คุณชุมพล ศิลปอาชา ส.ว.กทม. ส่งเอกสารปึกใหญ่มาให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ เพื่อโต้แย้งความคิดเห็นประเด็น“ส.ว.ไม่รักในหลวง” ที่นำเสนอไปในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์วันที่ 13 พฤษภาคม 2548 มีประเด็นที่ควรค่าแก่การอรรถาธิบายให้ครบถ้วนจบสิ้นกระแสความกัน ณ ที่นี้
เพราะนอกจากจะเป็นเรื่อง “ข้อเท็จจริง” แล้ว
ยังเป็นเรื่องในระดับ “ปรัชญา” ด้วย
คุณชุมพล ศิลปอาชา เขียนไว้ในบทความที่ส่งมาให้ในลักษณะยอมรับว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาเป็นคนดี มีฝีมือ มีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของสังคมทุกฝ่าย แต่ก็ยืนหยันหนักแน่นว่าต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ในความเห็นของท่านเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทันทีตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (วันที่ 6 กรกฎาคม 2547) โดยไม่ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการ
คุณชุมพล ศิลปอาชา ยังมีแนวโน้มในทางมิจฉาทิฐิไปถึงขั้นที่ว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาไม่มีสถานภาพเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาตั้งแต่ต้น
“หากเราแยกแยะคุณงามความดีของคนกับกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย ออกจากกัน เรื่องน่าจะง่ายเข้า”
“หากไม่มีการแยกแยะออกจากกันระหว่างคุณงามความดี ความนิยมชมชอบในตัวบุคคล กับกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย เรื่องน่าจะไม่ยุติโดยง่าย”
นี่เป็นความคิดเห็นในเชิง “ปรัชญา” ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
อย่างน้อยก็น่าเป็นห่วงในคุณงามความดีที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของคุณชุมพล ศิลปอาชาเอง ที่เพราะความคิดเห็นเช่นนี้ชักนำให้ท่านต้องมารับบทออกหน้าชี้แจงแทนนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ที่กำลังอยู่ในจุดวิกฤตของชีวิต
กรณีที่เกิดขึ้นกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา 2 ปีมานี้ โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย
หากแต่เป็นเรื่องของการต่อสู้อันแหลมคมทางการเมือง
ระหว่างพันธมิตรกังฉินของแผ่นดินกับคนที่รักในหลวงบูชาในหลวงด้วยปฏิบัติบูชา
เป็นเรื่องที่นอกจากจะแยกไม่ออกแล้ว ยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับการคอร์รัปชั่นในโครงการต่าง ๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ การคอร์รัปชั่นกล้ายางพารา การคอร์รัปชั่นในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และ ฯลฯ ไม่เว้นแต่กระทั่งการคอร์รัปชั่นในรัฐสภา
เป็นเรื่องที่นอกจากจะแยกไม่ออกแล้ว ยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับการผงาดเข้ามานั่งอยู่กลางใจนายกรัฐมนตรีของนักการเมืองจอมขยันบางคน
และแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่นอกจากจะแยกไม่ออกแล้ว ยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับความพยายามไม่แยแสไม่ใส่ใจในพระราชอำนาจ
…..........
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2542 แต่ทำไมกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรกก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปีเศษ ๆ คือวันที่ 1 มกราคม 2545 เมื่อมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
คำตอบก็คือมีความพยายาม “ล็อกสเปค” ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนที่ต้องไม่ตรงเป็นไม้บรรทัดเกินไป
อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นคนที่พร้อมจะคุยกันได้ – เข้าใจกันได้
เพราะหน่วยงานตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระจากอำนาจการเมือง ประวัติศาสตร์และตัวอย่างจากทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าเป็นหน่วยงานป้องกันจัดการกับการคอร์รัปชั่นที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด
ในประเทศที่มีหน่วยงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ดีนั้น -- ไม่จำเป็นต้องมีป.ป.ช.
ประเทศที่พัฒนาแล้ว -- ไม่มีป.ป.ช.
แต่เนื่องจากประเทศไทยทิ้ง “จุดอ่อน” ใน “ระบบการตรวจเงินแผ่นดิน” ไว้นาน ก็เลยต้องไปแก้ที่ปลายเหตุ ก็คือมีป.ป.ช.ด้วย
เมื่อใดที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินปฏิบัติงานได้เต็มที่มากขึ้นแล้ว งานของป.ป.ช.ก็จะลดลง
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระประเภทที่เรียกว่า hybrid คือครึ่ง ๆ กลาง ๆ คือจะมีทั้งอำนาจหน้าที่ในการบริหารและตรวจสอบ และรวมไปถึงอำนาจชี้ขาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง – อำนาจชี้ขาดวินัยทางงบประมาณและการคลัง !
ต้องบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่านักการเมืองที่ผลักดันการเสริมประสิทธิภาพในระบบการตรวจเงินแผ่นดิน และผลักดันให้มีการออกกฎหมายใหม่ มากที่สุดคนหนึ่งชนิดที่คนวงนอกไม่ค่อยจะรับรู้ก็คือ
นายบุญชู โรจนเสถียร
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการว่าร่างได้ดีมากที่สุดฉบับหนึ่ง ถ้าจะให้คะแนนก็จะได้ถึง 90 %
เมื่อ “กฎหมาย” ดีในระดับ 90 % เช่นนี้ – จุดชี้ขาดความสำเร็จจึงคือ “คน” เป็นสำคัญ
“คน” ที่จะมานั่งในตำแหน่ง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” คนแรก
“คน” จำนวนกว่า 2,000 คนในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
.................
ภายในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินช่วงปี 2543 – 2544 นั้นมีความไม่ลงตัวสูงมาก เกิดการประวิงเวลาการสรรหาและเสนอชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่จะส่งมาให้วุฒิสภาเลือก
เพราะมีความพยายามที่จะ “ล็อกสเปค” ให้ลงที่คน ๆ เดียว
คือผู้ที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอยู่ก่อนหน้าจะยกระดับขึ้นเป็นองค์กรอิสระ
แต่ก็ให้บังเอิญติดขัดตรงที่เขาคนนั้นอยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนในข้อหาไม่เสียภาษีรถยนต์ 2 คันเป็นเวลา 5 – 6 ปี และเปิดสำนักงานบัญชีรับสอบบัญชีและวางรูปบัญชีให้กับบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ กว่า 20 บริษัท
วุฒิสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
และได้เร่งรัดด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ จนประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินส่งรายชื่อมาให้ 3 คน
ตรงนี้ก็เลยกลายเป็น “ช่องโหว่” ให้พันธมิตรกังฉินของแผ่นดินนำมาเล่นงานคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
เพราะเชื่อว่าพ้นจากบุคคลคนแรกไปแล้ว ความพยายาม “ล็อกสเปค” เลื่อนมาอยู่ที่บุคคลที่รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแทน จะเห็นได้ว่าบุคคลคนที่ 2 นี้ได้รับคะแนนโหวตในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสูงสุด แต่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของวุฒิสภารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลบางประการ ไม่อยากถูกมัดมือชก จึงขอให้ส่งรายชื่อมาทั้ง 3 คนที่เข้าคัดเลือกในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ต้องบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า ส.ว.อาวุโสที่ผลักดันแนวทางกดดันคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมากที่สุดคนหนึ่งคือ...
พ.อ.สมคิด ศรีสังคม
ให้บังเอิญที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาเป็น 1 ใน 3 ผู้ได้รับการสรรหาให้เข้าไปโหวตในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 อยู่ด้วย
ในที่สุด – ผลการเลือกในวุฒิสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 ก็ “ทำลายสเปค” ด้วยการมีมติท่วมท้น 136 เสียงเลือกคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก
............................
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้เช้าร่วมสัมมนาในการวางแผนการใช้ที่ดิน ณ โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2523 ตอนหนึ่งว่า....
“กฎหมายนี้มีช่องโหว่เสมอ ถ้าเราถือโอกาสในการมีช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อการทุจริตนั้น เป็นสิ่งที่เลวทราม และทำให้นำไปสู่ความหายนะ แต่ถ้าใช้ช่องโหว่ในกฎหมายเพื่อสร้างสรรค์ ก็เป็นการป้องกันมิให้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในทางทุจริต...”
การกระทำของวุฒิสภาในช่วงปี 2544 ทั้งในส่วนของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของวุฒิสภา และในส่วนของเสียงข้างมากในวุฒิสภา ในมุมมองของ “เซี่ยงเส้าหลง” ถือว่าเป็นการเจริญรอยตามพระราชดำรัสที่สร้างคุณูปการให้กับการรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดครั้งหนึ่ง
เป็นการบูชาในหลวงด้วย “ปฏิบัติบูชา” ที่ควรค่าแก่การสรรเสริญ
.............................
เมื่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา คนดีและมีประสิทธิภาพในระดับเกิน 90 % เมื่อได้นั่งบริหารงานในองค์กรอิสระที่กฎหมายร่างไว้ได้ดีในระดับ 90 % เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 ปี 5 เดือน สถานการณ์ก็เป็นที่ประจักษ์
ท่านเริ่มได้รับยกย่องไปทั่วทั้งสังคมในความเป็น “คนตรง” เป็น “หญิงเหล็ก” รวมทั้งผลงานที่โดดเด่น
ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สำหรับฝ่ายใน ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2546
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ไม่เพียงแต่จะเป็นคนดีและมีประสิทธิภาพในระดับ 90 % คนเดียวเท่านั้น
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยังทำมากกว่านั้น ด้วยความพยายามในทุกทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจของพนักงานในหน่วยงานกว่า 2,000 คนให้ยกระดับตามไปด้วย
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หาเงินช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ มาจัดการศึกษาอบรม มาติดอาวุธเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจตราต่าง ๆ
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ทำในสิ่งสำคัญที่สุด คือทำให้คนในหน่วยงานเกิดความภูมิใจที่มีส่วนร่วมแม้เพียงเศษเสี้ยวในกระบวนการ
“พิทักษ์รักษาเงินของแผ่นดิน ปกป้องเงินของพระเจ้าอยู่หัว”
..............................
1 ปี 5 เดือน ไม่มีสมาชิกวุฒิสภาคนใดสงสัยในขั้นตอนการเลือกคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาว่าผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ขัดรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
แต่พอวันที่ 24 มิถุนายน 2546 สมาชิกวุฒิสภา 8 คน (ต่อมาถอนชื่อออก 1 คน) ก็ “เปิดเกม” ทันที
ขอบันทึกชื่อไว้เป็นเกียรติ ณ ที่นี้ว่านำโดย....
พ.ต.อ.สุรพงศ์ ไผ่นวล -- ส.ว.บุรีรัมย์
ใช่แล้ว – บุรีรัมย์จังหวัดเดียวกับรมช.เกษตรฯเนวิน ชิดชอบ !
ใช่แล้ว – เป็นส.ว.บุรีรัมย์ที่เดินเข้าสภาสูงมาพร้อม ๆ กับอุษณีย์ ชิดชอบ พี่สาวของรมช.เนวิน ชิดชอบ !!
.........................
ปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ ทำไมส.ว.ภายใต้การนำของพ.ต.อ.สุรพงศ์ ไผ่นวล ส.ว.บุรีรัมย์ เพิ่งตัดสินใจใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึง 1 ปี 6 เดือน ก่อนหน้านั้น หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้าวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 วันที่ลงมติเลือกคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาทำไมไม่ติดใจสงสัย
ปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ เกิดอะไรขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนแห่งการทำงานในหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
ปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ ทำไมผู้ที่ “ดวงตาเห็นธรรม” คิดจะทำกฎหมายให้แจ้งชัดเจนถึงได้เป็นพ.ต.อ.สุรพงศ์ ไผ่นวล -- ส.ว.บุรีรัมย์
และปัญหาที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ ผู้รับผิดชอบสูงสุดของรัฐสภา และวุฒิสภา ที่โดยปกติแล้วจะต้องธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและอำนาจแห่งองค์กรของตน ถึงได้ไม่ลังเลที่จะเร่งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเสี่ยงที่จะมีผลการตีความออกมาว่าองค์กรของตนใช้อำนาจผิดพลาด
...........................
จากข่าวสารข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไป
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พบพิรุธหลายจุดในการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ในช่วง 1 ปี 6 เดือนก่อนที่จะถูกยื่นตีความ และ 2 ปี 6 เดือนก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
โดยเฉพาะในโครงการต่าง ๆ ของสนามบินสุวรรณภูมิ
ถึงขนาดตกเป็นจำเลยถูกฟ้องร้องโดยประธานคณะกรรมการบทม.หลายคดีด้วยกัน
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พบพิรุธในการซื้อที่ดินเพื่อใช้สร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของธนาคารของรัฐที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแห่งหนึ่งในความดูแลของกระทรวงการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแห่งนั้น
ตรวจลึกลงไปจนพบว่าการจ่ายเช็คนั้นแบ่งเป็นกี่ใบ ใบไหนจ่ายให้ใคร ใบไหนผิดสังเกต
ตรวจลึกตามลงไปจนถึงใบที่ผิดสังเกตว่าผู้มารับเช็คถูกว่าจ้างให้มาใช้ชื่อรับ
แต่เรื่องราวเมื่อส่งกลับไปหน่วยอื่น ๆ ตามขั้นตอน – ก็กลายเป็นแค่เรื่องบกพร่องเล็กน้อย
ฯลฯ
แต่ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยทั่วไปยังมีว่า เรื่องราวที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบประเด็นที่น่าจะไม่ชอบมาพากลนั้นยังรวมถึงสองสามเรื่องต่อไปนี้
1. โครงการจัดซื้อกล้ายางพาราให้เกษตรกร
2. โครงการปรับปรุงตกแต่งอาคารแห่งหนึ่งของรัฐสภา
3. การขายที่ดินแปลงงามบางแปลงกลางเมือง
4. .......................
ในเรื่องที่ 1 นั้นคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาทำหนังสือถามไปเรื่อง TOR ที่น่าสงสัย และบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลที่ส่อลักษณะว่าจะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน และยังให้เจ้าหน้าที่ตามไปดูในต่างจังหวัดว่ามีแปลงเพาะพันธุ์ตามที่แจ้งไว้จริงหรือไม่
รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ตามไปตรวจนับจำนวนกล้ายางพาราขณะส่งมอบด้วย
ในเรื่องที่ 2 นั้นคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาพบว่าน่าจะมีการจ่ายเงินสูงไปไม่มากไม่น้อย 80 ล้านบาท
ในเรื่องที่ 3 เพียงตั้งข้อสงสัยบางประการ
....................................
ศาลรัฐธรรมนูญลงมติในคำวินิจฉัยที่ 47/2547 แบบครึ่งเดียวและไม่สะเด็ดน้ำเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 ในลักษณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก
เพราะฉะนั้น – กรณีนี้ยังมี “ข้อถกเถียงทางกฎหมาย” อยู่ !
ไม่สมควรอย่างยิ่งที่วุฒิสภาจะรวบรัดลงมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548
ไม่สมควรอย่างยิ่งที่วุฒิสภาจะกระทำการดังกล่าวภายในเวลา 5 วันหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สำหรับฝ่ายใน ชั้นที่ 3 ตติยะจุลจอมเกล้า แก่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2548
“สิริอัญญา” อรรถาธิบายไว้ชัดเจนทุกประเด็นแล้วในข้อเขียนเรื่อง....
“ต้องหยุดยั้งการละเมิดในหลวง”
....................................
คุณชุมพล ศิลปอาชา ถ้าได้พิจารณาตามที่ได้อรรถาธิบายมาเป็นลำดับ ๆ จะพบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเดี่ยว ๆ โดด ๆ ซึ่งแม้จะพิจารณาเฉพาะเรื่องของกฎหมายเดี่ยว ๆ โดด ๆ ก็ยังมีข้อสงสัย ข้อโต้แย้ง ชนิดที่วุฒิสภาถ้ายังคงเป็นที่ประชุมของผู้มีสติปัญญาตามความหมายแห่งถ้อยคำอยู่แล้วก็คงไม่เร่งด่วนดำเนินการ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “การเมือง” โดยแท้ !
การเมืองก็คือการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสังคม ในแต่ละยุคสมัยทางประวัติ ศาสตร์
แท้จริงแล้ว – กฎหมายคือการเมือง กฎหมายคือการช่วงชิงการนิยามความหมายของความยุติธรรม
กฎหมายคือการตีความ
และแน่นอน -- กฎหมายย่อมเป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสังคม ในแต่ละยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ !
เพราะกฎหมายมันไม่ใช่อยู่ ๆ จะมีอิทธิฤทธิ์มีอำนาจขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมา พอถูกเขียนขึ้นก็ต้องมีการตีความ ผู้ตีความกับสิ่งที่ถูกตีความมีปฏิสัมพันธ์กัน คนที่ตีความ ถ้าตีความอย่างบริสุทธิ์เป็นกลางจริงก็อาจจะตรงกับตัวกฎหมาย แต่ถามว่ามีคนแบบนั้นสักกี่คน โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ
ฉะนั้นกฎหมายในแง่ของความเป็นจริง ในแง่ของการใช้และการตีความ จึงมีโอกาสที่จะถูกบิดเบือน มีโอกาสที่จะถูกใช้ไปในทางที่ไม่ชอบอยู่ตลอดเวลา ก็คือมีช่องว่างระหว่างตัวอักษรกับการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา
ครั้งหนึ่ง เมื่อปีค.ศ. 1727 บิชอป โอดลี (Bishop Hoadly) เทศนาต่อหน้าพระเจ้ายอร์ชที่ 1 ว่า…..
“ใครก็ตามที่มีอำนาจในการตีความกฎหมาย ทั้งที่เป็นคำพูด และลายลักษณ์อักษร บุคคลนั้นคือผู้บัญญัติกฎหมายอย่างแท้จริงทั้งเจตนาและวัตถุประสงค์ ไม่ใช่บุคคลผู้ซึ่งเขียนหรือพูดมันเป็นครั้งแรก”
“Whoever halt an absolute authority to interpret any written or spoken laws, it is who is truly the law-giver to all intents and purpose, and not the person who first wrote or spoke them.”
สิ่งที่เรียกว่าการปกครองโดยกฎหมายในสังคมไทย ก็อยู่ภายใต้ความเป็นจริงดังกล่าวเช่นเดียวกัน
นี่เป็นการมองกฎหมายในเชิงความเป็นจริง ที่มีข้อพิสูจน์ทั้งในประวัติ ศาสตร์และในปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่ากฎหมายจะไม่มีความบริสุทธิ์เสียเลย กฎหมายในเชิงอุดมคติยังคงมีอยู่ กฎหมายมีฐานมาจากธรรมะ เราควรจะต้องเก็บไว้ และนักกฎหมายทุกคนจะต้องมีฐานคิดถึงกฎหมายในเชิงอุดมคติอยู่ในหัวใจ
ก็ในเมื่อกฎหมายคือภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสังคม ในแต่ละยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นจะมองเห็นภาพรวมชนิด “ป่าทั้งป่า” ไม่ใช่แค่ “ต้นไม้ 2– 3ต้น” หรือ “ใบไม้กำมือเดียว” ของประเด็นทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ณ วันนี้ได้ ก็มีแต่จะต้องเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจการเมืองไทยทั้งระบบ
กรณีที่เกิดขึ้นกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา 2 ปีมานี้ โดยเนื้อแท้แล้วจึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย
หากแต่เป็นเรื่องของการต่อสู้อันแหลมคมทางการเมือง
ระหว่างพันธมิตรกังฉินของแผ่นดินกับคนที่รักในหลวงบูชาในหลวงด้วยปฏิบัติบูชา
กฎหมายยังเป็นกฎเกณฑ์ที่จำเป็นสำหรับสังคม เราต้องพิจารณาที่ตัวกฎหมายว่าเป็นธรรมหรือไม่ หรือดูว่าตัวผู้ใช้กฎหมายเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าตัวกฎหมายไม่เป็นธรรมก็ต้องวิจารณ์ ต้องแก้ไขตัวกฎหมาย
ถ้าความไม่เป็นธรรมหรือความไม่รู้เกิดจากตัวผู้ใช้กฎหมาย ก็ต้องแก้ตรงนั้น
อย่าใช้กฎหมายเพียงตามตัวอักษร
และอย่าใช้กฎหมายเพียงตามเจตนารมณ์
แต่พึงใช้กฎหมายตามภาพรวมในเชิงปรัชญา มองว่ากฎหมายคืออะไร กฎหมายสร้างมาเพื่ออะไร
.......................
"การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ไม่ควรจะถือเพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไป ให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย..."
"กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมายแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามคนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษา กฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร / วันที่ 29 ตุลาคม 2522
.....................
"กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่นั้น เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ ..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษา กฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร / วันที่ 19 กรกฎาคม 2520
......................
"กฎหมายนั้น มีไว้สำหรับให้มีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตรงไปตรงมาตามตัวบท จำต้อง ใช้ความพินิจพิจารณาอยู่เสมอ จึงต้องมีศาลไว้ถึง 3 ศาล และต้องสำนึกว่ากฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้สมองคิด และสมองนี้สามารถที่จะยืดหยุ่นได้..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน / วันที่ 13 มีนาคม 2512
.......................
ประวัติศาสตร์ในวันนี้คือการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต และการต่อสู้ทางการเมืองวันนี้คือประวัติศาสตร์ในอนาคต
รัฐธรรมนูญและกฎหมายในเชิงความเป็นจริงจึงมิใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการต่อสู้ทางการเมือง
ทุกคนเป็นเครื่องมือของประศาสตร์
ไม่มีใครใหญ่เกินประวัติศาสตร์
คุณชุมพล ศิลปอาชา จะเลือกให้มีชื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะใด ก็อยู่ที่พฤติกรรมในวันนี้
คุณสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ท่านเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และกำลังอยู่ในจุดที่จะต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะนำรายชื่อผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อไร หรือไม่ อย่างไร
“พลังเงียบ” นั้นอาจเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างได้เพียงชั่วข้ามคืน
สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์
เสียงข้างมากเด็ดขาดไม่ได้ยั่งยืนและไม่ได้ให้แต่ข้อดีสถานเดียว
คุณขรรค์ชัย บุนปานเคยใช้ภาษาที่เฉียบขาดเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพเมื่อไม่นานมานี้ว่า...
19 ล้านคน เท่ากับ 38 ล้านตีน !
ขอจบด้วยตอนสุดท้ายของข้อเขียนเรื่อง “ต้องหยุดยั้งการละเมิดในหลวง” ที่ลงตีพิมพ์ในนสพ.ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 และลงใน www.manager.co.th ตั้งแต่คืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 มีผู้เปิดเข้ามาอ่านมากเป็นประวัติการณ์ จนถึงวินาทีที่ปิดต้นฉบับชิ้นนี้ ยอดขึ้นไปสูงเกินกว่า 60,000 รายแล้ว
“หากไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อนหน้า เพราะความพลั้งเผลอหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นเรื่องที่พออภัยได้ มาบัดนี้เสียงทักท้วงแน่นหนาดังกึกก้องทั้งแผ่นดิน ดังเสียยิ่งกว่าเสียงอสุนีบาต จะอ้างว่าไม่ได้ยินไม่ได้รู้อีก เห็นจะไม่ได้แล้ว หากดึงดันกระทำต่อไปก็ต้องถือว่าจงใจบีบบังคับกดดันในหลวง ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้อภัยกันไม่ได้...
“ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบอกกล่าวมายังพสกนิกรที่มีความจงรักภักดีทั่วประเทศ ให้ช่วยกันติดตามและจับตามองมิให้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดในหลวงเป็นอันขาด....
“คนไทยทั้งประเทศจึงต้องพร้อมที่จะแสดงความจงรักภักดี และร่วมมือร่วมใจกันยับยั้งการกระทำทั้งปวงที่ละเมิดต่อในหลวง ให้ทันท่วงที.”