xs
xsm
sm
md
lg

"ไทยเอ็กซ์โพล"..หุ่นยนต์ดำน้ำตะลุยขั้วโลกใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการ "ฅนในข่าว" ซึ่งออกอากาศ ทางช่อง 11 news1 ตั้งแต่เวลา 21.05-22.00 น. ประจำวัน วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2547 ได้สนทนาในหัวข้อ "ไทยเอ็กซ์โพล"..หุ่นยนต์ดำน้ำตะลุยขั้วโลกใต้ โดยมี อัญชลีพร กุสุมภ์ ดำเนินรายการ และ แขกรับเชิญ ประกอบด้วย ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าคณะวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำสำรวจขั้วโลกใต้,ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ,ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล และ พีรภัทร โอวาทชัยพงษ์ ทีมคณะวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำสำรวจขั้วโลกใต้


พิธีกร- สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการคนในข่าว 23 กันยายน พ.ศ. 2547ค่ะ วันนี้เราจะคุยกันในเรื่องของหุ่นยนต์ที่สำคัญก็คือทำหน้าที่พิเศษจะเป็นเครื่องมือของนักวิจัยไทยค่ะที่จะไปร่วมทีมกับนักวิจัยของประเทศญี่ปุ่นในการที่จะไปสำรวจขั้วโลกใต้แล้วก็จะเริ่มงานกันเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว ส่วนทาง ส.ว.ท.ช. หรือว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติก็มีส่วนร่วมสำคัญในการที่จะเดินทางไปร่วมทีมสำรวจของนักวิจัยไทยในครั้งนี้ก็คือทำหุ่นยนต์ตัวนี้ล่ะค่ะ ตอนนี้ก็มีชื่อเรียกว่าไทยเอ๊กซ์โพล 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วน่าสนใจทั้งในส่วนของนักวิจัยไทยที่ไปร่วมทำงานในครั้งนี้ไปได้อย่างไรจะต้องไปทำอะไรบ้าง วันนี้เรามีทั้งในส่วนของทีมงานที่คิดค้นขึ้นมาแล้วก็อาจารย์ที่จะไปร่วมทีมสำรวจกับประเทศญี่ปุ่น

ท่านแรกนะคะขอแนะนำ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ อาจารย์หัวหน้าคณะวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำสำรวจขั้วโลกใต้ค่ะ อีกท่านนึงค่ะ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ อีกท่านนึงค่ะ คุณพีรภัทร โอวาทชัยพงษ์ เป็นผู้ร่วมอยู่ในทีมคณะวิจัยหุ่นยนต์และที่สำคัญท่านสุดท้าย ดร.วรณพ วิยกาญจน์ เป็นนักวิจัยชีวะวิทยาทางทะเลเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วก็เป็นนักวิจัยที่จะร่วมทีมไปใช้หุ่นยนต์ตัวนี้ล่ะค่ะ สวัสดีค่ะ ทุกท่านคะ ขอบพระคุณค่ะ มากที่ให้เกียรติมาร่วมรายการนะคะ ต้องขอเรียนถามดร.จักรกฤษณ์ก่อนว่าใช้เวลานานมั้ยคะกว่าจะทำหุ่นตัวนี้ขึ้นมาได้

ดร.จักรกฤษณ์- หุ่นยนต์ตัวนี้ก็ได้รับมอบหมายให้ทำขึ้นมาและก็มีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัดมากคือไม่ถึง 5 เดือนดีครับประมาณ 4 เดือนกว่าๆ

พิธีกร- อ.วรณพจะต้องเดินทางเดือนพฤศจิกายน

ดร.จักรกฤษณ์- ใช่ครับ

พิธีกร- หุ่นยนต์ตัวนี้พึ่งเสร็จเลยใช่มั้ยคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็เรียกว่าอย่างนั้นล่ะกัน เพราะฉะนั้นค่อนข้างจะเร่งด่วนมากแล้วก็เป็นงานสำคัญซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยครับ

พิธีกร- อ.วรณพคุ้นเคยกับมันรึยัง

ดร.วรณพ- ก็พึ่งเจอกันเมื่อวานนี้เอง

พิธีกร- ถ้าไม่มีหุ่นตัวนี้อาจารย์จะต้องดำน้ำลงไปเองเลยเหรอคะ

ดร.วรณพ- ครับ แผนงานของผมที่เสนอไว้ตอนแรกก็จะมีการดำน้ำแล้วเราก็ได้หุ่นยนต์ตัวนี้มาช่วยก่อนที่จะดำน้ำ

พิธีกร- ไปแหวกดูซิว่าข้างล่างมีอันตรายอะไรรึเปล่าก่อนที่เราจะลงไป

ดร.วรณพ- ครับ ก็คงเป็นลักษณะอย่างนั้นก็คืออาจจะไปสำรวจก่อนที่ผมจะลง

พิธีกร- แต่ยังไงก็คือสุดท้ายก็ต้องลงแต่หุ่นตัวนี้จะลงไปก่อน

ดร.วรณพ- ครับ

พิธีกร- เดี๋ยวค่อยมาคุยกันค่ะว่าดร.วรณพไปได้อย่างไร เดี๋ยวช่วงหน้านะคะจะกลับมาคุยกันต่อ ช่วงนี้พักกันก่อนค่ะ

พิธีกร- เอาล่ะค่ะ กลับมาคุยกันต่อนะคะ มาเริ่มกันที่นักวิจัยไทยก่อนว่าไปร่วมทีมนี้ได้ยังไงคะ

ดร.วรณพ- ผมได้รับการคัดเลือกจาก ส.ว.ท.ช. อันนี้ก็เป็นโครงการภายใต้รัฐบาลไทยที่ได้รับความร่วมมือจากญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไทยก็คือ ส.ว.ท.ช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้รับความร่วมมือจากสภาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติของญี่ปุ่นก็คือทางสถาบันเค้าจัดหาที่ให้นักวิจัยไทยได้ 1 คน ที่จะเข้าไปร่วมในงานนี้นะครับ

พิธีกร- มีคนสมัครไปเยอะมั้ยคะ

ดร.วรณพ- 14 คน

พิธีกร- ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักวิจัย

ดร.วรณพ- ก็มีทั้งนักวิจัยทั้งนักวิชาการรวมทั้งมีพวกชอบทะเลด้วย ซึ่งก็มีความหลากหลาย

พิธีกร- เลือกยากมั้ยคกว่าที่อาจารย์จะเป็นคนที่เค้าเลือกเข้าไปร่วมทีมเนี่ยค่ะต้องไปสอบอะไรบ้างคะ

ดร.วรณพ- ไม่ครับ ก็คือมันมีเงื่อนไขต่างๆ ในการสมัครนะก็คือเราจะต้องมีแผนงานและก็มีเงื่อนไขอยู่ก็คือว่าเราจะต้องนำงานวิจัยของรัฐบาลที่ต้องการนำไปใช้ที่นั่นเอาไปใช้ด้วยและก็มีข้อจำกัดเรื่องอายุ

พิธีกร- คือต้องมีความแข็งแรงหน่อยล่ะ

ดร.วรณพ- ก็คือจะต้องทนต่อทุกสภาวะได้ อีกอันนึงซึ่งเป็นเงื่อนไขซึ่งผมคิดว่าอาจจะได้ประโยชน์สำหรับตัวเองมากก็คือเกี่ยวกับภาษา เพราะว่าเค้าเน้นไว้ที่ว่าถ้าผู้ใดมีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นได้ก็จะได้รับการพิจารณา

พิธีกร- อาจารย์ก็เลยได้รับเลือกไป

ดร.วรณพ- ผมก็พอดีจบที่ญี่ปุ่น

พิธีกร- อาจารย์ส่งแผนไปที่จะวิจัยอาจารย์จะไปทำอะไรคะ

ดร.วรณพ- ผมส่งแผนไปเกี่ยวกับทางด้านศึกษาสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณชายฝั่งของมหาสมุทรแอนตาสติกซึ่งอยู่ติดกับสถานีวิจัยของญี่ปุ่นโครงการที่ผมจะวิจัยก็คือว่าผมอยากศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยอะไรบางอย่างที่อยู่ที่นั่น

พิธีกร- ทีนี้มันต้องลงใต้น้ำ

ดร.วรณพ- ก็พอดีในช่วงหลังๆ ผมก็ทำงานวิจัยทางทะเลทางด้านระบบนิเวศชายฝั่งทางบ้านเราและผมก็ดำน้ำอยู่ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าไปที่นู่นแล้วมีโอกาสได้ดำน้ำเนี่ยมันก็อาจจะเป็นอีกรสชาตินึงก็ได้

พิธีกร- แล้วก็ไปเทรนที่ญี่ปุ่นมา

ดร.วรณพ- ครับก็เป็นการฝึกอบรมธรรมดา

พิธีกร- ไม่ได้ไปฝึกดำน้ำในน้ำแข็ง

ดร.วรณพ- น้ำแข็งไม่ได้ดำครับ แต่ไปดูว่าเรามีทักษะการดำได้จริงรึเปล่า

พิธีกร- ทีนี้ ดร.จักรกฤษณ์ ก็เลยได้โจทย์มาเรื่องนี้สเป็คออกมาเป็นยังไงคะตอนแรก

ดร.จักรกฤษณ์- ก็คือทาง ส.ว.ท.ช.เนี่ยก็ติดต่อมามาทางสมาคมวิชาการไทย ซึ่งอันนี้เป็นสมาคมที่รวมนักวิจัยทางด้านหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยก็จะมีอาจารย์ทางด้านนี้แล้วก็นักวิจัยที่สนใจและก็พวกเราก็เป็น 1 ในกรรมการของสมาคมซึ่งเป็นสมาคมเล็กๆ ก็ทางสมาคมก็ได้นำเรื่องนี้เข้ามาพูดคุยกันในที่ประชุมและก็ทางทีมของม.มหิดลก็คือมีผมมี อ.อิทธิโชติก็ได้รับมอบหมายให้เค้ามารับตรงส่วนนี้

พิธีกร- ผ่านมาทางสมาคมหุ่นยนต์เนี่ยนะคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ใช่ครับ ม.มหิดลก็ยินดีที่จะรับเป็นคนดูแลโครงการนี้ ซึ่งมีข้อจำกัดหลายด้านและค่อนข้างที่จะเป็นโจทย์ที่ยากมากทีเดียว

พิธีกร- ทั้ง 2 ท่านมีความชำนาญอะไรบ้างคะคุณพีรภัทรจบมาทางด้านหุ่นยนต์มั้ยคะ

พีรภัทร- ผมจบวิศวกรรมเครื่องกลครับ

พิธีกร- แล้วอาจารย์ล่ะคะ

ดร.อิทธิโชติ- ผมจบปริญญาเอกทางด้านหุ่นยนต์ครับ

พิธีกร- ทราบว่าเคยทำหุ่นยนต์มาแล้วในการทำปริญญาเอก

ดร.จักรกฤษณ์- ครับ

พิธีกร- ทีนี้ก็เลยมาทำงานนี้

ดร.จักรกฤษณ์- ครับก็โจทย์อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่ว่าเราน่าจะมีหุ่นยนต์ที่ไปช่วยเหลืออ.วรณพก็พูดคุยกันว่าน่าจะเป็นอะไร ก็ออกมาเป็นหุ่นยนต์ดำน้ำครับ

พิธีกร- ใช้เวลาทำงานประมาณ 4 เดือน

ดร.จักรกฤษณ์- 4 เดือนกว่าครับ

พิธีกร- อ.อิทธิโชติเนี่ยรับผิดชอบหุ่นยนต์ตัวนี้ตรงส่วนไหนบ้างคะ

ดร.อิทธิโชติ- จริงๆ แล้วลักษณะทำงานของเราโดยภาพรวมเนี่ย ผมกับอ.จักรกฤษณ์เนี่ยทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น เราจะแชร์เท่าๆ กันในการทำงานและก็มีพีรภัทรมาร่วมทำงาน 3 คนเนี่ยก็จะรู้ในทุกๆ จุด

พิธีกร- ทำจริงๆ 3 ท่านเองเหรอคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็จะมีอาจารย์ที่มาช่วยเหลือจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและก็จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหิดลที่เข้ามาช่วยด้วยเป็นครั้งคราว ส่วนพวกเรา 3 คนนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงมา

พิธีกร- ตรงจุดที่ยากที่สุดอยู่ตรงไหนคะ

ดร.อิทธิโชติ- จุดที่ยากที่สุดอยู่ตรงที่ว่าเราไม่รู้ว่าเราเคยทำหุ่นยนต์ในลักษณะแบบนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการที่โจทย์ที่ให้ว่าต้องไปขั้วโลกใต้ทนอุณหภูมิได้ขนาดนี้แล้วก็ลงไปดำน้ำโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือว่าเราไม่รู้ว่าหุ่นยนต์ใต้น้ำสร้างออกมาแล้วยังไม่เคยทดสอบเลยจุดที่ยากที่สุดก็คงเป็นจุดเริ่มต้นครับ

พิธีกร- ทำแล้วก็มีเสียมีทิ้งไปบ้างมั้ยคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็ไม่ถึงกับเสีย แต่ว่าก็มีเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หน้าตามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

พิธีกร- คุณพีรภัทรส่วนใหญ่ช่วยอาจารย์ตรงไหนบ้างคะ

พีรภัทร- ก็ส่วนใหญ่เราก็ทำงานกันเป็นทีมก็พออาจารย์บอกให้ช่วยไปติดต่อเรื่องนี้ไปตามเรื่องนี้ก็ช่วยอาจารย์ในเรื่องออกแบบบ้างก็จะปรึกษากันว่าแบบนี้ดีมั้ย

พิธีกร- ช่วงแรกแบบนี่ออกมาเป็นรูปร่างแบบไหนคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็เป็นโครงนี่ล่ะครับ แต่ว่าอุปกรณ์ภายในการติดตั้งเนี่ยอาจจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ครั้งแรกก็มีการดีไซน์ลงบนคอมพิวเตอร์ก่อนจากนั้นก็มาพูดคุยถึงว่าความจำเป็นตรงไหนที่ต้องใช้ต้องตัดอะไรออกบ้างแล้วก็ต้องเพิ่มอะไรแล้วก็มาถึงขั้นตอนการทดลองและก็สร้างจริง

พิธีกร- ส่วนประกอบที่สำคัญมีอะไรบ้างคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็จะมีระบบขับเคลื่อน ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นระบบควบคุมระยะไกลผ่านสายสัญญาณก็ระบบขับเคลื่อนของตัวหุ่นยนต์เนี่ยจะประกอบไปด้วยมอเตอร์ที่มีใบพัดเรืออยู่ 3 ชุด เราสามารถควบคุมทิศทางการหมุนของใบพัดได้ แล้วตัวหุ่นยนต์เนี่ยจะแตกต่างจากเรือดำน้ำจริงก็คือของเราเนี่ยเราออกแบบให้มีลักษณะเป็นโครงมีน้ำหนักเบาแล้วก็จะใช้ทุ่นเพื่อให้น้ำหนักเกิดความสมดุลขึ้นทำให้มีความหนาแน่นเท่ากับน้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราวางไว้เฉยๆ ในน้ำเนี่ยมันก็จะไม่ลอยและก็ไม่จมจะอยู่กับที่

พิธีกร- แต่สิ่งที่จะเอามาใช้ในการที่จะเป็นประโยชน์กับอ.วรณพ

ดร.จักรกฤษณ์- ส่วนตัวที่จะมีประโยชน์ก็คือเราจะติดตั้งกล้องวีดีโออยู่ข้างหน้าของตัวหุ่นยนต์ แล้วก็จะถ่ายทอดสัญญาณภาพผ่านสายขึ้นมาบนฐานควบคุมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอ.วรณพจะเห็นภาพข้างล่างเป็นภาพในเวลาจริงตลอดเวลา

พิธีกร- รู้สึกค่าใช้จ่ายประมาณ 2 ล้านใช่มั้ยคะ ตรงไหนคะที่ทำให้มีมูลค่าสูง

ดร.อิทธิโชติ- จริงๆ 2 ล้านนี่คือเป็นงบประมาณของโครงการนี้ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยหลายส่วน ซึ่งมีส่วนของหุ่นยนต์ของเราที่ในการพัฒนาในส่วนของระบบขับคลื่อนของหุ่นยนต์ในการควบคุมการขึ้นลงและก็เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเนี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนบาทและก็จะมีส่วนที่สำคัญก็คือส่วนกล้องในการรับภาพขึ้นมาและก็มีระบบเซ็นเซอร์ส่วนนั้นประมาณ 1 ล้านบาทและก็จะมีส่วนของระบบโซล่าเซลล์ที่ทาง ส.ว.ท.ช.ร่วมกับทางด้านเนคเทคเป็นผู้พัฒนาขึ้นมาโดยฝีมือคนไทยเอง

พิธีกร- นี่คือตัวพลังงานในการขับเคลื่อนใช่มั้ยคะ

ดร.อิทธิโชติ- ในการชาร์จเราวางแผนไว้ว่าเราจะใช้โซล่าเซลล์ตัวนี้ในการชาร์จตัวแบตเตอรี่ในการควบคุมหุ่นยนต์ตัวนี้

พิธีกร- อ.วรณพดีใจมั้ยคะมีหุ่นตัวนี้ขึ้นมา

ดร.วรณพ- ก็ในลักษณะของผมก็คือว่าในการที่จะสามารถนำไปใช้ได้เนี่ยก็อยากที่จะนำไปใช้ เพื่อที่จะให้เห็นว่าเราสามารถที่จะใช้ฝีมือคนไทยของเราเองเนี่ยนำไปใช้ที่นั่นได้อย่างน้อยญี่ปุ่นเค้าจะได้เห็นว่าเราก็มีฝีมือตรงนั้น

พิธีกร- แต่ว่าคงจะต้องเรียนรู้ในการใช้พอสมควร

ดร.วรณพ- ครับ ก็ยังหนักใจพอสมควรในเรื่องของการใช้

พิธีกร- อาจารย์ได้ทดสอบในสภาพควบคุมเหมือนจริงบ้างมั้ยคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็ตามแผนก็คืออาจจะเป็นวันอาทิตย์นี้ครับ

พิธีกร- อุณหภูมิเท่าไหร่คะที่จะไปเจอเนี่ยค่ะ

ดร.วรณพ- อุณหภูมิน้ำเนี่ยอยู่ประมาณ 0 ถึง-1 เพียงแต่ว่าอุณหภูมิภายนอกเนี่ยจะต่ำมาก ซึ่งมันก็อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกระแสไฟฟ้าอะไรต่างๆ

พิธีกร- กระแสไฟฟ้าและพวกอุปกรณ์เซ็นเซอร์อะไรทั้งหมดเนี่ยพอไปเจออุณหภูมิติดลบขนาดนั้นมันอาจจะไม่ทำงานก็ได้นะคะ

ดร.อิทธิโชติ- ตรงนั้นเป็นส่วนนึงที่เราต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าและก็ตลอดเวลาที่เราทำการออกแบบหุ่นยนต์ตัวนี้เนี่ยเราคำนึงจุดนั้นเป็นจุดสำคัญนอกจากอุณหภูมิแล้วยังมีความเค็มการกัดกร่อน

พิธีกร- ความชื้น

ดร.อิทธิโชติ- ครับ เพราะฉะนั้นในส่วนของระบบควบคุมเนี่ยเราพยายามออกแบบให้ง่ายที่สุดแล้วก็คงทนต่อสภาพอุณหภูมิได้ถึง -40 องศาและก็วัสดุที่เราคัดเลือกเนี่ย

พิธีกร- พวกนี้ต้องนำเข้าหมดเลยมั้ยคะ

ดร.อิทธิโชติ- วัสดุส่วนมากเนี่ยจะเป็นของในประเทศไทย

พิธีกร- อ๋อ เหรอคะ

ดร.อิทธิโชติ- ครับ ก็มีวัสดุเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่เราไม่สามารถที่จะหาได้ในประเทศไทย

พิธีกร- เดี๋ยวขออนุญาติพักกันสักครู่ก่อนค่ะ

พิธีกร- เอาล่ะค่ะ แล้วเราก็มายืนอยู่หน้าไทยเอ๊กซ์โพล 1 นี่ดิฉันยกแล้วมันหนักนะคะทำด้วยอะไรคะ

ดร.จักรกฤษณ์- อันนี้เป็นอลูมิเนียมอัลลอยด์เราเลือกวัสดุที่แข็งแรงคงทนและก็ทนต่อสภาพการกัดกร่อนเรื่องของความเค็ม

พิธีกร- ที่นี้สงสัยว่าทำไมต้องใส่ชูชีพให้ด้วย

ดร.จักรกฤษณ์- ก็คือเราไม่ได้ใช้ถังอับเฉาเหมือนเรือดำน้ำจริงก็เราติดทุ่นเข้าไปเพื่อให้มันมีความหนานแน่นเท่ากับน้ำก็คือไม่ลอยไม่จมถ้าเราทิ้งไว้เฉยๆ ไม่เดินเครื่องมันก็จะอยู่นิ่งๆ

พิธีกร- แต่ทีนี้ทั้งหมดนี่จะต้องมีระบบในการควบคุมๆ กันด้วยอะไรคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็คือเราไม่ต้องการให้ไปแล้วมีโอกาสที่จะเสียง่าย เราตัดสินใจว่าเราควรจะเป็นระบบที่ลากผ่านสายสัญญาณ

พิธีกร- สายตรงนี้เห็นว่าความยาวตั้ง 100 เมตร

ดร.จักรกฤษณ์- ก็สายอันนี้ก็จะมีจุดต่อออกมา 2 ชุด อันนึงเป็นสายพลังงานไฟฟ้า

พิธีกร- อีกสายนึงเป็นสายอะไรคะ

ดร.จักรกฤษณ์- เป็นสายควบคุมที่จะควบคุมในการทำงานของระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ทั้ง 3 ตัว

พิธีกร- และอาจารย์ทำระบบบันทึกไว้มั้ยคะ

ดร.วรณพ- ก็จะมีเทปอยู่ในตัวกล้องนี้ด้วย

พิธีกร- อ๋อ อยู่ในนี้เลย

ดร.จักรกฤษณ์- ครับก็ส่งภาพด้วยและก็เก็บภาพไว้ด้วย

พิธีกร- จะป้องกันยังไงไม่ให้มันลงไปแล้วก็ไปติดอะไรต่อมิอะไรที่มันอาจจะเป็นอุปสรรคข้างล่างค่ะ

ดร.จักรกฤษณ์- อันนี้ก็มีโอกาสครับอันนี้ก็ต้องเป็นการตัดสินใจของอ.วรณพ

พิธีกร- มันจะยุ่งเหยิงมากมั้ยคะใต้ทะเลที่ขั้วโลกเนี่ยค่ะ

ดร.วรณพ- คงไม่มั้งครับ เพราะว่าจากที่ได้ศึกษาดูบริเวณนั้นอาจจะเป็นบริเวณที่ไม่เหมือนทะเลบ้านเราก็อาจจะมีพืชเล็กๆ แล้วก็ไม่ได้มีแนวปะการังใหญ่โตเหมือนบ้านเรา เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะเรียบๆ

พิธีกร- จะดูได้ชัดขนาดที่อาจารย์ไม่จำเป็นต้องลงไปใต้น้ำเองมั้ยคะ

ดร.วรณพ- คือตรงนี้จุดประสงค์ก็คือดูว่าบริเวณนั้นจะเป็นยังไงก่อนเพียงแต่ว่าถ้าเราสนใจบริเวณนั้นเป็นพิเศษเราอาจจะต้องลงไปดูจริงๆ บางทีอาจจะต้องลงไปเก็บตัวอย่างขึ้นมาเนี่ย ผมอาจจะต้องลงไปเก็บเอง

พิธีกร- อาจารย์คะถ้าสมมุติว่ามีเวลาที่จะมาวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำอย่างนี้เนี่ยอาจารย์คิดว่าจะต้องปรับตรงไหนบ้างคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ขนาดอาจจะเล็กลงกว่านี้ได้ให้เหมาะสมและก็เราอยากจะมีแขนกล

พิธีกร- มีโอกาสมั้ยที่เราจะพัฒนาถึงขั้นที่ใช้เป็นรีโมทเฉยๆ โดยที่ไม่ต้องมีสาย 100 เมตร 3 สาย

ดร.จักรกฤษณ์- อันนี้ท่านรัฐมนตรีก็ขอไว้ว่าขอแบบไร้สายแล้วก็จริงเนี่ยมันพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

พิธีกร- ตกลงว่าค่าใช้จ่ายกับหุ่นยนต์เท่าไหร่กันแน่คะ

ดร.จักรกฤษณ์- ก็หุ่นยนต์ตัวนี้ไม่นับกล้องกับเซ็นเซอร์เนี่ยงบประมาณอยู่ที่ 4 แสนบาทครับ

พิธีกร- ถ้ารวมหมดล่ะคะ

ดร.จักรกฤษณ์- ถ้ารวมหมดก็ใกล้ๆ 2 ล้านครับ

พิธีกร- นี่ยังไม่ได้คิดค่าทุ่มทุนวิจัย

ดร.จักรกฤษณ์- ไม่เป็นไรครับด้วยใจครับ

พิธีกร- ภูมิใจมากมั้ยคะอาจารย์

ดร.จักรกฤษณ์- ก็ภูมิใจครับที่ได้ช่วยเหลือ อ.วรณพแล้วก็สามารถจะสร้างหุ่นยนต์ที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย

พิธีกร- อาจารย์ถ้าเกิดว่าไปวิจัยในครั้งนี้แล้วสิ่งที่จะได้กลับมาเนี่ยความรู้

ดร.วรณพ- ความรู้แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมหวังไว้ค่อนข้างจะมากก็คือว่าเราคงจะได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยระดับชาติหรือระดับโลกขนาดใหญ่

พิธีกร- จริงๆ ก็เหมือนกับไปเรียนรู้อีก 60 คนที่ไปพร้อมกันด้วย

ดร.วรณพ- ใช่ครับ แล้วเอาตรงนั้นมาถ่ายทอด ผมคิดว่าตรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญมากๆ เลย

พิธีกร- แล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจแล้วก็จุดประกายความสนใจให้กับเยาวชนที่ดูอยู่ในวันนี้นะคะ ขอบพระคุณมากลเยนะคะที่มาเป็นแขกของเรา สวัสดีค่ะ วันนี้คนในข่าวก็ขอลาไปก่อนค่ะ สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น