•• ลองระดับ อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่าง ด็อกเตอร์โจ – พิจิตต รัตตกุล ตัดสินใจคัมแบ็คกลับมาลงสนามเดิมอีกครั้งแม้จะ นอกเหนือความคาดหมาย และ ไม่สด, ไม่ใหม่ เหมือนเมื่อครั้งลงสนามครั้งแรกปี 2539 แต่จะบอกว่า ไม่มีความหมาย, ไม่มีผล เสียเลยย่อมจะเป็นเป็นไปไม่ได้ “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าถึงอย่างไร ณ นาทีนี้ก็ต้องยกให้ พิจิตต รัตตกุล ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่ง ตัวเก็ง ที่จะ มีลุ้น อยู่ในขบวนแถวของ ปวีณา หงสกุล, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง การตัดสินใจครั้งนี้ของ พิจิตต รัตตกุล นอกจากจะมีผลต่อ วิถีชีวิตตนเอง ณ วัยขึ้นปีที่ 60 แล้วยังจะมีผลต่อ คะแนนเสียง ของทั้ง ปวีณา หงสกุล, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มากน้อยตามฐานานุรูปเลย
•• มอแล้ว ปวีณา หงสกุล ตกที่นั่งรับผล กระทบกระเทือนมากที่สุด เพราะ ส.ก., ส.ข. จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่สังกัด พรรคไทยรักไทย ที่ไม่สมัครใจไม่เต็มใจกับการสนับสนุนเธอตาม นโยบายที่ไม่เปิดเผยของพรรคไทยรักไทย จะมี ทางเลือกใหม่ โอกาสที่จะ เทการสนับสนุน ไปให้ พิจิตต รัตตกุล มีค่อนข้างสูง
•• ส่วน อภิรักษ์ โกษะโยธิน คง เสมอตัว เพราะใช้กลยุทธหาเสียงสร้างตนเองเองให้เป็น หนึ่งเดียว ของฟากฝ่าย Non-government, Non-Thairakthai ไม่ว่า ใคร จะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ลงมาก็จะถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในข้อหา ตัวแทนพรรคไทยรักไทย อยู่ดี
•• ข้อมูลที่น่าสนใจ ส.ก., ส.ข. ที่สังกัด พรรคไทยรักไทย โดยประมาณสัก กึ่งหนึ่ง เคยสังกัด กลุ่มมดงาน ที่สนับสนุน พิจิตต รัตตกุล ไม่แปลกที่พอประกาศตัวลงสนาม ส.ก.พรรคไทยรักไทย 10 คน จึง ประกาศตัวสนับสนุน ทันที
•• การตัดสินใจของ พิจิตต รัตตกุล พอเหมาะพอดีกับการเรียกประชุม ส.ก.-ส.ข.พรรคไทยรักไทย โดย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผลลัพธ์ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ได้ยินมาคือขณะนี้ยังคง ไม่มีเอกภาพ จากเดิมที่ส่วนหนึ่งสนับสนุน ปวีณา หงสกุล อีกส่วนแยกกันสนับสนุนลับ ๆ ต่อ มานะ มหาสุวีระชัย และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง วันนี้เริ่มมีส่วนหนึ่งที่ เป็นกลุ่มเป็นก้อนพอสมควร หันมา สนับสนุน ต่อ พิจิตต รัตตกุล ทำให้ผู้สมัครคนใหม่น่าเดิมรายล่าสุด มีลุ้น ขึ้นมาทันที
•• การเรียกประชุมของ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังมี agenda สำคัญอยู่ที่การชี้แจงเรื่อง เหตุเกิดที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ ส.ก., ส.ข. นำไป ชี้แจงต่อ กับ ชาวกรุง แสดงให้เห็นได้ว่ามี แรงกระเพื่อม เกิดขึ้นไม่น้อยทีเดียว
•• แต่ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” สนใจคือ ปัจจัยผลักดัน ให้ พิจิตต รัตตกุล คืนถิ่น กทม. อีกครั้งหลังจากทำท่าจะไปทำงาน การเมืองส่วนท้องถิ่น ในลักษณะ Small Place, Big Issueที่ หัวหิน เมื่อปีก่อน
•• คงจะจำกันได้ว่า พิจิตต รัตตกุล เกือบจะตัดสินใจลงสนาม การเมืองท้องถิ่น ที่ เทศบาลเมืองหัวหิน เมื่อ มกราคม – กุมภาพันธ์ 2547 โดยเข้าไปเป็น ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน, คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาเทศบาลเมืองหัวหิน ให้กับนายกเทศมนตรีคนก่อน จิระ พงษ์ไพบูลย์ ล่วงหน้าเป็นปี ๆ หลังไม่ประสบความสำเร็จกับ พรรคถิ่นไทย วิสัยทัศน์ที่อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2539 – 2542 คนนี้เสนอในช่วงนั้นก็คือมุ่งยกระดับ หัวหินของคนไทย ให้เป็น หัวหินของโลก, หัวหินของชาวโลก โดยวางแผนพัฒนาตั้งเป้าให้เป็น เมืองสุขภาพของโลก ไม่แน่นักว่าอาจจะชูประโยค หัวหิน – เมืองสุขภาพของโลก ขึ้นมาคู่กับชื่อ พิจิตต รัตตกุล เพื่อให้เป็น Gimmick ที่ ติดหู, ติดตา และ ติดใจ และระดมคณะทำ งานเดิมจาก กทม. เข้าไปร่วม ร่างยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง กันอย่างคร่ำเคร่งตั้งแต่ประมาณ กรกฎาคม 2546 ยุทธศาสตร์การเมืองเฉพาะตัว ณ เวลานั้นของ พิจิตต รัตตกุล ในยุค การเมือง 2 ขั้ว ที่ยากที่จะเปิดโอกาสให้ ขั้วที่ 3 ขณะนั้นก็คือสร้างผลงานในจุด พื้นที่เล็ก – ประเด็นใหญ่ หรือ Small Place, Big Issue โดยนำเสนอตนเองในลักษณะทำนอง ลูกผู้ชายตัวจริง – คนตัวเล็ก ๆ ที่ขออาสาทำงานใหญ่ สไตล์พระเอกหนังโฆษณา กระทิงแดง ชุดล่าสุดนั่นแหละ
•• ถิ่นพำนักของ พิจิตต รัตตกุล ที่ หัวหิน อยู่ที่คอนโดมิเนียมหรูระดับ Top Three ของที่นั่น บ้านร่มรื่น เป็นเพื่อนบ้านของพี่น้องตระกูล สารสิน ที่กระจายอยู่ใน บ้านร่มรื่น และ บ้านกินนอน มานานวัน
•• พื้นที่ทางการเมืองทั้ง ระดับชาติ, ระดับกรุงเทพมหานคร นาทีนั้นอาจจะดู แน่นขนัด ทายาท ตระกูลรัตตกุล อย่าง พิจิตต รัตตกุล ที่ยังคง คึกคัก เมื่อไปกราบ อัฐิบรรพบุรุษ ที่บรรจุไว้ที่ วัดเขาไกรลาศ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่บ่อย ๆ และเห็น พัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ของ หัวหิน และการเมืองการปกครองท้องถิ่นที่เริ่มยกระดับจาก เทศบาลตำบาล เป็น เทศบาลเมือง จึงเริ่มหันมา ศึกษาความเป็นไปได้ ถึงขนาดเคยชักชวน เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ลงไป ปรึกษา ด้วยอีกคน
•• ต้องเข้าใจว่าว่า หัวหิน วันนี้ ปี 2547 นั้นมี ศักยภาพสูงอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นได้ไม่ยากคือการเริ่มกลับมาเป็น สัญลักษณ์ ของความเป็น ผู้มีรสนิยม, ผู้ดีอย่าง ยั่งยืน อีกครั้งหนึ่งหลังจาก ซบเซาไปนาน (และพอเริ่ม บูม เมื่อสัก 10 ปีก่อน ก็มาสะดุดเพราะ วิกฤตเศรษฐกิจ 2540) แต่ช่วง ปี 2546 – 2547 จากนี้ไปเห็นทีจะทะยานไปข้างหน้ายิ่งกว่า ติดเทอร์โบ ต่อไปใคร ๆ ก็อยากจะ ขับรถ บน สะพานตัดอ่าวไทย หรือนัยหนึ่ง มอเตอร์เวย์ยกระดับสูง 15 เมตรจากระดับน้ำทะเลสูงสุดบนตอม่อยักษ์ห่าง 100 – 150 เมตรเป็นระยะทาง 47 กิโลเมตร โดยเสียค่าผ่านทางเพียง 100 บาท ถนนสายนี้จะยกระดับ ราคาที่ดิน, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดแนวตั้งแต่ ชะอำ, หัวหิน และ ปราณบุรี ต่อไป เศรษฐีใหม่รุ่นต่อไป จะต้องวิ่งแข่งกันมา หัวหิน หา บ้าน ตามแบบอย่าง ผู้ดีเก่า, เศรษฐีใหม่รุ่นก่อน อย่าง พี่น้องตระกูลสารสิน, พี่น้องตระกูลรัตตกุล, พี่น้องตระกูลเวชชาชีวะ, บุญชู โรจนเสถียร, ประสิทธิ์ ทรัพย์สาคร, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, เฉลิม อยู่วิทยา, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ ฯลฯ ข้อจำกัดในอดีตของ หัวหิน คือ ความแห้งแล้ง, น้ำจืดไม่พอใช้ แต่หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน โครงการพระราชดำริ อย่าง ต่อเนื่อง, หลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ที่มีจุดเริ่มต้นใน ปี 2526 ปัญหาก็เริ่ม ทุเลาเบาบางลง เมื่อ พัทยา เริ่ม เน่า ความเป็นหัวเมืองตากอากาศชั้นนำเหมือนที่ ว. ณ ประมวลมารค พรรณนาไว้ในนวนิยายเรื่อง ปริศนา จึงเริ่ม กลับคืนมา อีกครั้ง
•• อันที่จริงเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทยโดยแท้ที่ บุรพกษัตริย์ ทรงชื่นชม ความงาม ของ หาดทราย บริเวณชายทะเลอ่าวไทยฝั่งนี้มาโดยตลอดโดยเฉพาะ รัชกาลที่ 6 ทรงสร้าง ทางรถไฟสายหัวหิน, โรงแรมรถไฟหัวหิน และ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และ รัชกาลที่ 7 ทรงสร้าง พระราชวังไกลกังวล เป็นตัวอย่างชักนำให้ ชนชั้นนำยุคก่อน เข้ามา สร้างบ้านพักตากอากาศ เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้และมีบ้างที่ เปลี่ยนมือ, พัฒนารูปแบบ ไปตามยุคสมัย
•• คุณค่าและความพิเศษเหนือเมืองอื่นใดของ หัวหิน ในยุคปัจจุบันคือเป็นเมืองที่ตั้งของ พระราชวังไกลกังวล พระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรง ประทับ อยู่
•• เมื่อครั้งที่ตั้งเป้า ร่วมพัฒนาหัวหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมให้ความคิดเห็นในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนหนึ่งใน แรงผลักดัน ในใจของ พิจิตต รัตตกุล ก็คือเพื่อ รับใช้เบื้องพระยุคลบาท นั่นเอง
•• ในชั้นนี้ คำตอบ ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ได้มาก็คือ สถานการณ์เปลี่ยนไป ประการหนึ่ง ปัญหาใหญ่ของหัวหิน มีบุคลากรหลายส่วนหลายหน่วยงานเข้าไป ร่วมแบกรับ จนเริ่ม ลุล่วง อีกประการหนึ่ง กทม. ณ วันนี้ยังคงมี ช่องว่าง เพราะ “...ยังไม่มีผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดและประชาชนยินยอมพร้อมใจร่วมกันสนับสนุนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในฐานะผู้มีประสบการณ์ เชื่อว่าจะยังคงทำได้ดีกว่า และดีกว่าเดิม.” และประการสุดท้าย พิจิตต รัตตกุล ที่ยังเข็งแรงทั้งกายและสมองอยู่ในวัย 58 ปีเต็ม (จะเต็ม 59 ปี ใน วันที่ 30 สิงหาคม 2547 ชั่วเวลาเพียง 24 ชั่วโมง หลังวันชาวเมืองกรุงตัดสินใจเลือก พ่อเมืองคนใหม่) ยังคงมี เป้าหมายยาวไกล อยู่ที่ การเมืองระดับชาติ ที่เคยก้าวเดินไปบนหนทางสายใหม่สายที่จะเป็น ทางเลือกใหม่ มาแล้วแต่ไม่สำเร็จเพราะ กรอบรัฐธรรมนูญไม่เอื้ออำนวย, ปัญหาทางเทคนิค แต่อีก 4 - 5 ปี เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกษียณอายุทางการเมือง ประตูแห่งโอกาส จะ เปิดโล่ง แต่จะรอให้ถึงวันนั้นโดยนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านหนังสือเห็นทีจะ ไม่สำเร็จ สู้เริ่มต้นด้วยการอาสาเข้ามา รับใช้ชาวกรุงอีกครั้ง ปูทางสู่การให้กำเนิด พรรคการเมืองใหม่ ที่จะเป็น ทางเลือกใหม่ทางนโยบาย น่าจะ เหมาะสมกว่า ด้วยประการทั้งปวง
•• ที่จริงบ้านนี้เมืองนี้ในยุคนี้เกือบจะมี พรรคการเมืองทางเลือกเชิงนโยบาย มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อ พิจิตต รัตตกุล จัดตั้ง พรรคถิ่นไทย ขึ้นมาในแนวทาง Green Party ที่มุ่งเดินแนวทาง Green Politics, Ecologist Politics หรือ นิเวศวิทยาการเมือง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นรวม ๆ แล้ว อย่างน้อย 8 ปีเต็ม (คือช่วงแยกตัวออกมาจาก พรรคประชาธิปัตย์ ลงมาทำงานส่วนท้องถิ่นเชิง เอ็นจีโอ เพื่อเตรียมการสมัครเป็น ผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 2 ระหว่าง ปี 2535 – 2539 และเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าฯกทม. ระหว่าง ปี 2539 – 2543) ได้นำเสนอตนเองออกสู่สังคมไทยในรูปลักษณ์ทำนอง Mr. Greenมาโดยตลอด
•• แต่น่าเสียดายที่เพราะ กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ยังคงมี Size Bias คืออคติว่าด้วยขนาดของพรรค มุ่งสนับสนุนพรรคใหญ่ – ทำลายพรรคเล็ก นอกจาก บังคับให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรค แล้วยังมี กฎ 5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ พรรคถิ่นไทย ไม่ประสบความสำเร็จในการมี ตัวแทนตัวจริงในสภา ทำให้ พิจิตต รัตตกุล ต้อง เคว้งคว้าง, หันรีหันขวาง มาแล้วอย่างน้อยก็ 3 ปี เป็นอย่างน้อย
•• การตัดสินสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของ พิจิตต รัตตกุล ก็คือ ก้าวแรก ของกระบวนการ กลับเข้าสู่เกม อีกครั้งนั่นเอง
•• แต่จะมีโอกาสถึง ก้าวที่ 2 คือ ตั้งพรรคการเมืองทางเลือกเชิงนโยบาย ได้หรือไม่ “เซี่ยงเส้าหลง” ฟันธงอย่างไม่อ้อมค้อมว่า คะแนนเสียง ที่จะได้รับในเวลา 1 วันก่อนวันเกิดปีที่ 59 จะเป็น ปัจจัยชี้ขาด พูดกลาง ๆ ว่าไม่ว่า แพ้, ชนะ คะแนนที่ได้ต้อง ไม่น่าเกลียด ไม่อย่างนั้น ปิดฉาก ไม่มีก้าวต่อไป
•• ก็ต้องถือว่า การเมืองเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2547 ขณะนี้ สนุกสนาน มากทีเดียว
•• ผู้สมัครอย่าง ปวีณา หงสกุล, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ พิจิตต รัตตกุล เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือต่างเป็น นักการเมืองในพื้นที่เมืองหลวง ที่มี ฐานเสียงระดับหนึ่ง ขณะนี้ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ ทำงานเต็มที่, ทุ่มเทเต็มกำลัง ทั้ง รักษา-พัฒนาฐานเสียงเดิม และมุ่งหวังว่าในท้ายที่สุด ฐานเสียงที่เป็นของพรรคไทยรักไทย จะหันมา สนับสนุน แน่นอนว่าย่อมต้องมี Dialogue หรือ การพูดคุย-ต่อรอง ชนิด อย่างไม่เป็นทางการ ว่าจะมีอะไรเป็น ข้อแลกเปลี่ยน อ่านใจประสา “เซี่ยงเส้าหลง” ว่านาทีนี้ ส.ก., ส.ข. ของ พรรคไทยรักไทย ที่คุมฐานเสียงอยู่ตามจุดต่าง ๆ น่าจะต้องการ ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จาก 1 ตำแหน่ง อาจพัฒนาเป็น 2 ตำแหน่ง ได้ในอนาคต
•• ผู้สมัครอย่าง อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีแต่จะต้อง ป่าวประกาศให้ได้กว้างขวางที่สุด ว่าผู้สมัครคนอื่นที่ว่ามาล้วน มีค่าเสมอกัน คือ เป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทย มีตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่ ไม่ใช่พรรคไทยรักไทย หากก่อให้เกิดเป็น กระแสใหญ่ ได้ก็ใช่ว่าจะ หมดโอกาส เสียทีเดียว
•• แต่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ กลับเป็นผู้สมัครคนเดียวที่อยู่ใน ขาขึ้น อย่าง สม่ำเสมอ ทั้ง ๆ ที่ ปราศจากฐานเสียงเดิม และไม่ได้พยายามเข้าไป ชิงฐานเสียงใคร แต่กลับเข้าไปติด กลุ่มนำ 1 ใน 5 คะแนนที่สนับสนุนเขา ไม่ผันแปร เพราะการลงสมัครของ พิจิตต รัตตกุล เลย
•• ถ้า การแสดงอารมณ์ทางการเมืองของชาวกรุง เป็น จุดชี้ขาด ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะได้รับเลือกเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่าง เหนือความคิดหมาย เพราะวันนี้ไม่ว่า โพลล์ ไหน ๆ จะแม่นมากแม่นน้อยอย่างไรก็ไม่อาจเจาะทะลวงเข้าไปสำรวจ 30 % ของชาวกรุงที่ยังไม่ตัดสินใจ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็แสดงว่าชาวกรุง ลงโทษนักการเมืองรุ่นเก่าในระบบ, ลงโทษระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลงโทษระบบการเมือง 2 ขั้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เป็นการ ลงโทษตัวเอง ด้วยนะ
•• จะขอมีความเห็นเรื่อง น้องแนท – เกศริน ชัยเฉลิมพล กับ พ.ต.อ.วิสุทธิ์ วาณิชบุตร เสียหน่อยก็พอดี ไม่มีเนื้อที่ และเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องเร่งทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ ขบวนการขายวีซีดี ทั้ง ถูกกฎหมาย และ ผิดกฎหมาย ขอไว้ว่ากันวันหลัง
•• อย่าว่าแต่ ขบวนการขายวีซีดี แม้แต่ รายการทีวี ยัง บลั๊ฟ กัน กลางอากาศ เมื่อดึกคืนก่อน วันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เลย
•• สนใจ ปัญหาภาคใต้ ที่ยังคง ดำรงอยู่ หากต้องการแสวงหามุมมองหลากหลายควรไปร่วมสัมมนาเวทีสาธารณะ สถานการณ์ใต้ – อะไรคือปัญหา อะไรคือทางออก ตลอดทั้งวัน วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2547 นี้ที่ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรที่ร่วมเสนอมุมมองมีตั้งแต่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, อิสมาอีล ลุตฟี, เมธา เมฆารัตน์ และ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นอกจากนั้นยังมีผู้วิจารณ์และเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกคือ จรัญ มะลูลีม, เกษียร เตชะพีระ, เลิศชาย ศิริชัย, โสภณ สุภาพงษ์, วสันต์ พานิช, ไพโรจน์ พลเพ็ชร, สุวัฒน์ จามจุรี, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า และ ฯลฯ ดำเนินรายการโดย ประมวล เพ็งจันทร์ แห่ง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมจัดโดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ – สสส., คณะทำงานวาระทางสังคม และ วารสารฟ้าเดียวกันไม่ควรพลาด