ก่อนจะกล่าวถึง "เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องกล่าวโยงไปถึงเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ "นักศึกษา-ประชาชนชาวไทย" ได้แสดง “พลังประชาชนและประชาธิปไตย” อันเป็นพลังที่ส่งผลให้ทิศทางการเมือง และสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว
ผู้นำเผด็จการ 3 คนซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในประเทศขณะนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารบก และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมและบุตรเขยจอมพลประภาส ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย
ชัยชนะของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่สามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้ ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเปลี่ยนจาก “ยุคมืดของเผด็จการ” เป็น “ยุคทอง” ของการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ความตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากห้องเรียนในสถานศึกษา สู่โรงงานและท้องไร่ท้องนารวมทั้งตามถนนหนทางทั่วไป
ช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาได้รับความชื่นชมยกย่องจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อสามารถกำจัดผู้นำเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้แล้ว สังคมไทยควรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดถอนรากถอนโคน โดยมองข้ามความจริงที่ว่า แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่แกนโครงสร้างทางอำนาจของเผด็จการยังคงอยู่ เพียงถอยฉากไปฟักตัวรอเวลาเหมาะสมที่จะเติบโตขึ้นมาอีก เรื่องนี้มีผู้เปรียบอำนาจการปกครองระบอบเผด็จการของเมืองไทยขณะนั้นว่า เหมือนตึกที่มีรากฐานมั่นคง เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเพียงพายุใหญ่ที่พัดกระเบื้อง 3 แผ่นหลุดปลิวไปเท่านั้น เมื่อขับไล่ผู้ปกครองกลุ่มเก่าไป.. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่!!
เกิดวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙
เมื่อสายใยในชาติขาดสะบั้น
สิ้นสายครรภ์มาตุคามไร้ความหมาย
ก่อนกำหนดกฎกำเนิดเกิดเพื่อตาย
เพียงลิ่มเลือดเละร้ายคล้ายเศษคน
ร่างทารกอัปลักษณ์ทะลักหลุด
ซากมนุษย์ที่ชีวิตถูกปลิดปล้น
ประจานเหตุประเทศนี้เกิดวิกล
เกลื่อนถนนก่นสังหาร..ลูกหลานใคร ?
เป็นตราบาปคราบบ้าที่ปรากฏ
ประทับรอยอัปยศครั้งยิ่งใหญ่
ภาพนรกหกตุลาจึงพร่าไป
(สะดวกใจถ้าไม่ต้องเหลียวมองดู)
หากทารกหกตุลายังเหลือรอด
เด็กที่คลอดกลางลานประหารหมู่
กระสุนกราดสาดสั่งเสียงพรั่งพรู
สอนให้รู้หลังตระหนกหกตุลา
เป็นวันเกิดที่มากับการดับสิ้น
ต้องขาดวิ่นสูญวัยไร้เดียงสา
น้ำตาหยาดหมาดแล้วในแก้วตา
เมื่อแผ่นดินมารดากระด้างเกิน
เติบโตและแตกต่างอย่างแกร่งกร้าว
ปวดร้าวคราวปะทะระหกระเหิน
ดาวศรัทธาที่ส่องสร้างเส้นทางเดิน
ร่วงลับเนิน...ฝังสหายอีกหลายคน
คือตำนานเดือนตุลา(ถ้าจะนับ)
ยี่สิบเจ็ดปี.. ที่เกิดดับยังสับสน
ยี่สิบเจ็ดปี...ที่คนขลาดพิฆาตคน
และวิญญาณวีรชนยังวนเวียน
ใครคือ“คนตุลา”?.. อย่าถามไถ่
ถ้าโลกไร้ซึ่งศรัทธากล้าพูดเขียน
ประวัติศาสตร์ขาดหน้าในห้องเรียน
รอแสงเทียนแห่งปัญญามาส่องทาง
ยี่สิบเจ็ดปี.. นิรนามสนามรบ
กี่ร้อยศพกลบหายในความว่าง
เพียงรำลึกรอยอดีตเอาหรีดวาง
ทับรอยจางสีเลือดเหือดไร้รอย..
(จิระนันท์ พิตรปรีชา 4ต.ค.46)ข้อมูลทั้งหมดจากhttp://www.2519.net/