•• ก็เป็น กรรม ของบ้านนี้เมืองนี้ไปที่ต้องสูญเสียคนอย่าง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ให้กับ เหตุผลทางการ เมือง ณ วันใกล้เลือกตั้งทั่วไป มิใยที่ใครต่อใครรวมทั้ง จาตุรนต์ ฉายแสง จะ ทักท้วง อย่างไรก็ ไม่เป็นผล ในเมื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ คนดีเจ้าของสมญา “...คนดีไม่มีเสื่อม มั่นคง ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา.” ยืนยันเสียงแข็งในคณะรัฐมนตรีวานซืนนี้ในทำนองว่า “...ถ้ามีผม ก็ต้องไม่มีหมอประกิต.” และคณะรัฐมนตรีจำใจต้อง เดินตาม เพราะ ไม่ต้องการสร้างปัญหาทางการเมือง ขึ้นมาหากคนดีคนนี้ที่บำเพ็ญตนพอเปรียบได้ว่าเป็น หอกข้างแคร่ ได้เหตุผลที่จะ ลาออก (ในช่วงจังหวะที่มีเวลาพอไป สมัครผู้ว่าฯกทม. ในฐานภาพ อิสระ-ไม่สังกัดพรรค) ในทางการเมืองแล้วมีความจำเป็นจะต้องให้คนดีคนนี้ อยู่ร่วมคณะรัฐมนตรี ไปจน ครบวาระ ไม่ปล่อยออกมาให้เป็น อีกขั้วการเมืองหนึ่ง ที่มี High Popularity ขึ้นมา เปรียบเทียบ กับ พรรคไทยรักไทย ได้
•• พูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว ส.ส.ส. – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็น องค์กรใหม่, กฎหมายใหม่ ที่ต้องการให้มีการทำงานที่ คล่องตัวกว่าระบบราชการ การปฏิบัติงานของ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ อาจจะ ไม่ถูกต้อง หากพิจารณาตาม กรอบของระบบราชการ แต่การปฏิบัติต่อที่ทำให้ท่านมีโอกาสที่จะถูก สังคมเข้าใจผิด นั้นออกจะ โหดร้าย เกินไปสำหรับ มิตร หรือ พันธมิตร, แนวร่วม หนทางออกที่ดีกว่านี้น่าจะมี
•• ไม่เพียงแต่ จาตุรนต์ ฉายแสง เชื่อว่าคนทำงานการเมืองให้ พรรคไทยรักไทย และ รู้จักทั้ง 2 ฝ่าย อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย ก็เป็นอีกคนที่ รู้ดี แต่ก็นั้นแหละที่ถูก เหตุผลทางการ เมือง ณ วันใกล้เลือกตั้งทั่วไป มา ปิดปาก เสียสนิท
•• ถือเป็น การลงทุน ที่ค่อนข้าง สูง เพราะเพียงเพื่อ เก็บคนดีที่มี High Popularity ไว้เป็นตัวประกันต่อไป รัฐบาลยอมกระทำการที่เสมือน ตัดเยื่อใย, สะบั้นสายสัมพันธ์ ที่มีอยู่กับกลุ่ม เอ็นจีโอ ฟากฝั่ง นพ.ประเวศ วะสี, นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และ ฯลฯ ที่มีแนวปฏิบัติ เอื้ออาทรต่อรัฐบาลในยามไม่ประสบชัยเบ็ดเสร็จ (เพราะเห็น จุดดี, จุดที่ประชาชนจะได้ประโยชน์) ซึ่งถือเป็น ปัจจัยที่มองไม่เห็น ที่ช่วยเหลือรัฐบาลชุดนี้ได้มากในช่วง ปี 2544 – 2545 (รวมทั้ง ก่อนเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544) วันนี้รัฐบาลแข็งแรงกว่าวันก่อนมากจนพันธมิตรกลุ่มนี้ ไร้ค่า, ไม่มีความหมาย ไม่จำเป็นต้อง ออมมือ, สงบปากคำ วันหน้าจะเป็นอย่างไรค่อยคิดกัน เหตุผลทางการเมือง ณ วันใกล้เลือกตั้งทั่วไป ย่อม สำคัญสูงสุด เสมอ
•• แม้จะ เคารพ แต่ในส่วนลึกของหัวใจ เอ็นจีโออีกฟากฝั่งหนึ่ง อาจจะนึก สมน้ำหน้า ท่านผู้อาวุโสหลายท่านทางฟากฝั่งที่ เจ็บปวดกับกรณีล่าสุดนี้ ก็เป็นได้
•• บังเอิญ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ไม่ใช่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เลยเกิดผล 2 ทาง ทางหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ ครม. ตัดสินใจไม่ยากกับการเลือกให้ท่านต้อง เป็นฝ่ายหลีกทาง ส่วนอีกทางหนึ่ง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก็แข็งขัน รุกไล่ได้เต็มที่ ถึงขั้น ขอให้เลือก เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าฝ่ายตน ไพ่ในมือเหนือกว่า ทั้ง ๆ ที่ย้อนพิจารณาถึง เหตุครหา แล้วกรณีที่เกิดขึ้นใน กระทรวงยุติธรรม ช่วงนั้น หนักกว่าเยอะ เลย
•• อันที่จริง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ไม่ใช่ รายแรก ที่ต้อง สังเวยความดี ให้กับ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้เมื่อ ปี 2544 – 2545 คงจะจำกันได้ว่า พลากร สุวรรณรัฐ เป็น รายแรก และตามด้วย ชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ เป็น รายที่ 2 อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการโยกย้าย คนดีไม่มีเสื่อม มั่นคง ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา จาก กระทรวงมหาดไทย มาอยู่ที่ กระทรวงยุติธรรม แต่ก็เกิดเหตุใกล้เคียงกันขึ้นมาอีก
•• ความเป็นพี่น้องและความเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่มาด้วยกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ทำให้เรื่องราวของคน 2 คนนี้กลายเป็น หนังชีวิต ที่ต้อง ดูกันนาน ๆ ก็อย่างที่ “เซี่ยงเส้าหลง” บอกไว้ตอนต้นว่านี่คือ หอกข้างแคร่ ที่ บริหารจัดการยากที่สุด เพราะหากเกิด ข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะด้วยประการใดนั่นหมายถึง จุดกำเนิดเต็มตัว ของ The Candidate หรือนัยหนึ่ง คู่แข่งขันทางการเมืองคนสำคัญในอนาคต ที่มี คะแนนนิยมสูง แต่ละครั้ง ๆ ดูเหมือน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ จะ ถอย แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วคือรูปแบบหนึ่งของกระบวนการ สู้ ตามสไตล์ที่เป็นคนซึ่งบทจะ สู้ แล้ว สู้ยิบตา อย่าง ใจเย็น, รอคอยจังหวะและโอกาส ตั้งแต่นาทีแรกที่ยอมมารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี โดย ไม่ลาออก แสดงให้เห็นแล้วว่า สู้ ไม่ใช่ ถอย การเคลื่อนไหวในแต่ละวันช่วง กุมภาพันธ์ 2546 นั้นกล่าวได้ว่าเป็น การเคลื่อนไหวเชิงรุก ที่มี วัตถุประสงค์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปปรากฏตัวที่ นิด้า ต่อหน้าป้ายต้อนรับ “...ขอต้อนรับด้วยความรัก และความอบอุ่น ขอเป็นกำลังใจให้คนดีของสังคมเป็นผู้บริหารประเทศ.” และ “...อย่าท้อถอย.” ) หรือล่าสุดเมื่อ ต้นปี 2547 ที่ให้สัมภาษณ์เรื่อง ผู้ว่าฯกทม. ก็เช่นกันว่า
•• แต่ มนุษย์โพลล์ อย่างนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คนนี้ไม่อาจทำให้ กระแสสังคม มองว่าเขา รังแก คนที่มี High Popularity อย่าง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ได้
•• การรั้งตัว หอกข้างแคร่ที่บริหารจัดการยากที่สุดไว้ใน ครม. จนกว่าจะ สิ้นวาระต้นปี 2548 น่าจะเป็น วิธีการดีที่สุด ในการก้าวออกมาจาก Popularity Trap ที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คนนี้คิดได้
•• หวังว่าคง คุ้ม กันที่แลกการเสีย นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ + เอ็นจีโอกลุ่มใหญ่ กับการรั้ง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ไว้เป็น ตัวประกัน ต่อให้ครบวาระ
•• ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ใช้คำว่า เอ็นจีโอฟากฝั่งหนึ่ง, เอ็นจีโอกลุ่มใหญ่ หรือ เอ็นจีโอฟากฝั่งนพ.ประเวศ วะสี-นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ก็อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาเอ็นจีโอใน สถานการณ์ปัจจุบัน ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่าเมื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่ นำแนวคิด Keynesian มาผสมผสานกับ Neo-Liberalism เกิดเป็น จุดยืนทางการเมือง ที่แตกต่างกัน 2 แนว แนวหนึ่งมองว่า รัฐ เป็น พื้นที่สาธารณะ ที่แต่ละคนสามารถเข้ามาหยิบฉวยใช้ ช่วงชิง เพื่อ นำเสนอแนวความคิดและนโยบายในการแก้ไขปัญหา รวมทั้ง นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็น เงิน, บุคลากร แตกต่างกับอีกแนวหนึ่งที่มองว่า รัฐ เป็น สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ที่รอวันล่มสลายเพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวนโยบายเชิง ประชานิยม ไม่มีปัญหาเรื่อง งบประมาณ แต่มีปัญหาเรื่อง บุคลากร ที่คนของรัฐ ทำไม่เป็น, ทำไม่เนียน เกิดเป็นโอกาสให้ เอ็นจีโอกลุ่มแรก เข้ามา รับช่วงงาน ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างของ เอ็นจีโอกลุ่มหลัง ว่าไม่ควร ตกเป็นเครื่องมือของรัฐ ความแตกต่างที่หลายครั้งลงเลยด้วยการ โจมตีกัน ว่าขายตัว, ซื้อได้ สะสมกันเข้าทำให้ ภาพรวมของเอ็นจีโอ นั้น ขาดเอกภาพ แตกต่างกับยุค รัฐบาลประชาธิปัตย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ 2 ต่อ ต่อหนึ่งคือ ได้คนช่วยทำงานตามนโยบายรัฐ ต่อที่สองคือ ลดทอนพลังโดยรวมของเอ็นจีโอ สภาวะเช่นนี้กำลัง เปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่ารัฐบาลเองถึงที่สุดแล้ว ไม่กังวล เพราะเชื่อว่าสามารถ แก้ไขได้ตามสภาพ และถึงอย่างไรก็ยังมี เงิน, โครงการ ถ้าจำเป็นจะต้อง เรียกใช้ เมื่อไรก็มีคน แย่งกันมารับช่วงงาน จะคิดผิดหรือคิดถูก “เซี่ยงเส้าหลง” ว่า กาลเวลาจะเป็นผู้พิสูจน์ ในอนาคตอันไม่นานข้างหน้านี้