xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "กองบิน 23" อธิปไตยที่แลกด้วยเอฟ 16 เก่า 7 ลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณีรัฐบาลไทยทำสัญญากับกองทัพอากาศสิงคโปร์ให้เข้ามาใช้ กองบิน 23 อุดรธานี เป็นเวลา 15 ปี แลกกับเครื่องบินเอฟ 16 เอ/บี ใช้แล้วจำนวน 7 ลำ ทำให้ฐานบินอุดรธานี หรือที่รู้จักกันในนามกองบิน 23 ได้รับการกล่าวขานอีกครั้ง เมื่อถูกตั้งคำถามว่า การให้สิงคโปร์เข้ามาใช้ฐานทัพดังกล่าวเป็นเวลานานถึง 15 ปี เปรียบเหมือนการเสียอธิปไตยให้กับสิงคโปร์

ฐานบินอุดร มีประวัติอันยาวนาน ได้รับใช้ประเทศชาติในการปฏิบัติภารกิจทางทหารอย่างภาคภูมิตลอดมา ก่อนจะมาเป็นกองบิน 23ฯ ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารในครั้งสำคัญหลายครั้ง

ประวัติกองบินฯ23
พ.ศ.2483 กองทัพอากาศได้เริ่มใช้สนามบินอุดร เป็นฐานบินปฏิบัติการในกรณีพิพาทอินโดจีน โดยส่ง บ.ในฝูงบินโจมตีที่ 41 บน.ผสมที่ 40 บน.ผสมที่ 40 มาประจำ 1 หมู่บิน เป็นเครื่องบิแบบ ฮอว์ก 75, คอร์แซร์ V-93 และ นาโกย่า มีหน้าที่บินรักษาเขตแดนแนวแม่น้ำโขงบริเวณ อ.โพนพิสัย, อ.ศรีเชียงใหม่ และโจมตีทิ้งระเบิดเมืองท่าแขก และเมืองสุวรรณเขตของลาวซึ่งอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสในขณะนั้น นักบินประจำหน่วยนี้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละและความกล้าหาญ เป็นการนำชื่อเสียงมาสู่กองทัพอากาศและประเทศชาติ ได้แก่ ร.อ.พิชิต บุญยเสนา, ร.อ.เย็น เนียมทันต์, ร.ต.ศานิต นวลมณี, ร.ต.เอื้อน เขมะสิงคิ โดยเฉพาะ ร.ต.ศานิตนวลมณี ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญจนกระทั่งเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ หน่วยบินจึงได้สมญาว่า “ฝูงบิน ศานิต นวลมณี”

พ.ศ.2500 กองทัพอากาศได้เล็งเห็นความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ของที่ตั้ง จึงได้มีคำสั่งให้มีการปรับปรุงเพื่อยกระดับสนามบิน และขนานนามสนามบินใหม่ว่า "ฐานบินอุดร" สนามบินอุดรได้ปรับปรุงทางวิ่งเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต เครื่องบินที่ประจำในห้วงเวลานั้นได้แก่ สปิตไฟร์, ไฟร์ฟลาย, และ แบร์แคต

พ.ศ.2504 เหตุการณ์ในประเทศลาว และกัมพูชาได้ทวีความตรึงเครียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทยโดยตรง เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ดังกล่าว กองทัพอากาศจึงได้จัดตั้งฝูงบินอิสระที่ 23 ขึ้น เครื่องบินที่ประจำการในขณะนั้นได้แก่ บ.ฝ.8(T-6)

พ.ศ.2505 กองทัพอากาศได้แปรสภาพฝูงบินอิสระที่ 23 เป็นกองบินผสมที่ 2 (เพื่อพลาง) ตามคำสั่ง ทอ.(เฉพาะ)ลับที่ 13/05 ลง 4 มิ.ย.05 และจากคำสั่งดังกล่าวทำให้ฝูงบินอิสระที่ 23 แปรสภาพเป็นฐานบินอุดร

พ.ศ.2506 กองทัพอากาศได้จัดสร้างสถานีเรดาร์ขึ้นที่ฐานบินอุดร และนำ บ.จฝ.13(T-28) เข้าประจำการแทน บ.ฝ.8(T-6)

พ.ศ.2508 เกิดสงครามเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ขออนุมัติรัฐบาลไทยใช้สนามบินอุดรเป็นที่ตั้งกำลังทางอากาศของตน กองทัพอากาศจึงเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ของฐานบินอุดรเพื่อให้สามารถประสานการปฏิบัติกับ ทอ.อม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พ.ศ.2518 ได้มีการปะทะกันตามลำแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับลาว เมื่อ 17 มิ.ย.18 โดยฝ่ายลาวได้ยิงเรือ นปข.หมายเลข 123 ทำให้ พ.จ.อ.ปรัศน์ พงษ์สุวรรณ จนท.ประจำเรือเสียชีวิต กองทัพอากาศจึงได้ใช้ บ.จฝ.13(T-28) ปฏิบัติการใช้กำลังทางอากาศบินคุ้มกันซากเรือ และบินโจมตีทางอากาศจนภารกิจสำเร็จ นับเป็นวีรกรรมที่ควรยกย่องของฝูงบิน บ.จฝ.13(T-28)ในขณะนั้นด้วย และในปี พ.ศ.2518 นี้สงครามเวียดนามได้ยุติลง สหรัฐอเมริกาได้ตกลงใจถอนกำลังทางอากาศของตนออกจากฐานบินอุดรกลับทั้งหมด

พ.ศ.2520 กองบิน 23 ได้รับการสถาปนาขึ้น ณ ฐานบินอุดร ตั้งแต่นั้นมาปฏิบัติการทางอากาศมากมายได้ก่อเกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในการต่อต้านการก่อการร้าย และข้อพิพาทชายแดน โดยเฉพาะการปฏิบัติการครั้งสุดท้ายในเหตุการณ์บ้านร่มเกล้า ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งชายแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว

พ.ศ.2527 เมื่อ 1 ต.ค.27 กองทัพอากาศได้พิจารณาปลดประจำการ บ.จฝ.13(T-28) เนื่องจากประจำการมานานกับได้มีการวางกำลังหน่วยบิน บ.ข.18/ก ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมสนามบินอุดร และเมื่อวันที่ 1 เม.ย.29 บ.ข.18/ก, บตข.18(F-5A/B&RF-5A) พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายหน่วยจากกองบิน 1 เข้ามาประจำการ ณ กองบิน 23 เป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2531 ได้เกิดกรณีพิพาทบริเวณบ้านร่มเกล้าระหว่างไทยกับลาวขึ้นอีก โดยฝ่ายลาวได้รุกเข้ามายึดพื้นที่ของไทยไว้ส่วนหนึ่ง กองทัพอากาศจึงได้จัดส่งกำลังทางอากาศจากกองบิน 23 ฝูงบิน 231 เข้าร่วมโจมตีอริราชศัตรู ซึ่งได้สร้างวีรกรรมไว้อย่างกล้าหาญและสมศักดิ์ศรียิ่ง มีนักบินของกองบิน 23 ฝูงบิน 231 ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ 2 นาย คือ น.ต.ธีระพงษ์ วรรณสำเริง และ ร.อ.ณฤทธิ์ สุดใจธรรม นอกจากนั้นยังมีนักบินของกองบิน 23 ฝูงบิน 231 อีก 24 นายได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 2 ประเภทที่ 1

พ.ศ.2533 กองทัพอากาศ ได้มีการจัดส่วนราชการใหม่หมดให้กองบิน 23 เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ

พ.ศ. 2541 กองทัพอากาศ ได้จัดทำแผนการปรับโครงสร้างกำลังทางอากาศเพื่อปรับลดกำลังพลและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกองทัพ โดยกำหนดให้ฐานบินอุดร เป็นฐานบินปฏิบัติการหน้า ไม่มีอากาศยานบรรจุประจำการ ดังนั้น เครื่องบิน F-5 รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจึงถูกย้ายไปประจำการ ณ กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่/โจมตี แบบ ALPHA JET จำนวน 20 ลำ กองทัพอากาศมีมติให้ประจำการเครื่องบินดังกล่าว ณ ฝูงบิน 231 กองบิน 23 ฯ และปรับเปลี่ยนระดับของฐานบินอุดร เป็นฐานบินปฏิบัติการหน้า มีอากาศยานบรรจุประจำการ

นับตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ได้มีอากาศยาน 10 แบบประจำการที่ฐานบินอุดร ตามลำดับเวลาคือ HAWK 75, CORSAIR, NAGOYA, SPITFIRE, FIREFLY, BEARCAT, TEXAN, TROJAN , F-5และ AlphaJet

กองบิน 23 ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 60 กม.จากเขตแดนไทย-ลาว มีเนื้อที่ 3,501 ไร่ มีเขตแดนทิศเหนือจดเทศบาลนครอุดรธานี ทิศใต้จดมณฑลทหารบกที่ 24 ทิศตะวันออกจดถนนทหาร ทิศตะวันตกจดโรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์และถนนอุดร-เลย



กำลังโหลดความคิดเห็น