xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึกวันสำคัญ "7 ตุลาฯ 2486" และ "9 ตุลาฯ 2516"

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

∙∙ เรื่องราวในส่วนที่เป็น หน้ากาก ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังคง ไม่จบ แต่ช่วงสองสามวันนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” จะขอสลับฉากใช้บรรยากาศของเดือนตุลาคม 2547 มารำลึกถึง วิญญูชนที่แท้, วีรชนที่แท้ เพื่อร่วมกัน ทำนุบำรุงจิตใจ กันบ้างในยามที่เกิดเหตุ ทุรชนครองเมือง โดยในชั้นต้นนี้จะขอแหวกแนวย้อนไปพูดถึง วันที่ 7 ตุลาคม กับ วันที่ 9 ตุลาคม เพื่อระลึกถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2486 กับ วันที่ 9 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมากันสักหน่อยจากที่ตั้งใจนำเสนอตั้งแต่วันศุกร์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่เผอิญมีเรื่องราวของ วิญญูชนจอมปลอมคนที่มีพฤติกรรมไร้วัฒนธรรมในการใช้อำนาจ คนนั้นเข้ามาเป็น เหตุเร่งด่วน แซงหน้า

∙∙ ย้อนไปเมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2547 เป็นวันคล้าย วันเสียสละชีวิต ครบรอบ 61 ปี ของ วีรชนชาวไทยคนสำคัญ ที่แม้จะ ไม่มีพิธีระลึกถึงในวงกว้าง เหมือน วีรชน 6 ตุลา, วีรชน 14 ตุลา แต่ในสำนึกของ “เซี่ยงเส้าหลง” แล้ว วีรกรรม, ความเสียสละ ของท่านนั้น ยิ่งใหญ่เป็นนิรันดร์ ไม่แพ้ใคร

∙∙ ขอบันทึกซ้ำ ณ ย่อหน้านี้เพียงสังเขป จำกัด พลางกูร สามีของ ฉลบชลัยย์ พลางกูร หรือ ครูฉลบชลัยย์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกขบวนการ เสรีไทย ที่ทั้ง โดดเด่นเป็นพิเศษ และ โด่งดังที่สุด ท่านนี้เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจาก ท่านปรีดี พนมยงค์ ให้เล็ดลอดเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486 ไปยัง ประเทศจีน เพื่อหาช่องทางติดต่อประสานงานกับมหาอำนาจพันธมิตร อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีไทยในสหรัฐอเมริกา, เสรีไทยในอังกฤษ รัฐบุรุษอาวุโสกล่าวกับ จำกัด พลางกูร บัณฑิตเกียรตินิยมสาขาวิชาปรัชญาจาก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด วัย 26 ปี ในคืนวันก่อนออกเดินทางไปสู่ตำนานเป็นวาทะอมตะว่า “…เพื่อชาติและเพื่อมนุษยธรรมนะคุณ ถ้าเคราะห์ดี อีก 45 วันก็คงได้พบกัน ถ้าเคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็จะได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็จะได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป.” ปรากฏว่าการณ์เป็นไปในทาง เคราะห์ร้ายที่สุด ทูตลับจาก เสรีไทยภายในประเทศ ใช้เส้นทางเดินทางบกผ่าน ลาว, เวียดนาม เข้าสู่ จีน เมื่อ วันที่ 19 มีนาคม 2486 แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดสู่จุดเริ่มต้น จัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย และการติดต่อประสานงานกับ เสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นไปอย่าง ล่าช้า โดย ยากจะหยั่งรู้สาเหตุ ทั้ง ๆ ที่ในเชิงตัวบุคคลแล้ว จำกัด พลางกูร กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่าง รู้จักกันดี ความล่าช้าประกอบกับความตรากตรำและโรคร้ายคุกคามรวมทั้ง หมดหวัง, ไร้กำลังใจ ทำให้ทูตลับจากแผ่นดินสยามท่านนี้ เสียชีวิต ลงจากการสันนิษฐานในภายหลังว่าด้วย โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ เมืองจุงกิง เมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2486 พร้อมกับเปล่งวาจาสุดท้ายสุดท้ายว่า “…เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติ.” ไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้าภรรยาคู่ชีวิต ครูฉลบชลัยย์ ที่จากกันครั้งสุดท้ายขณะไปส่งที่ ชายแดนไทย-ลาว ประมาณ 7 เดือนก่อนหน้านั้น ครูฉลบชลัยย์ จึงได้สืบทอดปฎิธาน “…เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติ และเพื่อมนุษยธรรม.” ของสามีที่ภายหลังจาก วันประกาศสันติภาพ – วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตรี มาโดยตลอด “เซี่ยงเส้าหลง” ขอ น้อมคารวะ มา ณ ที่นี้

∙∙ ความเป็นไปในวันนี้ ครูฉลบชลัยย์ หรือ ฉลบชลัยย์ พลางกูร จะมีอายุ ครบรอบ 88 ปี ในอีกเดือนเศษ ๆ ข้างหน้า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 ที่จะถึงนี้

∙∙ และในวันเสาร์ที่ผ่านมาหากย้อนไปเมื่อ 31 ปีก่อน จะตรงกับ วันที่ 9 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวกันประท้วงรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร เรียกร้องให้ปลดปล่อย 13 กบฏรัฐธรรมนูญ บริเวณ ลานโพธิ์ ท่าพระจันทร์ พวกเขาเป็น กลุ่มอิสระ ที่มาจาก หลากทิศหลายทาง เมื่อ 3 วันก่อนส่วนหนึ่งของพวกเขานัดหมาย สนทนารำลึกความหลัง กันที่ ร้านอาหารโดมนที ธรรมศาสตร์ มี ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา, ไตรเทพ เมนะสุต, เพียรเลิศ วงศ์ภิรมย์สานต์ และ ฯลฯ เป็นอาทิ

∙∙ พูดถึง ลานโพธิ์ ก็น่าเสียดายที่เมื่อ วันที่ 28 กันยายน 2545 เกิดปรากฎการณ์ โพธิ์หัก โดย ต้นโพธิ์ซีกปากฉลามหักลงมา น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครจัดการทำพิธี ค้ำโพธิ์ ตามแบบอย่าง ชนบท ที่มีประเพณี ค้ำโพธิ์, ค้ำไทร เพราะที่นั่นคือ สถานที่ประวัติศาสตร์ เมื่อ 31 ปีก่อนขึ้นไปสัญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกรณีต่าง ๆ มักจะเริ่มต้นขึ้นด้วย โปสเตอร์แผ่นเล็ก กระจายไปทั่วว่า “...พบกันที่ลานโพธิ์.” วันนี้แม้จะยังคงมี ต้นโพธิ์ แต่เหลือสภาพเพียง ครึ่งต้น เท่านั้น

∙∙ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่จู่ ๆ ก็ เกิดขึ้นง่าย ๆ หากแต่มี รากฐาน, พัฒนาการ มาจากความอึดอัดคับข้องไม่พอใจ ระบอบเผด็จการทหาร ย้อนไปไม่ไกลนักก็คือ การรัฐประหารล้มรัฐบาลตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง ของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โน่น

∙∙ ปฏิกิริยาจากนิสิตนักศึกษาในวันนั้นโดยรวม เงียบ แต่เป็น ความเงียบที่แฝงไว้ด้วยความอึดอัดไม่พอใจ มีเพียง นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง เท่านั้นที่ตัดสินใจเดินทางไป อ่านแถลงการณ์-วางหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หนึ่งในกลุ่มนั้นคือ ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ เจ้าของนามปากกา รวี โดมพระจันทร์ ผู้เพิ่งรจนาวรรคทองแห่งกวีนิพนธ์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการต่อสู้ในเวลาต่อมา “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา....” ปฏิกิริยาต่อมาที่แพร่กระจาย เป็นข่าวไปทั่วประเทศ เกิดขึ้นในกลุ่ม นักการเมืองหนุ่ม เมื่อ วันที่ 9 มีนาคม 2515 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั่วไปสมัยก่อนหน้าเมื่อ ปี 2512 จำนวน 3 คน อุทัย พิมพ์ใจชน, อนันต์ ภักดิ์ประไพ และ บุญเกิด หิรัญคำ ร่วมกันเป็น โจทก์ ฟ้องต่อ ศาลอาญา ขอให้พิพากษาลงโทษ จอมพลถนอม กิตติขจร - และพวก ว่าเป็น กบฏ เนื่องจาก “...เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรกับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญประชาชนชาวไทยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ.” ผลปรากฏว่าถูกคณะปฏิวัติสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุม แต่ ไม่ได้ดำเนินคดีตามกระบวนการปกติ กลับมี คำสั่งตามธรรมนูญเผด็จการ โดยอาศัย อำนาจเถื่อน ตาม มาตรา 17 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2514 ลงโทษ จำคุก 10 ปี ทั้งสามถูกจำคุกอยู่ 2 ปี ก่อนจะ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในช่วงรัฐบาล ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว

∙∙ 6 เดือนก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารครั้งสำคัญ การเปิดโปงนายทหารล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรโดยเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการ แม้แกนนำจะเป็น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ 4 สถาบัน แต่หนังสือพิมพ์รายวันที่มี บทบาทนำ ในด้าน ข่าว คือ สยามรัฐ หนังสือลักษณะ สมุดปกดำ ที่ทำสถิติขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วงนั้น บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ปกหน้าเป็น ภาพวาดลายเส้น โดย อาจารย์ตั้ม หรือ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นอกจากนั้นหนึ่งในแกนนำของ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ 4 สถาบัน ที่มี บทบาทสำคัญ ใน การตรึงความรู้สึกมวลชนระหว่างการชุมนุม 9 – 13 ตุลาคม 2516 ก็คือ สวัสดิ์ มิตรานนท์ หนึ่งในสมาชิก โขนธรรมศาสตร์ ที่ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นเอง

∙∙ ขอรำลึกถึง สวัสดิ์ มิตรานนท์ ผู้วายชนม์ไปแล้วนานนับสิบปีสักเล็กน้อย บทบาทที่มีพลัง นอกจากการเดินทางเข้าไปสำรวจความจริงที่ ทุ่งใหญ่นเรศวร และร่วมทำหนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ แล้ว ณ วันเริ่มต้นการชุมนุม วันที่ 9 ตุลาคม 2516 ที่ ลานโพธิ์ ขณะจำนวนผู้คนยัง น้อยนิด เขาคนนี้ประกาศ อดข้าวจนกว่ารัฐบาลจะปล่อยผู้บริสุทธิ์ กลางดึกของคืน วันที่ 12 ตุลาคม 2516 เหลือเวลาอีก 12 ชั่วโมง จะถึง เส้นตาย เขาอยู่ในสภาพ อิดโรย ขอร้องให้เพื่อนช่วยกัน หาม ขึ้นไป ปราศรัยในท่านอน ณ เวทีการนำ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเสียงสั่นเครือแต่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการกล้าต่อสู้กล้าเสียสละ น้ำตาจากผู้คนมากกว่า 1 แสนคนคืนนั้นหลั่งออกมา โดยเฉพาะกับประโยคที่ว่า “...แม้ผมอาจจะอยู่ไม่ถึงเส้นตาย เที่ยงตรงวันพรุ่งนี้ แม้ผมอาจจะไม่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมขอให้เพื่อนทุกคนยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่ออิสรภาพ เสรีภาพ ของคนไทยทั้งมวล.” นอกเหนือจาก มหาตมา คานธี แล้ว “เซี่ยงเส้าหลง” ถือว่า สวัสดิ์ มิตรานนท์ เป็นคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย ณ วันนั้นที่ นอนปราศรัยได้อย่างมีพลังโดยสื่อผ่านร่างกายที่อิดโรยน้ำเสียงขาดหายเป็นช่วง ๆ เขาไม่ใช่ ซ้าย(ในความหมายอย่างแคบ) ตรงกันข้ามกลับจะ อนุรักษ์นิยม เสียด้วยซ้ำ

∙∙ พูดถึง สวัสดิ์ มิตรานนท์ ที่ก่อนหน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ร่วม แสดงละคอน เรื่อง สี่แผ่นดิน สร้างโดย ยุทธนา มุกดาสนิท โดยรับบทเป็น พ่อเพิ่ม ก็ให้ระลึกขึ้นมาได้ว่าทั้ง ยุทธนา มุกดาสนิท และชาว แผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นอาทิ วีรประวัติ วงศ์พัวพัน, พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์, ภรณี เจตสมมา และ ฯลฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มี บทบาทสำคัญ ใน คืนวันที่ 8 ตุลาคม 2516 ที่ร่วมผลักดันให้ ชุมนุม-งดสอบ ใน เช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2516 คนเหล่านี้แน่นอนว่าไม่ใช่ ซ้าย(ในความหมายอย่างแคบ) เช่นกัน

∙∙ นั่นคือการต่อสู้ที่เสมือน การสนธิกำลังระหว่างชนชั้นนำนอกอำนาจบริหารกับประชาชน ที่ก่อตัวขึ้น 6 เดือนก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ควร ศึกษา, เก็บรับบทเรียน อย่างยิ่ง

∙∙ หลายครั้งใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย จุดเริ่มต้นของ การเปลี่ยนแปลง มาจาก เรื่องเล็ก ๆ ของ คนเล็ก ๆ จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ตั้งเค้า มาตั้งแต่ วันที่ 29 เมษายน 2516 และ ก่อตัวเป็นพายุใหญ่เร็วมาก ช่วง พฤษภาคม – มิถุนายน 2516 ไม่ได้มาจาก เหตุผลทางการเมืองโดยตรง ว่าด้วย การต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร หรือแม้แต่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องจาก เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ. 6102 ตกที่อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิตไป 6 คน พร้อมทั้งพบ ซากสัตว์ที่เพิ่งถูกล่าจำนวนหนึ่ง มีการขุดคุ้ยจาก สื่อมวลชน (โดยเฉพาะจาก สยามรัฐ, เดลินิวส์) ที่รับข้อมูลและทำงานประสานกับ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ 4 สถาบัน (ประ กอบด้วย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มอนุรักษ์ป่า ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดลและ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์) ร่วมกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหาใช่เกิดจากการเข้าไป ปฏิบัติราชการ หากแต่เป็นเพราะไป ล่าสัตว์ ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่บริเวณ ทุ่งใหญ่นเรศวร และนอกจาก ทหาร-ตำรวจ แล้วในคณะที่เข้าไป แสวงหาความสำราญจากการล่าสัตว์ ก่อนหน้านั้นยังมี ดาราสาวชื่อดัง ร่วมคณะไปด้วย (คือ เมตตา รุ่งรัตน์) ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ปฏิเสธเสียงแข็ง แม้ว่าในการขุดคุ้ยจะมีภาพถ่ายหมู่ พรานบรรดาศักดิ์ แต่ก็มีเสียงปฏิเสธว่า ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะเป็น ภาพเก่า บ้างก็บอกว่าที่ปรากฏตัวเป็น พรานบรรดาศักดิ์ นั้นก็เนื่องจากต้อง พรางตัว เข้าไป หาข่าว สรุปว่าเป็น การปฏิบัติราชการลับ ท่ามกลาง เสียงปฏิเสธและการเพิกเฉยจากภาครัฐ นิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกจำหน่ายในช่วง ปลายเดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายน 2516 โดยใช้วิธี ขายตรง เปิดขายครั้งแรกที่ หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมชาติ โดยติดป้ายโปสเตอร์มีข้อความว่า “...เราเป็นเด็ก ไม่มีกำลังและอำนาจอยู่ในมือ มีเพียงสัจจะจากปากและใจที่จะเปิดเผยต่อประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ ปราศจากมายาล่อลวงทั้งปวง.” ประชาชนสนใจแห่กันมาซื้อจนเกือบเกิดจลาจล ขายหมด 5,000 เล่มแรกภายในชั่วเวลา 1 ชั่วโมง และหลังจาก พิมพ์เพิ่ม มาเรื่อย ๆ โดยตระเวนไป ขายตรง ในมหาวิทยาลัย-วิทยาลัย-โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ขายได้ 200,000 เล่มภายใน 2 สัปดาห์ วิญญาณแห่ง ความรักในยุติธรรม เริ่มงอกงามขึ้นในหัวใจของ ประชาชนทุกระดับ และ สื่อมวลชน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็น ความผิดแบบไทย ๆ ที่ คนไทยยอมรับไม่ได้ กล่าวคือ ผิดศีล 5 ตั้งแต่ ฆ่าสัตว์, โกหก นี่คือ เนื้อนาดินอันอุดม ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบกล้าของไม้พันธุ์ ต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร ในกาลต่อมา

∙∙ หนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ที่เป็น เอกสารประวัติศาสตร์ ไปแล้วนั้นเป็นที่น่ายินดีว่า ณ วันนี้หาชมได้ทั่วกันทาง อินเตอร์เน็ต ขอให้เปิดไปที่ http://www.geocities.com/tungyai_2516/ มีครบทุกหน้า

∙∙ จาก เรื่องเล็ก ๆ และ ข้อความเล็ก ๆ ในหนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ถูกนำไป ขยายผล ในหนังสือ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ ของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังผลให้ นักศึกษา 9 คนถูกคัดชื่อออก นำไปสู่ การชุมนุมวันที่ 21 – 22 มิถุนายน 2516 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเสมือน อุ่นเครื่อง ก่อน เหตุใหญ่ในอีก 3 – 4 เดือนถัดมา อย่างที่ทราบกันดีอยู่

∙∙ ใครเปิดเข้าไปดู บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ณ ตำบลที่บอกไว้แล้วใน 3 ย่อหน้าก่อนก็จะได้พบ ร้อยกรองบทหนึ่ง ที่ตีพิมพ์โดดเด่นอยู่ ปกหลัง เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า พ่อค้าวาณิช ร้อยกรองบทนั้นชื่อ เกียรติศักดิ์รักของท่าน ขึ้นต้นบทแรกว่า “...พี่ท่านเป็นชายชายทหาร / รอนราญการณรงค์มาหลายหน / นับได้ว่าเป็นยอดขุนพล / เป็นยอดคนชาติเชื้ออาชาไนย / เกียรติศักดิ์แห่งความเป็นขุนศึก / ยังสำนึกในกมลอยู่ใช่ไหม / ลูกผู้ชายไร้สัตย์...บัดสีใจ / ตายไปดีกว่าอยู่สู้หน้าคน.” และในอีกตอนหนึ่งร้อยกรองอายุ 31 ปีว่าไว้ว่า “...นุ่งซิ่นนุ่งลมเสียดีกว่า / ผิดตำตาแล้วยังหลบหน้าหนี / ความลับในโลกหรือจะมี / อย่างน้อยก็อยู่ที่หัวใจ / คารวะมายังพี่ท่าน / ผู้เป็นขุนทหารแห่งทุ่งใหญ่ / เกียรติศักดิ์นั้นคืออะไร / จึงมิยอมมอบไว้กับตนเอง.” ขอฝากนัยแห่งเนื้อหาไว้ให้แก่ วิญญูชนจอมปลอมทุกท่าน ณ วันนี้ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น