xs
xsm
sm
md
lg

จุดต่างและจุดร่วมของ"ตุลาคม 2516"และ"ตุลาคม 2547"

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• ขึ้นต้นวันแรกของ เดือนตุลาคม 2547 ก็ไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็น เดือนแห่งการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้น, เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง แค่ไหนอย่างไร เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็น เหตุการณ์เคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล คนบางกลุ่มพยายาม สร้างสถานการณ์ให้ เกิดขึ้นอีกครั้งแต่ “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าอะไรก็ตามที่ ไม่เป็นธรรมชาติ, เร่งเกมเกินการณ์ และอาศัยแต่ ยุทธการสร้างข่าวผ่านสื่อ ในลักษณะ Half Truth Propaganda โดยวิธีการ อ้างชื่อ ของ บุคคลระดับนำที่มีชื่อเสียงทางด้านความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นข้าแผ่นดิน ทั้งที่อยู่ในเพศ คฤหัสถ์ และเพศ บรรพชิต นั้นออกจะ ไม่เหมาะไม่ควร และยังจะเป็นเสมือน การทำลายตัวเอง เพราะจะทำให้ คนบริสุทธิ์ ที่ไม่ประสงค์จะตกเป็น เครื่องมือ, บันได เขาเริ่ม อ่านไต๋ออก และที่สำคัญมันจะยิ่งไป เข้าทาง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นะ

•• เหตุการณ์ในระดับ 14 ตุลาคม 2516 หรือแม้แต่ พฤษภาคม 2535 ไม่ใช่สิ่งที่จะ สร้างขึ้นมาได้เอง, คิดคำนวณได้เอง หากแต่ต้อง เป็นไปโดยธรรมชาติ เท่านั้น

•• จุดต่างประการสำคัญที่สุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ ผู้นำประเทศ ในช่วง14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 คือขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจโดย การเลือกตั้ง ภายใต้กรอบกติกาที่คนส่วนใหญ่ยังมี Perception ว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยังไม่เคยมีรูปธรรมของ การปราบปรามประชาชน แม้ในระยะหลังจะเริ่ม เสื่อมมนต์ขลัง และติดกับ ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ ณ นาทีก็ยัง ห่างไกลมาก จากสถานการณ์ที่เอื้อต่อ การระดมมวลชนเคลื่อนไหวขับไล่บนท้องถนน คิดดูให้ดี

•• ไหน ๆ ก็พูดถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว “เซี่ยงเส้าหลง” ก็ขอพูดเสียเลยตั้งแต่วันแรกของเดือนตุลาคมนี้ว่านอกจากด้านหนึ่งจะเป็น เหตุการณ์เคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล แล้วอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเปิดประตูให้ ทุน, กลุ่มทุน สาวเท้าก้าวแรกเข้ามาสู่การบริหารจัดการ การเมือง แทนที่ ทหาร, ข้าราชการประจำ อันเป็นหนึ่งใน สาเหตุของการคอร์รัปชั่นยุคใหม่ ด้วย

•• เพราะมองในแง่ของ เศรษฐกิจการเมือง แล้ว สารัตถะ ของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยครั้งใหญ่เมื่อ 31 ปีก่อนก็คือการเริ่มต้นกวาด ทุนนิยมพรรคพวก ที่ เกาะเกี่ยว อยู่รอบตัวและครอบครัว จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และ นายทหารจำนวนหนึ่ง ออกไปจาก ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ เข้ามา ครองอำนาจ (หรือ มีส่วนร่วมในการครองอำนาจ) ใน ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย คงไม่ลืมกันว่าในระยะแรก ๆ ของ ระบบทุนนิยมในประเทศไทย นั้นน่ะ ผู้นำทางทหารและครอบครัวบริษัทบริวาร ล้วนเข้ามามี เอี่ยว ใน ธุรกิจ อย่างชนิด ตรงไปตรงมา พ่อค้าที่ มีปัญหา ล้วน อยู่ไม่ได้ เห็นได้ชัดในกรณี ธนาคารกรุงเทพ ที่ในยุคนั้นเป็นเสมือน ตัวแทนของระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ ที่ เติบใหญ่ ยังเผชิญ ข้อจำกัด และตัวประมุข ชิน โสภณพนิช เสมือนต้อง ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดน เพราะเป็นที่รู้กันว่า ไม่เป็นที่สบอารมณ์ ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเห็น ๆ หลัง 14 ตุลาคม 2516 นอกจากจะมี รูปแบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง เกิดขึ้นในปี 2518 แล้ว สัญลักษณ์ ที่ ชัดเจนมาก คือนักการเมืองจาก จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ชื่อ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ขึ้นเป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ขณะนั้นมีอีกฐานภาพหนึ่ง กรรมการบริหาร ของ ธนาคารกรุงเทพ นี่คือ สัญลักษณ์ ที่ เด่นชัดมาก ถึงการรุกคืบเข้ามาแทนที่ เผด็จการทหาร ของ ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ, พ่อค้า ชัดเจนมากขนาดโชคชะตากำหนดให้ บุคลิกภาพ ของ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นั้นเป็น ภาพตัด กับ ชนชั้นนำรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พูดภาษาไทยไม่ชัด, ทำตัวตามสบาย-ไม่สำรวม จนวันหนึ่งขณะนั่งบนบัลลังก์ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ท่านหลุดประโยค “...ยุ่งตายห่า.” ออกมาจนกลายเป็น สมัญญา ติดปากคอการเมืองทั่วไปมาอีกนานนับสิบปีในฐานะ “...ประธานสภายุ่งตายห่า.” นั่นเอง

•• แม้นั่นจะเป็นด้านที่ ก้าวหน้า ของ พัฒนาการทางสังคมไทย เพราะตั้งแต่นั้นมา ระบบทุนนิยม เริ่มต้นพัฒนาและเติบโตได้โดย ไม่ติดเพดาน ของ ระบบเผด็จการทหาร แต่ก็ใช้เวลาถึง 31 ปี จึงเดินมาถึงวันนี้ที่กล่าวได้ว่า แผ่กิ่งก้านสาขาเข้ายึดครองทุกปริมณฑลของสังคมไทย ในลักษณะเกือบจะ เต็มพื้นที่ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่ายังจะเป็นด้านที่ ก้าวหน้า สถานเดียวอยู่หรือ

•• เมื่อปีที่แล้ว ส. ศิวรักษ์ กล่าวไว้ในการแสดงปาฐกถา ครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาคม 2516 ว่าผลพวงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ถือว่า เป็นโทษ คือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนขึ้นมากุมอำนาจทางการเมืองแทนที่เผด็จการทหาร สารัตถะนี้เพิ่งจะมามี บทสมบูรณ์ ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มต้นเมื่อ ปี 2544 เปิดอ่านได้ที่ http://www.manager.co.th/Politics/Politicsview.asp?newsid=4643808724283 น่าพิจารณาทีเดียว

•• ประเด็นนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยตั้งคำถามตั้งแต่เมื่อวันนี้ของ ปี 2546 ว่า พลังขับเคลื่อนสำคัญ ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญเมื่อ 31 ปีก่อน ณ วันนี้ควรจะ เน้น แต่ด้าน เฉลิมฉลอง พูดจา ภาษาหรูหรา ที่เป็น นามธรรม หรือจะหันมา ทบทวนความเป็นจริงของสังคมไทย ว่าใช่หรือไม่ที่ ณ วันนี้ ระบบทุนนิยม มีบทบาท สูงเกินไป พลังที่เคยเปิดประตูให้ระบบนี้เติบโตโดยปราศจาก ข้อจำกัด สมควรหันหน้ามา ทบทวนบทบาทตนเอง บ้างหรือไม่

•• ลำพังแต่การเคลื่อนไหว ขับไล่รัฐบาล ไม่ว่า รัฐบาลนี้ หรือ รัฐบาลไหน ถึงที่สุดแล้วใช่หรือไม่ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสารัตถะ แม้แต่น้อย

•• ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ ตัวแทน, สัญลักษณ์ ของ ระบบทุนนิยมเต็มรูป จะไร้เสียซึ่ง จุดอ่อน, ช่องโหว่ ในเชิง เฉพาะตัว เสียเลย

•• เพียงแต่อยากพูดกันอย่างถึงที่สุดตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า จุดอ่อนสำคัญที่สุด เกิดมาจาก ตัวตน ของ ระบบทุนนิยม ชนิดที่เรียกได้ว่า ทำเอง, สร้างเอง นั้นคือ แนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในรอบ 40 ปี ที่ก่อให้เกิด การพัฒนาอย่างไม่สมดุล ทั้งระหว่าง เมืองกับชนบท ระหว่าง ภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม และระหว่าง คนมีรายได้มากกับคนมีรายได้น้อย ทำให้ การเมืองไทย ยังคง ล้าหลัง ผลการเลือกตั้งยังต้องขึ้นอยู่กับ เงิน, ผลประโยชน์ และ ผู้ประกอบอาชีพนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญกันออกมาให้ สวยงาม ขนาดไหนแต่ ความจริงของชีวิต ก็คือ รัฐบาลทุกรัฐบาล จะต้องเผชิญหน้ากับ กับดักการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะต้องใช้ เม็ดเงิน ประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท หรือรวมทั้งระบบแล้ว 1 เทอม 4 ปี ต้องมีอย่างต่ำ 10,000 ล้านบาท อย่างที่ “เซี่ยงเส้าหลง” สาธยายไประดับหนึ่งเมื่อวานนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเร่ง นโยบายเชิงประชานิยม ออกมา มากมาย ขนาดไหนก็หาได้ หนีพ้น ซึ่ง กับดักการเลือกตั้งทั่วไป คือช่วง ต้นปี 2548 ถึงอย่างไรไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ต้อง ใช้เงิน แน่นอนว่าไม่ใช่ ปัจจัยหลักแห่งชัยชนะ แต่เป็น ปัจจัยที่จำเป็นและขาดไม่ได้ ความเป็นจริงที่โหดร้ายของประเทศไทยวันนี้ก็คือไม่ใช่ ใครที่ไหนก็ได้, พรรคการเมืองไหนก็ได้ หิ้วกระเป๋าเงินมาแล้วจะ ชนะการเลือกตั้ง หากแต่จะต้องประกอบด้วย นโยบายที่ถูกใจและจับใจประชาชน อย่างเช่นของ พรรคไทยรักไทย แต่ในทางตรงกันข้าม พรรคไทยรักไทย ก็ไม่อาจจะเข้าสู่ สนามเลือกตั้ง พร้อม ๆ กับ นโยบายที่ถูกใจและจับใจประชาชน โดยละทิ้ง กระเป๋าเงิน ไป

•• นี่คือ จุดอ่อนสำคัญ ที่เสมือนทำให้บุคคลที่ก้าวขึ้นมาเป็น ผู้นำประเทศ เสมือน ต้องคำสาป ให้เดินวนเวียนอยู่ใน วงจรอุบาทว์ใหม่ ที่ประกอบด้วย หาเงิน, เลือกตั้ง, หาเงิน, เลือกตั้ง, หาเงิน, ...... อันก้าวเข้ามาแทนที่ วงจรอุบาทว์เดิม ที่ประกอบด้วย เลือกตั้ง, รัฐประหาร, ร่างรัฐธรรมนูญ, นองเลือด, เลือกตั้ง, ..... ทั้งนี้ก็เพราะ รัฐธรรมนูญที่ทันสมัยที่สุดในโลก อย่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไม่สามารถ รังสรรค์สังคมการเมืองในอุดมคติ ขึ้นมาได้ดั่ง ฝัน และต่อให้ แก้ไข, ร่างใหม่ อีกกี่ครั้งกี่ฉบับก็จะได้ ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่าง ออกไปมากนัก

•• เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นคนหนึ่งที่ รังเกียจการใช้เงิน กับ การเมือง เขาเคยคิดเคยตั้งใจเมื่อ ปี 2539 ว่าจะยัง ไม่เล่นการเมืองต่อไป หากไม่สามารถ เปลี่ยนกฎกติกาทางการเมือง ให้ อารยะ คงจะพอจำกันได้ว่าเขาตั้งใจจะเข้ามาเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดลงสมัครที่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่ แพ้ ถัดจากนั้นใน ปี 2540 – 2541 เขาปฏิเสธความปรารถนาดีของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ขอรับช่วง พรรคความหวังใหม่ แต่ขอ ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในช่วง ปี 2542 ชั้นต้น ๆ นั้นพรรคการเมืองของเขาระดม คนใหม่ ชนิด เกือบจะทั้งหมด แต่แล้วความจริงแห่งชีวิต-ความจริงแห่งสังคมบอกเขาว่าขืนทำเช่นนั้นก็ไม่มีทาง ชนะเลือกตั้ง, ได้อำนาจรัฐ ความตั้งใจดีที่จะเข้าไป แก้ปัญหาประเทศชาติ ก็จะ สูญเปล่า อย่ากระนั้นเลยเห็นทีจะต้อง ประนีประนอมกับความจริงแห่งชีวิต-ความจริงแห่งสังคม หรือยึดคติ End Justify Means โดยยอมรับ คนเก่า, ผู้ประกอบอาชีพการเมืองมาอย่างช่ำชอง เข้ามา ผสมผสาน โดยตั้งความหวังไว้ว่าหลังจาก ได้อำนาจรัฐ แล้วจะใช้ อำนาจเด็ดขาด มาดำเนินการ แก้ปัญหาของประเทศ แล้วใน การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 จึงจะคัดสรรคนได้ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ได้มาซึ่ง อำนาจเด็ดขาด จำเป็นต้อง ขยายฐาน ไปดึง พรรคเสรีธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพยายามอย่างยิ่งกับ พรรคชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา ขณะที่มี ข้อจำกัด ในกระบวนการ เลือกคนทำงาน แม้จะพยายาม สร้างดุล กับ คนเก่า ด้วย คนของเขาเอง แต่แล้วกลับไม่มีข้อแตกต่างใน วัตรปฏิบัติ ระหว่าง คน 2 กลุ่ม (พูดง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจในกรณีนี้ว่าระหว่าง เสนาะ เทียนทอง กับ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์, สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีข้อแตกต่าง) จริงอยู่ ความคิดริเริ่ม, ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เขา รุกคืบ ไปได้มากเหลือเกินบนเส้นทาง แก้ปัญหาของประเทศ แต่นั่นก็ก่อให้เกิด แรงต้าน ชนิด สุดแรง, ทุกทิศทาง ทำให้ต้อง รักษาฐานที่มั่น ไม่อาจจะ ตัดกำลังตนเอง และยิ่งต้องสร้างหลักประกันความมั่นคงว่าจะสามารถ ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 ด้วย คะแนนเสียงเด็ดขาด อย่างน้อยที่สุดก็ ไม่ต่ำกว่าเดิม วงจรอุบาทว์ใหม่ใหม่เริ่มก่อเกิด ณ จุดนี้ คนเก่า ไม่อาจ ตัดทิ้งทั้งหมด ยังคงต้อง ประนีประนอมกับความจริงแห่งชีวิต-ความจริงแห่งสังคม ยังคงต้องยึดคติ End Justify Means นั่นหมายถึงว่า เม็ดเงิน ยังคง จำเป็น แม้ว่าเขาจะมิได้ นิ่งนอนใจ เดินไปตาม ทิศทางการพัฒนาแบบเดิม แต่ระยะเวลาเพียง 3 ปี กับกระบวนการ เริ่มต้นปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา ไม่สามารถ รังสรรค์วัฒนธรรมการเมืองใหม่ ได้ ทันตาเห็น คำถามที่น่าสนใจคือหลัง ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 นายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดคนหนึ่งอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสามารถ หลุดพ้น ออกจาก วงจรอุบาทว์ใหม่ ได้แค่ไหนอย่างไรหรือไม่

•• ช่างเป็น Dilemma ไม่น้อย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกมองและวิพากษ์จากสังคมว่ามีแนวโน้ม เผด็จการ, ใช้อำนาจเด็ดขาด แต่ในความเป็นจริงเพราะ กับดักการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้เขายังคงต้อง ประนีประนอมกับความจริงแห่งชีวิต-ความจริงแห่งสังคม หาได้ ทำทุกอย่างได้ดั่งใจ, เลือกคนทำงานได้ดั่งใจ ไม่

•• พูดอย่างรวบยอดจริง ๆ แล้ว “เซี่ยงเส้าหลง” ยังมองไม่เห็น หนทาง เลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (หรือ ใครก็ตาม) จะหลุดรอดออกจาก กับดักการเลือกตั้งทั่วไป (และ กับดักรัฐธรรมนูญ) ได้อย่างไรกัน

•• นั่นหมายความว่าไม่จำเป็นต้อง เร่งเกมเกินการณ์ จน ไม่เป็นธรรมชาติ อีกไม่ช้าไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องเผชิญ ชะตากรรม จาก กับดัก ปล่อยให้ท่าน ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ไปเถอะ ประชาชน จะเริ่มเห็นเองว่านายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดคนหนึ่งก็ ไม่สามารถหลุดพ้นออกจากวงจรอุบาทว์ใหม่ มีแต่จะยิ่ง ถลำลึก ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นทุกประการจำดำเนินไป อย่างเป็นธรรมชาติยิ่ง เชื่อเหอะ

อาหารสมอง 2 เรื่อง 2 รส – มีหนังสือมาแนะนำสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ 2 เล่ม 2 รส 2 ภาษา เล่มแรกเป็นภาษาไทย “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ – กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้” โดย “เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร” ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมาจากงานวิทยานิพนธ์ที่นำเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2529 และเคยขัดพิมพ์จนขาดตลาดไปแล้ว เหมาะสำหรับอ่านเพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ออกวางจำหน่ายแล้วในราคา 220 บาท หาซื้อได้ทั่วไป ....... อีกเล่มเป็นภาษาอังกฤษ “Good Luck : Create the conditions for success in life & business” เขียนโดย Alex Rovira และ Fernando Trias de Bes เป็นหนังสือที่ฟิลลิป คอตเลอร์ กูรูด้านการตลาดระดับโลก กล่าวว่าเป็นเรื่องที่อ่านได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก คลาสสิคในระดับ “เจ้าชายน้อย” ทีเดียว ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งเข้ามาขายในราคา 635 บาท ลดอีก 15 % เหลือเพียง 540 บาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น