xs
xsm
sm
md
lg

"ลลิตา"ยันรับตำแหน่ง "รองประธานสภาฯ" ตามบัญชา "นายกฯ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดร. ลลิตา ฤกษ์สำราญ” ส.ส.เขต 3 บางซื่อ พรรคไทยรักไทย และว่าที่รองประธานสภาฯ กล่าวใน "สภาท่าพระอาทิตย์" (7 มี.ค.48) ระบุ การเข้ารับตำแหน่งเป็นไปตามความต้องการของ "นายกฯและคณะกรรมการบริหารพรรค" ยัน การทำงานในบทบาทใหม่จะเน้นความเป็นตัวของตัวเองไม่เลียนแบบใคร พร้อมระบุ ปัญหาที่คาดว่าต้องแก้ไขคือ "ความซ้ำซ้อนของกรรมาธิการที่มีมากถึง 31 คณะ"

รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2548 ดำเนินรายการโดยสำราญ รอดเพชร และคำนูณ สิทธิสมาน

คำนูณ – เอาล่ะครับ ไปสนทนากับ ดร. ลลิตา ฤกษ์สำราญครับ 1 ใน 2 ที่คาดว่าจะได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรวันนี้

สำราญ – อาจารย์ครับ สวัสดีครับ

ดร. ลลิตา – สวัสดีค่ะ อาจารย์สำราญ อาจารย์คำนูณคะ

สำราญ – ครับ ก็แสดงความยินดีล่วงหน้ากับ ดร.ด้วยนะครับ

คำนูณ – ถือเป็นสุภาพสตรีคนแรกเลยไหมครับ ที่ขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้

ดร. ลลิตา – ใช่ค่ะ

สำราญ – อาจารย์มุ่งมั่นใฝ่ฝันมานาน หรือว่ามันมาโดยบังเอิญครับ เที่ยวนี้ เรียนถามตรงๆ

ดร. ลลิตา – ถ้าพูดถึงความมุ่งมั่นนี่ก็มุ่งมั่นมานาน เป็นความใฝ่ฝันมากกว่านะคะ เพราะว่าเคยไปดูงานของต่างประเทศเขา แล้วก็เขามีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหญิงหลายประเทศ แล้วก็ได้เคยมีโอกาสได้พูดคุย ก็มีความรู้สึกลึกๆอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นนะคะ มีความรู้สึกลึกๆแต่เพียงว่า ของไทยเรานี่ทุกตำแหน่งเลย แล้วก็คงทราบว่า ตัวดิฉันเป็นประธานคณะกรรมาธิการสตรีนะคะ และก็เป็นหัวหน้าคณะไปต่างประเทศหลายหนเลย เราก็ไปอวดเขานะคะ เวลาเขาถามถึงสิทธิ ความเท่าเทียมกันของหญิงและชาย ก็อวดเขาค่ะ อวดเขาบอกว่าของไทยเรานี่ให้สิทธิผู้หญิงมากเลย ทุกตำแหน่งก็ไล่ตั้งแต่เอาตำแหน่งเล็กๆนะคะ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ว่าฯ พลตรี ทหาร ตำรวจ ปลัด รัฐมนตรีเราขึ้นมาหมดเลยนะคะ ส.ส.อัตราส่วนของเราก็ถึงครึ่ง

แต่ที่เรากำลังคุยอยู่นี่ เรากำลังคุยอยู่กับรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหญิงของเขา แล้วเขาก็ถามว่าของคุณเคยมีบ้างไหม ก็บอกว่ายังไม่เคยมี เขาก็หัวเราะ เขาบอกว่าเขาคิดว่าข้างหน้านี่คงจะมี พี่ก็บอกไปว่าคิดว่าอย่างนั้นเหมือนกันว่า เราก็คงจะต้องมีเหมือนกันนะคะ ก็เป็นการคุยเพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยของเราให้สิทธิสตรีนะคะ และก็การยอมรับในสังคม รวมทั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมานี่ ก็คุยให้เขาฟังว่าผู้ชายยอมรับผู้หญิงมากขึ้น จากการที่มี ส.ส.เป็นอัตราส่วนที่มากขึ้น อันนี้ก็พูดคุยกันเป็นเรื่องปกติค่ะ

คำนูณ – เท่าที่อยู่ในสภามานี่นะครับ ประทับใจบทบาทของประธานสภาหรือรองประธานสภาท่านใดเป็นพิเศษไหมครับ

ดร. ลลิตา – ที่ผ่านมานะคะ 8 สมัยนี่เริ่มสมัยแรกเลยที่มาเป็นผู้แทนครั้งแรกเลย ประธานสภาท่านนั้นนี่คือคุณชวน หลีกภัยค่ะ แล้วก็มีความรู้สึกว่าท่านก็นิ่มๆนะคะ คือท่านแบบว่าท่านนุ่มนวล เวลาที่ท่านจะเรียกหรือว่าอะไร ก็เป็นลีลาของท่านนะคะ ท่านนุ่มนวลนะคะ และก็การพูดการจา อันนั้นก็เป็นครั้งที่ 1 นะคะ และก็มาที่ประทับนะคะ ที่มีความรู้สึกว่าทำให้สภานี่แบบว่าครึกครื้น มีลูกเล่นนะคะ ก็คือท่านอาจารย์มารุต บุนนาค ท่านมารุตนี่เวลาท่านขึ้นมา เวลาใครจะอะไร โมโหหรือกร้าร้าวอะไร ท่านก็แหย่ ท่านก็จะอะไรก็รู้สึกว่าทำให้มีความรู้สึกที่แบบว่ามันคลายลงไป

ก็ประทับใจเกือบจะทุกคนเลยนะคะ เพราะว่าประธานแต่ละท่านนี่ ท่านจะมีลีลาของตัวท่านเองนะคะมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์วันนอร์ หรือว่าจะพี่ปัญจะ เกสรทอง อันนี้ก็ผ่านมาหมด ส่วนรองประธานนั้นที่เห็นว่าโกรธจนกระทั่งทนไม่ไหวเลย ก็คงจะมี “ขุนค้อน”นะคะ ท่านรองสมศักดิ์ อันนี้ก็ตัวดิฉันเองก็ผ่านมา 8 สมัยค่ะ ผ่านประธานมาแต่ละท่าน ก็รู้สึกว่าทุกท่านนี่ทำหน้าที่ได้ดี รวมทั้งอาหมอนะคะ ท่านประธานบุญเอื้อ ดีทุกท่านเลยค่ะ

สำราญ – แล้ว ดร.ลลิตาจะเป็นสไตล์แบบไหนครับ

ดร. ลลิตา – คิดว่าคงจะเป็นสไตล์ของตัวเองมากกว่า เพราะว่าเราจะไปเลียนแบบอะไรของใครไม่ได้ ก็คือคงจะเป็นตัวเอง ก็คือลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ ก็คิดว่าจากที่ได้อยู่ในที่ประชุมมา และก็เห็นการทำงานของประธาน รองประธานทุกท่านเลยนะคะ ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกอยู่ในสภานี่ คิดว่าการปฏิบัติตามข้อบังคับ และควบคุมให้เป็นไปตามข้อบังคับสำคัญที่สุด อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

และอีกประการหนึ่งเท่าที่ได้สังเกตมาโดยตลอด ก็คือการทำงานของวิป ของประธานวิป วิปฝ่ายค้านกับวิปรัฐบาล ก็สามารถจะเจรจากันได้ ตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปราบนัดสำคัญๆ เช่นการอภิปรายงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ามีการตกลงกันได้เรียบร้อยในเรื่องของเวลา อันนี้เข้าใจว่าการประท้วงในเรื่องของสมาชิกที่ว่า ยังไม่ได้อภิปรายแล้วยังเหลืออีกเยอะ อยากจะขอต่อเวลาออกไปอีกวันหนึ่ง อันนี้ดิฉันคิดว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้การประชุมนั้นเรียบร้อยค่ะ

สำราญ – มีปัญหาหรือห่วงใยกังวลเรื่องข้อบังคับไหมครับ หรือเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว อยู่มาตั้ง 10 กว่าปี

ดร. ลลิตา – อันนี้คงไม่ใช่เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าต่อไปนี้ก็คงจะต้องดู เมื่อก่อนเวลาที่เราจะประท้วง เราก็จะต้องดูว่าเราประท้วงตามข้อบังคับอะไร แต่ว่าตอนนี้เมื่อเราต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ยิ่งจะต้องดูให้ละเอียดมากขึ้นว่า ในการประชุมนั้นไม่เพียงแต่เรื่องของการประท้วงอย่างเดียว การเสนอญัตติ การยกมือนะคะ การที่จะพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับนั้น ต้องมีผู้รับรองกี่คน อันนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษามากขึ้นค่ะ

คำนูณ – ส.ส. 500 คนทั้งสภา ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นประธานหรือรองประธานสภานี่ ต้องจำได้หมดนะ เขายกมือขึ้นต้องชี้ได้เลยนะ ถามจริงๆนะเขามีเคล็ดการจำกันอย่างไร

ดร. ลลิตา – เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความคุ้นเคย ถ้าสมมุติว่าอยู่ในสภามานาน แล้วรู้จักกันเป็นส่วนตัวแล้วนี่ อันนี้ถือว่าได้เปรียบ แต่ว่าถ้าเป็น ส.ส. ใหม่นี่ คิดว่าคงจะต้องมาดูรูปและพยายามเห็นตัวเขา นั่งอยู่ในห้องประชุมต้องพยายามดู ดูเขาแล้วก็กลับมาดูรูปว่าคนเราเห็นตัวจริงเขา เพราะว่าบางคนรูปกับตัวจริง เท่าที่เคยสังเกตดูรูปที่มาเสนอ เวลาเอารูปที่มาติดอยู่ บางคนนี่เอารูปที่ยังหนุ่มเฟี้ยวเลย คือเอารูปเก่าๆนี่มา และก็ตัวจริงอาจจะไม่เหมือน บางคนก็แบบว่ารูปที่ถ่ายแบบไม่เหมือนตัวจริงหรอก บางทีเราก็ต้องมานั่งดูหน้าว่า คนนี้เนี่ยกับในรูปนี่หน้าเขาเหมือนกัน แล้วคนนี้ชื่ออะไร ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นส่วนหนึ่ง

สำราญ – เห็นตัวจริงนี่คนละคนเลยนะ บางคน

คำนูณ – ในส่วนของอาจารย์นี่อยู่มา 19 ปีใช่ไหมครับ

ดร. ลลิตา – 19 ปีเข้าปีที่ 20 ค่ะ

คำนูณ – ถือว่าน่าจะจำได้หมดนะ

ดร. ลลิตา – ถ้าเป็น ส.ส.เก่าๆนี่จำได้หมดเลย ส.ส.เก่านี่จำได้

คำนูณ – ก็จะมีปัญหาอยู่นิดนึง สมัยท่านอาจารย์มารุต บุนนาคเป็นประธานสภานะ เรื่องสายตาท่านอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง

ดร. ลลิตา – มีค่ะ ตัวดิฉันเองก็คิดว่าคงมีปัญหาเรื่องสายตาเหมือนกัน เพราะว่าเป็นคนสายตาสั้น แต่ว่ามีปัญหาว่าเริ่มยาวแล้ว ทีนี้เวลาเริ่มยาวแล้วเวลาอ่านหนังสือนี่ เราใช้แว่นของเรานี่เรามองไม่เห็นค่ะ ถอดแว่นแล้วจะอ่านหนังสือได้ แต่ว่าเวลามองไกลๆเรามองไม่เห็นค่ะ เราก็ต้องใส่แว่นค่ะ อันนี้ก็เป็นปัญหานิดนึงค่ะ

สำราญ – มีแนวความคิดเรื่องกรรมาธิการสามัญอย่างไรบ้างครับ เห็นมีการสัมมนากันของไทยรักไทย ก็มีบางท่านบอกว่า กรรมาธิการมันก็ซ้ำซ้อน มันก็ปีนป่ายกัน มันเยอะเกินไปหรือเปล่าครับ 31 กรรมาธิการ

ดร. ลลิตา – อันนี้จริงค่ะ เพราะว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อคราวที่แล้วนะคะ ที่เป็นประธานกรรมาธิการอยู่ เห็นชัดเลยค่ะว่าบางเรื่องนะคะ เรียกจนกระทั่งข้าราชการนี่บ่นค่ะ บ่นบอกว่าไม่ได้ทำงานเลย มาชี้แจงแต่เรื่องนี้ เข้าคณะนั้นเข้าคณะนี้ แล้วที่สำคัญเข้าแล้วไม่พอ ยังไปตอบของวุฒิอีก ในเรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน ที่เป็นข่าวสำคัญๆที่ปรากฏในสื่อมวลชนนะคะ และเป็นเรื่องสำคัญเลย กรรมาธิการก็เรียกกันทุกคณะ

เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า ถ้าเราต้องการมีปฏิรูปในเรื่องนี้ด้วย เห็นด้วยมากเลยค่ะ ว่าบางเรื่องเนี่ยถ้าสมมุติว่ามีคณะกรรมาธิการชุดใด ได้มีการเรียกไปแล้ว อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการมาก่อนนี่ ก็คิดว่าเรื่องใดที่เคยเรียกมาแล้วนี่ แล้วเกิดมีการเรียกซ้ำซ้อนไปอีกเนี่ย แล้วก็ข้าราชการมีความจำเป็นจริงๆ อาจจะใช้วิธีการที่ว่า ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องนี่นะคะ เราส่งข้อมูลจากที่เราได้รับการชี้แจงจากข้าราชการ หรือองค์กรใดแล้วนี่ ให้ไปเป็นข้อมูลเบื้องต้น และก็ถ้าเกิดมีประเด็นใดที่ยังข้องใจอยู่ อาจจะใช้วิธีการว่ามีหนังสือไปยังหน่วยงานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

และถ้าจำเป็นจริงๆอาจจะมีบางประเด็นที่คณะกรรมาธิการที่ได้เคยเรียกมาแล้วนี่ไม่ได้ซักถาม อันนั้นถึงจะเรียกมาชี้แจงเพิ่มเติม ในประเด็นโดยที่เราน่าจะได้มีแจ้งไปเลยว่า จากการที่ข้อมูลที่ได้รับทราบแล้วยังมีประเด็นนี้นะคะ แล้วก็เชิญมาชี้แจงเพิ่มเติม ดิฉันคิดว่าอันนี้จะเป็นการทำให้ทุกฝ่ายได้ปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น เรียกว่าทำงานคุ้มค่านะคะ ข้าราชการผู้ใหญ่ขององค์กรนั้นก็จะได้ไปปฏิบัติภารกิจด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกวันเลยจะมาชี้แจง ของคณะนั้นเสร็จเปลี่ยนคณะนี้ แล้วก็ต่อของวุฒิ แล้วก็ออกมาแถลงข่าว คณะกรรมาธิการชุดนั้นก็ต่างคนต่างออกมาแถลงข่าว

สำราญ – ก็เยอะไปหมด คิดว่า 31 กรรมาธิการควรจะหดให้เล็กลงไหม หรือว่าควรจะคงไว้เท่าเดิม

ดร. ลลิตา – คือมันมีบางคณะอยากจะเรียนอย่างนี้นะคะ ว่าตัวดิฉันเคยอยู่มาในสภานี่ตั้งแต่มีคณะแค่เพียง 17 คณะ เริ่มต้นเลยนะคะ กรรมาธิการมีแค่ 17 คณะ แล้วคณะนึงมี 21 คน แล้วพอตอนหลังนี่มาแก้ข้อบังคับ ดิฉันเคยเป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขข้อบังคับรุ่นที่คุณอดิศร เพียงเกษ เป็นประธาน และก็กระทู้สดเกิดขึ้นจากคณะกรรมาธิการ ที่ตัวดิฉันเองเป็นกรรมาธิการอยู่ ไปดูงานกันที่ต่างประเทศ และเราได้เห็นว่าเขามีกระทู้สด เราก็เลยกลับมาแก้ไขข้อบังคับ และก็มีการแก้คณะกรรมาธิการจากเดิมนี่ขึ้นมา 20 แล้วรู้สึกจะเพิ่มมาเป็น 25-26 นี่นะคะ แล้วหลังสุดเลยเพิ่มมาถึง 31 คณะ ในความรู้สึกของตัวดิฉันเองคิดว่า มันมีบางคณะจริงๆที่บทบาทและหน้าที่ที่กำหนดไว้ซ้ำซ้อนจริงๆ

สำราญ – ควรจะจัดระเบียบใหม่

ดร. ลลิตา – ค่ะ

สำราญ – ครับ อาจารย์ครับ คำถามสำคัญไม่ถามไม่ได้เพื่อความกระจ่างชัดของข้อมูล ที่บอกว่า ดร.จะมาอยู่แค่ 2 ปีในตำแหน่งรองประธาน แต่ท่านนายกฯบอกว่าไม่มีวาระ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ตกลงเรื่องเป็นยังไงครับ

ดร. ลลิตา – ยังไม่ได้มีการพูด เพราะว่าตัวดิฉันเองนั้นเพิ่งได้ทราบจากท่านนายกฯ ในส่วนตัวนะคะ ส่วนข้อเท็จจริงไม่ทราบนะคะ เพราะว่าพอดีอาจารย์สำราญถามตัวดิฉัน ดิฉันก็ต้องตอบตามที่ดิฉันทราบนะคะ มาทราบเมื่อวันเสาร์นะคะหลังจากที่ท่านนายกฯกำลังจะกลับ ท่านก็ให้เจ้าหน้าที่มาเรียกไปพบ บอกว่าถ้าเป็นเลขาธิการรัฐมนตรีอยู่นี่ ไปลาออกเสีย แค่นั้นเองนะคะ แล้วก็เมื่อวานนี้ก็ในที่ประชุมมีการเสนอชื่อไปเป็น 1 ใน 12 ตามข้อบังคับของพรรคที่ว่า ต้องเสนอชื่อสัดส่วนให้เป็น 3 เท่าของตำแหน่ง เมื่อวานนี้มีเสนอ 4 ตำแหน่ง มีนายกฯ มีประธานสภา แล้วรองอีก 2 ทั้งหมด 4 คนก็คูณ 3 กลายเป็น 12 คน เมื่อวานนี้ก็มีชื่ออยู่ 12 ค่ะ เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนตรงๆว่าไม่ทราบค่ะ

คำนูณ – ไม่มีการพูดกันใช่ไหมครับ

ดร. ลลิตา – ไม่มีค่ะ ไม่มีเลย ไม่เคยค่ะ

คำนูณ – ทีนี้ในส่วนความเห็นส่วนตัวของอาจารย์ คิดว่าจำเป็นไหม เพราะว่าพูดกันตรงๆแหละว่า ไทยรักไทยนี่ ส.ส.เยอะ จะจัดสรรให้ทำงานกันก็ค่อนข้างจะแออัดทีเดียวแหละ

ดร. ลลิตา – อันนี้ต้องแล้วแต่ท่านนายกฯ นะคะ ถ้าท่านคิดว่าพอแล้ว อยากจะให้คนอื่นเข้ามา เพราะว่าเป็นปัญหาอย่างที่อาจารย์สำราญพูดนะคะ ดิฉันคิดว่าตอนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนี่ ก็บอกกับพี่น้องว่าเลือกผู้แทนนะคะ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาเลยนะคะ กลับมาก็ต้องมาทำหน้าที่ของผู้แทนต่อ เพราะว่าเรายังเป็นผู้แทนอยู่นะคะ

คำนูณ – ก็คือยังไงก็ได้ แล้วแต่พรรคจะว่ามา

ดร. ลลิตา – แล้วแต่ท่านนายกฯค่ะ เพราะว่ามารับตรงนี้ก็กราบขอบพระคุณท่านนายกฯ และก็กรรมการบริหารพรรคทุกท่านเลย ที่ให้ความไว้วางใจ และก็ถือว่าได้ให้เกียรติกับ ส.ส.หญิงนะคะ ซึ่งครั้งนี้ได้รับเลือกมาถึง 43 คน แล้วก็เป็นความภาคภูมิใจที่พรรคไทยรักไทยได้เสนอผู้หญิงขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้

คำนูณ – ตัวอย่างจากวุฒิสภาเรื่องอยู่กัน 2 ปีอะไรนี่ มันก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยไม่จำเป็นเหมือนกันนะครับ

ดร. ลลิตา – ค่ะ ก็อันนี้ก็คงทางคณะกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะท่านนายกฯคงดูความเหมาะสมนะคะ แต่ว่าเรียนตามข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบเท่านั้นเอง ก็เพิ่งทราบเมื่อวันเสาร์ที่ 5 เองนะคะ

สำราญ – ก็เป็นกำลังใจ ขอบพระคุณที่ให้เวลาด้วยครับ

ดร. ลลิตา – ขอบคุณอาจารย์สำราญ อาจารย์คำนูณมากเลยนะคะ

สำราญ – ครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น