xs
xsm
sm
md
lg

วาระซ่อนเร้นทางการเมือง-ธุรกิจของผู้ว่าการธปท.

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จงใจออกมาให้ข่าวว่าด้วย หนี้ด้อยคุณภาพ ของ ธนาคารกรุงไทย ชนิดยกประโยคเปรียบเทียบแปลความได้ว่า ต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม – เกรงจะเหมือนบีบีซี โดยปกติก็ถือว่า ไม่สมควรอย่างยิ่ง, ผิดมารยาทอย่างยิ่ง และเป็น การทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในรอบ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แล้วยังอาจจะมีบางคนคิดไปไกลถึงขนาดว่าเป็น การทำลายความน่าเชื่อถือของระบบสถาบันการเงินของประเทศ, การทำลายความน่าเชื่อถือในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อบรรลุภารกิจตาม วาระซ่อนเร้นทางการเมือง ได้ไม่ยากเพราะนี่ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของบ้านนี้เมืองนี้ที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นพอจะเป็น The Candidate ในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ทำนอง อานันท์ 2จงใจออกมา ส่งสัญญาณที่ผิด เกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ผู้คนที่อ่านข่าวฟังข่าวโดยผิวเผินเข้าใจว่า ฟองสบู่จะแตกอีกแล้ว, ฝันร้ายของปี 2540 เดินย้อนกลับมาแล้ว แต่ ณ ที่นี้ ณ วันนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” ที่เคยพูดถึงเรื่องราวทำนองนี้มาหลายครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานี้แล้วจะยัง ไม่พูดซ้ำ เพราะจำเป็นจะต้องชี้ให้เห็นแนวโน้มของ วาระซ่อนเร้นทางธุรกิจ และแนวโน้มของ วาระซ่อนเร้นของการชำระแค้นส่วนตัว ของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรกของประเทศที่มาจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีอยู่ให้เข้าใจกันก่อนเป็น พื้นฐาน เสียหน่อย

•• จริง ๆ แล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวขบวนของ กลุ่มทุนใหม่ ที่ มาแรง, มาเร็ว ชนิด ก้าวไม่หยุดฉุดไม่อยู่ นั่นคือ คอม-ลิงค์ หรือ บริษัทคอมลิงก์จำกัด เจ้าของสัมปทานใยแก้วที่ได้จาก ทศท. และก้าวเข้าไปสู่ ธุรกิจการเงิน ในนาม บริษัททรีนิตี้วัฒนาจำกัด(มหาชน) หรือ TNITY ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่การก้าวขึ้นเป็น ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ การรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินของกลุ่มนี้ดำเนินมาเป็นขั้นตอนไม่ต่ำกว่า 6 ปี นับแต่เกิดช่องว่างจาก วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ-ธุรกิจการเงิน 2540 แล้ว

•• พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจดั้งเดิมนานวันของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของ คอม-ลิงก์ ก็คือ ศิริธัช โรจนพฤกษ์ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่พรมแดนของ อุตสาหกรรมการเงิน พาร์ทเนอร์ที่ทำหน้าที่ในแนวรบใหม่คือ ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ทุกอย่างทำท่าจะไปได้ สวยงาม เมื่อ TNITY สามารถก้าวเข้าไปเป็น ที่ปรึกษาทาง การเงิน ให้กับหลากหลายธุรกิจที่ต้องการ ฟื้นฟูกิจการ, เข้าตลาดหลักทรัพย์ และ ฯลฯ ทำให้กลายเป็น ยักษ์ใหญ่ ขึ้นมา

•• หนึ่งใน Big Deal ก็คือการที่ ทรีนิตี้ เข้าไปเป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับ ธนาคารไทยธนาคารจำกัด และเมื่อมี การจัดสรรหุ้น ก็ปรากฏว่า คอม-ลิงก์ ได้ถือหุ้น 23 ล้านหุ้น หรือ 1.54 % ไม่น้อยเลย

•• แต่กลุ่มทุน คอม-ลิงก์, ทรีนิตี้ ที่กำลัง มาแรง, เดินเร็ว ก็มีอัน สะดุด เพราะมีอุปสรรค 2 ทาง ที่ในที่สุดไหลไปรวมกัน 1 ทาง ที่ ธนาคารกรุงไทย ในที่สุด

•• ทางหนึ่งคือ สว่าง มั่นคงเจริญ สาวมั่นผู้เคยล้มเหลวมาจาก บงล.ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ แต่ก้าวขึ้นมาอย่างชนิดที่กล่าวได้ว่า มาแรง, เดินเร็ว ในรอบ 3 – 4 ปีมานี้ไม่แพ้ คอม-ลิงก์, ทรีนิตี้ เธอก้าวเข้าไปซื้อกลุ่มธุรกิจที่ล้มลงหรือสะดุดเพราะ วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่โด่งดังและถูกใช้เป็น ศูนย์กลาง ก็คือ แนเชอรัล พาร์ค หรือ N-PARK ยุทธวิธีทางธุรกิจของเธอคือ ซื้อหนี้เสียจากบสท.มาปรับปรุงปั้นแต่งใหม่ ก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือการก้าวเข้าไปซื้อหุ้น บริษัทฟินันซ่าจำกัด(มหาชน) หรือ FNS จนกลายเป็น เสียงข้างมาก แปรสภาพบริษัทดังกล่าวมาเป็น แหล่งทุนของกลุ่ม มีเป้าหมายจะก้าวขึ้นไปเป็น ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เช่นกัน ฟินันซ่า นี้ให้จำเพาะที่ต้องปะทะในทางธุรกิจกับ ทรีนิตี้ หลายสมรภูมิด้วยกันเพราะนอกจากต่างจะมีความชำนาญในการเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน แล้วยังเป็น แนวหน้า ของการระดมทุนให้กับ กลุ่มทุนเติบโตใหม่ ที่ต่าง แรง, เร็ว ที่สำคัญก็คือ ฟินันซ่า เคยตกเป็นเป้าหมายในการเข้ามา ซื้อหุ้น ของ ทรีนิตี้ แต่ก็ ถูกตัดหน้า เสียก่อน

•• อีกทางหนึ่งคือ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ คู่แฝดที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายของ ธนาคารกรุงไทย ในช่วง ปี 2546 – 2547 แฝดพี่เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากจะมีหน้าที่ ร่วมบริหารและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แล้วยัง กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย แฝดน้องเป็น ประธานกรรมการบริหาร (หรือเรียกว่า ประธานบอร์ดเล็ก) ที่มีบทบาทสำคัญใน การปล่อยสินเชื่อ รายใหญ่

•• ที่ว่า อุปสรรค 2 ทางไหลรวมเป็น 1 ทาง ก็เพราะ สว่าง มั่นคงเจริญ นำ N-PARK มาใช้บริการ สินเชื่อ จาก ธนาคารกรุงไทย รวมแล้วประมาณ 5 โครงการ และเป็นที่รู้กันดีว่า สนิทสนม กับ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ (รวมทั้ง ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ และ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์) เป็นอย่างดี

•• ด้วยสาเหตุหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ยอมรับนับถือในฝีมือการทำงาน ทำให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่สู้จะ เห็นด้วย กับทิศทางการทำงานของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ สมัยเมื่อดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชนิดสาธารณชนเห็น คมวาทะ ที่ สวนทาง อย่างเช่นในกรณีของ กองทุนวายุภักษ์ (ที่ให้บังเอิญมี ฟินันซ่า เป็น ที่ปรึกษาการเงิน) กรณี สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี ควบรวมสถาบันการเงิน ว่าจะให้ ไอเอฟซีที – บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปควบรวมกับ ใคร ระหว่าง ธนาคารทหารไทย กับ ธนาคารไทยธนาคาร ที่คงจะจำกันได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนนี้แสดงออกด้วยวาจาว่า ไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าจะ ไม่ขอยุ่งเกี่ยว อะไรด้วยอีกแล้ว

•• ความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะ น่ารับฟังกว่านี้ หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คอม-ลิงก์ ถือหุ้นอยู่ใน ธนาคารไทยธนาคาร การตัดสินใจของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เลือก ธนาคารทหารไทย ทำให้มีกลุ่มธุรกิจและบุคคลที่ เสียผลประโยชน์ เรียงลำดับสั้น ๆ ง่าย ๆ ดังนี้ ธนาคารไทยธนาคาร, คอม-ลิงก์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ

•• การเลือกพุ่งเป้า ตรวจสอบ มาที่ ธนาคารกรุงไทย โดยใช้ เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่เรียกว่า บาเซิล 2 เป็นเรื่องที่ต้อง ตั้งคำถาม สำหรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อย่างน้อยที่สุด 2 คำถาม ดังต่อไปนี้

•• คำถามที่ 1 เหตุไฉนจึง เลือกปฏิบัติ นำ เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่ ที่อย่างเร็วที่สุดสถาบันการเงินในประเทศไทยในฐานะสมาชิก BIS กว่าจะเริ่มใช้ก็ ปี 2550 มาใช้ในวันนี้เฉพาะกับ ธนาคารกรุงไทย ที่ว่าไปแล้วต้องถือว่าเป็น สถาบันการเงินที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเป็น เครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ใช้เป็นสถาบันการเงินนำร่องในการปล่อยสินเชื่อให้กับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ธุรกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ ฯลฯ ที่ถ้าจะใช้กันจริง ๆ อย่าง เข้มงวด แล้วแทบจะไม่สามารถ ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ได้เลย

•• คำถามที่ 2 เหตุไฉน ไม่ดำเนินงานเป็นการภายใน เพราะในความเป็นจริง ลูกหนี้ ที่ถูกระบุออกมายังไม่ได้เป็น หนี้เสีย หรือ NPL การนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะโดยเปรียบเทียบกับ ธนาคารที่ล้มไปแล้ว อย่าง บีบีซี นั้นย่อม สร้างความเสียหาย หลายด้านด้วยกัน

•• สมมติว่ามีแนวโน้มจะเป็นในระดับ บีบีซี (ซึ่ง ไม่ใช่, ไม่ใช่เด็ดขาด) แต่ในสถานการณ์ระดับนั้นคนที่เป็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เต็มเปี่ยมด้วย วุฒิภาวะ ก็จำเป็นต้องตระหนักดีว่าจะต้อง ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจจะปิดได้ แล้วเท่านั้นจึงจะ เปิดเผยต่อสาธารณะ การกระทำนอกเหนือเงื่อนไขดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็น ผู้สร้างสถานการณ์ เสียเอง

•• นาทีนี้ N-PARK แม้จะยังเป็น หนี้ดี แต่วาจาของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำให้กลุ่มทุนนี้ เสียหาย ไปเรียบร้อยแล้ว

•• ยังไม่รวม ธนาคารกรุงไทย, ระบบสถาบันการเงินของประเทศ ที่ต้อง เสียหาย ไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร

•• และยังไม่รวม นโยบายของรัฐบาล ที่แต่นี้ต่อไปจะใช้ ธนาคารกรุงไทย เป็น เครื่องมือ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไรในเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่ ที่มาเร็วกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน้อย ๆ ก็ 3 ปี เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บ้านนี้เมืองนี้นำ เครื่องมือจากต่างแดนสำหรับคนที่แข็งแรงแล้ว มาใช้กับ คนอ่อนแอ, คนเพิ่งฟื้นไข้ มันน่าเจ็บใจที่ครั้งนี้ไม่ใช่ ฝีมือ ของ นโยบายของรัฐบาล ที่ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เลย

•• เจาะลงไปดูใน 14 โครงการใหญ่ นอกจาก แนเชอรัล พาร์ค ที่เหลือกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นโครงการในเครือของ กฤษดามหานคร หรือ KMC ที่มาจากการอนุมัติในยุค ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ชนิดร่ำลือกันลึก ๆ ว่ามี ใครบางคน ที่นำชื่อ บุญคลี ปลั่งศิริ ไป แอบอ้าง ด้วย

•• นอกจากนั้นเป็น โครงการเล็ก ๆ ระดับ 100 – 300 ล้านบาท น่าสนใจว่าหนึ่งในนั้นเป็นของ ราศรี บัวเลิศ ถูก นำมารวมในกลุ่ม ด้วย

•• น่าสังเกตว่านอกจาก แนเชอรัล พาร์ค, กฤษดามหานคร ที่โยงโดยตรงไปถึง ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ และ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รวมตลอดถึง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ แล้วเมื่อรวมทั้งหมดในจำนวน โครงการที่มีปัญหา จะเห็นภาพของ กลุ่มทุนใกล้ชิดนักการเมือง เป็นภาพและชื่อที่เอ่ยมาแล้วคนทั่วไป สยองขวัญ เพราะอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนไปถึง วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เรียกว่าเป็นชื่อประเภท Big Name ที่ ขายได้ เอ่ยเมื่อไรก็ เป็นข่าว เมื่อนั้น

•• งานนี้ถ้าจะมี วาระซ่อนเร้น จึงมีผสมกันทั้ง ธุรกิจ และ การเมือง อย่างชนิด เนียน ทีเดียว “เซี่ยงเส้าหลง” คงมีโอกาสร่ายยาวต่อในโอกาสต่อ ๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น