xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเกษตรกรต่อนโยบายคนรวยอุ้มคนจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชิงดวง ช่วงโชติ

แม้รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง ในการทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น โดยถูกมองว่า "การกระทำ" กับ "นโยบาย" ที่ออกมาสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

เข้าตำราปากอย่าง ใจอย่าง
 
และใช้ 2 มาตรฐานในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่พบ หรือส่อไปในการทุจริตคอร์รัปชั่น

กลุ่มหนึ่งมักถูกดำเนินการอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ อัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือแม้แต้ กรมสวนสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ซึ่งเป็นเครื่องของของรัฐ

แต่อีกกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ ใกล้ชิด หรือเป็นคนในรัฐบาลกลับถูกตรวจสอบอย่างผิวเผิน ซื้อเวลา ตั้งกรรมการสอบ หรือเบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการปกติ

รัฐบาลชุดนี้จึงถูกมองว่า ล้มเหลวในการทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น
 
แต่กับการทำสงครามกับความยากจนนั้น ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มักทำงานได้ผล จนเป็นที่ยอมรับของประชาชน

แถมมีไอเดียใหม่ ๆ มมาเสนออยู่ตลอดเวลา
 
นับตั้งแต่รัฐบาล "ทักษิณ 1" นโยบายหลากหลายถูกนำออกมาใช้อย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน แปลงสินทรัพย์เป็นทุน และอีกหลายโครงการ

จนเป็นที่ศรัทธาของประชาชน กลายมาเป็น 19 ล้านเสียงที่หนุนให้พรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส. 377 เสียง จนสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีฐานเสียง ส.ส.แน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย
 
ล่าสุด นายกฯทักษิณ มีไอเดียที่จะดึงภาคธุรกิจเข้ามาร่วมในโครงการ คาราวานแก้จนของรัฐบาล โดยจะให้เข้ามาเพื่อเสริมรายได้ให้กับประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม
 
เช่นอาจจะเข้ามาส่งเสริมภาคเกษตรกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น
 
ถ้าทำได้ก็จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นผลดีโดยรวมต่อประเทศชาติในอนาคตได้
 
ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ที่นายกฯเล็ง ๆ ก็มี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทในเครื่องน้ำเมา ของ "เจริญ ศิริวัฒนภักดี" เป็นต้น
 
ว่ากันไปแล้วหากทำด้วยใจที่บริสทธิ์ก็น่าจะเป็นผลดีกับคนอยากคนจน
 
แต่กลับมีเกษตรกรบางกลุ่มแสดงความกังขาและอดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นผลดีกับเกษตรกรจริงหรือไม่ เพราะชาวบ้านจำนวนหนึงเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำทีเข้ามาช่วยเหลือ สุดท้ายกลับมาสูบเลือดจากชาวบ้านมาแล้ว
 
บางบริษัทเข้ามาเสนอที่จะส่งเสริมเกษตรแบบครบวงจร โดยจะเข้ามาจัดระเบียบกากรผลิต ทั้งภาคเกษตรและปศุสัตว์ นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ให้ชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านหลงเชื่อ เข้าสู่กระบวนการปฎิบัติ ทุกอย่างกลับถูกควบคุมโดยบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ ซื้ออาหาร ปุ๋ย รวมไปถึงการกำหนดราคา
 
ทุกส่วนชาวบ้านจะถูกเอาเปรียบ เหมือนเป็นลูกจ้าง ทั้งที่ใช้ที่ดินและเงินทุนของเกษตรกรเอง
 
เกษตรกรจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทที่เข้ามาจนเข็ดขยาดมาแล้ว
ถ้ารัฐบาลจะให้คนรวยอุ้มคนจน ก็ควรเข้ามาในรูปแบบช่วยเหลือ ให้ความรู้ และให้อิสระในการประกอบอาชีพ ไม่ควรกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านควรทำอะไร เพื่อขายให้บริษัทที่จะเข้ามา
 
และควรมีกลไกที่จะเข้ามาดูแล ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับคนจน หรือเกษตรกรที่จะร่วมโครงการ
 
ไม่ใช่มีโครงการแล้วปล่อยให้เกษตรกรเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง เหมือนโครงการที่ผ่านมา จนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนถึงขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น