xs
xsm
sm
md
lg

สปอร์ตคลับไฮโซฯอีกแหล่งรวมพล"คนรู้ทันทักษิณ"!?

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

·· ลำพัง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, ประพันธ์ คูณมี หรือ พล.ท.เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม จะมาเป็นแกนนำของ ชมรมคนรู้ทัน คงไม่ค่อยเท่าไรเพราะไม่ถือว่ามี ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ หรือถ้าเป็นเพียง กาญจนี วัลยเสวี ในฐานะ ปัจเจก ก็ยังคงไม่ค่อยเท่าไรนักเพราะก็เพียงแค่ แม่บ้านมีสกุลที่สนใจการเมืองมากกว่าระดับมาตรฐาน แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ต่อท้ายให้ว่าเป็นสมาชิก สปอร์ตคลับ, ไฮโซ ที่กำลัง รวมพลคนไฮโซ นี่แหละจึง เป็นเรื่อง เพราะ สปอร์ตคลับ หรือ ราชกรีฑาสโมสร ถือได้ว่ามี ความหมายในเชิงสัญลักษณ์อย่างยิ่ง ตรงที่เป็นเสมือนตัวแทนของ ชนชั้นนำ, ผู้ดี, ข้าราชสำนัก-ข้าราชบริพาร และ กลุ่มทุนเก่า จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ ณ นาทีนี้จะต้องมี การเคลื่อนไหวทางความคิดคึกคักเข้มข้น ทั้ง หนุน ทั้ง ต้าน การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเร่าร้อนของ กาญจนี วัลยเสวี คนนี้

·· ที่สำคัญก็คือ ณ นาทีนี้ สปอร์ตคลับ หรือ ราชกรีฑาสโมสร เองก็ยากที่จะยังคงไว้ซึ่ง ความเป็นสถาบันชั้นนำหนึ่งเดียว เพราะเมื่อสังคมพัฒนาการเปลี่ยนไป การแปรเปลี่ยนทางชนชั้น จึง เข้มข้น ตลอด 10 – 20 ปีมานี้ เศรษฐีใหม่, ผู้ดีใหม่ และ กลุ่มทุนใหม่ ที่พลิกฐานะชั่วข้ามคืนเพราะนวัตกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ไม่เคยมี ราก, ประวัติศาสตร์ ผูกพันกับ สถาบัน เช่นนี้มาก่อน

·· ขณะเดียวกันในด้านของ สปอร์ตคลับ หรือ ราชกรีฑาสโมสร เองนั้นแม้จะมี การจำกัดจำนวนสมาชิก, การคัดสรรอย่างเข้มงวด-เข้มข้น ในหลายกรณีที่ไม่ตกเป็นข่าวก็ เปลี๊ยนไป๋ เริ่มมี ของหาย ให้เห็น

·· การที่มีความเห็นแตกต่างกันในกรณี กาญจนี วัลยเสวี น่าจะเป็น นิมิตหมาย ให้ สปอร์ตคลับ หรือ ราชกรีฑาสโมสร ได้มีโอกาส ค้นหาตัวเอง ว่าจะเป็นเพียง สถานที่พบปะสังสรรค์ เพื่อ เล่นกีฬา, บ่นสนทนาโดยละเว้นการแสดงบทบาทใด ๆ ต่อสังคม, หาคู่ และ ฯลฯ โดย สยบยอมต่ออำนาจทางการเมืองโดยมิพักต้องไต่ถาม ต่อไปและตลอดไปเท่านั้นหรือ

·· นี่ถือสถาบันที่เป็นหนึ่งในมรดกของ รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์นักปฏิรูปสังคม ผู้ก่อตั้งและสถาปนา รัฐชาติสมัยใหม่ ให้กับ สยามประเทศ พระองค์ทรงริเริ่มสร้าง สนามแข่งม้า ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามประเทศหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจาก ประพาสยุโรป เมื่อ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2441) ปฐมเหตุมาจากราชการพร้อมใจกันจัด งานเฉลิมฉลองถวายการต้อนรับ นอกจากจะมีงานเลี้ยงและการแสดงการละเล่นต่าง ๆ แล้ว สโมสรน้ำเค็มศึกษา แหล่งรวม ข้าราชการที่เป็นนักเรียนเก่ายุโรป ภายใต้การนำของท่านประธาน กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา ตกลงร่วมกัน จัดให้มีการแข่งม้าถวาย โดยใช้ ทุ่งพระเมรุ (หรือ สนามหลวง) เป็น สนามแข่งม้าชั่วคราว การแข่งม้าครั้งแรกในสยามประเทศครั้งนั้นยังไม่มี ม้าแข่งพันธุ์ดีราคาแพงจากต่างประเทศ คงใช้ ม้าเทียมรถ ส่วน จ็อกกี้ ก็ยังคงมาจาก สารถีรถม้า ต่อมาอีกไม่กี่ปีในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย ขณะนั้นอยู่บริเวณตรงข้าม วัดเลียบ (หรือ วัดราษฎรบูรณะ -- ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวแปรเปลี่ยนเป็น การไฟฟ้านครหลวง) มีการพูดถึง การแข่งม้า บรรดาข้าราชบริพารเห็นพ้องต้องกันที่จะให้มี สนามแข่งม้าถาวร รวมทั้ง สโมสรกีฬาตามแบบยุโรป จึงน้อมเกล้าฯถวายความเห็นขอพระราชทาน ที่นา บริเวณ ตำบลสระปทุม มาทำ สนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาตามแบบยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจาก เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสยามประเทศ สมัยนั้น โอรารอฟสกี้ พระบิดาแห่งรัฐชาติสมัยใหม่ของแผ่นดินนี้พระองค์นั้นทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทาน ที่นา 200 ไร่ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของ พระคลังข้างที่ โอนให้เป็นสมบัติของ สนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาแบบตะวันตกแห่งแรกในสยามประเทศ ภายใต้นาม ราชกรีฑาสโมสร หรือ สปอร์ตคลับ แหล่งประทับตราความเป็น ชนชั้นนำของสยามประเทศ จวบจนทุกวันนี้

·· เมื่อ รัฐชาติ ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวตะวันตก จึงเริ่มไหลบ่าเข้ามายังสยามประเทศมากขึ้นและนำ วัฒนธรรม ในความหมายของ แบบวิถีชีวิต ในด้าน พักผ่อน, กีฬา เข้ามาเผยแพร่จนทำให้สถานที่ของ สปอร์ตคลับ มีอันต้อง คับแคบ, ไม่พอรองรับ กับกีฬาใหม่ ๆ ที่เริ่มนิยมกันอาทิ เทนนิส, สนุกเกอร์, บิลเลียด, ยิงปืน และ ฯลฯ จึงตกลงสร้าง สโมสรกีฬาแบบตะวันตกและสนามแข่งม้าแห่งใหม่ ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่’

·· โดยการขอกู้เงิน พระคลังข้างที่ เพื่อหา ซื้อที่ดิน แต่ในที่สุดเปลี่ยนมา ขอพระราชทานที่ดินของหลวง ที่บริเวณ นางเลิ้ง จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ปี 2459 โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระยาสุรเสนา ร่วมประชุมอยู่ด้วย

·· ทั้ง ราชกรีฑาสโมสร และ ราชตฤณมัยสมาคม แม้จะเป็น สนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาแบบตะวันตก ที่อีกความหมายหนึ่งเป็น ตราประทับความเป็นชนชั้นนำ เหมือนกันก็จริงแต่ที่ ต่างกัน ก็คือแห่งแรกบริหารแบบ ฝรั่ง แห่งหลังบริหารแบบ ฝรั่งประยุกต์ ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยเฉพาะในช่วง 40 ปีหลัง ผลแห่งความแตกต่างก็เกิดขึ้นกับ สนามฝรั่ง และ สนามไทย พร้อม ๆ กับ การเปลี่ยนแปลงยกระดับชนชั้นตามการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจไทย เห็นได้ชัดว่าที่ สนามฝรั่ง ป้อมปราการของ ผู้ดีเก่า ยังคงเหนียวแน่นไม่เปิดให้ ผู้ดีใหม่, เศรษฐีใหม่ เดินเข้ามาง่าย ๆ แตกต่างกับ สนามไทย ที่ระยะหลัง กลุ่มอำนาจในชนชั้นปกครอง, ผู้ดีใหม่ เริ่มเข้ามาผสมผสานกับ ผู้ดีเก่า มากขึ้น ๆ จนกลายเป็น แกนนำ ในที่สุด

·· จาก สโมสรกีฬา วัตถุประสงค์เดิมเพื่อ การสมาคมสังสรรค์, ออกกำลังกาย, กีฬา และ เริงรมย์ เริ่มเพิ่มเป็น แหล่งการพนัน ทำให้ ผลประโยชน์หมุนเวียนมหาศาล ทั้ง ในระบบ และ นอกระบบ กลายเป็น กึ่งเปิด-กึ่งปิด, กึ่งถูก-กึ่งผิด แน่นอนว่ากลายเป็นหนึ่งใน แหล่งทุนทางการเมือง ระดับใดระดับหนึ่ง

·· ปรากฏการณ์ในย่อหน้าข้างต้นเห็นได้ ชัดเจน กับ ราชตฤณมัยสมาคม ที่เกิดศึกชิงตำแหน่งกันเมื่อช่วง ปี 2545 คงจะจำกันได้

·· เริ่มจากยุคของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ต่อด้วย พล.อ.สุรสิทธิ์ จารุเศรณี และ พล.อ.โชติ หิรัณยัษฐิติ มาจนถึงยุคของ บุญวงศ์ อมาตยกุล เริ่มมีกลิ่นไอของ การเมือง เข้ามามากขึ้นเพราะเริ่มเข้าสู่ ยุคของนักการ เมืองและการเลือกตั้ง นับตั้งแต่ ปี 2518 เป็นต้นมา

·· เฉพาะ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นั้นตัวท่านมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ม้าแข่ง, สนามม้า มาตั้งแต่สมัยเป็น พ.ท. ตำแหน่ง นายทหารคนสนิท ของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในยุคหลัง จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่มีความใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจาก พรรคชาติไทย ที่ก่อตั้งโดย ทายาท ของ จอมพลผิน ชุณหะวัณ, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่สิ้นอำนาจไปเมื่อ ปี 2500 เพราะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเมื่อการเข้ามาของ บุญวงศ์ อมาตยกุล ได้รับการสนับสนุนจาก ประทวน รมยานนท์ นักการเมืองแห่ง พรรคชาติไทย จึงไม่แปลกที่ พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศขณะนั้น) จะเริ่มเข้าสู่วงการในยุคนั้นและในที่สุดก็กลายเป็น สัญลักษณ์ ของ ราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคสมัยที่ท่านเป็น มท. 1 ได้เปิดยุทธการ ปราบโต๊ดเถื่อน โดยอาศัยมือของ พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส (ชื่อนามสกุลในขณะนั้น) และเริ่มดึง พล.ต.มนูญ รูปขจร (ชื่อในขณะนั้น) เข้ามา

·· การเลือกตั้ง คณะกรรมการอำนวยการ ของ ราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ ปี 2545 นั้นเป็นข่าวใหญ่โตเพราะเกิด กลุ่มเลือดใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ที่เสมือนพกพา นามสกุลชินวัตร ลงมา กรำศึกหนแรก จะโค่นกลุ่มเดิมที่อยู่ภายใต้บารมีของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์, พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร แต่ก็ปรากฏว่า พ่าย กลับไปอย่าง ไร้รูป ทีเดียว

·· แม้จะ พ่ายศึกหนแรก แต่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ก็ได้เป็น ผบ.ทบ. แต่ในที่สุดท่านก็ พ่ายทุกศึก ต้องเสียตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในที่สุด

·· ก็เล่าสู่กันฟังไว้เป็น พื้นฐาน ประดับข่าวการวางตัวลำบากของ กาญจนี วัลยเสวี และ สปอร์ตคลับ ในวันนี้

·· มาต่อเนื่องด้วยเรื่องร้อน ๆ ทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น ที่คณะรัฐมนตรีคุยนอกรอบกันเมื่อ วันที่ 17 กันยายน 2547 และตกลงเลื่อนกำหนด วันประกาศสงคราม จาก วันที่ 3 ตุลาคม 2547 มาเป็น วันที่ 30 กันยายน 2547 กันเสียหน่อยในมุมมองของ “เซี่ยงเส้าหลง” ที่เห็นว่านั่นเป็นเพียง รูปแบบ, พิธีกรรม ที่จะทำให้ ขึงขัง, ตึงตัง อย่างไรก็ไม่สำคัญเท่า เนื้อหา ที่ ไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องของ โครงสร้างทางสังคม ที่เป็น ต้นเหตุ หาก ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่จะกระทำกันก็เพียง แก้ปัญหาปลายเหตุ เท่านั้น

·· การสนองตอบ พระบรมราโชวาทองค์วันที่ 8 กันยายน 2547 นั้นเป็น มงคล แต่จะเป็น มงคลสูงสุด หากสนองตอบพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ทุกองค์ โดยเฉพาะในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา นี้

·· พระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักเศรษฐศาสตร์บางท่านที่อ่านความระหว่างบรรทัดทั้งใน พระบรมราโชวาท, พระราชดำรัส และ พระราชนิพนธ์ทุกองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องทองแดง เห็นพ้องต้องกันว่า พ่อของคนไทย พระองค์นี้ทรงพระราชทาน Bangkok Consensus (ที่อาจแปลเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า ฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ให้ลูก ๆ ทุกคนไปขบคิดว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์ใหม่ มาทดแทน Washington Consensus ได้ในลักษณะใด Bangkok Consensus นี่แหละจะ ขจัดคอร์รัปชั่น ณ รากฐาน ได้

·· ประเทศผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมา 7 ปี แม้บัดนี้สถานการณ์จะ ดีขึ้น โดยมีมิติใหม่ในรอบ 3 - 4 ปีที่เห็นได้คือแนวนโยบายเชิง Populism หรือ Keynesian ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาผสมผสานกับ Neo-Liberalism อาทิ พักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, แปลงสิทธิเป็นทุน, สารพัดเอื้ออาทร, SML และ ฯลฯ ยังคงเป็นได้เพียง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ ปลายเหตุ และใช้เป็นเพียง ยุทธวิธี ไม่ถึงขั้น ยุทธศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วถ้าบ้านนี้เมืองนี้จะสร้าง เศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบ้าน, เศรษฐกิจพอเพียง ขึ้นมาให้ได้ก็มีแต่จะต้องสร้าง ยุทธศาสตร์ ตาม กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วย เศรษฐกิจพอเพียง ที่พระราชทานมาครั้งแรก ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2540 และพระราชทานคำอรรถาธิบายเพิ่มเติมในอีก 1 ปีถัดมา วันที่ 4 ธันวาคม 2541 และสามารถรวบรวมประมวลเป็น Bangkok Consensus จึงจะถือได้ว่า คิดใหม่-ทำใหม่ อย่างแท้จริง

·· เรื่องนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยเล่าถึง เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ในหนังสือSmall is Beautiful : Economics as if People Mattered ของ อี. เอฟ. ชูเมกเกอร์ ที่ใน บทที่ 4 ของงานชิ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรง พระราชนิพนธ์แปล ชื่อ เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา - บทที่ 4 เล็กดี รสโต แต่ ไม่ได้แพร่หลายในวงกว้าง แต่ก็พอจะมองเห็นถึง หัวใจ ของเรื่องราว

·· ทุกวันนี้ดูเหมือน เศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบ้าน หรือ เศรษฐกิจพอเพียง, เศรษฐกิจชุมชน ถูกใช้เป็นเพียง การซื้อเวลา และเป็น ยุทธวิธี ในการแสวงหา คะแนนนิยมทางการเมือง ยังคงขาดลักษณะของ ยุทธศาสตร์ แน่นอนละว่าการเปิด Motto และ Gimmick ใหม่ ๆ ที่ติดหูติดตาชาวบ้าน ได้ผลทางการเมือง แต่ก็หวังไว้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะพิจารณาระมัดระวังไม่ให้ ห่างหัวใจ ของคำว่า พอเพียง ที่ไม่ได้เน้น ตัวเงิน เพราะนี่คือ บ่อเกิดแห่งการคอร์รัปชั่นที่แท้จริง นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น