xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนความจำ ละครการเมืองเรื่อง"รื้อกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ"!!

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• ในข้อเขียนชุดพิเศษจากกัลยาณมิตรถึงนายกฯทักษิณ ชินวัตร (2) เมื่อวานนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” เตือนความทรงจำให้เห็นว่าในช่วงปี 2542 – 2544 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวได้ว่า โดยสารมากับขบวนชาตินิยมทางเศรษฐกิจ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ท่านและคณะพรรคของท่านจะพูดโดยนัยว่าจะ ทบทวนกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ, แก้ปัญหาหนี้เสียโดยให้อยู่ในมือของผู้ประกอบการเดิม รวมทั้ง ปกป้องกิจการค้าปลีกของคนไทย แต่ปรากฏว่าเมื่อได้อำนาจรัฐมาอย่างชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วท่านและคณะพรรคของท่านกลับ ความจำเสื่อมกะทันหัน นอกจากจะไม่ได้เอาจริงในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับสำคัญ ๆ อย่าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.ล้มละลายในส่วนการฟื้นฟูกิจการ และ ฯลฯ แล้วยังได้ ใช้เป็นเครื่องมือ แปรรูป ปตท. และ กฟผ. เรื่องนี้เราจะเห็นบรรดาสมาชิกคนสำคัญ ๆ ของพรรคไทยรักไทยพูด แก้ตัว ออกมาเป็นระยะ ๆ ว่า ไม่ได้รับปากในช่วงรณรงค์หาเสียง ก็จะขอใช้เนื้อที่วันนี้ ทบทวนความจำกันเสียให้หมดเปลือก ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ปี 2545 – 2546 ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย เล่นละคร, ซื้อเวลา หรือพูดให้ถึงที่สุดว่า โกหกซ้ำสอง อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าถ้า ไม่ได้รับปากในช่วงรณรงค์หาเสียง แล้วเหตุไฉนจึงต้องมา เล่นละคร, ซื้อเวลา ในช่วงนั้นด้วย

•• ปัญหาเรื่อง กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ หรือที่ถูกเรียกขานว่า กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ขบวนคัดค้านกลุ่มใหญ่นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ, อัมรินทร์ คอมันตร์, เกริกชัย เจริญรัชต์ภาค, ณรงค์ โชควัฒนา, โสภณ สุภาพงษ์ และ ฯลฯ รวมทั้ง กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เคลื่อนไหวต่อเนื่องมาอย่างน้อย ๆ ก็ตั้งแต่ ปี 2541 ภายใต้นามองค์กรจัดตั้งต่าง ๆ อาทิ ชมรมไทยกู้ชาติ, พันธมิตรกู้วิกฤตชาติ และ พันธมิตรคัดค้านกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ พวกเขาเคยตั้งความหวังไว้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และก็ได้ให้เวลารัฐบาลใหม่ที่พอได้อำนาจรัฐแล้วทำท่าออกอาการ ความจำเสื่อม ไปอีก 1 ปีเศษ จึงเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง

•• พวกเขาเพิ่งมาเริ่มต้นเคลื่อนไหว ทวงสัญญา อย่างจริงจังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พฤศจิกายน 2545 ในช่วงนั้นเองที่ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้ให้สมญานายกรัฐมนตรีคนนี้ที่ท่านออกแรงสนับสนุนขณะต้องคดีซุกหุ้น 1 ปีก่อนหน้านั้นว่า อัศวินควายดำ ได้ออกมากล่าวเตือนตรงไปตรงมาว่า “...รัฐบาลอย่าพูดโกหกกับประชาชน เมื่อให้สัญญาไว้ก็ต้องรักษาคำพูด ถ้ารักษาคำพูดไม่ได้ต้องลำบากในภายภาคหน้า ผมไม่อยากเห็นการกระทำแบบเลือดไทยตบหน้าคนไทยด้วยกันเอง ถ้าประเทศชาติต้องสูญเสียเอกราชและความเป็นไท ประชาชนคงยอมไม่ได้.” เรื่องนี้ สุธรรม แสงประทุม คงพอจะจำได้ว่าได้เข้าไป ประสานงาน เพื่อเตือนให้นายกรัฐมนตรี อย่าเพิกเฉยต่อกัลยาณมิตร ผลที่เกิดขึ้นจึงยังออกมาใน เชิงบวก อยู่

•• สถานการณ์เมื่อปลายปี 2545 จึงลงเอยใน เชิงบวก ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมกันโดยมี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็น ประธาน จัดการประชุมกันสัปดาห์ละครั้งสองครั้งข้ามปีจนมามี ข้อสรุปชุดหนึ่ง ออกมาโดยที่ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น รู้เห็นมาโดยตลอด เพราะปรากฏว่าเป็น ผู้ลงนามท้ายเอกสาร โดยบันทึกว่า เห็นชอบในหลักการ เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 มิหนำซ้ำหลังจากนั้นอีก 1 เดือนเศษ ๆ คือเมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ก็มีการแถลงออกมาโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื้อหาหนึ่งในนั้นคือ จะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยหลักการแล้วจะจำแนกรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 ประเภท มีประเภทเดียวที่ แปรรูปได้เต็มรูป อีกประเภทหนึ่ง รัฐต้องถือหุ้นไว้ 70 % แต่ที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ขอนำมา เตือนความจำ ณ ที่นี้ก็คือประเภทที่เกี่ยวกับ สาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างเช่น ไฟฟ้า, ประปา, กิจการขนส่งมวลชน และ ฯลฯ นั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องถือหุ้น 100 % เพื่อ “...คุ้มครองสิทธิของประชาชน.” แต่แล้วแทนที่จะมีการสานต่อใน ขั้นปฏิบัติการ ทุกอย่างกลับ หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ตรงข้ามกับ กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่อาศัยกฎหมายฉบับเดิม ล้วน เดินหน้า อย่าง เร่งรัด เสร็จจาก ปตท. แล้วก็พุ่งเป้าไปที่ กฟผ. ทันที

•• ผลการพิจารณาในส่วนของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เห็นควรให้ ยกเลิก แล้ว ร่างกฎหมายใหม่ขึ้นบังคับใช้แทน กล่าวคือ พ.ร.บ.การปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. ...... ขึ้นบังคับใช้แทน

•• เรื่องจำแนกประเภทรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 ประเภท นี้ได้ข้อสรุปชั้นต้นในการประชุมคณะกรรมการชุด พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ครั้งเมื่อ วันที่ 10 มกราคม 2546 และยังคงมีการประชุมใน รายละเอียด ในนัดต่อ ๆ มาชนิด กำหนดชัดเจนลงไปเลยว่ารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอยู่ในประเภทไหน ด้วย

•• และ กฟผ. ก็ได้รับการจัดให้อยู่ใน หมายเลข 1 ของรัฐวิสาหกิจประเภทที่ รัฐต้องถือหุ้น 100 % นิยามของรัฐวิสาหกิจประเภทนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า “...กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ยังเป็นของรัฐแต่ผู้เดียว เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่ออธิปไตย ความมั่นคง และหลักประกันความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนในรัฐ จึงต้องคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหากจัดรูปแบบเป็นบริษัท รัฐต้องเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 100.” แต่ก็มิได้จำกัดกรอบเสียจน กฟผ. จะต้องอยู่ในสถานะคงเดิมทุกอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือหาพันธมิตรธุรกิจไม่ได้โดยระบุเป็นวงเล็บต่อท้ายไว้ว่า “...สามารถร่วมทุนกับเอกชนในการผลิตไฟฟ้า แต่ทรัพย์สินที่สำคัญ เช่น เขื่อน สายส่ง ยังคงเป็นของรัฐทั้งหมด.” แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร “เซี่ยงเส้าหลง” คงไม่ต้องทวนความทั้งหมดให้เจ็บปวดหัวใจกันทั้งแผ่นดินละกระมัง

•• แต่จริง ๆ ก็เป็นเพียง เห็นชอบในหลักการ ที่มี ข้อแม้ เพราะใน ข้อ 5 ท้ายเรื่อง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 นี้ใช้สำนวนโวหารดีดดิ้นเปิดช่องทางไว้เพื่อจะไม่ต้องปฏิบัติตาม “...สำหรับการแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจเป็นกลุ่มบัญชีนั้น แม้รัฐบาลเห็นชอบในหลักการและแนวคิดที่ใช้ในการจัดแบ่งประเภทและกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามที่คณะกรรมการฯเสนอ แต่เนื่องจากในรายละเอียดบางส่วน ยังคงมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการฯ และบางส่วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและได้ดำเนินการล้ำหน้าไปมากแล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเป็นผู้พิจารณาจัดแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจ โดยคำนึงถึงมติของคณะกรรมการฯ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นหลัก.” เห็นลีลาชั้นครูไหม

•• นอกจากเรื่อง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ก็มีความชัดเจนเช่นกันในประเด็น พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ที่ระบุหลักการในการแก้ไขปรับปรุงไว้รวม 6 ประการ ด้วยกัน

•• ย้ำอีกครั้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงนามท้ายคำว่า เห็นชอบในหลักการ เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 หนังสือราชการฉบับนี้เลขที่ ป.ทปษ. 173/2546 ลงวันที่ วันที่ 9 พฤษภาคม 2546 เสนอขึ้นมาโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะกรรมการ

เห็นชอบในหลักการ ??!! – พันศักดิ์ วิญญรัตน์ลงนามในหนังสือ ที่ ป.ทปษ. 173/2546 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 เสนอนายกรัฐมนตรี เรื่องผ่านตามกระบวนการไปจนถึงนายกรัฐมนตรีในที่สุด และนายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ด้วยข้อความอย่างที่นำมาลงให้ดู แต่แล้วนโยบายที่ปฏิบัติในเวลาต่อมาก็แทบจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ “หลักการ” ที่ท่านบอกว่า “เห็นชอบ” โดยใช้ช่องโหว่ในข้อ 5 ของหนังสือฉบับนี้มาเป็นข้ออ้างว่าไม่ได้ทำผิดสัญญาอะไร


•• สรุปง่าย ๆ ว่าหลังจาก วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะ เรียบร้อย เพราะรอก็แต่ ขั้นตอนตรากฎหมาย ในส่วนของ คณะรัฐมนตรี แต่จนแล้วจนรอดทุกสิ่งก็ยังคง เหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ สถานการณ์รอบด้านเอื้ออำนวยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคำสั่งชนิด สร้างประวัติศาสตร์ ของ สถาบันศาลยุติธรรม ที่แสดงออกผ่านทาง ศาลล้มละลายกลาง 2 ครั้ง 2 คราในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั่นก็คือ วันที่ 21 เมษายน 2546 และ วันที่ 13 มิถุนายน 2546 ที่ให้ ถอดร่างทรงต่างชาติออกจากการบริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ และ เปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังเข้าแก้ปัญหา สถานการณ์ดั่งว่าน่าจะนำไปสู่กระบวนการ แก้ไขกฎหมายล้มละลายในส่วนการฟื้นฟูกิจการ ให้ ลูกหนี้ เข้ามา มีส่วนร่วม ในลักษณะใกล้เคียงกับ Chapter 11 ของ สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เพียงแค่ เปลี่ยนร่างทรงใหม่ เช่นเดียวกับกรณี กฟผ. ก็ไม่น่าจะต้องมามีเหตุวิวาทะใหญ่โตในช่วง เดือนมีนาคม 2547 ดังที่ทราบกันดี

•• จึงไม่แปลกที่พอถึง เดือนมีนาคม 2547 สังคมจึงเห็นภาพ นพ.เหวง โตจิราการ โพกผ้าเหลืองขึ้นปราศรัยร่วมกับ สหภาพแรงงานกฟผ. ด้วยเพราะเคยมีโอกาสเข้าไปร่วมอยู่ใน คณะกรรมการ เสียเวลาประชุมหลายเดือนแต่แล้วกลายเป็นเสมือน กระบวนการซื้อเวลา เท่านั้น

•• ถ้ามอง ภาพรวมทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ ผิดคำพูดที่ให้ไว้กับขบวนชาตินิยมทางเศรษฐกิจ จนถึงกรณี ปตท., ทีพีไอ และ กฟผ. โดยมองประสานกับ แนวโน้มธุรกิจทำกำไรยุคใหม่ของโลก จะเห็นได้ว่าไม่เป็นการเกินเลยเกินไปเลยที่จะกล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้ เล่นละคร, ซื้อเวลา ให้ผ่านไปวัน ๆ เพื่อให้ บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของกลุ่มทุน ที่วางไว้

•• ยุคใหม่ทางธุรกิจของประเทศไทยจะเป็นยุคของ ลอจิสติกส์, พลังงาน และ มูลค่าเพิ่มจากตลาดหุ้น ทบทวนดูให้ดีว่า ชินคอร์ป กำลังวางยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไรหลังหมดยุคของ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แล้ว

•• ยิ่ง น้ำมันแพง, น้ำมันขาดแคลน ยิ่งทำให้ ปตท.กำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล ต้องไม่ลืมว่า ปตท.วันนี้ แม้จะยังคงเป็น รัฐวิสาหกิจ แต่ หุ้น 30 % กระจายออกไปแล้ว พูดภาษาสวยงามก็ต้องบอกว่า กระจายในหมู่ประชาชน แต่ความจริงของชีวิตคือ กระจุกอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มทุนใหญ่สัญชาติไทยรักไทย จากจุดนี้เราจะเห็น ปตท.ยุคใหม่ รุกคืบเข้าไปสู่ ทีพีไอ ที่นอกจากจะเป็น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วยังมี โรงกลั่นน้ำมัน และยังมี ท่าเทียบเรือน้ำลึก หมายถึงว่าจะได้มาทั้งฐานของ พลังงาน + ลอจิสติกส์ ไม่ต้องพูดว่าถ้ากลุ่มทุนนี้เข้าไปถือหุ้นใน กฟผ. อีกจะยิ่งเพิ่ม ความยิ่งใหญ่, ผลกำไรมหาศาล ขนาดไหน “เซี่ยงเส้าหลง” ยังมิพักต้องพูดถึง อุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่จะได้รับประโยชน์มหาศาลในโครงการขนาดใหญ่ 1.7 ล้านล้านบาท ลองสำรวจเข้าไปดูเถอะว่า ณ นาทีนี้ใครคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และใครดวงตาเห็นธรรมส่งลูกหลานไป ตั้งบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ไว้บ้าง จากกัลยาณมิตรถึงนายกฯทักษิณ ชินวัตร – ตอนต่อ ๆ ไปข้างหน้า จะได้สาธยายกันให้เห็นเป็นช็อต ๆ ฉาก ๆ

•• สถานการณ์ประเภท ปากอย่างใจอย่าง, ปากว่าตาขยิบ เช่นนี้เขียนไปแล้วก็ทำให้ “เซี่ยงเส้าหลง” นึกถึง สัตว์การเมืองสายพันธุ์หนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในบทความของ เกษม ศิริสัมพันธ์ เรื่อง สมมติสัจจะของการเลือกตั้ง นั่นคือพวกที่เรียกว่า เดมาก็อก : Demagogue พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยของ สอ เสถบุตร แปลว่า “….ผู้นำฝูงชน, ผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าคนโดยวิธีล่อหลอก, นักกวนเมือง” แต่แปลเอาความหมายได้ชัดเจนกว่าโดยนักวิชาการอาวุโสท่านนี้ว่า “…นักปลุกระดมที่หาเสียงหาความนิยมโดยการปลุกเร้าหลอกลวง.” ท่านไม่ได้ประณามใครคนหนึ่งคนใดพรรคหนึ่งพรรคใดโดยเฉพาะแต่ได้ ยกตัวอย่าง จากประวัติศาสตร์ว่า สัตว์การเมืองพันธุ์เดมาก็อก : Demagogue นี้มักเกิดขึ้นในสังคมที่อยู่ในช่วงของ การปรับเปลี่ยน, หัวเลี้ยวหัวต่อ และ/หรือ กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดก็ เยอรมันยุคฮิตเลอร์, โปแลนด์ 1990, รัสเซีย 1993 ผู้ที่นำศัพท์นี้มาใช้บ่อยที่สุดก่อนหน้านี้คือ ยอดธง ทับทิวไม้ ท่านเคยอรรถาธิบายความหมายไว้ว่า บิดเบือนจริงเป็นเท็จ, กะล่อน และ พูดจามะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก แล้วก็ขนานนามรวม ๆ ไว้ว่าคือพวก สัมภเวสีและสุนัขจรจัดทางการเมือง ให้ความรู้สึกไทย ๆ ดีเหลือเกิน
**********************

คนทำความดีผีย่อมคุ้มครอง ?

ระพี สาคริก

ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ยุคก่อนเคยกล่าวเปรยกับลูกหลาน แม้จะไม่บ่อยครั้งนักว่า คนทำความดีผีย่อมคุ้มครอง

คนยุคนี้หลังจากรับฟังแล้ว อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลวไหล


อย่างน้อย...ผีคืออะไร -- ก็คงจะหาคำตอบได้ยาก หรือไม่ก็พาลคิดว่าเป็นเรื่องงมงายไปเลยก็ได้

จากประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว เรื่องความคิดคนซึ่งแต่ก่อนเคยกล่าวในเชิงปรัชญา หากนำมาตีความไม่ได้ก็น่าจะเป็นคนที่ขาดความเฉลียวฉลาด แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีผลทำให้คนยึดติดความทันสมัยทางวัตถุและเงิน หนักมากยิ่งขึ้น อย่างที่กล่าวกันว่าฟังสิ่งใดแล้วนำมาคิดกันทั้งดุ้น

แท้จริงแล้วก็เป็นผลจากความคิดที่ไม่สามารถตีความได้อย่างลึกซึ้ง คนยุคนี้จึงมีความคิดแตกแยกกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งน้อยคนที่จะมีนิสัยรับฟังใครพูดในเชิงปรัชญาแล้วสื่อถึงกันได้ หากยังไม่อาจเข้าใจหรือมีความเข้าใจที่มีช่องว่าง ถ้าใครคิดได้ลึกซึ้งกว่าย่อมไม่นำมาพูดโต้แย้ง แต่ถือขันติเป็นที่ตั้ง จึงทำให้วางเฉยอยู่ได้ ส่วนในใจย่อมให้อภัยและสามารถมองย้อนกลับไปเห็นความจริงจากใจของอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่เข้าใจได้ว่าเป็นธรรมชาติของเขา

หากนำเอาเรื่อง “คนทำความดีผีย่อมคุ้มครอง” มาพิจารณาค้นหาเหตุผล ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า ครั้งหนึ่งตนเคยเขียนเรื่องภายใต้หัวข้อว่า คนทำดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เรื่องนี้หากชีวิตที่ผ่านพ้นมาแล้วยังไม่พบความจริง ผู้เขียนก็คงไม่กล้านำมาเขียนให้มั่นใจได้

อนึ่ง ผู้เขียนเคยกล่าวโดยย่อไว้ว่าสมัยที่ยังใช้ชีวิตเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยมีครูคนหนึ่งกล่าวย้ำกับลูกศิษย์ในที่ประชุมอยู่เสมอว่า คนทำดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ประจวบกันกับพฤติกรรมการปฏิบัติของครูท่านนั้น ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมาจนถึงบัดนี้แม้ท่านจะเสียชีวิตไปนานแล้ว เนื่องจากตอนนั้นมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ยังมีสภาพให้นิสิตอยู่ประจำหอพัก ท่านครูที่กล่าวถึงได้ให้ความสนใจแก่ชีวิตลูกศิษย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาจนกระทั่งหลับตานอน ศิษย์ทุกคนจะได้รับการสัมผัสอยู่เสมอ

แต่อย่างว่านั่นแหละ พื้นฐานจิตใจคนที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อมมีความหลากหลาย บางคนก็มีความรู้สึกรักและเคารพ บางคนก็ไม่รู้สึกอะไรเลย หากบางคนกลับรู้สึกรำคาญซะอีก

เหตุเกิดจากการที่ท่านครูผู้นั้นมีความรักและห่วงใย รวมทั้งความผิดชอบต่อเยาวชนโดยถือเสมือนเป็นลูกหลานตัวเองอย่างชัดเจนมาก ซึ่งแน่นอนที่สุดไม่เพียงมาคอยดูแลเอาใจใส่เท่านั้น หากยังปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กระทั่งการแต่งกายก็เป็นแบบธรรมดา แม้จะมีปริญญาสูง ๆ มาจากเมืองนอกยิ่งไปกว่านั้น การเรียนเกษตรควรมีโอกาสสัมผัสพื้นดินอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมจากครูที่กล่าวถึงได้สะท้อนให้เห็นว่าตัวครูเองลงทำงานกับพื้นดินร่วมกับลูกศิษย์ โดยไม่ได้ชี้นิ้วสั่งอย่างผู้ใหญ่บางคน

ในห้องเรียนท่านเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาเคมี ทั้งอนินทรีย์ และอินทรีย์ ซึ่งหลายคนมักบ่นว่ายากเหมือนยาดำ แต่ผู้เขียนกลับเกิดแรงดึงดูดใจทำให้รู้สึกว่าเรียนวิชานี้อย่างมีความสุข เพราะเห็นสิ่งต่าง ๆ มันง่ายไปหมด

สิ่งดังกล่าวจึงทำให้ผู้เขียนเลือกเรียนสาขาเคมีการเกษตร แล้วล้วงลึกลงไปในวิชาแร่และหิน แต่ผลกระทบจากประสบการณ์ชีวิตก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทำให้รากฐานตนเองลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนกระทั่งเกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนวิชาดินจากพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ มาเป็นพื้นฐานในด้านจิตใจและปรัชญาชีวิตที่หยั่งลงลึกถึงพื้นดินเป็นสัจธรรม

หลังจากออกทำงาน เมื่อชีวิตผ่านพ้นมาเป็นช่วง ๆ การมีนิสัยสำรวจตัวเองอยู่เสมอช่วยให้รากฐานจิตใจมั่นคงอยู่กับ การซื่อสัตย์ต่อความจริงที่อยู่ในรากฐานจิตใจมาโดยตลอด จากสาเหตุดังกล่าวทำให้วิถีชีวิตผู้เขียนบางครั้งก็ถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่ากีดกันขัดขวาง บางครั้งก็ถูกมองในแง่ร้าย บางครั้งเงินรายได้ซึ่งควรได้รับเพิ่มขึ้นเป็นรายปีอย่างมีขั้นตอนกลับถูกตัดสิทธิเหมือนถูกลงโทษ บางครั้งก็มีการนำผลประโยชน์ดังกล่าวตัดจากสิ่งที่เราควรจะได้รับไปเพิ่มให้กับพรรคพวกของผู้มีอิทธิพลเหนือกว่า

แต่ผู้เขียนกลับไม่รู้สึกว่าตนสูญเสียอะไรดังที่กล่าวกันว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” แต่ผู้เขียนมองอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ต้องการความเด่น หากทำดีที่สุดแต่มันเด่นเอง เราควรมั่นคงอยู่กับความสุขในการทำงานลงสู่ด้านล่างอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งแน่นอนที่สุดย่อมทำให้คนที่ด้อยโอกาสว่าตน ยิ่งระดับพื้นดิน ให้ความรักและเคารพอย่างออกหน้า สิ่งนี้ยิ่งถูกอำนาจจากด้านบนเขม่นหนัก แต่ตนก็ไม่สนใจ หากยังคงมั่นคงอยู่กับใจตนเอง โดยไม่ทุกข์ร้อนมาตลอด

บางคนอาจมองว่าผู้เขียนเป็นผีดิบ

เพราะใครทำอะไรก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมาปีแล้วปีเล่า บางครั้งชีวิตควรจะก้าวขึ้นไปสู่บันไดซึ่งผู้อื่นแย่งชิงกันขึ้นไป เพราะต้องการพรรคพวก แต่ตนก็กลับวางเฉยโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ยิ่งกว่านั้นยังมีคนอื่นออกมาเต้นและเดือดร้อนแทน แต่ตนกลับคอยห้ามปรามเอาไว้

ชีวิตผ่านพ้นมาเป็นช่วง ๆ จนกระทั่งอยู่มาปีหนึ่งคนข้างบนปูมบำเหน็จความชอบให้ติด ๆ กันถึง 3 ปี ทำให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าขืนปล่อยไปน่าจะมีผลทำร้ายสิ่งที่สร้างไว้แล้ว เพราะเมื่อขึ้นไปอยู่บนที่สูงและได้รับการปูมบำเหน็จติด ๆ กัน หลายครั้งอาจทำให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างคิดว่าตนทำเพื่อตัวเอง ซึ่งมีผลทำลายความเคารพรัก และศรัทธาหากทำให้ผู้อื่นคิดว่าตนเป็นคนจิตใจต่ำช้าจึงขาดการยอมรับจากใจจริง

อนึ่ง หลังจากเก็บเรื่องราวเหล่านี้มาวิเคราะห์ค้นหาความจริง ทำให้พบคำตอบได้ว่า แม้คนข้างบนอาจไม่ชอบหน้าโดยที่คิดว่าเป็นคนหัวแข็ง แต่เหตุใดจึงต้องปูนบำเหน็จให้บ่อย ๆ ในที่สุดก็มองเห็นความจริงว่า คนที่อยู่ระดับบนส่วนใหญ่ก็ต้องการพื้นฐานด้านล่างเพื่อสนับสนุนตัวเองด้วย ถ้าหากมีการแสดงออกทำให้ผู้อื่นคิดว่าผู้เขียนถูกทำร้าย พื้นฐานเหล่านั้นก็คงจะเปลี่ยนมาเป็นการถูกเกลียดชัง

สิ่งดังกล่าวได้สอนให้รู้ว่า ถ้าเรามุ่งมั่นสร้างความดีไว้อย่างเข้มแข็งอดทนมาโดยตลอด แม้ด้านที่มีอำนาจเหนือกว่าอาจคิดร้ายหรือหวาดระแวง รวมทั้งมีคนจำพวกประจบสอพลอคอยซ้ำเติมอยู่ด้วย แต่คงไม่กล้าที่จะทำร้าย

เพราะถ้าทำลงไปตัวเองย่อมพบกับความเสียหาย


ดังนั้น หากจะสรุปว่า คนที่สร้างความดีผีย่อมคุ้มครอง อาจสอดคล้องกันกับคำกล่าวที่ว่า จงทำความดีให้มั่นคงอยู่ได้ ความดีย่อมคุ้มครองตนเองได้อย่างมีเหตุมีผล

การที่ใจตนเองจะประเมินหาเหตุและผลให้ตนเชื่อมั่นได้ว่า มีความดีอยู่ในพื้นฐานชีวิตแน่นหนากว่าด้านที่มีอำนาจอยู่ด้านบน นอกจากการสำรวจตัวเองอยู่เสมอแล้ว ควรมีจิตวิญญาณที่รักการทำงานมุ่งลงสู่ด้านล่างอย่างมีความสุขมาตลอด โดยที่รู้ว่าด้านล่างคือสิ่งที่สร้างพื้นฐานชีวิตตนเอง

หากยาวนานพอ ย่อมกล้าตัดสินใจนำปฏิบัติให้มีพลังถ่วงดุลกับผู้มีอำนาจที่อยู่ด้านบน เพื่อหวังให้เกิดเงื่อนไขจากธรรมชาติที่สามารถคุ้มครองภัยอันตรายให้ตนเองเชื่อมั่นได้

เราย่อมยืนบนขาตัวเองได้อย่างสง่างามให้ผู้คนเกรงขาม โดยไม่ต้องใช้อำนาจทางวัตถุเป็นเครื่องมือต่อสู้กับผู้อื่น


สรุปแล้วสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด น่าจะหมายถึง ความมั่นคงในการต่อสู้กับจิตใจตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งมีทั้งความอดทนและคุณประโยชน์ในการเรียนรู้สิ่งที่มีเหตุมีผลร่วมด้วย

รวมความแล้วสิ่งที่นำมาเขียนเหล่านี้ได้จากใจตนเองทั้งหมด หากเราไม่เป็นคนลืมตัวทำให้คิดดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

ดังนั้น จึงสรุปความสำคัญในการดำเนินชีวิตได้อีกข้อหนึ่งว่า วิถีชีวิตของแต่ละคนหากไม่ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งหมายถึงการหลงอยู่กับสิ่งล่อตาล่อใจซึ่งอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก แม้จะมีความรุนแรงมากแค่ไหน ย่อมไม่บ่นหรือแสดงความท้อแท้ เพราะการบ่นหรือความรู้สึกท้อถอยน่าจะเป็นสัญญาณที่ส่งผลให้เราแพ้ใจตนเอง ทำให้ชีวิตจำต้องตกอยู่ในสภาพเสียหาย

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่เห็นแก่ตัวมักมีแนวโน้มเดินหลงทาง โดยมุ่งไปโทษผู้อื่น จึงกล่าวได้ว่าเป็นคนหาเหตุหรือพาลเกเร

ซึ่งแท้จริงแล้ว ผู้ที่มีชีวิตก้าวไปได้อย่างเรียบร้อย เมื่อพบปัญหา...น่าจะเป็นคนที่มีนิสัยหาเหตุซึ่งอยู่ในใจตนเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น