอกสารเท็จ จึงถือได้ว่าบริษัท Quatrotec กระทำการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ผิดระเบียบ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่ง จะต้องถูกเลิกสัญญาว่าจ้างและถูกขึ้นบัญชี เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ในกรณีนี้ บริษัท Quatrotec ถือว่าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้ว การยกเลิกสัญญาจะกระทำได้เมื่อ บทม.ส่งเรื่องพร้อมแสดงความเห็นไปยังปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการตามระเบียบฯ เพื่อแจ้งให้บริษัท Quatrotec เข้ามาชี้แจงภายใน 15 วัน หลังจากได้รับคำชี้แจงแล้วปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงจะวินิจฉัยและขึ้นบัญชี บริษัท Quatrotec เป็นผู้ทิ้งงานอย่างเป็นทางการต่อไป

11. เงื่อนไขการจ่ายเงิน ได้แบ่งออกเป็น 25 งวด รวม 4,404 ล้านบาท (1 บาท = 2.67 yen ) แยกออกเป็นหมวดๆ ได้ดังนี้ (1) งานออกแบบ 220 ล้านบาท (2) งานจัดซื้อเครื่อง CTX9000 2,290 ล้านบาท (3) เมื่อส่งของ 528 ล้านบาท (4) งานติดตั้ง 1,101 ล้านบาท (5) งานทดสอบ 264 ล้านบาท ได้ตรวจพบความผิดปรกติหลายประการ ดังนี้

11.1 ตามรายการปริมาณงาน Detailed BOQ ปรากฏงานตามสัญญามีค่าออกแบบ 110 ล้านบาท แต่เมื่อเบิกจ่ายจริง ITOได้ทำการเบิกเงิน ค่าออกแบบไปถึง 220 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ตรวจระเบิด 1,831 ล้านบาท แต่เบิกจริงถึง 2,290 ล้านบาท ค่าส่งของและอุปกรณ์พร้อมส่งคิดเป็นเงิน 528 ล้านบาทไม่มีเอกสารการส่งของลงเรือ เช่น Invoice และ B/Lแต่ บทม.อนุมีติจ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินปริมาณงาน

11.2 ตามรายการปริมาณงาน Detailed BOQ ได้แสดงเนื้องานการติดตั้งระบบสายพานเพิ่มขึ้นซึ่งประกอบด้วยค่าวัสดุเป็นส่วนใหญ่แต่ในรายการ การเบิกเงินไม่ได้แสดงเนื้องานค่าวัสดุแต่ประการใด จึงเปิดช่องให้ ITO สามารถเบิกเงินได้ถึงงวดที่ 15 คิดเป็นเงินของหมวดงาน ที่ (1) (2) (3) เป็นเงิน 3,039 ล้านบาท และเงินล่วงหน้าอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 440 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,479 ล้านบาท โดยเฉพาะหมวดงานที่ (2) และ (3) รวมเป็นเงิน 2,819 ล้านบาท จากการให้การของ บทม.อ้างว่า Invision Inc ยังไม่ได้รับเงิน รวมทั้งมีคำตัดสินของศาลยุติธรรมประเทศ สหรัฐอเมริกาว่า Invision Inc กระทำผิดกฎหมาย FCPA ที่น่าเชื่อได้ว่ามีการจ่ายสินบนให้แก่กิจกรรมทางการเมืองของประเทศไทย การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัทแม่ของ Invision Inc คือ GE - Invision Inc ประกาศว่าจะขายเครื่อง CTX9000 ให้แก่ บทม โดยตรง ไม่ผ่านตัวแทน หรือ ITO การกระทำดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่มีการสั่งซื้อระหว่าง ITO กับ ผู้ขาย ตามสัญญาในหมวด (2) ถึงแม้ว่า ITO จะอ้างว่ามีสัญญากับ Patriot Business Consultant Co.,Ltd ก็ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ดังนั้นงวดงานทั้งสิ้นจึงถือว่ายังมิได้ดำเนินการและส่งมอบงานแต่ประการใด แต่ในขณะนี้ ITO ได้เบิกเงินเกินปริมาณ เฉพาะหมวด (2) และ (3) สูงถึง 2,819 ล้านบาท เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ ITO

11.3 ปริมาณเงินที่เหลือตามสัญญาในหมวดที่ (4) และ (5) เหลืออีก 1,365 ล้านบาท เมื่อหักเงินล่วงหน้าที่เบิกไปแล้ว 440 ล้านบาท จึงเหลือ เงินที่ ITO สามารถเบิกได้อีก 925 ล้านบาท หากเกิดความเสียหายไม่นับรวมถึงการไม่สามารถส่งเครื่องตรวจวัตถุระเบิด 26 ชุด ปริมาณเนื้องานติดตั้งจริง ที่ ITO จะต้องดำเนินการคืองานระบบสายพาน งานก่อสร้าง ห้องควบคุมและตรวจกระเป๋า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมแล้วเป็นเนื้องานที่สูงกว่าจำนวนเงิน 925 ล้านบาท ซึ่ง บทม.เป็นฝ่ายเสียเปรียบที่ไม่สามารถ นำเงินส่วนที่เหลือนี้ไปว่าจ้างผู้รับเหมารายอื่นให้ทำงานแล้วเสร็จ

12. เทคนิคและวิธีการติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่ ITO เสนอและ Quatrotec รับรองว่าเป็น100% In-Lind System นั้น ขัดแย้งกับมาตรฐานการติดตั้งในสนามบิน 8 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเฉลี่ยใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่องต่อจำนวนผู้โดยสาร 930 คนต่อวัน แต่ท่าอากาศสุวรรณภูมิเฉลี่ยใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 4,740 คนต่อวัน จะเป็นระบบ 100% In-Lind System หรือไม่ เพราะในขณะที่ท่าอากาศยานซานฟรานซิสโก มีผู้โดยสารประมาณ 14 ล้านคน ใช้ 45 เครื่องและท่าอากาศยานบอสตันโลแกน มีผู้โดยสารประมาณ 11 ล้านคน ใช้ 38 เครื่อง แต่ของสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 45 ล้านคน ใช้เพียง 26 เครื่อง จากความแตกต่างของจำนวนเครื่องดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ระบบการออกแบบของเรามีความสามารถในการตรวจกระเป๋าได้ไม่เกิน 15%

นอกจากนี้ ที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ติดตั้งเครื่องตรวจระเบิดไว้ที่ชั้นล่างที่ระดับ 1.50 เมตร ในขณะที่ Check-in counter อยู่ที่ระดับ 16.25 เมตร และ Check-in counter ตัวที่ไกลที่สุดมีระยะห่างจากเครื่องตรวจระเบิดประมาณ 150 เมตร จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยเนื่องจากระบบดังกล่าวไม่มีการเครื่องเอกซเรย์ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาวัตถุระเบิด ชั้นที่ 1 ที่ Check-in counter จึงเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบ การออกแบบดังกล่าวจึงเป็นความบกพร่องของผู้ออกแบบ และ IDCE และ บทม. ต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง

ข้อ ๑๔๕ จัตวา ในการจัดหาพัสดุ ตามระเบียบนี้ หากมีเหตุอันควรสงสัย ปรากฏในภายหลังว่า ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน รายหนึ่งหรือหลายราย ไม่ว่าจะเป็น ผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองาน ที่ได้รับการคัดเลือก หรือไม่ก็ตาม กระทำการ อันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทำการ โดยไม่สุจริต เช่น การเสนอเอกสารอันเป็นเท็จ หรือใช้ชื่อบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอื่น มาเสนอราคาแทน ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าบุคคลดังกล่าว สมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่ โดยมีหนังสือแจ้งเหตุ ที่ทางราชการสงสัย ไปยังผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน ที่ถูกสงสัยทราบ พร้อมทั้งให้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ภายในเวลา ที่ทางราชการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากส่วนราชการ

เมื่อส่วนราชการได้รับคำชี้แจงจากผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองานที่ถูกสงสัยตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หัวหน้าส่วนราชการทำรายงานไปยังปลัดกระทรวง พร้อมทั้งเสนอความเห็นของตนเพื่อประกอบการพิจารณาของปลัดกระทรวง ว่าบุคคลดังกล่าวสมควรเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่
 
หากผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองานที่ถูกสงสัยไม่ชี้แจงภายในกำหนดเวลา ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือมีการกระทำโดยไม่สุจริต ให้หัวหน้าส่วนราชการเสนอปลัดกระทรวง พร้อมทั้งเสนอความเห็น เพื่อพิจารณาให้ผู้นั้นเป็นผู้ทิ้งงาน การพิจารณาให้ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองานเป็นผู้ทิ้งงาน ตามวรรคสองและวรรคสาม ให้นำความในข้อ ๑๔๕ ทวิ วรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
 
ข้อ ๑๔๕ เบญจ ในกรณีที่ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน ที่ร่วมกระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทำการโดยไม่สุจริตรายใด ซึ่งมิใช่เป็นผู้ริเริ่ม ให้มีการกระทำดังกล่าวได้ ให้ความร่วมมือเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของทางราชการ ให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือปลัดกระทรวง หรือผู้รักษาการตามระเบียบ พิจารณาให้ ผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานรายนั้น ได้รับการยกเว้น ที่จะไม่เป็นผู้ทิ้งงานได้ โดยแสดงเหตุผล หรือระบุเหตุผลไว้ ในการเสนอความเห็น หรือในการสั่งการแล้วแต่กรณี
 
ข้อ ๑๔๕ ฉ ในกรณีที่นิติบุคคลใด ถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามข้อ ๑๔๕ ทวิ ข้อ ๑๔๕ ตรี หรือข้อ ๑๔๕ จัตวา ถ้าการกระทำดังกล่าว เกิดจากหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงาน ในกิจการของนิติบุคคลนั้น ให้ผู้รักษาการตามระเบียบนี้ สั่งให้บุคคลดังกล่าว เป็นผู้ทิ้งงานด้วย

ในกรณีที่ นิติบุคคลรายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามข้อ ๑๔๕ ทวิ ข้อ ๑๔๕ ตรี หรือข้อ ๑๔๕ จัตวา ให้คำสั่งดังกล่าว มีผลไปถึง นิติบุคคลอื่น ที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งมีหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงาน ในกิจการของนิติบุคคลนั้น เป็นบุคคลเดียวกัน กับหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงาน ในกิจการของนิติบุคคลที่ถูกพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานด้วย

ในกรณีที่ บุคคลธรรมดารายใดถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ตามข้อ ๑๔๕ ทวิ ข้อ ๑๔๕ ตรี หรือข้อ ๑๔๕ จัตวา ให้คำสั่งดังกล่าว มีผลไปถึง นิติบุคคลอื่น ที่เข้าเสนอราคาหรือเสนองาน ซึ่งมีบุคคลดังกล่าว เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ ในการดำเนินงาน ในกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย
 
ข้อ ๑๔๕ สัตต เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง อันควรสงสัยว่า มีการกระทำ ตามข้อ ๑๔๕ ทวิ ข้อ ๑๔๕ ตรี หรือข้อ ๑๔๕ จัตวา และปลัดกระทรวงยังไม่ได้รายงาน ไปยังผู้รักษาการตามระเบียบ ผู้รักษาการตามระเบียบ อาจเรียกให้ ผู้ได้รับการคัดเลือก ผู้จำหน่าย ผู้รับจ้าง คู่สัญญา ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน ที่มีข้อเท็จจริง อันควรสงสัย ว่ามีการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทำการ โดยไม่สุจริต มาชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อผู้รักษาการตามระเบียบ ทั้งนี้ โดยมีหนังสือแจ้งเหตุ ที่ผู้รักษาการตามระเบียบสงสัย ไปยังบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลนั้นชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงภายในเวลาที่ผู้รักษาการตามระเบียบกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน นับแต่ วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้รักษาการตามระเบียบ เมื่อผู้รักษาการตามระเบียบได้รับคำชี้แจงจากผู้ได้รับการคัดเลือก ผู้จำหน่าย ผู้รับจ้าง คู่สัญญา ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน ที่ถูกสงสัย ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้รักษาการตามระเบียบ พิจารณาคำชี้แจงดังกล่าว หากคำชี้แจง ไม่มีเหตุผลรับฟังได้ ให้ผู้รักษาการตามระเบียบ พิจารณาให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาไปให้ปลัดกระทรวงทราบด้วย

หากผู้ได้รับการคัดเลือก ผู้จำหน่าย ผู้รับจ้าง คู่สัญญา ผู้เสนอราคา หรือผู้เสนองาน ที่ถูกสงสัย ตามวรรคหนึ่ง ไม่ชี้แจง ภายในกำหนดเวลา ที่ผู้รักษาการตามระเบียบ จะได้กำหนดไว้ ให้ถือว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ ว่ามีการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือมีการกระทำ โดยไม่สุจริต ให้ผู้รักษาการตามระเบียบ พิจารณาให้บุคคลดังกล่าว เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณา ไปให้ปลัดกระทรวงทราบด้วย

ภาค 2 จับผิดฟอก CTX9000
ในการแถลงข่าวของรองนายก วิษณุฯ แสดงเหตุผลที่ บทม.เลือกเครื่อง CTX9000 ของบริษัท อินวิสชั่น เพราะ เครื่อง CTX9000 มีสมรรถนะ เหนือกว่า เครื่อง 3DX6000 ของบริษัท L-3 มีข้อพิรุธหลายประการดังนี้

1. จากการรายงานของ CAA (California Aviation Alliance) ในบทความชื่อ In-line Screening Systems See Operation Progress, March 25, 2004 (http://archives.californiaaviation.org/airport/msg29734.html)
ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลสถิติตัวเลขการทำงานจริงของระบบการตรวจสอบกระเป๋าในระบบ In-line ของสนามบิน 8 แห่ง รวม สนามบินซานฟรานซิสโก (SFO) และสนามบอสตัน (BOS) ไว้อย่างชัดเจน เปิดเผย และ ตรงไปตรงมา เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์พบว่า เครื่อง CTX9000 สามารถทำการตรวจกระเป๋าได้ เฉลี่ยประมาณ 186 ใบต่อชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ L-3 สามารถทำการตรวจกระเป๋าได้ เฉลี่ยประมาณ 288 ใบต่อชั่วโมง ดังนั้นข้อมูลของรองนายก วิษณุฯ และคณะที่แถลงโดยให้เหตุผลว่า เครื่อง CTX9000 มีความเร็วกว่าเครื่องของ L-3 จึงเป็นข้อมูลเท็จ

2. รองนายก วิษณุฯ มอบหมายให้ ดร.ถวิล พึ่งพา เป็นผู้แถลง และ แสดงวิธีการคำนวณโดยใช้สมมุติฐาน ผู้โดยสาร 45 ล้านคนมีกระเป๋าเดินทางคนละ 2 ใบ รวมเป็นกระเป๋า 90 ล้านใบ ใช้ค่าความเร็วในการตรวจกระเป๋าของเครื่อง CTX9000 เท่ากับ 800 ใบ/ชั่วโมง นอกจากการนำตัวเลข ความเร็วตรวจกระเป๋า 800 ใบต่อชั่วโมงเพื่อมาคำนวณให้ได้จำนวนเครื่องตรวจระเบิด 26 เครื่อง ซึ่งเร็วกว่า และใช้จำนวนน้อยกว่า เพราะหากใช้ เครื่อง 3DX6000 จะต้องใช้ถึง 41 เครื่อง เหมือนรู้คำตอบล่วงหน้าแล้ว ก็ต้องช่วยกันผลัก ช่วยกันเข็น ช่วยกันฟอกให้ขาวสะอาดหมดจดให้ได้ จึงขอถามว่า ดร.ถวิล พึ่งพา ในฐานะวิศวกร นำตัวเลข 800 ใบต่อชั่วโมง มาจากไหน

3. ในการแถลงข่าวและรายงานผลการตรวจสอบ เป็นการตบตาประชานชนในประเด็นการออกแบบระบบตรวจวัตถุระเบิด 100 % ที่อ้างว่าสามารถตรวจสอบกระเป๋าผู้โดยสาร 45 ล้านคน ไม่เป็นความจริง เราพบว่า ITO ใช้อัตราการการออกแบบความเร็วกระเป๋าที่ 5.9 ใบต่อนาที เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลของ CAA พบว่าค่าเฉลี่ยของความความสามารถในการตรวจกระเป๋าอยู่ที่ประมาณ 0.93 ใบต่อนาทีเท่านั้น และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสารสูงถึง 4,742 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของสนามบินในสหรัฐอเมริกาใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 913 คน (สนามบินซานฟรานซิสโก (SFO) ใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 878 คน และสนามบอสตัน (BOS) ใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 815 คน ) จึงไม่น่าเชื่อได้ว่าระบบของ ITO ที่ บทม. อนุมัติให้สร้างโดยอ้างว่าเป็นระบบตรวจกระเป๋า In-line ที่สามารถตรวจกระเป๋าของผู้โดยสาร 45 ล้านคน ได้ 100 % เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินซานฟรานซิสโก (SFO) ใช้เครื่องตรวจระเบิด 45 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 14.4 ล้านคน และสนามบอสตัน (BOS) ใช้เครื่องตรวจระเบิด 38 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 11.3 ล้านคน แต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใช้เพียง 26 เครื่อง ต่อ ผู้โดยสาร 45 ล้านคน ถามว่าทำไมมาตรฐานการออกแบบจึงแตกต่างกันมาก จะต้องมีข้อมูลของใครผิดปรกติ อย่างแน่นอน นายก วิษณุ ฯ ดร.ถวิล พึ่งพา และคณะจะต้องแถลงให้กระจ่าง

ในเมื่อไม่สามารถสร้างระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดสำหรับกระเป๋าของผู้โดยสารได้ 100 % ที่เป็นต้นเหตุของการตบตาประชาชนครั้งมโหฬาร ตามที่กล่าวซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ต่อไป เราก็มิได้หวังให้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องแห่ตาม สนามบินในสหรัฐอมริกา เพราะขืนทำต่อไประบบก็ไม่สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบตามที่กล่าว ซึ่งจะเกิดความโกลาหลครั้งยิ่งใหญ่ตอนเปิดใช้งาน เมื่อถึงเวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว เพราะการจะแก้ไขก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะมีข้อจำกัดมากมาย เช่น สถานที่และระบบสายพานซึ่งไม่ได้ออกแบบเตรียมไว้ และเราไม่ควรเชื่อ ICAEO สหรัฐอมริกามากเกินไป เพราะหากเป็นความต้องการจริงสนามบินทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม มิต้องติดตั้งติดเครื่อง CTX เป็นระบบ In-line 100% หรอกหรือ เราต้องไม่ลืมว่า การเหตุการณ์ของ 9/11 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของประเทศสหรัฐอมริกาเอง ซึ่งเป็นผู้ก่อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเกิดเหตุจาก สนามบินในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น แต่ทำไมเราต้องรับเคราะห์ในการติดตั้งระบบเดียวกับสหรัฐอมริกาด้วย แต่ สิ่งที่บทม.ควรรีบทำคือ แก้ไขระบบใหม่ให้เป็นระบบที่แบ่งกลุ่มผู้โดยสารที่มีความเสี่ยง ต่างกันตาม ตามที่ สถาบัน RPPI ได้วิเคราะห์ วิจารณ์ นโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไว้ตาม ที่ได้นำเสนอโดยรายละเอียดในภาค 3 เพราะระบบดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย และมีความเสี่ยงสูงเท่ากับสหรัฐอเมริกา กล่าวคือเมื่อนำตัวเลขที่ นสพ.มติชนได้นำเสนอไปแล้วคือระบบดังกล่าวได้จัดให้มีการตรวจสอบผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยงสูง 5.98 ล้านคน กระเป๋า 1.5 ใบต่อคน ใช้เครื่องตรวจระเบิด 18 เครื่อง อัตราความเร็วการตรวจ 150 ใบต่อชั่วโมง เมื่อนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับสนามบินในสหรัฐอเมริกาตามรายงานของ CAA ก็จะพบว่ามีมาตรฐานความเร็วและจำนวนเครื่องตรวจระเบิด ใกล้เคียงกันกล่าวคือระบบสามารถตรวจสอบตรวจกระเป๋าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 0.95 ใบต่อนาที และใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 910 คนในขณะที่ค่าเฉลี่ยของสนามบินในสหรัฐอเมริกายู่ที่ 0.93 ใบต่อนาที และ ใช้เครื่องตรวจระเบิด 1 เครื่อง ต่อผู้โดยสาร 913 คน ตามลำดับ (ดูตารางแสดงการคำนวณเปรียบเทียบ)

4.ในรายงานของ CAA พบว่าการลงทุนที่สนามบิน สนามบินซานฟรานซิสโก (SFO) ใช้เครื่อง CTX 9000 จำนวน 45 เครื่อง จะใช้เงินลงทุน 91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 3822 ล้านบาท หรือ 85 ล้านบาทต่อชุด ขณะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เครื่อง CTX 9000 จำนวน 26 เครื่อง จะใช้เงินลงทุน 4300 ล้านบาท หรือ 165 ล้านบาทต่อชุด แพงกว่าเกือบ 2 เท่า น่าจะมีความผิดปรกติ หรือการทุจริตเกิดขึ้นเพราะทั้ง สนามบินซานฟรานซิสโก และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่างก็เป็นสนามบินใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จพร้อมกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าสาเหตุที่แพงเพราะ เป็นงาน Turnkey ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ (ตามสัญญาเพิ่มเติม ITO ให้โอกาส บทม. อนุมัติแบบ ภายใน 7 วัน หาก ไม่สามารถอนุมัติ ก็ถือว่า แบบได้รับการอนุมัติโดยปริยาย) เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวไม่เคยมาก่อนในระบบการจัดซื้อจัดจ้างงานกว่าสี่พันล้านบาท ที่มาจากภาษีของประชาชน เป็นงานเพิ่มเติม ไม่มีการประมูลแข่งขัน ไม่มีราคากลาง ไม่มีการตรวจสอบด้านเทคนิคอย่างรอบด้าน และ ไม่มีการเทียบสอบราคา จึงเปิดช่องให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

จากเหคุผลที่กล่าวมาทั้ง รองนายก วิษณุฯ และ ดร.ถวิล พึ่งพา ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้กระจ่าง มิฉะนั้นจะต้องถูกตั้งข้อหาว่าการแถลงดังกล่าวนอกจากไม่สามารถฟอกความผิดให้ผู้ทุจริตได้แล้วยังเป็นโกหกหลอกลวงประชาชน ครั้งมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา

ภาค 3 ทำไมต้อง CTX 26 เครื่อง
1. INVISION’s CTX 9000 หรือ L-3’s 3DX6000 ต่างได้รับ การรับรอง จาก FAA ทั้ง คู่มีผลงานในสนามบินนานาชาติที่น่าเชื่อได้

2. ขนาดความกว้างของช่องกระเป๋า 1.00 ม. ¬หรือ 0.825 ม. ของ 3DX6000 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะมีขนาดกระเป๋าที่ใหญ่กว่า 0.80 ม. เพียง 3% รวมทั้งความสามารถการตรวจกระเป๋าจริงของเครื่องตรวจระเบิดมีประสิทธิภาพจริงเพียง 30-40 % หรือ 150-200 ใบ/ชม. เท่านั้น (จากการศึกษาของ Reason Public Policy Institute www.rppi.org/ps297.pdf )

3. CTX 9000 มีความสามารถตรวจกระเป๋า/อุปกรณ์ยาวเพียง1.73 ม น้อยกว่า 3DX6000 ที่ยาวถึง 2.0 ม.

4. งานเพิ่มจาก 30 ล้านคนต่อปี (MAP) เป็น 45 ล้านคนต่อปี (MAP) เป็นงาน Turnkey ซึ่ง ITO สามารถเลือก ผู้ขายระบบได้ ก็ได้รับงานเพิ่มโดยไม่มีการแข่งขันเป็นช่องทางทุจริตได้
 
5. รายงานของ CAGE ซึ่ง ที่ปรึกษา ของ ITO และ Quatrotec ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ บทม. ต้องการใช้ เครื่อง CTX 9000 ตั้งแต่ต้น ดังนั้นเหตุผลของที่ปรึกษาจึงค่อนข้างโน้มเอียงไปยัง CTX 9000 หรืออาจมีการล็อกเสปกซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายโดยปราศจากการตรวจสอบเพราะเป็นงาน Turnkey เพิ่มเติมโดยไม่มีการประมูลใหม่
 
6. ที่ปรึกษาของ บทม. ASI ไม่ระบุต้องเลือกระบบใด ASI ได้ประมาณการค่าก่อสร้าง In-line system ในราคาเพียง 18 mil.$ US (เครื่องละ 1.2 mil.$ US) โดยใช้เครื่องตรวจระเบิด (Explosive Detection Systems-EDS) เพียง 12 ชุด
 
7. รายงานการศึกษาของที่ปรึกษาของ ITO, Quatrotec และ PMC ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ บทม. ไม่กล่าวถึง False Positive Rate ซึ่งมีความสำคัญมาก (False Positive Rate คือความผิดพลาดที่เครื่องตรวจจับพบว่าวัสดุที่ตรวจพบเป็นวัตถุระเบิดแต่ความจริงไม่ใช่) แต่ ที่ปรึกษาจะอ้างความเร็วในการตรวจสอบของเครื่องตามเสปกแทน (ทั้งที่ทั้งสองเครื่องต่างก็ได้รับ การรับรอง จาก FAA/TSA โดยอ้างว่า เครื่อง CTX 9000 มีความสามารถตรวจสอบสูงกว่าของ 3DX6000 โดยมีข้อมูลอ้างอิงไม่ชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นกลยุทธเอาชนะทางการตลาดของแต่ละฝ่ายที่ต้องนำมาใช่ในการทำลายคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริง เครื่องที่มี False Positive Rate ต่ำกว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่า เพราะหากเครื่องทำการ ตรวจสอบผิดพลาดจะทำให้เสียเวลาในการตรวจค้นกระเป๋าที่ต้องสงสัยมาก ดังนั้นเครื่องที่มี False Positive Rate สูงกว่าจะยิ่งทำให้การตรวจสอบกระเป๋าใช้เวลาสูงกว่าแม้เครื่องดังกล่าวจะมีความเร็วในการตรวจสอบกระเป๋าสูงกว่า ในการนี้ยังไม่รวม False Negative Rate ซึ่งหมายถึงความผิดพลาดในทางลบที่เครื่องไม่สามารถตรวจวัตถุระเบิดจริงซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุจริง และบทม.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพจริงของเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 35-40 % เท่านั้น

8. งานเพิ่มเติม ราคาก่อสร้าง สองพันกว่าล้าน สำหรับสายพานหรือ Facility ที่เพิ่มขึ้นมาไม่สมเหตุผล จากการศึกษาของ Reason Public Policy Institute www.rppi.org/ps297.pdf ซึ่งได้ประมาณราคาเครื่อง ๆ ละ 1 mil.$ US และราคา Facility อีก เครื่อง ละ 1 mil.$ US รวมเป็น 2 mil.$ US ต่อเครื่อง ดังนั้นค่างานเพิ่มสำหรับ 26 เครื่องตามสัญญาของ ITO ไม่ควรเกิน 26 mil.$ US หรือ 1.2 พันล้านบาท

9. การที่ ITO ได้รับงานรวมสูงถึง 4 พันล้านบาท คือการไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ

10. เครื่องตรวจระเบิดไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากถึง 26 เครื่อง โดยสามารถแบ่งระดับการตรวจกระเป๋าเช่นที่ปรึกษา ASI ได้ศึกษาไว้ซึ่งใช้เครื่องตรวจเพียง 12 เครื่อง จากการคำนวณพบว่าในกรณีจำนวนกระเป๋าต่อผู้โดยสาร 1.5 ใบต่อคน จะใช้เครื่องตรวจเพียง 12 เครื่อง เช่นกัน หรือในกรณีจำนวนกระเป๋าต่อผู้โดยสาร 2 ใบต่อคน จะใช้เครื่องตรวจเพิ่ม เป็น 18 เครื่องราคา ราคารวมไม่ควรเกิน 36 mil.$ US รวม สายพานหรือ Facility ที่เพิ่มขึ้นมา หรือรวมแล้วคิดเป็นเงินไทยไม่ควรเกิน 1500 ล้านบาท ดูรายการคำนวณประกอบ

11. L-3 Communication, Inc ออกเป็นเครื่องรุ่นใหม่ 3DX6500 สามารถตรวจกระเป๋า/อุปกรณ์ที่มีความกว้าง 1.0 ม. และยาว 2.6 ม. ความเร็วตรวจ 600 ใบ/ชม. (CTX 9000 ตรวจได้ 500 ใบ/ชม.) และ มี ค่า False Positive Rate เท่ากับ 17 % ได้รับการสั่งซื้อจากสนามบิน Incheon International Airport (ICN) ประทศเกาหลีใต้ (16 พ.ค 2548) เครื่องรุ่นใหม่ของ L-3 มีประสิทธิภาพสูงกว่าของ Invision’s CTX 9000 ดังนั้นถ้าเป็นไปได้บทม. ควรทบทวนให้มีการประกวดราคาใหม่โดยแข่งขันราคาอย่างยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และข้อครหาหารกระทำทุจริต

สรุป

1. เครื่องตรวจระเบิดยังเป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการพัฒนาไปอีกมาก และไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากถึง 26 เครื่อง การใช้เครื่องตรวจระเบิด (EDS) จะใช้เฉพาะกลุ่มผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เราควรใช้เครื่องตรวจระเบิด (EDS)ร่วมกับเครื่อง Xray ที่มีผู้จำหน่ายหลากหลายในราคาที่ไม่แพงเกินความเหมาะสมโดยสามารถออกแบบแบ่งระดับการตรวจตามที่ประเทศอื่นเคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่น อิสราเอล และ ยุโรป ซึ่งมีประสบการณ์สูงในการรักษาความปลอดภัยจากภัยก่อการร้าย ซึ่งได้แบ่งระดับของผู้โดยสารเป็นกลุ่มต่างๆและเนื่องจากเป็นเครื่องที่มีราคาแพงมีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจาก FAA/TSA ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

2.เนื่องจาก เป็นงาน Turnkey เพิ่มเติมโดยไม่มีการประมูลใหม่ทำให้มีราคาสูงเกินความจริงน่าจะเป็นการกระทำล็อกเสปก และทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น