xs
xsm
sm
md
lg

"ชวนพิศ"ลั่น!!! พร้อมผุด"บ้านเอื้ออาทร"ครบทุก จว. ภายในปี 48

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ผู้ว่าการเคหะฯ” เผย เหตุการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรล่าช้าในระยะแรก เพราะราคาวัสดุปรับตัวสูงขึ้นผู้รับเหมาเมินร่วมประมูล ระบุ หลังการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ คือก่อสร้างในระบบอุตสาหกรรมและการปรับองค์กรให้ทันสมัย ก่อสร้างได้ไวขึ้นกว่าแสนหน่วยต่อปี เผย รัฐบาลตั้งเป้าขยายให้ครบทุกจังหวัดภายในปี 48 ด้านภาคเอกชน แนะ การเคหะควรจัดหารายได้อย่างอื่นเข้ามาเสริมเพื่อชดเชยภาวะการเงินที่ง่อนแง่น

รายการ "ฅนในข่าว" ช่อง 11 news1 ออกอากาศตั้งแต่เวลา 21.05-22.00 น. ประจำวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2547 ได้สนทนาในหัวข้อ “เอื้ออาทรคนรายได้น้อย…ยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยมีคุณอัญชลีพร กุสุมภ์ ดำเนินรายการและแขกรับเชิญ ประกอบด้วย คุณชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ คุณกิติวลัย เจริญสมบัติอมร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทแอดว๊านซ์

พิธีกร- สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ฅนในข่าวค่ะ วันนี้ 4 สิงหาคม 2547 นะคะ สลัมหรือว่าชุมชนแออัดไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะกรุงเทพมหานครนะคะทั่วประเทศคะตอนนี้มีชุมแออัดทั้งนั้น แล้วก็หน้าที่ภาระอย่างหนึ่งที่จะไปแก้ปัญหาชุมชนแออัดเหล่านี้ ยกระดับให้คนที่อยู่ในเรียกว่าดงน้ำคำเนี่ยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นภาระของทางการเคหะแห่งชาตินะคะ การเคหะแห่งชาติทุกวันนี้ถ้าจะพูดถึงการเคหะ คำว่า บ้านเอื้ออาทรนั้นแทบจะเรียกว่าเป็นคำเรียกที่จะแทนไปแล้วนะคะโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯทุกวันนี้มีโอกาสจะได้เห็นโฆษณาบ้านราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 15 ล้าน 50 ล้าน จึงดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนกลุ่มนึงที่จะซื้อบ้านเหล่านี้ แต่ในความจริงแล้วค่าเช่าบ้านก็ยังไม่มี โอกาสที่จะเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองนั้นก็คงจะพึ่งได้เฉพาะการเคหะใช่มั้ยคะสำหรับคนอีกลุ่มนึง วันนี้เราจะคุยกันค่ะว่าหน่วยงานหน่วยนี้ที่ต้องรับภาระหนักหน้าที่นี้ตอนนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไรที่จะสามารถดูแลคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยในราคาถูกให้ได้รับสมความหวัง วันนี้แน่นอนค่ะคงจะไม่มีใครให้ข้อมูลพูดคุยกับเราได้ดีเกินไปกว่าท่านผู้ว่าการการเคหะแห่งชาตินะคะ คุณชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ค่ะ และแน่นอนค่ะการเคหะจะต้องปรับให้อยู่ได้ในภาวะอย่างนี้นะคะการเงินก็สำคัญการบริหารองค์กรภายในก็สำคัญค่ะ ที่ปรึกษาทางการเงินนะคะ คุณกิติวลัย เจริญสมบัติอมร ค่ะ ตำแหน่งคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทเงินทุนแอดว๊านซ์ นะคะ เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจค่ะ สวัสดีทั้ง 2 ท่านค่ะ วันนี้เป็นเกียรตินะคะที่มาเป็นแขกของรายการค่ะ ท่านผู้ชมที่อยากจะฝากคำถามโทรศัพท์เข้ามาได้ที่ 02 – 6294433 ค่ะ เดี๋ยวช่วงหน้าเรามาคุยกันต่อนะคะ

พิธีกร- ฅนในข่าววันนี้นะคะ เราจะคุยกันในเรื่องของการพัฒนาเมืองแออัดนะคะ ความเข้าใจของดิฉันเนี่ยไม่ทราบว่าเข้าใจถูกเข้าใจผิดว่าที่ผ่านมารัฐบาลเนี่ยเอาเงินให้ทางการเคหะสร้างให้ประชาชนถูกมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ค่ะ ส่วนหนึ่งค่ะรัฐบาลจะอุดหนุนในเรื่องของสาธารณูปโภค หมายถึงน้ำ ไฟ อะไรพวกนี้ ในส่วนนี้เนี่ยเป็นเงิน 8 หมื่นบาท

พิธีกร- ก็คือราคาที่การเคหะสร้างจริงๆ ก็คือ 470,000 บาท ขายให้ประชาชนก็คือ

คุณชวนพิศ- 390,000 ค่ะ

พิธีกร- หายไป 8 หมื่น

คุณชวนพิศ- ค่ะ ประชาชนก็จะได้ซื้อในราคาที่ถูกลง

พิธีกร- ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเอาเงินให้การเคหะ แต่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผ่านทางการเคหะ 8 หมื่นนั่นตีเป็นค่าสาธารณูปโภคได้เลย

คุณชวนพิศ- ค่ะให้สูงสุดไว้ 8 หมื่น ถ้าโครงการไหนทำไม่ถึง 8 หมื่น เราก็เบิกไม่ถึง 8 หมื่นค่ะ

พิธีกร- พอมาในยุคนี้เนี่ยอะไรๆ มันก็ปรับเปลี่ยนแพงไปหมดเลยพูดถึงค่าวัสดุก่อสร้าง การเคหะอยู่ได้ยังไงคะถามจริงๆ ตอนเริมโครงการของเอื้ออาทรมาตั้งแต่เดือนไหนคะ

คุณชวนพิศ- รุ่นแรกเลยก็ได้รับอนุมัติเมื่อมกรา 46

พิธีกร- ตอนนี้ก็คือ 1 ปีกับ 7 เดือนแล้ว ค่าปูนขึ้นไปเท่าไหร่แล้วคะ

คุณชวนพิศ- ขึ้นไปเยอะค่ะ ต้องบอกว่า 11 บาทต่อ 1 กิโล มันมาขึ้นสูงสุดเนี่ย เกือบถึง 24 บาท ต่อ 1 กิโล

พิธีกร- จาก 11 บาท เป็น 24 เหล็กล่ะคะ

คุณชวนพิศ- เหล็กอ่ะที่ขึ้นจาก 11 บาท 24 บาท แต่ปูนก็ขึ้นเยอะทีเดียวจาก 70 กว่าบาท เป็นตอนนี้สัก 130 แล้ว

พิธีกร- เกือบเท่าตัว แล้วสร้างได้ยังไงคะบ้านก็ยังหลังเท่าเดิมอยู่

คุณชวนพิศ- อันนี้ก็การเคหะก็ประสบปัญหาเหมือนกันนะคะ เมื่อเดือนกรกฎาคมเนี่ยก็ได้รับอนุมัติมาทำอีกโดยท่านนายกท่านมีเป้าหมายให้การเคหะ 600,000 หน่วยใน 5 ปีเนี่ยนะคะ เราก็เกิดปัญหาในช่วงแรกเนื่องจากวัสดุเนี่ยขึ้นไปในราคาสูงมากเนี่ย เคหะก็ต้องมีวิธีเปลี่ยนไปนะคะ ในการที่จะจัดหาผู้รับจ้างก็มี 2 ประเด็นคือ 1.เราต้องหาผู้รับจ้างที่ทำเป็นระบบอุตสาหกรรมได้ โดยให้เป็นผู้รับจ้างรายใหญ่ให้เขาก่อสร้างในจำนวนที่มากขึ้น แทนที่จะ 500 หน่วย เขาบอกว่าประมาณ 3,000 หน่วยเขาถึงจะสร้างโรงงานได้เราก็จะมอบให้

พิธีกร- คือให้เขาสร้างเยอะไปเลย แล้วให้เขาไปทำงานโรงงานเอง คือว่าให้เขากำไรน้อย แต่ว่าได้ปริมาณหน่อย

คุณชวนพิศ- ก็คือว่าทำโรงงานเนี่ยเป็นลักษณะอุตสาหกรรมต้นทุนจะถูกลง เพราะใช้คนงานน้อยลงนะคะใช้เครื่องจักรมากขึ้นช่วยตึงราคาต้นทุน กับอีกประการนึงในเรื่องของวัสดุเนี่ยเราก็จะตกลงกับซัพพลายเออร์ว่าถ้าผู้รับเหมาของเราซื้อผ่านการเคหะเนี่ยท่านต้องลดราคาให้มากที่สุด โดยการเคหะจะรับประกันในการจ่ายเงินให้ อันนี้ก็ไม่เป็นการบังคับซัพพลายเออร์ก็ต้องสมัครใจเอง ผู้ประกอบการก็จะซื้อผ่านการเคหะก็ต้องสมัครใจเอง ส่วนการเคหะก็เมื่อผู้ประกอบการส่งงวดเรานะคะ เราก็หักเงินส่งให้ซัพพลายเออร์ไปได้

พิธีกร- ระบบต่างๆ เหล่านี้ต้องมาเปลี่ยนหลังจากที่เกิดปัญหาหรือว่าวางไว้ตั้งแต่แรกคะ

คุณชวนพิศ- พอเราทำแล้วรู้ว่าประสบปัญหาเราปรับเปลี่ยนค่ะ ตอนแรกก็ประกวดราคาไปเนี่ย 3 หนนะคะไม่มีผู้มารับจ้างมาวิ่งประกวดราคากับเราเลยถึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่

พิธีกร- จริงๆ แล้วทำให้ช้าลงไปบ้างมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ก็มีอีกอันนึงที่คิดว่าคงเป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญมาก คือปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพขององค์กรด้วย คือในโครงสร้างเดิมเนี่ยไม่เอื้อต่อการจะทำงานให้ตามที่ท่านนายกท่านมอบหมายเป็นจำนวนมากและก็วิธีการทำงานของท่านๆก็อยากให้มีเจ้าภาพ เดิมเราก็จะเป็นฝ่ายๆๆแบ่งกันไป 12 ฝ่าย ก็จะส่งงานกันเป็นฝ่ายๆ ฝ่ายนู้นทำเสร็จก็ส่งฝ่ายนี้จนกว่าจะจบก็เป็นฝ่ายสุดท้ายก็ถ้าฝ่ายไหนทำช้าก็มักจะโทษกันไปโทษกันมา เราก็ปรับรูปองค์กรว่าทีนี้เอาคนใน 12 ฝ่ายเนี่ยแยกกันมาๆรวมอยู่ในเราเรียกว่า BU เป็น Business Unit เหมือนกระบอกเดียวกันเนี่ยนะคะทำเบ็ดเสร็จรับผิดชอบไปเลยเป็น Front Office ซึ่งทำหน้าที่ทำโครงการหน่วยนี้รับไป 3 หมื่น หน่วยนี้ก็อีก 5 หมื่นอย่างเนี่ยค่ะ ให้ชัดเจนเลย ส่วนที่เป็น Support หรือเราเรียกว่าBack Office ก็จะมีฝ่ายบุคลากร ฝ่ายการเงิน หรือสวัสดิการ ก็ไม่ต้องไปอยู่ในส่วนที่เขารับผิดชอบในเรื่องของการผลิต

พิธีกร- จริงๆ แล้วการปรับองค์กรแบบนี้เนี่ยปรับมาก่อนที่จะทำบ้านเอื้ออาทรหรือว่าทำไปพร้อมๆ กันคะ

คุณชวนพิศ- ค่ะ ก็พอได้รับมาก็รีบทำนะคะ เพราะว่าถ้าไม่ปรับนี่ก็จะยิ่งช้ายิ่งกว่านี้ นอกจากปรับองค์กรแล้วยังต้องปรับวิธีการทำงานด้วย การทำงานต้องเร็วขึ้นมากเลยค่ะ ต้องบอกว่าเราเคยทำอยู่ปีละ 15,000 หน่วยเกือบจะสูงสุด มีอยู่ปีเดียวที่เกือบจะ 2 หมื่น เปลี่ยนมาทำ 140,000 หรือ 150,000 หน่วยเนี่ยบอกว่าต้องเร่งรัดประสิทธิภาพด้วย

พิธีกร- ถ้าหากว่าดูโครงสร้างของการบริหารแล้วในด้านการเงินที่มีอยู่ตอนนี้ถือว่ามีปัญหาอะไรมั้ยคะ

คุณกิติวลัย- จากการที่ได้เข้าไปศึกษาดูที่ผ่านมาเนี่ยก็เรียนยืนยันได้เลยว่า การปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพทางด้านบุคลากรองค์กรที่ท่านผู้ว่าฯได้กล่าวถึงเมื่อครู่แล้ว ก็การปรับพัฒนาให้ได้เห็นเทคโนโลยีการก่อสร้าง แล้วก็สามารถวัดผล แล้วก็ได้นำสิ่งที่คล้ายกับภาคเอกชนเข้ามาประยุกต์ใช้ก็คือการวัดประสิทธิภาพประสิทธิผลของผลงานของแต่ละหน่วยงานในแต่ละองค์กรทำให้ผู้บริหารเนี่ยสามารถเห็นปัญหาได้เร็วขึ้นหรือปัญหายังไม่เกิดแต่เห็นได้เร็วขึ้น ตรงนี้ก็ทำให้การเคหะสามารถปรับโครงสร้างทางด้านการเงินเนี่ยดีขึ้น จริงๆ ได้ทำประมาณการให้ทางท่านผู้ว่าฯดูก็มั่นใจได้เลยว่าการเคหะเนี่ยจะสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองก็จะลดการพึ่งพาการเงินจากทางภาครัฐค่ะเป็นองค์กรที่จะอยู่ได้ด้วยตนเองและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เรื่องเกี่ยวกับบุคลากรท่านผู้ว่าฯก็มีแผนที่จะให้ไม่ใช่แค่กำไรของบริษัทนะคะ คงจะต้องให้ค่าตอบแทนพิเศษให้กับคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเขามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นทั้งหมดนี้เนี่ยก็จะทำให้กำไรดีขึ้น แต่ว่าการเคหะต้องเรียนว่าเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักอย่างที่ท่านผู้ว่าฯพูดนะคะ

พิธีกร- จริงๆ แล้วตั้งแต่มีการเคหะมาเนี่ยนะคะ ถามว่าเราทำกำไรมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- คือที่ผ่านมาเนี่ยทุกรัฐบาลก็กำหนดว่าเคหะจะต้องเลี้ยงตัวเอง ก็มีช่วงต้นเนี่ยเราเริ่มขาดทุน แล้วก็มามีช่วงนึงเราเริ่มกำไรติดต่อกันอยู่ 15 ปี ตั้งมาถึงวันนี้เนี่ยปีที่ 31 แล้วนะคะ แต่พอช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในด้านการเงินเนี่ยรัฐบาลก็บอกว่าเกิด อสังหาล้นตลาดห้ามการเคหะสร้างเพิ่มเลยติดต่อกันถึง 5 ปีเนี่ย เมื่อคนในองค์กรเนี่ยกินแต่เงินเดือน แต่ไม่ให้ทำงานไม่ให้สร้างผลงานของตัวเองเลยเนี่ยมันเลยนำมาถึงความขาดทุน ตอนที่ดิฉันมารับเป็นผู้ว่าการเนี่ยในปีแรกเนี่ยก็จะขาดทุนมากถึงพันล้านนะคะ เราก็มาช่วยกันคนทั้งองค์กรนะคะช่วยกัน เราลดการขาดทุนเหลือร้อยกว่าล้านก็เป็นหน้าที่ของทั้งองค์กรนะคะ รัฐวิสาหกิจเนี่ยก็ยังจะต่างจากบริษัทส่วนนึงนะคะคือ บริษัทเอกชนเนี่ยมุ่งกำไรเป็นหลัก แต่รัฐวิสาหกิจเนี่ยมุ่งความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเนี่ยเรารับทำบ้านเอื้ออาทรเนี่ยเราคิดเพียง 5% จากโครงการ

พิธีกร- ปกติเอกชนทั่วไปเขาคิดเท่าไหร่คะ

คุณกิติวลัย- 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

คุณชวนพิศ- เพราะฉะนั้นเนี่ยตรงส่วนนี้เนี่ยเราจะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าคุณกิติวลัยเนี่ยก็เข้ามาช่วยดูนะคะว่าถ้าเราไม่ทำให้มีประสิทธิภาพบริหาร 5% ไม่ดีเนี่ยนะคะเราอาจจะขาดทุนได้

พิธีกร- ถ้าขาดทุนนี่คือการเคหะรับเองเลยใช่มั้ยคะ

คุณกิติวลัย- ค่ะ การเคหะรับเอง แต่ว่าในที่สุดเนื่องจากการเคหะเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยทางอ้อมก็เป็นหน้าที่ทุกคนที่จะต้องช่วยประเทศชาตินะคะ และจากที่ดิฉันเข้าไปศึกษาดูเห็นได้ชัดเลยว่านอกจากชุมชนแออัดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็เป็นผู้มีรายได้น้อยความเป็นอยู่บ้านช่องเนี่ยก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากลนะคะ แล้วก็บ้านเมืองบางส่วนก็ทรุดโทรมลงก็คงคิดว่าภารกิจหลักของการเคหะก็คงต้องอยู่อีกนาน

พิธีกร- ภารกิจหลักก็คือสร้างบ้านให้คนที่มีรายได้น้อยได้ที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น

คุณกิติวลัย- ค่ะ อันนี้คงจะเป็นภารกิจหลักที่ทำต่อไป แต่เนื่องจากว่าประเทศไทยในขณะเดียวกันก็มีฐานะการเงิน การคลังที่ยังไม่ค่อยดี อันนี้ดิฉันก็เห็นว่าการเคหะนี่ควรที่จะทำโครงการบางอัน ถ้าหากมีการวางแผนล่วงหน้าไปนานๆ เนี่ย แล้วเรามีเครื่องที่จะชี้วัดว่าจะมีปัญหารึเปล่า ภาวะการเงินจะส่งผลกระทบต่อโครงการนี้โครงการนั้นหรือไม่ก็อาจจะมีการจัดหารายได้อย่างอื่นเข้ามาเสริมชดเชย

พิธีกร- เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้

คุณกิติวลัย- ใช่ค่ะ

พิธีกร- โครงการในลักษณะอย่างรี้เนี่ยต้องดูให้ละเอียดมั้ยคะ เพราะว่าในช่วงนี้ที่วิตกกันมากก็คือดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้น แล้วมันก็อาจจะเกิดผลได้ต้องถี่ถ้วนขนาดไหนคะ

คุณกิติวลัย- โครงการแบบนี้ต้องถี่ถ้วนมาก อันแรกต้องวิเคราะห์โครงการว่าถ้าหากสร้างแล้วจะมีคนไปอยู่จริงๆ ขาดสาธารณูปโภคอะไร การขนส่งเนี่ยคนอยากจะอยู่มั้ย ตรงนี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์โครงการก่อน 2.คงต้องวิเคราะห์ว่าผู้ที่ไปอยู่อาศัยเนี่ยมีรายได้พอจะซื้อบ้านได้ราคาสักเท่าไหร่อย่างไร

พิธีกร- ตรงตามความต้องการของตลาดรึเปล่า

คุณกิติวลัย- ค่ะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทางท่านผู้ว่าฯเนี่ยเริ่มมาดำเนินงานดู คือการสร้างสารสนเทศ ซึ่งท่านผู้ว่าฯจะขยายความให้ฟัง

คุณชวนพิศ- ค่ะ คือการดำเนินการต้องวิเคราะห์โครงการอยู่แล้ว แต่ว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจบางทีมันก็คาดไม่ได้ แต่ว่าเราก็ต้องให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น เราก็จะปรับปรุงการเคหะจะปรับปรุงใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อความเป็นระบบทั้งหมดเนี่ยให้รู้ทั้งรายรับรายจ่าย เกิดรายจ่ายปั๊ปเนี่ยคุณต้องลงๆ ไปเลย วันนี้เนี่ยเราปิดบัญชีได้เลยว่าเรามีรายจ่ายเท่าไหร่รวมทั้งรายรับด้วย ซึ่งก็จะเสร็จในปีหน้า

พิธีกร- เมื่อก่อนไม่ทำขนาดนี้เหรอคะท่านผู้ว่าฯ

คุณชวนพิศ- ค่ะ เมื่อก่อนเราไม่มีขนาดนี้

พิธีกร- พอถึงฤดูปิดทีนี่ถึงจะทราบว่าขาดทุนแล้ว

คุณชวนพิศ- ใช่

คุณกิติวลัย- อันนี้ก็เป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มันทันสมัยมากขึ้นมาปรับใช้อย่างที่ท่านผู้ว่าฯกล่าวถึง การที่ใช้ตรงนี้มากขึ้นเนี่ยก็ช่วยทำให้การบริหารจัดการเนี่ยมีประสิทธิภาพมากขึ้นอันนี้เป็นเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2 เนี่ยต้องเรียนว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของเราเมื่อ 5 ปีที่แล้วเนี่ยไม่ใช่เฉพาะการเคหะเท่านั้นที่ประสบปัญหา ต้องเรียนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกแห่งเหมือนกันหมด เรื่องใหญ่ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ย ฟองสบู่แตก ทำไมฟองสบู่ถึงแตกก็คงจะเป็นเรื่องการขาดข้อมูล ถ้าทุกคนเนี่ยสร้างบ้านติดต่อกันหรือสร้างคอนโดติดๆ กันเนี่ยมันก็เกิดสภาพที่เราเรียกว่า Over Supply ในปริมาณมากว่าอุปทานที่มีอยู่

พิธีกร- จริงๆ แล้วเนี่ยมีบางจังหวัดใช่มั้ยคะที่เราไปเปิดให้จองโครงการเอื้ออาทรแล้วยอดจองไม่เต็มเนี่ยมีบ้างมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ไม่มีค่ะ ไม่ปรากฏเลยค่ะ

พิธีกร- ล้นทุกที่

คุณชวนพิศ- ล้นทุกที่ค่ะ

พิธีกร- เพราะฉะนั้นเนี่ยจริงๆ แล้วถ้าหากดูตลาดคนกลุ่มนี้เนี่ยน่าจะไปได้อีกไกล ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าการที่จะต้องเข้าไปอุดหนุนบางส่วนใช่มั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ค่ะ คือถ้าต้องการให้เขาสามารถผ่อนชำระได้เนี่ยก็อุดหนุนบางส่วนนะคะ เราคิดตามที่การเคหะได้ศึกษามาโดยละเอียดระหว่างคนเงินเดือนที่เริ่มต้นที่จะผ่อนบ้านได้จริงๆ ประมาณ 15,000 บาท เขาไม่ควรจะมีค่าใช้จ่ายเกิน 1,500 บาท คือ 10%ในการผ่อนต่อเดือนที่เหลือเนี่ยก็เป็นการกินอยู่หลับนอนใช้ค่าเดินทางอะไรก็แทบจะต้องบอกว่าประหยัดสุดๆ เพราะฉะนั้นเนี่ยเมื่อกำหนดความสามารถในการผ่อนชำระ 1,500 ต่อเดือน มันถึงเป็นที่มาว่าทำไมราคาถึงต้อง 390,000 บาท และอัตราผ่อนส่ง 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยที่เราคาดว่าไม่เกิน 7 %

พิธีกร- แต่ถ้าสมมุติคนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท อย่างคนที่รู้สึกว่าอยากจะอยู่บ้านเอื้ออาทร อาจจะมีเงินเดือนสัก 3 หมื่น ทุกวันนี้บ้านหลังละ 3 ล้าน ก็อาจจะอยากซื้อบ้านสักหลังละ 1 ล้านหรืออาจะไม่ถึงล้านนึงดีนะคะ การเคหะจะลงไปตลาดกลุ่มแบบนี้บ้างมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- เราอาจจะต้องรออีกสัก 2 ปีนะคะ ก็คือว่าตอนนี้เรามีภารกิจหนักมากในเรื่องของบ้านเอื้ออาทรที่เรารับผิดชอบตามที่รัฐบาลมอบหมายเนี่ย เดี๋ยว 2 ปีเราก็อาจจะพัฒนาสำหรับคนที่มีรายได้ปานกลาง เพราะเรายังมีที่ดินที่มีศักยภาพอยู่ แต่ก็ราคาเท่าไหร่เนี่ยเราอาจจะคาดยาก เพราะ 1.ราคาที่ดินมันก็ขึ้นไป 2.ราคาวัสดุมันก็ขึ้นไป

พิธีกร- ที่ดินในมือเราเนี่ยเวลาที่เราจะทำบ้านออกมา สมมุติว่าจะทำอีก 2 ปี เราก็คำนึงถึงต้นทุนในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

คุณชวนพิศ- ใช่ค่ะ

พิธีกร- ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนตอนที่เราซื้อมา

คุณชวนพิศ- ไม่ใช่ค่ะ

พิธีกร- ค่ะ เอาล่ะค่ะ เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ก่อน แล้วเดี๋ยวช่วงหน้ากลับมาคุยกันค่ะ

พิธีกร- เรื่องของโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อยนะคะ มีคนถามมานะคะเมื่อไหร่บ้านเอื้ออาทรจะเปิดอีกสักทีนึงคะ

คุณชวนพิศ- ค่ะ ปี 48 เราจะเปิดอีกค่ะ สำหรับกรุงเทพมหานครนะคะ ค่ะ เพราะว่าปี 47 เนี่ยก็อยากจะทำให้คนที่มาจองแล้วเนี่ยได้ไปก่อน จัดเป็นลำดับรุ่นแรก รุ่นที่ 2 ไปเลยค่ะ

พิธีกร- ถ้าปี 48 เริ่มในกรุงเทพฯ แล้วต่างจังหวัดล่ะคะ

คุณชวนพิศ- ต่างจังหวัดนี่เราเปิดไปตอนนี้ 50 จังหวัดนะคะ ก็จะทำให้ครบ 75 จังหวัด ภายในปี 48 ค่ะ

พิธีกร- ปี 48 อย่างน้อยจะมีทุกจังหวัด

คุณชวนพิศ- ใช่ค่ะ

พิธีกร- แล้วพวกที่เปิดไปแล้วโครงการนึงจะเพิ่มได้แล้วรึยังคะ

คุณชวนพิศ- ก็ถ้าได้รับให้ทำต่อเราก็จะเพิ่มคะ เพราะว่าทุกแห่งเนี่ยเราทำเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 500 หน่วย เราก็ต้องเทสต์ดูว่าคนพอใจมั้ย

พิธีกร- ถ้าหากว่ายึดตามคำที่ท่านนายกรับปากกับประชาชนไว้ว่ายังไงก็จะทำให้ทุกคนมีบ้านอยู่ ถ้ายึดตามนั้นก็ขอให้ใจเย็นๆ แล้วกันมีแน่

คุณชวนพิศ- ค่ะ

พิธีกร- และก็พวกอาคารที่เป็นหนี้เน่า การเคหะทุกวันนี้เข้าไปดูแลหรือว่ารับเอามาพัฒนาใหม่ แล้วขายบ้างมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- เราทำเมื่อตอนเกิดวิกฤตอสังหาฯ คือท่านรัฐมนตรีคลังเนี่ยให้การเคหะมาทดลองเอาหนี้เน่ามาพัฒนาขายเนี่ยนะฮะก็ได้ทำไปหลายโครงการทีเดียว และตอนนี้เนี่ยไม่มีใครมาเสนอราคาเขาคงไปได้เองแล้วนะคะ เรารับนะคะ เรารับ

พิธีกร- มาอีกเรื่องก็อดที่จะถามไม่ได้คือ เรื่องของดินแดงนั่นคืออาคารแรกของการเคหะเลยรึเปล่าคะ

คุณชวนพิศ- เราได้รับโอนมานะคะ อาจจะเป็นอาคารแรกของประเทศไทยที่สร้างในลักษณะนั้นค่ะ

พิธีกร- ดิฉันเคยไปทำข่าวบางหลังเนี่ยนะคะปูนก็ผุ แล้วพวกสีเนี่ยก็เก่าขนาดที่ต้องกางร่มอยู่เก่าขนาดนั้น

คุณชวนพิศ- ค่ะ มันก็ต้องทรุดโทรมตามอายุการใช้งานนะคะ

พิธีกร- จะทำยังไงดีคะที่จะทำให้คนที่อยู่ตรงนั้นเขาอยู่ในสถานที่ๆ ดีขึ้น

คุณชวนพิศ- เรายินดีที่จะรื้อออกแล้วทำใหม่นะคะ มันแน่นอนมันก็ต้องราคาแพงขึ้นมันผ่านมาถึง 45 ปีแล้วเนี่ย ค่าเช่ามันก็ต้องแพงขึ้น

พิธีกร- ตอนนี้เขาจ่ายอยู่เท่าไหร่คะ

คุณชวนพิศ- ยังมีบางห้องจ่ายอยู่ 600 บาท ต่ำสุดมันก็เลยมีปัญหาว่าเนื่องจากราคาที่ตัวเองอยู่มันต่ำกว่าตลาดมากๆ

พิธีกร- ตรงนั้นจริงๆ วิเคราะห์มั้ยคะว่ามันควรจะเป็นอะไรนอกจากการอยู่อาศัย

คุณกิติวลัย- ตรงเรียนว่าที่ดินตรงนั้นเนี่ยมันมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่จะจัดทำเป็นอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยมากๆ เช่น มีกำลังจ่ายแค่ประมาณ 600 บาทเนี่ยนะคะ มันคงแพงเกินไป แต่ปัญหาอีกปัญหานึงก็คือว่า ถ้าหากก่อสร้างหรือทำอะไรตรงนั้นเนี่ยคนที่อยู่ปัจจุบันจะไปอยู่ที่ไหนมันก็จะต้องมีการสร้างโครงการพิเศษขึ้นมาเพื่อเป็นการย้ายตรงนั้นก่อนรึเปล่าอันนั้นก็จะต้องมีการศึกษาขึ้นมา

คุณชวนพิศ- ค่ะ เดี๋ยวสรุปให้ฟังประชาชนจะได้เข้าใจนะคะ ก็คือว่าจริงๆ เราทราบดีว่าเขาต้องการอยู่ตรงนั้น เราก็ให้เขาแสดงความต้องการใครต้องการอยู่ตรงนั้นก็จะให้อยู่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างมากขึ้นในส่วนนึง เพื่อจะทำราคาสูงเอามาชดเชยกับส่วนนึงอาจจะต้องเป็นพาณิชย์กรรม โรงแรม ศูนย์การค้าหรือว่าศูนย์ประชุม เพราะว่าเราดูพร้อมกันในการพัฒนาตรงนั้นเนี่ย กรุงเทพมหานครเนี่ยจะสร้างเป็นศาลาว่าการใหม่ที่สวยงามมาก การรถไฟตรงมักกะสันเนี่ยเขาวางแผนไว้ว่า

พิธีกร- อ๋อ จะไปสุวรรณภูมิ จะต้องเป็นศูนย์กลางเลย

คุณชวนพิศ- ใช่ค่ะ โดยที่ว่าให้คนเช็คเอ๊าท์ตรงนี้ แล้วก็นั่งรถไฟตรงไปสุวรรณภูมิเลย ถูกมั้ยคะ จะลงตัวพอดีเลย เราก็วางแผนร่วมกัน 3 หน่วยนะคะ อันนี้เราก็อยากเห็นภาพอันนั้น อันนี้สำคัญมาก เพราะงั้นโครงการต้องคิดอย่างดี แต่ว่ามันก็ควรจะทำ เพราะว่าอาคารเนี่ย 50 ปีมันก็จะยิ่งลำบากขึ้นมันอาจจะโครมมาวันไหนก็ได้ อันนี้จะรีบทำเสนอรัฐบาลต่อไปค่ะ

พิธีกร- ตอนนี้ขั้นตอนเนี่ยอยู่ที่รัฐบาลตัดสินใจใช่มั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ส่วนนึงอยู่ที่ความร่วมมือของประชาชนที่จะเข้าใจซึ่งตอนนี้เราก็ชี้แจงไปบ้างแล้ว

พิธีกร- คือได้คุยกันมาหลายรอบมาก แล้วทางฝ่ายดินแดงเองเขาก็มีปฏิกิริยาของเขาเหมือนกัน

คุณกิติวลัย- คือการทำธุรกิจแบบนี้เป็นการทำธุรกิจแบบผสมผสาน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเนี่ยมันก็จะต้องมีการจัดที่ส่วนหนึ่งให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็จะได้อยู่อาศัยในบริเวณแถบนั้นถ้าประสงค์จะอยู่

พิธีกร- ยังมีโครงการของการเคหะที่ยังเหลือๆ อยู่บ้างมั้ยคะในกรุงเทพฯ

คุณชวนพิศ- ในกรุงเทพฯนี่ก็เหลือน้อยมากแล้วนะคะ ที่ยังเหลือๆ อยู่ก็มีประชานิเวศน์ แต่เป็นบ้านของผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

พิธีกร- มันมีโปรโมชั่นบ้างมั้ยคะ ดิฉันเห็นบางทีพวกคอนโดของเอกชนทั่วไปเขาจะมีโปรโมชั่นลดแล้วลดอีกของการเคหะเราลดบ้างมั้ยคะ

คุณชวนพิศ- ลดได้ค่ะ บางทีก็จะมีพวกเฟอร์นิเจอร์แถมให้ในราคานี้ค่ะ

พิธีกร- เอาล่ะคำถามสุดท้ายนะคะ บ้านเอื้ออาทรที่ทุกคนฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของต้องวิตกกังวลมั้ยคะว่าเขาจะไม่มีโอกาสถ้าตามแผนที่วางกันไว้

คุณชวนพิศ- ก็ถ้า พณฯท่านนายกให้ทำต่อเนื่องไปจนครบเนี่ยนะคะ คิดว่าทุกคนจะได้ครบค่ะ

พิธีกร- ทุกจังหวัด

คุณชวนพิศ- ทุกจังหวัดค่ะ

พิธีกร- ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับวันนี้นะคะทั้ง 2 ท่านค่ะ สวัสดีค่ะ ขอบพระคุณทุกท่านสำหรับการรับชมในวันนี้ติดตามฅนในข่าวได้ทุกวันค่ะเวลา 3 ทุ่มถึง 4 ทุ่มโดยประมาณ วันนี้ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น