xs
xsm
sm
md
lg

เผย ต่างชาติสนใจร่วมทุน "แลนด์บริดจ์" เพียบ! คาด จะแล้วเสร็จปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เมื่อเช้าวันนี้ (19 ก.ค.) ถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ โดยคาดว่า ปี 2553 จะเสร็จ เผยทำประชาพิจารณ์ ยอมรับฟังความเห็นประชาชน เชื่อไม่เกิดปัญหาเหมือนท่อแก๊ส

(รายการ สภาท่าพระอาทิตย์ ออกอากาศทางยูบีซี 9,19 (ระบบเคเบิล) และ ยูบีซี77 (ระบบดาวเทียม) รวมทั้งวิทยุ คลื่นสามัญประจำบ้านเอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ เป็นประจำทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 07.30-09.45 น.)

สำราญ – กลับมาถึงช่วงสุดท้ายของรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ช่วงนี้ต้องคุยเรื่องหนัก ๆ กันหน่อยนะครับ แต่ว่าท่านผู้ชม ผู้ฟังทั่วประเทศควรจะได้รับรู้ความคืบหน้านะครับ เส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน รัฐบาลชุดก่อนพยายามนำร่อง ปูทางไว้ คือเรื่องสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทยด้วยแลนด์บริดจ์ ก่อนหน้านี้มีคำว่า เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันคำว่าแลนด์บริดจ์ มีความคืบหน้าเยอนะครับ วันนี้เราเรียนเชิญท่านรองปลัดกระทรงพลังงานมาให้ภาพล่าสุดเป็นอย่างไร แลนด์บริดจ์ 30,000 กว่าล้านจะเกิดขึ้นอย่างไร โรงน้ำมันที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ เราเรียนเชิญคุณพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตข้าราชการระดับสูงของสภาพัฒน์ ตอนนี้อยู่ตรงนี้แล้วครับ สวัสดีครับ ท่านรองพรชัย ก็มาจากสภาพัฒน์นะครับ ถ้าจำไม่ผิดเมื่อก่อนดูแลปัญหาภาคใต้มาเยอะ ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจนะ ไม่แปลกใหม่ พอไปอยู่กระทรวงพลังงาน

พรชัย – จริงเป็นการทำงานต่อเนื่อง ตอนอยู่สภาพัฒน์ ผมก็ดูแลเรื่องที่ภาคใต้อยู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนบน จริง ๆ คือโครงการเซาเทิร์น ซีบอร์ดเดิม แต่พอมาถึงกระทรวงพลังงาน ก็คือดึงมาดูเฉพาะในส่วนของกระทรวงพลังงาน แต่ก็ยังประสานกับทางสภาพัฒน์ คือเจ้าหน้าที่เดิมๆ อยู่ที่ว่า ทางสภาพัฒน์ก็คงต้องวางแผนต่อเนื่องจากทางกระทรวงพลังงาน คือเรื่องการพัฒนาผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อย่างเช่นในเรื่องของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ เช่น ในเรื่องของเส้นทางคมนาคมขนส่ง เรื่องของฐานการผลิตอื่น เช่น พวกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมน้ำมันแปรรูปต่างๆ ก็เป็นส่วนที่จะต้องวางแผนต่อเนื่องกัน

คำนูณ – ที่ครม.อนุมัติเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเฉพาะเรื่องเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน

พรชัย – ที่กระทรวงพลังงาน รายงานไป เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในส่วนของการดำเนินงาน เราได้มีการเดินหน้าอะไรบ้าง เช่น เรื่องการเจรจากับทางผู้ที่จะเข้ามาร่วมทุนหลัก ๆ เช่น ด้านของจีน เกาหลี ซึ่งให้ความสนใจมาก ขณะที่เขาก็ส่งผู้แทนมาร่วมศึกษาเพื่อที่จะดูสัดส่วนของการลงทุนและทางด้านตะวันออกกลางก็สนใจ เช่น โอมาน คูเวต ซึ่งเขาเคยสนใจลงทุนด้านโรงกลั่น ขณะนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและอาจจะมีการไปเยือนกัน

คำนูณ – สถานภาพของกระทรวงพลังงาน รายงานความคืบหน้าเข้าไปสู่คณะรัฐมนตรี แล้วว่าอย่างไรครับ

พรชัย - เราบอกว่า ในขั้นตอนที่เราจะเดินหน้าต่อเราจะทำอะไร เช่น ในบางส่วนบางพื้นที่เราได้มีการลงไปสำรวจ ไปประชุม ซาวเสียงของประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันในส่วนของทางหน่วยที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ ในเรื่องของการพัฒนา จะมีส่วนหนึ่งเป็นปตท. อีกส่วนหนึ่งคือกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานต่างๆ ก็เข้าไปเตรียมตัวที่จะดำเนินการ

สำราญ – อยากให้รองฯ พรชัยย้อนภาพนิดนึงนะครับ ก่อนหน้านั้นมีคำว่า เซาเทิร์น ซีบอร์ด โครงการพัฒนาภาคใต้มากมาย ปัจจุบันธงคือ แลนด์บริดจ์ ท่อขนส่งน้ำมันจากท้ายเหมืองพังงามาถึงสิชลที่นครศรีธรรมราช จากอันดามันมาถึงอ่าวไทย แต่ก่อนหน้านี้เป็นยังไง ภาคใต้ลุ่มๆ ดอนๆ มันยังไง อาถรรพ์หรือเปล่า ลองเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังนิดนึง

พรชัย – จากประสบการณ์ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของโครงการขนาดใหญ่มา มันเป็นลักษณะทั่วไปของโครงการประเภทอย่างนี้ หนึ่งคือเรื่องของความต่อเนื่อง อย่างกรณีโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ผมเริ่มตั้งแต่ต้น สมัยรัฐมนตรีสาวิตต์ (โพธิวิหค) นายกฯ เปรม ( ติณสูลานนท์) อีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่เราทำตรงนั้น กว่าท่านจะเห็นในปัจจุบันมัน 24 ปี ตั้งแต่เริ่มต้น จนเห็นรูปร่างประมาณ 8 ปี จากปี 2524 จนมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จนนิคมอุตสาหกรรมเริ่มเข้าได้ เกือบปี 2532 -2533 ซึ่งต้องใช้เวลาช่วงหนึ่ง เพราะฉะนั้นโครงการประเภทยาวๆ อย่างนี้ความต่อเนื่องกลายเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเผื่อท่านเห็นอีกอันว่า ใน 8 ปี รัฐบาลเปลี่ยน 3-4 ชุด จากนั้นก็นายกฯชาติชาย (ชุณหะวัณ) และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ของเซาเทิร์นซีบอร์ด ก็เหมือนกัน ตอนนั้นเริ่มปี 2535-2536 รัฐบาลชาติชาย ที่ไปชี้ที่ น่าจะมีการเชื่อมโยง จากนั้นผมอยู่สภาพัฒน์ก็ได้มีการศึกษาเพื่อที่จะวางแผนเชื่อมโยงมีการดูในเรื่องส่วนต่างๆ ของโครงการ ตอนนั้นพูดเรื่องการขนส่งโดยทางถนนและมีท่าเรือ 2 ปลาย

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องรถไฟ ดังนั้นเลยเป็นที่มาของถนนกระบี่-ขนอม ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว เกิดสมัยท่านบรรหาร อันดามัน- อ่าวไทยเหมือนกัน ตอนนั้นที่ผลักดัน ทางผมเองก็มีส่วนเข้าไปผลักดัน คือ เรามองว่าเรามีภูเก็ต กับสมุย ตรงนั้น เพราะฉะนั้นการเชื่อมตรงนี้ยังไง ก็มีประโยชน์

สำราญ – กระบี่- ขนอมเป็นการเชื่อมโยงธรรมดา

พรชัย – เป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ 2 ฝั่ง คือฝั่งภูเก็ตกับสมุย

คำนูณ – แต่เป็นแนวเดิมที่อาจจะเตรียมไว้สำหรับรถไฟ เป็นท่อ เป็นอะไรต่ออะไร

พรชัย – จะเป็นถนนที่แปลก จริงๆ 4 เลนธรรมดา แต่ช่วงตรงกลางเว้นไว้ 160 เมตร เพื่อจะใส่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ใส่ถนน รถไฟ ใส่ท่อส่งน้ำมัน อันแรกที่เรายังวางคือท่อส่งน้ำมัน แต่ตรงปลายอาจจะต้องปรับแนวนิดนึง เพราะของเดิมไปจ่อตรงกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

สำราญ – แต่ 160 เมตรก็ไร้ประโยชน์แล้วตอนนี้

พรชัย – ใช้ได้ครับ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ จะไปหักโค้งนิดนึง

คำนูณ – 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเส้นทางยุทศาสตร์ด้วยหรือเปล่าครับ

พรชัย – เป็นส่วนของเส้นทางยุทธศาสตร์

คำนูณ – 90 เปอร์เซ็นต์ของถนนกระบี่-ขนอม ถนนสายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์

พรชัย –ที่ว่านี้ คือจะไปหักออกตรงปลายพระยา ที่ตัดตรงไปที่พังงา

คำนูณ – ไม่ไปกระบี่จะไปพังงา ไปท้ายเหมืองแทน แล้วอีกด้านอ่าวไทย

พรชัย – เหมือนเดิม คือโค้งลงมาที่สิชล คือเราจะหลบสมุย กับภูเก็ต

คำนูณ – ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว

สำราญ – แล้วต่อมาเซาเทิร์นซีบอร์ดยังไงต่อ ทำไมต้องมาแลนด์บริดจ์วันนี้

พรชัย – ก่อนหน้านั้นเนื่องจากดูแลโครงการ ผมก็ประสานกับทางหน่วยต่างๆ และมีการจัดสรรเงินลงไป คือตั้งงบประมาณขอ ปีหนึ่งได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านที่ไปลงภาคใต้ พัฒนาตัวเมืองที่สุราษฎร์ ฯ พัฒนาตัวเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงการปรับปรุงสมุย ภูเก็ต แต่นั่นเป็นลักษณะการทำเป็นโครงการปกติ คือ โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้หยุด แต่ว่าส่วนองค์ประกอบในส่วนน้ำมัน มันยังไม่ได้เริ่ม เพราะว่าตลาดยังไม่เปิด แล้วพอตอนนี้ถ้าดูในแง่ตัวน้ำมัน ปรากฏว่า น้ำมันขึ้นไป 7-8 ปีที่ผ่านมา ขึ้นไป 10 เหรียญ ซึ่งหมายความว่า 10 เหรียญต่อบาร์เรล ของเดิมฐานแค่ 25 เหรียญ ปัจจุบันกลายเป็น 35 เหรียญ ซึ่งวันหนึ่งเรานำเข้าน้ำมันประมาณ 600,000 บาร์เรล ประมาณ 6 ล้านเหรียญ ปีหนึ่งเราจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มอีก 100,000 กว่าล้าน

สำราญ – สถานการณ์น้ำมันเปลี่ยนไปเยอะ

พรชัย – ใช่ครับ เพราะฉะนั้นโครงการก็มีความเหมาะสม

คำนูณ – ประเทศไทยจะได้อะไรครับ ถ้ามีแลนด์บริดจ์ที่เป็นรูปธรรมเห็นๆ

พรชัย – ที่เราจะได้คือ ทุกประเทศตอนนี้ห่วงในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากจะแพงขึ้นแล้วโอกาสในการจะหาได้มันเริ่มลดลง เพราะเราดูปริมาณอย่างน้ำมันโลก 70 ปีหมด ไม่ได้เจาะเพิ่ม และแนวโน้มจะยิ่งยากขึ้น ไทยเอง ในแง่การจัดหาหรือทั้งหมดผ่านมะละกาหมด เราไม่มีท่าเรือหรือท่าขนถ่ายทางฝั่งอันดามันเลย

คำนูณ – เกิดใครมาคุม มีปัญหาบล็อกตรงนั้น

พรชัย – ก็เกิดปัญหากับประเทศไทย

คำนูณ – ถ้ามาตรงนี้ ยังไงมันขึ้นที่ประเทศไทยได้

พรชัย – ได้ เราต่อท่อไปไหน โอกาสเข้าถึงมี

คำนูณ – จะถูกลงไหมครับ

พรชัย – โอกาสถูกมี เหมือนเราซื้อผักในตลาดกับนอกตลาด พอเราสามารถสร้างตลาดตรงนี้ได้ คนขายเข้ามาเยอะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้น้ำมันถูกลงก็มี

สำราญ – เรารับจ้างขนส่งได้ไหม

พรชัย – ด้วยครับ คือไม่ใช่เราห่วงอย่างเดียว จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ห่วง

สำราญ – จีน ญี่ปุ่น จะได้ประโยชน์มาก

พรชัย – เขาจะได้ประโยชน์จากอันนี้ แต่ว่ามากหรือไม่มาก ก็คือว่าอย่างหนึ่งที่เขาได้คือความเชื่อมั่น

คำนูณ – มันถูกลงไหมกว่าการที่จะไปทางช่องแคบมะละกา

พรชัย –เปรียบเทียบแล้ว ค่าขนส่ง เรือต่ำกว่า 140,000 เรือขนส่งมี 3-4 ขนาดนะครับ 70,000-80,000 คือเรือเล็ก 140,000 คือเรือกลาง ตัวใหญ่คือ 300,000 เรือตั้งแต่ 140,000 ลงมาเราสู้ได้หมด เราขนประหยัดกว่าหมด แต่ 300,000 เราแพ้ เพราะฉะนั้นในส่วนของการขนส่งขณะนี้ มี 2 รูปแบบ คือเป็นเรือเล็ก กับเรือใหญ่

สำราญ – ในเชิงโครงสร้างคือจากท้ายเหมือนพังงา ซึ่งอาจจะมีจุดให้เลือก 2 จุด 3 จุดก็แล้วแต่ มาโผล่ที่สิชล ฝั่งอ่าวไทยโดยใช้แนวเดิม แนวกระบี่ ขนอม เพียงแต่ไปหักปลาย และท่อน้ำมันก็จะอยู่ตรงกลางที่รองพรชัยบอกว่า 160 เมตรตรงนั้น

คำนูณ – จะมีท่ออย่างเดียวหรือจะมีอย่างอื่นด้วยครับ

พรชัย – ส่วนอย่างอื่นคงเป็นเฟซต่อไป จริงๆ แล้วโครงการนี้ คือโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ เพราะว่าโครงการนี้รวมทุกอย่างแล้ว คงประมาณ 200,000 ล้าน ทั้งโรงกลั่น อะไรต่างๆ ใส่ลงไป ยังไง ๆ เศรษฐกิจก็โต ทีนี้ในส่วนที่จะเข้าไปหากับคุณภาพชีวิตของประชาชน เราก็มีในเรื่องการประสานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งขึ้นมาโดยใช้เหตุผลของเซาเทิร์นซีบอร์ด ในการจัดตั้ง เบื้องลึกจริงๆ ตอนเมื่อเราเริ่มเซาเทิร์นซีบอร์ดใหม่ๆ เราก็มองว่า ควรจะมีมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาดูเรื่องธุรกิจตรงนี้ ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการให้ประชาชนในพื้นที่สามารถที่จะเลือกทิศทางของตัวเองและส่งลูกส่งหลานไปเรียน ถึงได้มีอาจารย์ที่จะเปิดสอนด้านปิโตรเลียม ส่วนเราก็สอนทางด้านพลังงานทดแทน ซึ่งดูแล้วแปลกกว่าที่อื่น

สำราญ – เป็นวิธีคิดแบบบูรณาการในยุคโน้น โดยไม่รู้ตัว คือมีมหาวิทยาลัยรองรับ มีความเชื่อมประสานกับชุมชน วิชาการ

พรชัย – ใช่ครับ และในแผนเราขณะนี้ คือขอให้มหาวิทลัยวลัยลักษณ์มาช่วยในเรื่องวิชาการ เป็นพี่เลี้ยงกับประชาชนในพื้นที่

สำราญ – ฝั่งอันดามัน ท้ายเหมืองพังงา เป็นอะไรครับ

พรชัย – เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวมาก เรามีกิจกรรมน้อยที่สุดก็คือเรื่องของทุ่นขนถ่าย คลังเก็บ

สำราญ – หมายถึงน้ำมันดิบมาจอดตรงนี้

พรชัย - และส่งผ่านท่อมา และไปที่สิชล ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นจุดที่ต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ มีโรงกลั่น อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ

สำราญ – ประเทศไทยตอนนี้มีกี่โรงครับ

พรชัย – จากการประมาณการของกระทรวงพลังงาน ขณะนี้โรงกลั่นเรา กลั่นได้ประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรลและกำลังกลั่นเกือบจะเต็มแล้ว เพราะฉะนั้นปี 2551 เราต้องมีโรงกลั่นเพิ่ม ตอนนี้กระทรวงพลังงานก็ตัดสินใจอยู่ 2-3 อัน อันที่หนึ่ง ซื้อเขา อันที่สอง กลั่นเอง แนวโน้มกลั่นเองจะเยอะกว่า ต้นทุนจะถูกกว่า ในขณะเดียวกันเรามองตลาด ไปในภูมิภาคด้วย แถวปี 2551 2552 2553 ช่วงนั้น ทางด้านประเทศต่างๆ แถบนี้เองยังขาดประมาณ 500,000 บาร์เรล ต่อวัน เพราะฉะนั้นโรงกลั่นแถวนั้นสามารถที่จะรับ อย่างของเราพอไปถึงปี 2555 เราขาดถึง 300,000 ตอนปี 2551 ขาดยังไม่เยอะ ในขณะเดียวกัน ภาคใต้พอประมาณการไปแล้วก็ประมาณ 100,000 เพราะฉะนั้นจุดแรกที่คนใต้จะได้เลยคือ หนึ่งคนใต้ใช้น้ำมันถูกลงแน่ ปัจจุบันคนใต้แบกค่าขนส่งจากศรีราชามาที่ภาคใต้ประมาณ 15 สตางค์ต่อลิตร คนใต้ซื้อน้ำมันแพงกว่า คนศรีราชา คนกรุงเทพฯ 15 สตางค์ แต่มีโครงการนี้ปุ๊บ โรงกลั่นไปลงตรงนั้น ในแง่ค่าขนส่งมันหายไปแล้ว อันที่สองเราสูบขึ้นมา ต้นทุนค่าน้ำมันดิบ มันถูกกว่ากันเกือบ ๆ 10 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้นดูๆ แล้ว 20 สตางค์หรือ 1 สลึง

สำราญ – โรงกลั่นเราจะลงทุนของเราเอง ปตท.เป็นเจ้าภาพ

พรชัย – อาจจะร่วมกัน เพราะจีนก็สนใจ โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันเองก็สนใจ อย่างคูเวต โอมาน ก็มีการขอข้อมูลเราไป ดังนั้นโอกาสสร้างตลาดเยอะ

สำราญ – ตัวท่อ 30,000 ล้านตรงนี้ เราจะลงทุนเองหรือว่าจะร่วมทุน

พรชัย – คงเป็นลักษณะการร่วมทุน อาจจะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนขึ้นและเอาเข้ามาดูแลตรงนี้ และขณะเดียวกัน ตัวสำคัญอีกตัวคือคลังเก็บเชิงยุทธศาสตร์

คำนูณ – จะอยู่ที่ไหนครับ

พรชัย – อยู่ทางฝั่งสิชล หมายความว่า ขณะนี้เราเก็บอยู่ประมาณ 36 วัน ก็มีนโยบายที่เราน่าจะเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 60 วัน น้ำมันดิบนะครับ เพราะพอน้ำมันขึ้น เราไม่มีตัวไปรับเลย น้ำมันขึ้น 1 เหรียญ ประชาชนต้องรับภาระตรงนั้น 1 เหรียญ ขณะเดียวกันเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา ทุกคนแย่งซื้อน้ำมันหมด ในแง่ของรัฐบาลเอง หรือกระทรวงก็มองว่าการเก็บสำรองต้องเพิ่มขึ้นมีความจำเป็น

สำราญ – จริงๆ ท่อที่ว่า ยาวกี่กิโลครับ

พรชัย – ประมาณ 250 กิโลเมตรครับ

คำนูณ – วางใต้ดินหรือบนดินครับ

พรชัย – ลงใต้ดินหมดครับ ประมาณ 1 เมตรครึ่ง ประมาณ 48 นิ้ว แทบจะมองไม่เห็น

คำนูณ- เฟซแรกจะเป็นท่อเป็นหลัก

พรชัย – ท่อ ระบบขนถ่าย และคลัง

คำนูณ – เรื่องรถไฟละครับ

พรชัย – คงต้องเป็นเฟซต่อไป เป็นเรื่องการขนส่ง

สำราญ – ท่อนี้เป็นไปตามแผนเดิมที่มีอยู่

คำนูณ – ตอนนี้เส้นทางสรุปหรือยังครับ

พรชัย – ค่อนข้างลงตัวแล้ว เส้นทางระหว่างท่อไม่มีปัญหา

คำนูณ – จะเริ่มนับหนึ่ง เมื่อไหร่ครับ

พรชัย – ตอนนี้เริ่มนับแล้ว แต่ยังไม่นับหนึ่งจากก่อสร้าง อีกประมาณ 2 ปี

คำนูณ – ขั้นตอนต่อไปละครับ ถามประชาชน สำรวจความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ รายงานสภาพแวดล้อม

พรชัย – ขณะนี้ทำกู้กันไป เจรจากับพาร์ตเนอร์ อันที่สอง ลงไปฟังเสียงประชาชน ผมก็ลงไปประชุมในพื้นที่กลุ่มต่างๆ ประชุมกัน 5 ครั้งแล้ว เสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างดี

สำราญ – ไม่เหมือนท่อแก๊สที่สงขลานะครับ

พรชัย – ตอนนี้มันเป็นกระดาษ มันง่าย ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็ยกเลิก

สำราญ – หรือว่าเห็นด้วยแต่อย่างไรก็ว่ากัน

พรชัย – จะให้แก้ปัญหาเรื่องอะไรบ้าง

คำนูณ - บทเรียนจากท่อแก๊ส โรงไฟฟ้าก็ดี ห่วงไหมครับ

พรชัย- ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมหยิบเป็นประเด็นแรกเลย ในการทำ ผมก็บอกกับทุกคน ประชาชนในพื้นที่ ว่า ตอนนี้อยู่ในกระดาษ ทุกอย่างจะเปลี่ยนง่ายเพราะยังไม่ได้เริ่ม ผมจึงปรึกษาท่านตั้งแต่เริ่มต้นเลย ท่านเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยบอกเลย ท่านจะเอาไม่เอา ยังไงก็แล้วแต่ หรือแม้แต่ท่านยอมรับได้ จะให้เราเปลี่ยนยังไง จะให้เรามีการปรับปรุงโครงการยังไงบ้าง บางส่วนที่เราได้ เราก็เสนอรัฐบาล ทางประชาชนมีความเห็นอย่างนี้ ผมก็ทำรายงานขึ้นไปเรื่อยๆ กลุ่มนี้มีความเห็นอย่างนี้ ท่องเที่ยวมีความเห็นอย่างไร

สำราญ – มติครม.ที่ผ่านมาให้เดินหน้า

พรชัย – ให้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไป

สำราญ – เรียนถามตรงๆ มีสูตรคู่แข่งไหม เช่น แทนที่จะใช้ท้ายเหมืองสิชล ไปแถวสงขลา มีสูตรนี้ไหมครับ

พรชัย – ไม่มีครับ ซึ่งเส้นทางนี้จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการศึกษามาหลายรอบ สุดท้ายถ้าท่านไปดู เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่ราบที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นราบ ที่มีภูเขาตอนปลาย แต่กิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ในที่ราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางถนนตัดต่างๆ ถนนตัดสาย 401 ตรงจุดตัดต่าง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเขตพวกอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ น้ำมันปาล์ม อย่างอำเภอปลายพระยา เพราะฉะนั้นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดตัดต่างๆ มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป ต่อเนื่องได้ด้วย

สำราญ- ตอนนี้ถือว่าแนวคิดเรื่องการขุดคลองกระที่ระนอง จบชีวิตไปแล้วหรือยังครับโครงการนี้

พรชัย – ก่อนหน้านั้นท่านเคยมอบมา ตอนนั้นท่านยังเป็นรองนายกฯ อยู่ ท่านก็ให้ศึกษา ผมก็เรียนท่านไปว่ามันยาก ลำบาก เพราะเงินลงทุนค่อนข้างสูง อันที่สอง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ อย่างกรณีขุดคลองผ่านเส้นทางน้ำตรงไหน ต้นคลองกลายเป็นน้ำจืด ปลายคลองกลายเป็นน้ำเค็ม ไม่อย่างนั้นเราต้องทำท่อลอด ท่อขนน้ำจืดลอดไปปลายน้ำ ดังนั้นผลกระทบต่อระบบนิเวศค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกันในแง่การขนส่ง เราดูเหมือนประหยัดแต่มันประหยัดได้ไม่มาก

สำราญ – คลองกระไม่กี่กิโลเมตรแล้วนะครับ

พรชัย – แล้วแต่แนวครับ ระนอง ประมาณ 100 กว่า จริง ๆแล้วผมเรียนนิดนึงว่า เราเรียกว่า คลองกระ แต่ไม่ใช่คลอง คือแม่น้ำ เพราะว่าคลองกว้างครึ่งกิโล ลึก 30 เมตร แม่น้ำเจ้าพระยาเรา 10-12 เมตร คือใหญ่และลึกกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นโอกาสจะให้ขนส่งมีประสิทธิภาพได้ ต้องลงทุนค่อนข้างสูงมาก ก็เป็นส่วนหนึ่ง

คำนูณ – กี่แสนล้านครับ

พรชัย – ของเดิมที่เราประมาณ 800,000 ล้านครับคือยังไม่ได้รวมการทำทำนบกั้นริมตลิ่ง ในการที่จะต้องปรับปรุงเรื่องทางน้ำเดิม ในการที่จะต้องทำสะพาน

สำราญ – ใหญ่ๆ เขาบอกว่า ท่อน้ำมัน 35,000 ล้าน โรงกลั่น 30,000 ล้าน มาจากไหนอีก 100,000 ล้าน

พรชัย – ท่อน้ำมัน รวมพวกระบบถังเก็บ ต่างๆ มีถังเก็บเพิ่ม ก็ 50,000 ล้าน เรื่องที่สอง คือโรงกลั่นประมาณ 50,000 ล้าน ก็ 1,200 ล้านเหรียญ และสาธารณูปโภค สาธารณูปการอื่นอีก รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้าน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

คำนูณ – จากวันนี้ไป ลงมือก่อสร้างได้ภายใน 2 ปี และหลังลงมือก่อสร้างแล้ว เสร็จภายในกี่ปีครับ

พรชัย – 4 ปีครับ ประมาณ 2553 เวลาตอนนี้แกว่งนิดนึง

คำนูณ – การมีรัฐบาลต่อเนื่อง อย่างน้อยนายกฯ ทักษิณ น่าจะอีกสมัยหนึ่ง 4 ปี จนถึงปี 2552 จะมีผลต่อโครงการนี้ไหมครับ เชิงบวก

พรชัย – โครงการใหญ่ๆ ประเภทนี้ ถ้ารัฐบาลต่อเนื่องจะสามารถพัฒนาไปได้ต่อเนื่องและเร็ว ถ้าเกิดมีปัญหาโครงการหยุด เพราะส่วนใหญ่พอถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาลที เราก็ต้องเข้าไปบอกท่านว่าโครงการนี้มีประโยชน์นะ ท่านเชื่อเราก็สั่งลุยเต็มที่ ถ้าไม่เชื่อก็ทบทวน

สำราญ – ผู้ชมส่งเอสเอ็มเอสมาก็ค่อนข้างเห็นด้วยส่วนใหญ่ แต่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือบอกว่า รัฐบาลไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นแล้วหรือ

พรชัย- ตอนนี้พลังงานทางเลือกตอนนี้กระทรวงก็ผลักดันเต็มที่แต่ทีนี้เป็นพลังงานทางเลือกเรา อย่างดีเราก็แทนได้ประมาณซักไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่เราหนุนเต็มที่ ไบโอดีเซล กับแก็สโซฮอล์ ก็มีปัญหาตรงวัตถุดิบอีก คือผลิตเอทานอลไม่พอ หรือน้ำมันปาล์มก็ไม่พอ แต่เราเองก็หนุนเต็มที่ควบคู่กันไป แต่พลังงานหลักยังไง ก็ต้องพลังงานฟอสซิลอยู่ดี

สำราญ – เขาบอกว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้เราสูญเสียผลประโยชน์โดยปริยายเลยนะ เจอแรงต้านลึกๆ ไหมครับ

พรชัย – ผมเป็นภาครัฐคงตอบยาก เพราะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ แต่ในส่วนของท่านกล่าว คงเป็นสิงคโปร์ จริงๆ แล้วเรื่องนี้เราเคยคุยกับทางสิงคโปร์ ทีแรกเขาก็เคยบอกว่า โครงการนี้น่าจะมีปัญหาต่างๆ แต่ว่าสุดท้ายบอกว่า ถ้าเราลงจริงๆ เขาก็อยากจะมาร่วมด้วย ผมว่าเป็นการแบ่ง ปัจจุบันเขาขนวันละ 9 ล้านบาร์เรล เราจะแบ่งมาโครงการเราแค่ 1.5 ล้าน ถึง 2 ล้าน

คำนูณ- เราจะแชร์ช่องแคบมะละกาได้ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์

พรชัย – ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ครับ แบ่งตลาดครับ

คำนูณ – ปัญหาความมั่นคงเราศึกษาอยู่ไหมครับ

พรชัย – เราก็ทำกับสภาความมั่นคง และเราก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล สภาความมั่นคงเขาก็ลงไปช่วยเราดู คือตรงนี้เรื่องเซนซิทีฟ ผมก็เป็นห่วง

สำราญ- ตัวเลขการสร้างงานเราเคยดูไหมครับว่าจะส่งผลดียังไง สร้างแรงงานใหม่ซักแสนคน หรือยังไงครับ

พรชัย – เคยมีการศึกษาไว้ ดูแล้วประมาณ 100,000 อัตรา รวมคนที่เขามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง อีกส่วนหนึ่ง คือพวกอาชีพต่อเนื่อง อย่างพวกขนส่ง พวกขายกาแฟ อาหารต่างๆ ประมาณ 1 ต่อ 3 ส่วนหนึ่งคือแน่นอนประชาชนในท้องถิ่นคือส่วนที่จะได้รับโดยตรง

สำราญ- เอาละครับ นี่คือภาพรวมมีอะไรที่จะเพิ่มเติมครับ

พรชัย – คงต้องฝากประชาชนในพื้นที่ในส่วนนี้เอง เราพยายามลงไปและสอบถาม ขอความเห็นจากท่านในการที่จะให้มีส่วนร่วมในการเข้ามาฟังความเห็นของท่านทุกคำถาม ทุกๆ ความเห็น เราจะสามารถที่จะเอามาช่วย มาผนวกในการวางแผนเราได้

สำราญ – ปี 2551 เห็นหน้าเห็นหลัง ปี 2553 ก็แล้วเสร็จ ขอบพระคุณท่านรองฯ พรชัยมากครับ ถ้ามีความคืบหน้าคงรบกวนท่านใหม่นะครับ หมดเวลาของสภาท่าพระอาทิตย์นะครับ คุณคำนูณ สิทธิสมาน ผม สำราญ รอดเพชรและทีมงานลาไปก่อน พบกันใหม่พรุ่งนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น