xs
xsm
sm
md
lg

เปิด ‘ฎีกาหลวงตาบัว’ ฉบับเต็ม ซัด ‘วิษณุ’ อ้างในหลวง-สมเด็จฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดรายละเอียดฎีกา “หลวงตามหาบัว" เตรียมนำขึ้นขอพระราชทานบิณฑบาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยพฤติกรรม "วิษณุ เครืองาม” ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ ไม่สมควรดำรงตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดินต่อไป พร้อมระบุ “สมเด็จเกี่ยว” กระทำการขัดต่อพระธรรมวินัยสมควรถูกถอดถอนสมณศักดิ์

ตามที่ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” จะจัดประชุมใหญ่คณะสงฆ์ขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2548 เวลา 14.00 น.ที่ศาลาใหญ่ วัดป่าบ้านตาด และเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวเรื่องการถวายฎีกาของพระราชทานบิณฑบาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณามีพระบรมราชโองการถอดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ออกจากสมณศักดิ์ และทรงพระกรุณามีพระบรมราชวินิจฉัยไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม ให้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่ “ผู้จัดการออนไลน์” รายงานไปแล้วนั้น

รายงานข่าวล่าสุดมีมาว่า หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ลงนามในฎีกาฉบับที่จะนำขึ้น “ขอพระราชทานบิณฑบาตพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว” แล้ว

หัวเรื่องของฎีกา คือ....

“ขอพระราชทานบิณฑบาต ถอดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ออกจากสมณศักดิ์ และไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม ให้ดำรงตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน”

เนื้อหาสาระได้บรรยายถึงพฤติกรรมของนายวิษณุ เครืองาม และสมเด็จพระพุฒาจารย์ ไว้โดยละเอียด ดังความต่อไปนี้

..........

ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า

ด้วยอาตมภาพ ในนามของคณะสงฆ์และพสกนิกร ภายใต้พระบรมโพธิสมภารที่ได้รับความเดือดร้อนระส่ำระสายอันเกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศฯ กทม. และนายวิษณุ เครืองาม ได้กระทำต่อพระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนเคารพสักการบูชาของปวงชนชาวไทย มีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ โดยบุคคลทั้งสองร่วมกันทำลายหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ตลอดจนศีลธรรมอันดีที่บรรพบุรุษพลีชีพรักษาและสืบทอดต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลานด้วยความรักและหวงแหน เป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ชาติไทยดำรงความเป็นชาติอยู่ได้จนปัจจุบันสมัย

โดย นายวิษณุ เครืองาม ใช้อำนาจในตำแหน่งทางการเมือง ด้วยลวดลายชั้นเชิงทางกฎหมาย และอ้างการกระทำของตนว่า เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า เป็นเนืองนิจ นับแต่การแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2547 ซ้อนกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงสถาปนา ซึ่งเป็นการล่วงเกินพระราชอำนาจและล่วงเกินพระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ คือ ฆราวาสแต่งตั้งพระ มีเพียงกรณีเดียวที่พระธรรมวินัยอนุญาต คือ พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งให้พระภิกษุกระทำการใดๆ ได้

การดังกล่าว คณะสงฆ์ได้ร่วมกันประชุมหลายครั้ง ครั้งสำคัญพระภิกษุสงฆ์จำนวนกว่า 1 หมื่นรูป ได้ร่วมประชุมกันที่วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยยกพระธรรมวินัยขึ้นเป็นหลักในการพิจารณาคัดค้าน และสวดคว่ำบาตรนายวิษณุ เครืองาม คือไม่สมาคมและไม่รับการติดต่อใดๆ ทั้งสิ้นกับบุคคลนี้จนกว่าคณะสงฆ์จะได้มีการสวดยกเลิกการคว่ำบาตร

เมื่อคณะสงฆ์คัดค้านต้านทานการที่นายวิษณุ เครืองาม แต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น นายวิษณุ เครืองาม ได้แจ้งต่ออาตมภาพว่า สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ก็ไม่ไว้วางใจสมเด็จเกี่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ครบกำหนด 6 เดือนแล้วจะดำเนินการเรื่องผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้ถูกต้อง

นายวิษณุ เครืองาม ได้แจ้งให้อาตมภาพทราบด้วยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความปริวิตกเกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นายวิษณุ เครืองาม จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า เรื่องทั้งหมดเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า


ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม 2547 นายวิษณุ เครืองาม ได้เป็นผู้ดำเนินการให้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ด้วยการสร้างสถานการณ์ โดยให้นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือไปถึง ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ขอทราบพระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เพื่อจะนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า แต่ได้มีการนำพระอาการของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ไปเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมและกำกับการของนายวิษณุ เครืองาม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งประโยชน์ ห้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สืบต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

นายวิษณุ เครืองาม อ้างด้วยว่า การที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 นั้น ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในวันเดียวกันกับที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 วันเดียวกันนั้นด้วย

แต่ในการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 และกล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ไม่ต้องโปรดเกล้าฯ แต่เมื่อมีผู้มาทำหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าอยู่หัวก็ควรที่จะทรงทราบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ประชาชนได้แสดงประชามติร่วมกันลงชื่อกว่า 1 ล้าน 7 แสนชื่อ และได้รับการเห็นชอบสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คน เสนอต่อรัฐบาลเพื่อร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นพระราชอำนาจของ สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าเท่านั้น นายวิษณุ เครืองาม ใช้อำนาจในฐานะรองนายกรัฐมนตรีโต้แย้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมสมาชิกพรรคไทยรักไทย และในการประชุมฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล และนักวิชาการสถาบันต่างๆ เพื่อมิให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามการร้องขอของประชาชน ที่ต้องการเทิดพระราชอำนาจของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า เป็นผลให้เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล

และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 นายวิษณุ เครืองาม ได้ให้ความเห็นชอบ และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งว่าจ้างสำนักงานกฎหมายของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีผลต่อกรรมสิทธิ์ในผืนดินอันเป็นแผ่นดินไทยนับแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถึงที่ดินของราษฎรทั้งปวง รวมทั้งที่สาธารณสมบัติ ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ และธรณีสงฆ์ ตกไปอยู่ในสิทธิอำนาจของนายทุนและคนต่างชาติอย่างเด็ดขาดหรืออย่างน้อยเป็นระยะเวลา 50-90 ปี หากการเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในกรณีนี้เท่ากับสิ้นแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทย พระพุทธศาสนาย่อมถึงกาลวิบัติได้ เพราะเท่ากับสิ้นไปซึ่งแผ่นดินอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วย

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ในขั้นตอนดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎี ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นกรรมการกฤษฎีกาด้วย

.................

กรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

นับแต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงงดการเข้าร่วมประชุมมหาเถรสมาคม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม โดยขาดความเคารพในพระธรรมวินัย ไม่คำนึงถึงพระธรรมวินัย ดำเนินการประชุมไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของมหาเถรสมาคม ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงตราไว้และขาดความเคารพต่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงสถาปนา อย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2544 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้เป็นผู้นำร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ พ.ศ...... ซึ่งมีบทบัญญัติที่ขัดต่อพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงขัดต่อโบราณราชประเพณี และขัดต่อจารีตที่ดีงามของพระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ ส่งมอบให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตราเป็นกฎหมาย ใช้บังคับกับพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งปวง และมีผู้ส่งร่างฯ ฉบับเดียวกันไปยังกรมการศาสนาอีกด้วย

อาตมภาพและคณะสงฆ์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนตรวจพบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมหาภัยต่อพระพุทธศาสนา จึงได้ขอร้องต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้นำร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ส่งมอบให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยตนเองนั้น กลับคืนเพื่อนำไปปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติในคณะสงฆ์ และในหมู่พุทธศาสนิกชนเสียก่อน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ตอบว่า ที่ขอนั้นไม่ใช่ไม่ให้ แต่ให้ไม่ได้เพราะหมดหน้าที่ของตนแล้ว และไม่เปิดเผยว่าได้ร่างฯ นั้นมาอย่างไร บุคคลใดหรือคณะบุคคลใดเป็นผู้ยกร่าง อีกทั้งกล่าวขอร้องด้วยว่าให้ช่วยสืบหาผู้ที่ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังกรมการศาสนาให้ด้วย ต่อมานายสมานจิตต์ ภิรมย์รื่น อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ได้เปิดเผยความจริงต่อประชาชนว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ส่งร่างฯ ฉบับเดียวกันนั้นไปให้กรมการศาสนา

คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนผู้เคารพบูชาและเทิดทูนพระพุทธศาสนา ได้ประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพื่อคัดค้านการนำร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ยื่นต่อรัฐบาล ถึงขั้นจะพลีชีพเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัย รัฐบาลจึงได้รับปากว่าจะไม่นำร่างฯ ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีก ภัยในพระพุทธศาสนาอันจะเกิดขึ้น เพราะร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จึงได้ระงับดับไป

ครั้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้รีบร้อนยอมรับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจากนายวิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นคฤหัสถ์อันเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง เป็นการแสดงถึงความขวนขวาย อยากใหญ่ ผิดต่อสมณวิสัย เมื่อรับตำแหน่งแล้วผลีผลามนำพระตราประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของสมเด็จพระญาณสังวร ไปใช้ประทับบนเอกสารต่างๆ อย่างต่อเนื่องหลายวาระ ทั้งๆ ที่พระตราดังกล่าวเป็นพระตราที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงถวายเป็นเครื่องแสดงอิสริยศักดิ์ อิสริยยศ และพระอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะประธานการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ได้เป็นผู้ยกข้อกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา 10 ซึ่งถูกแก้ไขโดยพระราชกำหนดจากการสร้างสถานการณ์ของนายวิษณุ เครืองาม เพื่อให้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเพื่อให้มีมติแต่งตั้งตนเองเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อีกด้วย

การที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เห็นด้วยกับการกระทำของนายวิษณุ เครืองาม เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อพระธรรมวินัย เพราะอนุโมทนารับสิ่งที่ขัดต่อพระธรรมวินัยส่งเสริมให้คฤหัสถ์เข้าแทรกแซง ก้าวก่าย ล่วงล้ำในกิจการของสงฆ์ เป็นการกระทำที่เกินเลยพุทธบัญญัติ เป็นการประทุษร้ายต่อสกุล ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ขาดข้อวัตรปฏิบัติต่อภิกษุผู้อาพาธ และต่อพระมหาเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์ของบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั่วราชอาณาจักร เฉพาะอย่างยิ่งกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทรงสถาปนา

การกระทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดทั้งสิ้นของบุคคลทั้งสองก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดการแตกความสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท เกิดความเดือดร้อนระส่ำระสาย ลุกลามไปทั่วสังฆมณฑล จนไม่อาจจะเป็นที่ยุติได้ เนื่องจากบุคคลทั้งสองอาศัยอำนาจตามพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารราชการแผ่นดิน และอาศัยอำนาจตามพระบรมราชโองการให้มีสมณศักดิ์ขั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผลให้ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ สร้างปัญหาแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างไม่จบสิ้น

อาตมภาพและคณะสงฆ์ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง มีความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแผ่นดินไทยอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และทรงเป็นพระประมุขของปวงชนชาวไทย ได้ถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง และบังเกิดภยันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสังฆมณฑล จากการกระทำของบุคคลทั้งสอง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติไทย พระบวรพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยอาจถึงกาลวิบัติได้

เพื่อระงับเหตุเภทภัยอันบังเกิดแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ อาตมภาพจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ถวายพระพรเพื่อขอพระราชทานบิณฑบาต เพื่อทรงพระกรุณา มีพระบรมราชโองการถอดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ออกจากสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ และทรงพระกรุณามีพระบรมราชวินิจฉัย ไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม ให้ดำรงตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป

ขอเจริญเมตตาธรรมถวายสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า มาพร้อมนี้ ขอถวายพระพร

พระธรรมวิสุทธิมงคล

(พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)


................

ข่าวคืบหน้า “ผู้จัดการออนไลน์” จะติดตามนำมาเสนอต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น