xs
xsm
sm
md
lg

"เพลงชาติเวอร์ชันแกรมมี่" กระแสตลาดนำจิตวิญญาณ เน้นเจาะกลุ่มชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


•• ข่าวสารบ้านเมืองที่เป็นเรื่องขึ้นมาทุกวันนี้ ถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของคนที่หน้าด้าน ไร้ยางอาย ไร้รากทางวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือขาดหิริโอตตัปปะ คนเหล่านี้ล้วนแอบกำบังตนอยู่ข้างหลังกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และมายาคติที่ครอบงำคนจำนวนไม่น้อยในสังคมในประเด็นสารัตถะแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คนเหล่านี้ล้วนอ้างแต่ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ โดยพยายามแยกออกจากความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม คนเหล่านี้ละเลยและหลงลืมปรัชญาที่ว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย ความยุติธรรมอยู่เหนือกฎหมาย คนเหล่านี้ละเลยและหลงลืมรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ทำให้หลงลืมและไม่เข้าใจพระราชอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชอำนาจตามประเพณีการปกครองแผ่นดินที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คนเหล่านี้มักจะใช้สูตรสำเร็จในการตอบโต้คนที่หยิบยกประเด็นพระราชอำนาจขึ้นมากล่าวอ้างว่า ในหลวงอยู่เหนือการเมือง อย่าดึงในหลวงลงมา อย่าพูดถึงในหลวง อย่ารบกวนเบื้องพระยุคลบาท และ ฯลฯ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ไม่ต่างกับกระบวนการแยกในหลวงออกจากประชาชน แยกคนไทยออกจากเนื้อหาให้ติดอยู่แต่กับรูปแบบ คนเหล่านี้พยายามครอบงำประชาชนให้ติดอยู่ในมายาคติที่ว่า รัฐธรรมนูญ = ประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเขียนได้วิลิสมาหราสักปานใด ก็มีคุณค่าเสมอเพียงสถาปนารูปแบบประชาธิปไตย อันเป็นคนละเรื่องกับประชาธิปไตยในเนื้อหา ที่วัดกันด้วย การกระทำขององค์กรทั้งหลายที่บัญญัติโดยรัฐธรรมนูญ บ้านนี้เมืองนี้โดยทั่วไปแล้วก็ยังคงเหมือนที่ ชัยอนันต์ สมุทวณิช เปรียบเปรยไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2537 ว่ากำลังเผชิญหน้าอยู่กับรากษส เป็น รากษสทางวัฒนธรรม ความตอนหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า “วัฒนธรรมทางอำนาจการเมืองไทยมีความหน้าด้าน ไร้ยางอาย เอาสีข้างตะแบงไปเรื่อยๆ สมัยก่อนพวกเจ้าที่ชั่วๆ เลวๆ ก็มีมาก แต่ยังหน้าไม่ด้านเท่าพวกมีอำนาจสมัยนี้ สมัยก่อนที่รู้ตัวว่าชั่วว่าผิดเขาก็หลบหน้าไป อายชาวบ้าน เพราะระบบศักดินาจะดีจะชั่วก็ยังเก่งในการสอนให้คนเชื่อในเกียรติและรู้จักอาย ยุคนี้จึงเป็นยุครากษสทางวัฒนธรรม...” วันเวลาอันน่าสังเวชเวทนาเช่นนี้จะคงอยู่อีกนานแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่เพียงว่า ณ วันนี้ ณ นาทีนี้ “...ประชาชนส่วนใหญ่อาจโง่ในหลายเรื่อง แต่คงไม่โง่พอที่จะไม่รู้ว่ามีคนกำลังเล่นละครลิงให้พวกเขาดู แล้วพยายามบอกว่ามันเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง” เป็นอีกวาทะหนึ่งจากชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวไว้ในงานเขียนเรื่อง สัตว์การเมืองยุคโลกานุวัตรเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

•• เรื่องเพลงชาติไทยเวอร์ชันแกรมมี่ จะเป็นอีกบทหนึ่งของรากษสทางวัฒนธรรมหรือไม่ “เซี่ยงเส้าหลง” ขอให้รอติดตามมุมมองของสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ คืนวันพรุ่งนี้ วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2547 เวลาเดิม 22.00–23.00 น. ที่เดิม โมเดิร์นไนน์ 9 อสมท ดีกว่า

•• แต่วันนี้ที่นี้มาปูพื้น ความเป็นมาของเพลงชาติไทย บอกเล่าในสไตล์ “เซี่ยงเส้าหลง” เป็นพื้นความรู้ทั่วไปก่อนฟังมุมมองของเจ้าของสมัญญา สนธิ ฯลฯ คืนพรุ่งนี้

•• เรื่องนี้เริ่มตกเป็นข่าวตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2546 ที่จู่ๆ ก็มีข่าวหน้าหนึ่งทำนองที่ขึ้นต้นด้วยประโยค แหล่งข่าวกล่าวว่า... ออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า พล.อ.สมทัต อัตตะนันท์–ผบ.ทบ.ขณะนั้น ดำริให้มีการศึกษาเพื่อหาทาง เปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเพลงชาติไทย เพื่อเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มากขึ้นกว่าเดิม ที่ดูเหมือน เน้นอยู่ที่สถาบันชาติ แม้จะมีการออกมาปฏิเสธข่าวโดยโฆษกกองทัพบก แต่ดูเหมือนผู้คนทั่วไปจะเชื่อว่าคดีมีมูล เนื่องจากในระยะตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มี นายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่างน้อย 2 ท่านที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องเพลงชาติไทย เวอร์ชันปัจจุบัน ผลงานประพันธ์ของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) และพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) นายทหารคนแรกคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ขณะเป็น ผบ.ทบ. และดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ท่านออกมาแสดงความเป็นห่วงในประเด็นวิดีโอประกอบเพลงชาติไทยที่มีรูปแบบหลากหลาย และเป็น อิสระในลักษณะที่อาจจะกล่าวได้ว่ามากเกินไป จึงดำริจะให้มีวิดีโอประกอบเพลงชาติไทยเป็นมาตรฐานชุดเดียว และยังได้ดำริเลยไปถึงเรื่องเรียบเรียงทำนองให้เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว จากนั้นอีก 2 ปีถัดมาในช่วงธันวาคม 2545คราวนั้นเป็น พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ ในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ดำริจะให้มีสิ่งที่เรียกว่า ปัดฝุ่นเพลงชาติไทย โดยระดมนักร้องยอดนิยมจากทุกค่ายเทปเพลง โดยเฉพาะที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นมาร่วมร้องเพลงชาติไทย ข่าวนี้ฮือฮาตรงที่ท่านให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการดำเนินตามแนวคิด สร้างสามัคคีขึ้นในชาติของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับการตอบรับแล้วจากค่ายแกรมมี่ ของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แต่ในที่สุดเรื่องก็เงียบไปเพราะไม่มีผู้ขานรับเท่าที่ควร เพิ่งจะมารู้ว่าในที่สุดแกรมมี่ก็ ทำงานต่อเนื่องจนสำเร็จอย่างที่เห็นและได้ยินอยู่

•• ช่วงที่ตกเป็นข่าวพาดพิงว่าเป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรี เมื่อธันวาคม 2545 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่คำสั่งจากรัฐบาล ยังคงเป็นเพียงเรื่องของทหารเท่านั้น

•• อันว่าเพลงชาติไทยเวอร์ชันที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ถือเป็นเพลงชาติไทยลำดับที่ 7 ประกาศใช้ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยรัฐนิยมฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2482 ประพันธ์ทำนองดั้งเดิมโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) หรือชื่อเดิม ปีเตอร์ ไฟต์ (Peter Feit) ตั้งแต่ปี 2475 ประพันธ์เนื้อร้องแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมโดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามของกองทัพบก ชนะการประกวดของกรมโฆษณาการได้รับรางวัลมา 1,000 บาท สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม มาเป็นไทย ในปีเดียวกันนั้น

•• ขอกล่าวถึงพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ในฐานะ ผู้ประพันธ์ทำนองดั้งเดิม ท่านเป็นขุนนางที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีสากล ไม่ใช่ทั้งสมาชิกคณะราษฎร ไม่เคยรับรู้และไม่ได้เข้าใจอุดมการณ์ของคณะราษฎร เพียงแต่ได้รับการขอร้องจากเพื่อนทหารเรือ คือ นาวาตรีหลวงวินิจเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) แต่เพียงย่อๆ ว่า “...ขอให้แต่งเพลงบทหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส” ท่านยังตอบกลับไปในชั้นต้นเลยว่า ไม่จำเป็นต้องมี เพราะเพลงในลักษณะนั้นมีอยู่แล้ว คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อนนายทหารเรือจึงอรรถาธิบายกลับมาว่าอยากให้มีเพลงปลุกใจเพิ่มขึ้น โดยแยกออกมาจากเพลงของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้เป็นเพลงของประชาชน จากนั้นหลัง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อนนายทหารเรือก็มารบเร้า บอกว่า เป็นความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ ท่านจึงจำใจรับปาก โดยขอเวลา 7 วัน จนกระทั่งเกือบจะนาทีสุดท้ายก็ยังนึกไม่ออก มานึกออกขณะนั่งรถรางสายบางขุนพรมไปทำงาน แต่เพลงนี้ก็ดูยังไม่ลงตัวเพราะบางส่วนของคณะผู้ก่อการเห็นว่าสั้นไป จึงผ่านกระบวนการ เพิ่มเนื้อ ลดเนื้ออีกพักใหญ่

•• ส่วนทางด้านพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ผู้ชนะการประกวดประพันธ์เนื้อร้อง เมื่อ ปี 2482 ท่านเป็นนักประพันธ์ ควบคู่ไปกับการรับราชการในกรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ทีแรกไม่ได้ ตั้งใจเข้าประกวดเพราะไม่มีเวลา และไม่ถนัดดนตรีสากล แต่ได้รับการขอร้องจากพันเอกมังกร พรหมโยธี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้เข้าประกวดในนามกองทัพบก โดยท่านสนับสนุนเครื่องมือ คืออนุญาตให้ทดลองร้องเข้ากับแตรวงของ ร.พัน. 3 และให้นายทหารที่รู้เรื่องดนตรีสากลมาช่วย ท่านจึงตัดสินใจทำเพื่อหมู่คณะ และใช้เวลาคิดอยู่ 3 วัน นี่คือที่มา

•• ก่อนหน้านั้นมีเพลงชาติไทยใช้มาแล้ว 6 เพลง เริ่มต้นระหว่าง ปี 2395–2414 ใช้ทำนองเพลง God Save the Queen เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยเรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่แล้วเรียกชื่อว่า เพลงจอมราชจงเจริญ นั่นแหละจึงถือเป็นเพลงชาติลำดับที่ 1 ในยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

•• ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงดำริว่าควรจะใช้ ทำนองเพลงไทย คณะครูดนตรีไทยจึงเลือกเพลงทรงพระสุบัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 นำมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสากลขึ้นโดย เฮวุดเซน ถือเป็นเพลงชาติลำดับที่ 2 ใช้บรรเลงระหว่าง ปี 2414–2431 ไม่นานนัก

•• ส่วนเพลงชาติลำดับที่ 3 นั้นเกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 5 ประพันธ์ทำนองโดยนักประพันธ์ชาวรัสเซีย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติในระหว่าง ปี 2431–2475 ใช้มายาวนานเพราะมีท่วงทำนองไพเราะ เนื้อหาสมบูรณ์ และทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ในนามของเพลงสรรเสริญพระบารมีนั่นเอง

•• มาถึงเพลงชาติลำดับที่ 4 หลังการปฏิวัติของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แม้จะมีการเตรียมการโดยสังเขปที่จะสร้างเพลงชาติ ขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิกของคณะผู้ก่อการท่านหนึ่งมอบหมายให้ พระเจนดุริยางค์เป็นผู้ประพันธ์ แต่ยังไม่เสร็จ เลยต้องใช้ทำนองเพลงไทยเดิมคือ เพลงมหาชัย ไปพลางก่อน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ใช้ในช่วงสั้นๆ ไม่ถึง 1 เดือนก็เปลี่ยนแปลงไป

•• ต่อมาก็เป็นเพลงชาติลำดับที่ 5 ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2475 ประพันธ์เนื้อร้องโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บรรเลงครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2475 แต่ก็ใช้อยู่เพียงระหว่าง ปี 2475–2477 ก็มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเนื้อร้อง โดยประพันธ์เพิ่มเติมจากของเดิมที่เห็นกันว่าสั้นไปให้ยาวขึ้น โดยฉันท์ ขำวิไล จึงถือเป็นเพลงชาติลำดับที่ 6 ใช้ระหว่าง ปี 2477–2482 และถือเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการเพลงแรก ก่อนจะมาเปลี่ยนแปลงเป็น เพลงชาติลำดับที่ 7 ที่ใช้มาจนถึง ปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนชื่อประเทศ ดังที่กล่าวไว้แล้วเมื่อ 4–5 ย่อหน้าก่อนนี้

•• จะเห็นได้ว่าเพลงชาติไทยมีที่มาจากแนวคิดตะวันตก หรืออาจพูดอีกอย่างว่าแนวคิดสากล ส่วนอุดมการณ์ของเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบันก็คือ ชาติ ในยุคก่อกำเนิดของรัฐชาติสมัยใหม่ ในมุมมองของทหาร และเป็นเพลงที่จงใจแยกออกมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อร้องของเพลงชาติไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อ ปี 2482 แยกไม่ออกจากอุดมการณ์ชาตินิยม หรืออาจพูดได้ว่า เชื้อชาตินิยม เพราะคำว่า ไทย ย่อมแคบกว่า สยาม และแน่นอนย่อมต้องมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย จุดกำเนิดที่ต้องการในทุกยุคทุกสมัย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์โดยละเอียดแล้วจะพบว่าคือ ความต้องการของผู้ปกครองประเทศ ที่หมายจะสร้างความรู้สึกร่วมขึ้นภายในประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

•• มีประเด็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความพยายามที่จะเป็นสากล (หรือจะพูดว่า ตะวันตก) เกิดขึ้นให้เห็นในช่วงพิจารณาใช้เพลงชาติลำดับที่ 6 ที่ถือว่าเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการเพลงแรก เมื่อ ปี 2477 ขณะนั้นมีเพลงที่เสนอขึ้นมาเป็นเพลงชาติไทยเช่นกันอีกเพลงหนึ่ง ที่อาจจะเรียกว่า เพลงชาติลำดับที่ 6/1 ใช้ทำนองเพลงไทย ประพันธ์ทำนองโดย จางวางทั่ว พาทยโกศล โดยดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิม เพลงตระนิมิตร ช่วงนั้นเรียกคู่ขนานกันว่า เพลงชาติแบบสากล เพลงชาติแบบไทย แต่ในที่สุดคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาลงมติให้ใช้เพลงชาติแบบสากล ประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยงค์ (ปิติ วาทยะกร) ที่รับการขอร้องจากนาวาตรีหลวงวินิจเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ตั้งแต่ ปี 2474 แต่มาคิดออกเมื่อ ปี 2475 นั่น

•• ประเด็นที่น่าพิจารณาที่ 1 คือ ในรอบหลายปีมานี้เกิดอะไรขึ้นกับสำนึกในความเป็นชาติ สำนึกร่วมของคนในชาติ หรืออย่างไรถึงได้มีผู้นำทหารดำริให้มีกระบวนการปัดฝุ่นเพลงชาติไทยขึ้นใหม่

•• ประเด็นที่น่าพิจารณาที่ 2 คือ ลำพังปัดฝุ่นเพลงชาติไทยจะสามารถแก้ปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวได้หรือ

•• ประเด็นที่น่าพิจารณาที่ 3 คือ ทำไมเดี๋ยวนี้ทุกเรื่องราวในสังคมไม่เว้นแม้กระทั่ง เรื่องจิตวิญญาณจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการการตลาดนำ แม้กระทั่ง เพลงชาติไทยก็ต้องมีหลายเวอร์ชัน-แยกกันเข้าสู่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย ด้วย

•• ประเด็นที่น่าพิจารณาที่ 4 คือ ทำไมต้องเป็นแกรมมี่ ทำไมไม่ทำให้เป็น กระบวนการทางสังคม–เพื่อให้ทั้งสังคมมีส่วนร่วมเล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น