xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชื่อ48คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ได้ “ประเวศ” นั่งรองประธาน ส่วน “โสภณ-สุรินทร์” มีชื่อในภาคการเมือง ขณะที่ “บิ๊กยักษ์-สุจริต” มีชื่อในภาคราชการ ด้าน “โคทม-สุริชัย” นั่งเลขาฯ


วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้ (1.นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการฯ (2.ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นรองประธานฯ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ประกอบด้วย (3.พล.อ.ณรงค์ เดชอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (4.นายเนตร จันทรัศมี นักธุรกิจ(ไดอาน่า) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (5.นายบัญชา พงษ์พานิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (6. นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เลขาธิการสหพันธ์ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (7.นายปิยะ กิจถาวร อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี (8.น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา (9.นางมัรยัม สาเม๊าะ มูลนิธิเด็กกำพร้าบานา จ.ปัตตานี (10.นายมูหัมมัด อาดำ ผู้บริหารโรงเรียนนุรุลอิสลามภูมีวิทยา วัดทุ่งข่อย จ.ปัตตานี (11.นางรัตติยา สาและ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา (12.นายวรวิทย์ บารู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี (13.นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามปัตตานี (14.นายอนันตชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษายุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (15.นายอิสมาอีล ลุตฟี่ จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลาม จ.ยะลา (16.นายอับดุลเราะแม เจะแซ ประธานกรรมการกลางประจำ จ.ยะลา (17.นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด ประธานคณะกรรมการกลางประจำจังหวัดนราธิวาส (18.นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

นักวิชาการอิสระ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ ได้แก่ (19.นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (20.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ (21.นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ ครูฝึกอบรมสันติวิธีประจำศูนย์ข่าวสารสันติภาพ (22.นายพิชัย รัตนพล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (23.นายพิภพ ธงไชย มูลนิธิเด็ก (24.นายไพศาล พรหมยงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (25.พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ (26.นายมารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ (27.นายศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเด็ก-ประไพวิริยะพันธุ์ (28.นางเสานีย์ จิตต์หมวด อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี (29.นายอัมมาร สยามวาลา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ในส่วนของภาคการเมือง ได้แก่ (30.นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย (31.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี พรรคไทยรักไทย (32.พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พรรคไทยรักไทย (33.นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณสิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ (34.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล พรรคไทยรักไทย (35.นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (36.นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม.

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ ประกอบด้วย (37.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ (38.นางจิราพร บุญนาค รองเลขาธิการ สมช. (39.นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (40.นายวิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (41.พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว (42.นายศิริชัย โชติรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (43.พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา ผบ.ตชด. (44.พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ผอ.กอ.สสส.จชต. (45.นายสุจริต ปัจฉิมนันท์อธิบดีกรมการปกครอง

สำหรับกรรมการฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย (46.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (47.นายโคทม อารียา เลขาธิการสภาเพื่อสิทธิมนุษยชน และ (48.นายสุริชัย หวันแก้ว ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับคณะกรรมการฯดังกล่าว มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายมาตรการ กลไก วิธีการสร้างสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างความยุติธรรมลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง และสร้างสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในชาติ ศึกษา วิจัยตรวจสอบสาเหตุ และขอบเขตของความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบริบทของการก่อปัญหาตลอดจนบทบาทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในและนอกพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการพัฒนากระบวนการฟื้นคืนสมานฉันท์ในสังคม กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงรวมทั้งเผยแพร่กระบวนการดังกล่าวให้แพร่หลายในหมู่สาธารณชน

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชน โดยให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรงพร้อมกับส่งเสริมความยุติธรรมสังคมอันเป็นพลังสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยเคารพความหลากหลายทางสังคม และวัฒนธรรม จากนั้นเสนอรายงานของคณะกรรมการต่อนายกรัฐมนตรีและนำเผยแพร่ต่อสาธารณชนทันที โดยคณะกรรมการฯมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือบุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่คณะกรรมการกำหนดมีอำนาจในการเชิญข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลมาให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็นส่งข้อมูลหรือความเห็นเป็นหนังสือรวมถึงเรียกหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจส่งเอกสารหรือวัตถุที่เป็นของหรืออยู่ในความครอบครองของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ คณะอนุกรรม หรือคณะทำงาน

นอกจากนี้ สามารถจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือหาข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการรวมถึงการจัดการประชุม สัมมนา เวทีสาธารณะ การสานเสวนาและการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลทั้งในและนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอความร่วมมือในการสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสื่อสารมวลชนของรัฐดำเนินการอันที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุผล ทั้งนี้ คณะกรรมการฯสามารถดำเนินการได้โดยอิสระกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ตาม สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระปราศจากอาณัติผูกพันของหน่วยงานที่สังกัดอยู่ การจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงโดยบุคคลจากทุกภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อคณะกรรมการ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของคณะกรรมการให้นำปัญหาของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นปัญหาของผู้ก่อความรุนแรง เหยื่อความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ได้รับผลกระทบอื่นมาคำนึงโดยรอบด้าน กรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้คณะกรรมการให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ให้กรรมการและเลขานุการแจ้งให้ประธานกรรมการทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ส่วนกรณีที่ประธานกรรมการเห็นสมควรที่จะเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ ต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ก่อนการเสนอรายงานให้คณะกรรมการและเลขานุการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการ และให้มีหน่วยธุรการของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานอื่นอีกตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ส่วนเบี้ยประชุมของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมทั้งให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้พอเพียงกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
กำลังโหลดความคิดเห็น