xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนา

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวประชาธรรม

เมื่อพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาความขัดแย้งของระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้หลายคนนึกถึงการมี “นโยบายสาธารณะ” ที่ดี ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว หากยังจะช่วยจรรโลงการพัฒนาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงอีกด้วย

แต่อะไรบ้างล่ะ ที่จะเป็นองค์ประกอบของนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาดังกล่าว เรื่องนี้พูดกันมานาน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระดับของแนวความคิด ที่ยังไม่ได้นำไปพัฒนาเป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นที่น่าสนใจว่าขณะที่ได้มีชุดโครงการวิจัยมากมายที่พยายามจะสังเคราะห์แนวความคิด ทั้งในทางวิชาการ ทัศนะจากประชาสังคมภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ตัวอย่างจากชุมชนระดับรากหญ้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนากรอบของนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รวมถึงชุดโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการวิจัยต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งแม้ว่าแต่ละโครงการวิจัยแม้ว่าจะมีความแตกต่างทั้งในเชิงประเด็น เนื้อหา และกรณีศึกษา ทว่า เมื่อประมวลออกมาแล้ว พบว่ามีแนวคิดหลัก ๆ ของการวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่คล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ

การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

“การมีส่วนร่วม” เป็นคำที่พูดถึงกันตลอดมา และแพร่หลายในวงกว้างทั้งในส่วนภาครัฐ และภาคเอกชน ชื่อโครงการใดก็ตามหากประดับคำ ๆ นี้ไว้ด้วย ก็จะทำให้โครงการนั้น ๆ ดูสวยงามและมีความชอบธรรมอย่างยิ่ง

แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ใคร ร่วมกับ ใคร และร่วมทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด ปัญหาสำคัญที่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ต้องเผชิญอยู่เสมอก็คือ พวกเขามีสิทธิมีส่วนร่วมแค่รับฟังการชี้แจงโครงการ หรือให้ข้อมูลบางประการเท่านั้น แต่ไม่เคยที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรจะให้มีโครงการนั้น ๆ เกิดขึ้นหรือไม่

นี่เอง เป็นที่มาของการต่อต้าน คัดค้าน และประท้วงกันอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้า และโครงการพัฒนาอะไรต่อมิอะไร จนบางครั้งรุนแรงถึงกับมีการล้มเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ยอมรับว่านั่นคือกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

ดังนั้น โครงการวิจัยต่าง ๆ จึงใช้กระบวนการศึกษาที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อร่างแผนพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำกรอบประเมินผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสะท้อนความคิดของชาวบ้านในท้องถิ่นต่อแผนหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น กรณีโครงการฝายหัวนา ในอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ “โขง ชี มูล” กรณีแผนพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ฯลฯ

แต่ละโครงการศึกษาวิจัยมุ่งหมายที่จะพัฒนาข้อเสนอ และรูปธรรมตัวอย่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หากจะเปิดให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมต่อโครงการต่าง ๆ จะมีขั้นตอนและกลไกอย่างไร เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และสามารถป้องกันหรือคลี่คลายความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการของรัฐโดยส่วนใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญไม่เพียงแต่ในขั้นตอนของการวางแผนการพัฒนาหรือดำเนินโครงการเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการฟื้นฟูตนเองเมื่อต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ดังเช่นกรณีธรณีพิบัติสึนามิ ที่ชุมชนผู้ประสบภัยจะต้องมีส่วนร่วมในการการฟื้นฟูวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจของตนเอง และมีระบบการบริหารจัดการเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเวลาฉุกเฉิน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยในขณะเดียวกัน

การสร้างดัชนีใหม่ในการพัฒนา

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า นานาประเทศใช้ตัวเลข จีดีพี ซึ่งหมายถึงหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) เป็นดัชนีในการวัดระบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันว่า จีดีพีนั้น ไม่สามารถใช้วัดระดับ “การพัฒนา” ประเทศที่แท้จริง เพราะมันเป็นเพียงตัวเลขที่บ่งบอกอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีการกระจายรายได้จากคนจนไปสู่คนรวย ไม่ได้บอกเรื่องสวัสดิการทางสังคมที่มีให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ได้บอกว่าสังคมจะมีความเป็นธรรม และที่สำคัญไม่ได้บอกว่าประชาชนจะมีความสุข และมีสภาพแวดล้อมที่ดี

ดังนั้น จึงมีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างดัชนีการพัฒนาประเทศในรูปแบบใหม่ โครงการหนึ่งเป็นการสร้างตัวชี้วัด “สุขภาวะและคุณภาพชีวิตของชุมชน” เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ทั้งนี้ จะมีการระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายองค์กรชุมชน ตัวแทนจากสถาบันการศึกษาและภาครัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตนั้น คืออะไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยอาจจะพบว่าดัชนีตัวใหม่ที่ได้มานั้น ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับตัวเลขจีดีพีของประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเลยก็ได้

อีกโครงการหนึ่งเป็นการศึกษามูลค่าความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การจัดทำดัชนีวัด “การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” (Index of Sustainable Economic Welfare) ทั้งนี้ โดยการนำเอาปริมาณผลผลิตทั้งหมด อันได้แก่ ผลรวมของการบริโภคสินค้าและบริการ มาหักด้วยต้นทุนและผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และค่าเสื่อมราคาของทุน ทั้งทุนทางธรรมชาติ และทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งหมายความว่า ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ที่เคยถูกมองว่าเป็นของฟรี จะต้องถูกนำมาคำนวณเป็นต้นทุนของการพัฒนา รวมถึงมลภาวะและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเหล่านั้นก็จะถูกนำมาคิดเป็นราคาที่สังคมต้องจ่ายด้วยเช่นกัน

ด้วยวิธีคิดดังกล่าวอาจทำให้พบว่า ตัวเลขของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มองเห็นกันอยู่นั้น เป็นตัวเลขลวง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ยิ่งพัฒนากลับทำให้สังคมยิ่งต้องจ่ายให้กับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

นโยบายความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อการค้าที่ยั่งยืน

นโยบายอาหารปลอดภัย ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความสนใจและมีการรณรงค์เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในระยะสองปีที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ เนื่องจากมีความตระหนักว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเจ็บป่วย ซึ่งทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงินมหาศาลนั้นเกิดมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ไม่สะอาด หรือมีสารพิษปนเปื้อน

อาหารปลอดภัยไม่เพียงเชื่อมโยงกับสุขอนามัยของประชาชนในชาติเท่านั้น หากยังส่งผลถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืนของประเทศอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนนาดา ออสเตรเลีย และตลาดในเอเชีย ได้ใช้ประเด็นเรื่องสุขภาพอนามัย มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าการเกษตรและอาหาร โดยวางมาตรฐานในระดับสูง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น จะถูกตีกลับหรือระงับการนำเข้าหากอาหารของไทยที่ส่งไปนั้นไม่สะอาด และปลอดภัยถึงระดับมาตรฐาน

ดังนั้น หากรัฐมีนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัย เช่น การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การมีระบบการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) การสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานอาหารปลอดภัย ฯลฯ ก็จะทำให้ธุรกิจการส่งออกอาหารของประเทศไทยมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น

แนวคิดเหล่านี้ เป็นที่โครงการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่ารัฐควรมีนโยบายสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารอย่างไรบ้าง จึงจะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถฝ่าด้านการกีดกันทางการค้าดังกล่าวไปได้อย่างไม่มีปัญหา จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายตามนโยบายนำครัวไทยไปสู่ครัวโลก และสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้

การเฝ้าระวังสื่อ

สื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทอย่างมากต่อการกำหนดและพัฒนานโยบายสาธารณะ เพราะสื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของนโยบายและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมในวงกว้าง ทำหน้าที่ตรวจสอบ และติดตามผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจมีสื่อมวลชนบางแขนงที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่เหมาะสม ทั้งโดยการใช้อคติส่วนตนในการนำเสนอข่าว ปกปิด หรือหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ซึ่งอาจเกิดจากการไม่เคารพจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนเอง การถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ ผู้มีอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อ และส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หนึ่งในนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนา ก็คือแนวนโยบายในการพัฒนาระบบสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ มีเสรีภาพและมีจริยธรรมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างกลไกของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังสื่อ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และสะท้อนกลับการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยจะพัฒนาข้อเสนอเกี่ยวกับข้อกำหนดจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ การพัฒนาระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นในการการเฝ้าระวังสื่ออย่างเป็นระบบ

นโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนา

แนวทาง 4 ประการข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของแนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาซึ่งกำลังมีการศึกษาและพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อสังคม ภายใต้ชุดโครงการวิจัยโดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ความมุ่งหมายของโครงการวิจัยต่าง ๆ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาวิจัยในอีก 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากต้องการที่จะผลักดันให้รัฐมีการนำข้อค้นพบและข้อเสนอจากการศึกษาวิจัยไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมุ่งที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว แต่หากสังคมไทยได้เกิดการเรียนรู้จากข้อค้นพบต่าง ๆ และกระบวนการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ก็นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาได้ในอนาคต.
กำลังโหลดความคิดเห็น