xs
xsm
sm
md
lg

"อเนก เหล่าธรรมทัศน์-จเด็จ อินสว่าง" ว่าที่คู่หูแห่งพรรคมหาชน

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• เห็นหน้า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ชนแก้วไวน์กับ วัฒนา อัศวเหม, พล.อ.สมบุญ ระหงษ์, มั่น พัธโนทัย, ปาน พึ่งสุจริต และ ฯลฯ ในวันเปิดตัว พรรคมหาชน หลายคนอาจจะร้อง ยี้ และสงสัยว่าเหตุไฉนปัญ ญาชนระดับ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ถึงได้ยอมมาเป็น หัวหน้าพรรค มองให้ลึกลงไปแล้วนี่คือ การเมืองในความเป็นจริง พรรคเหล้าใหม่ในขวดเก่าพรรคนี้หากมองเฉพาะ จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร มีโอกาสจะได้เข้ามาไม่ต่ำกว่า 30 เสียง แต่ที่ตั้งเป้าไว้จริง ๆ อยู่ที่ระดับ 50 – 60 เสียง หรือถ้าหันไปมองทางด้าน นโย บาย พรรคนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเป็น ทางออกของนโยบายประชานิยม ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นโย บายหลัก 3 ประการที่พอสรุปโดยย่นย่อว่า รัฐสวัสดิการนิยม-ไม่ประชานิยม, ไม่รวมศูนย์อำนาจ และ ต้านคอร์รัปชั่น นั้นต้องกล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธทักษิโณมิคโดยสิ้นเชิง – แต่เสนอขั้นตอนใหม่ให้ พูดอีกภาษาหนึ่งก็ว่า พาดบันไดให้เดินลงอย่างสง่างาม เพียงระยะเวลาสั้น ๆ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็ได้สำแดง สติ ปัญญา ออกมาว่าสามารถ Positioning พรรคการเมืองใหม่ไว้อย่างหยาบ ๆ โดยเข้าไป หาที่ยืน ระหว่าง พรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ โดยการเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ = เสรีนิยม, พรรคไทยรักไทย = ประชานิยม และ พรรคมหาชน = รัฐสวัสดิการนิยม คนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคใหม่เห็นได้ชัดว่ามี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็น นักการเมืองอาชีพรุ่นเก่า ที่ต้องการ พื้นที่ แต่ ตกขบวน มาจาก พรรคไทยรักไทย อีกกลุ่มหนึ่งเป็น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, ผู้นำชุมชน ที่เคยเป็นแนวร่วมเดิมเมื่อ 4 ปีก่อนของ พรรคไทยรักไทย พรรคนี้ในระยะยาวจะเป็น พรรคตัวแปร แต่ระยะเฉพาะหน้าน่าจะ ร่วมรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เป็นปฐม

•• แต่จะไปปรามาสว่าเป็น พรรคไทยรักไทยสาขา 2 หรือ พรรคอะไหล่ สถานเดียว “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าเป็นการมองการเมืองที่ ง่ายเกินไป, ตื้นเกินไป มองว่าเป็น ยุทธศาสตร์การสร้างพรรค จะเหมาะกว่า

•• เมื่อมองว่าระยะยาวแล้วนี่คือ พรรคตัวแปร ในการเมืองไทยที่จะกลับไปสู่ระบบเดิม พหุพรรค อย่างช้าก็ ไม่เกินปี 2552 โอกาสที่จะหันขั้วไปผนึกกำลังกับ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องถือว่า เป็นไปได้สูง ดังนั้นท่าทีท่วงทำนองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาที่ รุกไล่, ร้อนรน จึงไม่ใช่ ยุทธวิธีที่ชาญฉลาด สำหรับคนที่จะเป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป เพราะด้านหนึ่งเสมือนเป็นการผลักไส พรรคมหาชน ออกไปจากโอกาสที่จะเป็น พันธมิตร ในช่วง ขาลงของพรรคไทยรักไทย อีกด้านหนึ่งเสมือนเป็นการผลักไส บริษัทบริวาร ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ออกไปจาก พรรคประชาธิปัตย์ พฤติกรรมสองสามวันมานี้สะท้อนให้เห็น วุฒิภาวะทางการเมือง ได้ในระดับสำคัญ

•• การเมืองไทยใน ระบบเลือกตั้ง แม้ว่าจะภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็น Strong Prime Minister อย่างไรก็ตามแต่ขั้นตอนแรกต้อง ชนะเลือกตั้ง, รวบรวมเสียงข้างมาก โดยพื้นฐานจริง ๆ อยู่ที่ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ที่ขึ้นอยู่กับสภาพตัวจริงทางสังคมวิทยาการเมืองของสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ ทำให้คนระดับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยังคงเป็น บุคคลสำคัญ พอ ๆ กับ บรรหาร ศิลปอาชา, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หรือแม้แต่ เสนาะ เทียนทอง, สมศักดิ์ เทพสุทิน (รวมทั้ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เราจึงเห็นได้ว่าไม่ว่าจะมี นโยบายโดดเด่น, ความสามารถส่วนตัวไร้เทียมทาน อย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องอาศัย เสนาะ เทียนทอง เมื่อ ปี 2544 และในอีกไม่กี่เดือนข้าง หน้าก็ยังต้องพึ่งพาความสามารถของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่เคย เขี่ยทิ้งไปแล้ว เข้ามา เสริม เป็นไปไม่ได้ที่จะ ตัดคนการเมืองรุ่นเก่า ออกไปทั้งหมด

•• ปัญหาของ คนการเมืองรุ่นเก่า ที่อยู่ใน พรรคไทยรักไทย ก็คือไม่มีทางจะ มั่นใจในอนาคต เพราะลิขิตทุกอย่างอยู่ที่ คนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ตราบใดที่ กระแส ของนายกรัฐมนตรีคนนี้ยัง สูง, คงที่ ก็ต้อง กล้ำกลืนฝืนทน วันใดที่ ต่ำ, ตกฮวบ ผู้คนเหล่านี้จะมี ฤทธิ์เดช มากขึ้น

•• ถึงจุด ๆ หนึ่ง คนการเมืองรุ่นเก่า ไม่ว่าจะอยู่พรรคใดย่อมสามารถที่จะ ก่อการร่วมกันได้ วันนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มา สร้างรังใหม่ ไม่ใช่ว่าอนาคตจะร่วมมือกับ บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง หรือแม้แต่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้

•• อย่าลืมว่า คนการเมืองรุ่นเก่า ไม่มีปัญหาอะไรกับ นโยบาย สำหรับพวกเขาแล้วไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์, พรรคไทยรักไทย, พรรคชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา หรือ พรรคมหาชน ยิ่งมีนโยบาย เท่, กิ๊บเก๋ ยิ่งดียิ่งไม่เปลืองแรงพวกเขาในกระบวนการ ทำการเมือง อันคุ้นเคย

•• แต่ คนการเมืองรุ่นใหม่ จะ ทำการเมือง ภายในระบอบปัจจุบันโดยไม่อาศัย คนการเมืองรุ่นเก่า เสียเลยก็หาได้ไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือตัวอย่างของ คนการเมืองรุ่นใหม่ ประเภทหนึ่ง

•• ในเครือข่ายของ พรรคไทยรักไทย มี คนการเมืองรุ่นใหม่ จำนวนไม่น้อย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, จาตุรนต์ ฉายแสง, ภูมิธรรม เวชยชัย และ ฯลฯ พิจารณาทางด้าน คนรุ่นเดียวกัน อย่าง อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เมื่อเข้าสู่การเมืองสมัยแรกก็เป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากจะยกระดับขึ้นเป็น หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ระดับ 30 – 50 เสียง ก็ถือว่าเป็น ก้าวสำคัญ เพราะอยู่ต่อไปในพรรคเดิมก็มีแต่จะต้อง ปะทะ กับ ปัญญาชนรุ่นหลัง ที่ ไม่ได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี่ไม่ใช่เรื่อง อัตตา แต่พิเคราะห์ในทุกด้านแล้วไม่มีด้านใดเลยที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ จะ ด้อยกว่า การณ์จึงเป็นอย่างที่เห็น

•• ที่บอกว่า ไม่มีด้านใดด้อยกว่า นั้นก็เพราะ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็น คนเก่ง ที่ผ่าน เบ้าหลอม มายาวนาน

•• คือเป็นคนเหนือจาก จังหวัดลำปาง เกิดเมื่อ ปี 2497 เรียนชั้นมัธยมจาก อัสสัมชัญ แล้วสอบเข้า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ปี 2515 ร่วมก่อตั้ง พรรคจุฬาประชาชน อันเป็น กลุ่มกิจกรรมก้าวหน้า ที่แม้จะ เกิดยาก – เกิดหลังมหาวิทยาลัยอื่น แต่เขาก็เป็น คนแรก ที่ได้รับเลือกเป็น นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ปี 2519 จนมีประสบการณ์ เข้าป่า หลังจากจบ วิทยาศาสตร์บัณฑิต หันเหไปทาง รัฐศาสตร์ (เช่นเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จบปริญญาโทจาก มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และต่อปริญญาเอกจนสำเร็จที่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา แล้วใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นพักใหญ่ด้วยการเป็น อาจารย์ สอนชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ที่นั่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อนจะกลับมาตุภูมิ ปี 2533 มาสังกัด คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสอนและเขียนหนังสือทำวิจัยจนถือเป็นหนึ่งใน ปัญญาชนระดับนำแห่งยุคสมัย และได้รับเชิญไป สอนหนังสือ อยู่พักหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา เป็นคุณสมบัติที่ ไม่ธรรมดา เลย

•• เป็นที่รู้กันดีว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นมี ขนบ ที่ยากจะเปิดทางให้ นักกิจกรรมฝ่ายก้าวหน้า การที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ชนะเลือกตั้งได้เป็น นายกฯสจม. ในนาม พรรคจุฬาประชาชน เมื่อ ปี 2519 นั้น “เซี่ยงเส้าหลง” ได้ยินมาว่าเป็นเพราะ บุคลิกภาพเฉพาะ หนึ่งเป็น คนเรียนเก่ง(มาก) ทางสาย วิทยาศาสตร์ สองนอกจากเป็นคน หน้าตาดี แล้วยังเป็น นักประสานที่ดี คนหนึ่ง

•• ที่น่าจับตาคือ เลขาธิการพรรค ของ พรรคมหาชน ที่เมื่อมาผสมผสานกับ หัวหน้าพรรค แล้วอาจจะเป็น ความแตกต่างที่ลงตัว ได้ไม่ยาก

•• ต่อไปนี้จึงเป็นวาระที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จะไขขานความเป็น จเด็จ อินสว่าง ในมุมที่ไม่ค่อยจะรู้กันเสียหน่อย

•• ก่อนจะมาถึงตำแหน่งสุดท้าย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ที่ดู ธรรมดา อยากจะบอกว่า จเด็จ อินสว่าง คนนี้ ไม่ธรรมดา เพราะถือว่าเป็น เด็กสร้าง ของ ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย มาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ทำให้เป็นคน กว้างขวาง, รอบตัว รู้จักผู้คนในหลากหลายวงการทั้ง ข้าราชการพลเรือน, ข้าราชทหาร, นักการเมืองท้องถิ่น และ นักการเมืองระดับชาติ เป็นคนสไตล์เดียวกับ อนันต์ อนันตกูล จะเรียกว่าเป็น อนันต์ อนันตกูล – หมายเลข 2 ก็ไม่ผิด

•• ภูมิหลังของ จเด็จ อินสว่าง โดยกำเนิดแล้วเป็น คนสุพรรณบุรี ถ้าข้อมูล “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่ผิดพลาดน่าจะเป็น ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บุตรชายสุดรักของ กำนันคนดัง แห่ง ตำบลบ้านกร่าง ที่ได้รับเลือกเป็น กำนันดีเด่นประจำปี 2509 กล่าวคือ กำนันวิภาส อินสว่าง ทำให้อยู่ในแวดวง การเมืองระดับชาติ มาตั้งแต่เด็กเพราะผู้บิดาลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี ใน ปี 2512 สมัยนั้น ไม่สังกัดพรรค จึงทำให้ ส.ส.วิภาส อินสว่าง เป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของ กลุ่มส.ส.อิสระ ที่มีโครงการจะจัดตั้ง พรรคอิสระ ร่วมกับนักการเมืองคนดังรุ่นเดียวกันทั้งที่เป็น ส.ส. และ ไม่ได้เป็นส.ส. อย่าง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, โกศล ไกรฤกษ์, บุญยง วัฒนพงศ์, สุจินต์ เชาว์วิศิษฐ, จรูญ วัฒนากร, ชูสง่า ฤทธิประศาสน์, เชาวน์วัศ สุดลาภา, ศิริ ทุ่งทอง, ชูสิน โคนันท์, จำนงค์ ศรีวรขาน, อนันต์ ฉายแสง, อนันต์ สุขสันติ์, เลิศสิน หงษ์แสงไทย, ชัย ชิดชอบ, สมพล เกยุราพันธุ์ และ เลิศ ชินวัตร การศึกษานั้นก็ดีพอใช้ได้เมื่อเป็นศิษย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – รุ่น 17 หรือนัยหนึ่ง สิงห์แดง 17 จบออกมาด้วยดีกรี เกียรตินิยม เข้ารับราชการที่ กรมการปกครอง ครั้งแรกก็ได้นั่งเป็น สต๊าฟ หน้าห้องของ เชาว์วัศ สุดลาภา ที่ขณะนั้นเป็น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้กับรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้นคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร ทำให้ รู้จักการเมือง อย่าง ลึกซึ้ง เพราะทุกเช้าก็ต้องติดตาม นาย ไปที่ บ้านสวนพุดตาน ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร จากนั้นชีวิตราชการก็ก้าวหน้ามาตามลำดับ จเด็จ อินสว่าง ขึ้นเป็น รองผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งแรกก็ที่ จังหวัดพิจิตร บ้านเกิด พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แล้วเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดสำคัญ น่าน, ภูเก็ต, กาญจนบุรี ก่อนจะขึ้นชั้นมาเป็น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน แล้วกลับไปเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ไม่นานก็โยกเข้ามาเป็น อธิบดีกรมที่ดิน อยู่เพียง 7 วัน แล้วขยับขึ้นเป็น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา จะเห็นว่าอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์กับ บรรหาร ศิลปอาชา และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ สมัยที่ทั้งสองเป็นใหญ่อยู่ที่ กระทรวงมหาดไทย มาโดยตลอด

•• สายสัมพันธ์ ลึกซึ้ง ก็เพราะสมัยที่ เชาว์วัศ สุดลาภา ไปเป็น นายอำเภอ อยู่ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี นั้นก็ได้ กำนันวิภาส อินสว่าง คอย ดูแล ความเอื้ออาทรจึงส่งต่อมาถึง เจด็จ อินสว่าง เมื่อเริ่มเข้ารับราชการ

•• ในด้านการทำงานถือเป็น สิงห์แดง ที่ ครบเครื่อง จึงเป็น เด็กสร้าง ของ สิงห์แดงรุ่นพี่ อย่าง อนันต์ อนันตกูล รวมทั้งส่งต่อสายสัมพันธ์ให้ที่ ชลบุรี เพราะ อนันต์ อนันตกูล เคยเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี มาก่อนหน้าที่ จเด็จ อินสว่าง จะเข้าไป

•• และไอ้สิ่งที่เรียกว่า สายสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ชนิด มองตารู้ใจ ของ จเด็จ อินสว่าง คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แล้วมาเป็น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา (เพื่อทำงานให้กับรัฐมนตรีผู้เป็น ทายาทผู้ยิ่งใหญ่แห่งชลบุรี) กับ ตระกูลคุณปลื้ม เมื่อบวกกับความสัมพันธ์อันดีกับ บรรหาร ศิลปอาชา, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นี่เองทำให้ “เซี่ยงเส้าหลง” คิดเอาเองว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่ สนธยา คุณปลื้ม จะพาเครือข่าย ตระกูลคุณปลื้ม มาเป็นหนึ่งในแก่นแกนของ พรรคมหาชน ต้องจับตาดูให้ดี

•• หมด พรรคชาติพัฒนา ก็เหลือพรรคการเมืองที่จะทำหน้าที่เป็น พรรคตัวแปร ประเภทมีที่นั่ง 20 – 50 ที่นั่ง อยู่เพียง 2 พรรคหลัก คือ พรรคชาติไทย กับ พรรคมหาชน ลำพังนำนักการเมืองที่มีศักยภาพแต่ ตกขบวน, ตกสำรวจ จากพรรคใหญ่มา ขัดสีฉวีวรรณ, อัดปุ๋ย, ให้น้ำ ด้วยความสนับสนุนจาก กลุ่มทุนบางกลุ่ม เชื่อว่า +/- 100 ที่นั่ง ไม่ใช่ ฝันกลางวัน แน่นอน

•• จำนวน +/- 100 ที่นั่ง ของ พรรคมหาชน + พรรคชาติไทย นี้ในสถานการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคง กระแสสูง ไว้ได้ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่พวกเขาจะ ยอมอยู่ภายใต้บารมี ในลักษณะ ร่วม – แต่ไม่รวม แต่ถ้า รักษากระแสสูงไว้ไม่ได้ วันใด “เซี่ยงเส้าหลง” ว่าวันนั้นพวกเขาจะ มีความหมายอย่างยิ่งทางการเมือง เพราะจะไม่ใช่แค่ +/- 100 ที่นั่ง ยังจะต้องให้ค่ากับคนระดับ เสนาะ เทียนทอง, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไว้ด้วย

•• เขียนเล่าถึง กำนันวิภาส อินสว่าง บิดาของ จเด็จ อินสว่าง ทำให้พัวพันไปถึง นักการเมืองรุ่นพ่อหลายคน ไม่ว่า ชัย ชิดชอบ, สมพล เกยุราพันธุ์ และ เลิศ ชินวัตร พลันนึกถึงการตอบคำถามครั้งหนึ่งของ พายัพ วนาสุวรรณ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ “เซี่ยงเส้าหลง” ขอนำมา ประยุกต์ใหม่ อยู่ในล้อมกรอบใกล้ ๆ กันนี้ให้หวนนึกถึงความหลัง ....กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... สักหน่อย

•• เรื่องที่คนยังไม่รู้ก็คือ แม่ ของ จองชัย เที่ยงธรรม เป็น พี่สาวแท้ๆ ของ กำนันวิภาส อินสว่าง และการได้เป็นส.ส.ของ จองชัย เที่ยงธรรม ก็ถือเป็นความภูมิใจ ของ กำนันวิภาส อินสว่าง ด้วย

•• จะเห็นได้ว่า จเด็จ อินสว่าง คือ จิกซอว์ตัวสำคัญ ที่จะทำให้ พรรคชาติไทย ยังคงมี ความหมายทางการเมือง เรื่องนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” ได้ยินมาว่า แม้แต่ ประภัตร โพธสุธน ก็อาจจะตัดสินใจ ยังคงอยู่ร่วมชายคา กับพรรคชาติไทย ต่อไป

ความแตกต่างที่ลงตัว ? – อเนก เหล่าธรรมทัศน์ กับจเด็จ อินสว่าง ว่าที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค พรรคมหาชน อายุห่างกันแค่ 7 ปี แต่มีที่มาต่างกัน วิถีชีวิตบนเส้นทางการเมืองต่างกัน เบ้าหลอมและประสบการณ์ชีวิตต่างกัน ที่เหมือนกันคือต่างเป็นคนกว้างขวาง ครบเครื่อง อัธยาศัยดี และสม่ำเสมอกับมิตรสหาย – จะเป็น “คู่หู” ที่ผสมผสานกันได้ “ลงตัว” หรือไม่ อีกไม่นานคงได้พิสูจน์กัน

กำนันวิภาส อินสว่าง...และมวลหมู่‘ตัวแปร’รุ่น 2512


วิภาส อินสว่าง บิดาของจเด็จ อินสว่าง ว่าที่เลขาธิการพรรคมหาชน นอกจากเป็นกำนันดีเด่นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2509 แล้ว ยังเป็นส.ส.สุพรรณบุรีช่วงปี 2512 – 2514 ด้วย

ไม่ใช่ส.ส.ธรรมดา – แต่เป็นส.ส.ที่ทำงานการเมืองคู่มากับเลิศ ชินวัตร ส.ส.เชียงใหม่ในช่วงเดียวกัน


บิดาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีบทบาททางการเมืองอยู่ในช่วงสั้น ๆ ปี 2512 – 2514 แต่ก็ในระดับเทียบเท่า “หัวหน้าพรรคการเมือง” เหมือนกัน

วิภาส อินสว่าง และเลิศ ชินวัตร ต่างได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เชียงใหม่ในการเลือกตั้งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในประเทศไทยหลังจากว่างเว้นไป 12 ปีนับแต่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี 2500 การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ไม่ได้บังคับให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรค

วิภาส อินสว่าง และเลิศ ชินวัตร ต่างเป็นส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด !

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ปรากฎสัดส่วนที่ทำให้ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดมีความสำคัญขึ้นมาทันที
พรรคสหประชาไทย 75 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 57 ที่นั่ง, พรรคแนวประชาธิปไตย 7 ที่นั่ง, พรรคแนวร่วมเศรษฐกร 4 ที่นั่ง, พรรคประชาชน 2 ที่นั่ง, พรรคชาวนาชาวไร่ 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีประชาธิปไตย 1 ที่นั่ง,

ไม่สังกัดพรรค 71 ที่นั่ง


ผู้สมัครส.ส.ไม่สังกัดพรรคส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่มาจากนักธุรกิจภูธร, นักการเมืองท้องถิ่น, ข้าราช การปกครอง และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องมีที่นั่งส.ส.ในสภาเกินกึ่งหนึ่ง คือ 113 ที่นั่ง ทำให้พรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร – จอมพลประภาส จารุเสถียร และขุนทหารทั้งมวลในขณะ นั้น ต้องดึงเสียงจากส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดเข้ามาสนับสนุน จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรปี 2518 ที่ไม่ได้ลงสมัครส.ส.ในปี 2512 นั้น เป็นผู้มีบทบาทช่วยเหลือขุนทหารดึงเสียงส.ส.ไม่สังกัดพรรคเข้ามาร่วม

โดยได้รับการขอร้องจากพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา – ขุนทหารผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


เชื่อกันว่า ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ดำเนินงานทางการเมืองกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่งมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว เพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้หากพรรคสหประชาไทยไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะขณะนั้นบทบาทฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์มี “เสน่ห์” มาก เพราะบ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของจุนทหารสืบเนื่องมา 12 ปี

ถ้าเป็นสมัยนี้ – นักการเมืองกลุ่มนั้นคงไม่แคล้วถูกเรียกขานเป็น “พรรคอะไหล่”, “พรรคสาขา” หรือไม่ก็ “พรรคตัวแปร” !!

แกนนำของส.ส.ไม่สังกัดพรรคกลุ่มนี้ซึ่งมีประมาณ 19 คน ได้เริ่มพัฒนาตัวเองไปสู่ความพยายามจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้เท่านั้น

โดยมอบหมายให้โกศล ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลกสมัยแรก เป็นหัวหน้าคนแรก

แต่เป็นหัวหน้าอยู่ไม่นาน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง

เลิศ ชินวัตรได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 ในเวลาต่อมา

นักการเมืองในกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นส.ส. และไม่ได้เป็นส.ส. นอกจากประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, โกศล ไกรฤกษ์, เลิศ ชินวัตร แล้วก็มี....

บุญยง วัฒนพงศ์ - ปลัดอำเภอ

เชาวน์วัศ สุดลาภา – กรมการปกครอง /เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (จอมพลประภาส จารุเสถียร)

สุจินต์ เชาว์วิศิษฐ - เทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ

จรูญ วัฒนากร - เทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ

ชูสง่า ฤทธิประศาสน์ – กระทรวงมหาดไทย

ศิริ ทุ่งทอง - ผู้ใหญ่บ้านจากอุทัยธานี

ชัย ชิดชอบ - กำนันจากบุรีรัมย์

ชูสิน โคนันท์ - นายกเทศมนตรีจากสตูล

จำนงค์ ศรีวรขาน - ปลัดอำเภอ จากนครพนม

อนันต์ ฉายแสง

อนันต์ สุขสันติ์

เลิศสิน หงษ์แสงไทย

สมพล เกยุราพันธุ์

และ ฯลฯ

เลิศ ชินวัตรชนะเลือกตั้งที่เชียงใหม่ คะแนนเป็นอับดับ 1 ในจำนวนส.ส.ทั้งหมด 6 คนในขณะนั้น
เป็นผู้ที่สนิทกับประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์มากเป็นพิเศษ
เลิศ ชินวัตรเขียนเล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพกำนันวิภาส อินสว่างเมื่อปี 2546 ว่า...

"ผมรู้จักท่านประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์มาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งในปีนั้นผมได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และท่านประสิทธิ์เป็นผู้สนับสนุนส.ส.อิสระที่ผมสังกัดอยู่ ทีแรกท่านต้องการสนับสนุนให้ผมเป็นหัวหน้าพรรคอิสระที่ก่อตั้งขึ้นภายหลัง ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้นใหม่...

"แต่ผมยังใหม่ต่อการเมือง จึงสละสิทธิให้คุณพี่โกศล ไกรฤกษ์เป็นหัวหน้าพรรค โดยผมเป็นรองหัวหน้าพรรค แต่ความสัมพันธ์ของผมกับท่านประสิทธิ์ ก็ต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่านไปไหนท่านก็มักจะเรียกผมไปด้วย ผมเป็นอะไรอยู่ที่ไหน ว่างก็มาแวะเยี่ยมเยียนท่านเสมอมา..."


ปรีดา พัฒนถาบุตรเขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า ผู้ที่เสนอให้เลิศ ชินวัตรขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็น...

กำนันวิภาส อินสว่าง,

ระยะเวลาของการเป็นหัวหน้าพรรคอิสระของบิดาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสั้นมาก เพราะเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐประหารยึดอำนาจตนเอง ฉีกรัฐธรรมนูญ 2511 สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในหลายระดับ โดยระดับที่ถูกขับเน้นเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคต่อ ๆ มาคือความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญ 2511 เป็นรัฐธรรมนูญที่แยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติออกจากกันในระดับหนึ่ง

แต่จริง ๆ แล้ว – ความขัดแย้งด้านแนวคิดและแนวทางการเมืองระหว่างจอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร กับพล.ต.ต.สง่า กิตติขจร และพล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ที่ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากจอมพลถนอม กิตติขจร น่าจะมีส่วนสำคัญที่สุด

เรื่องนี้น่าจะมีการศึกษากันอย่างจริงจังต่อไป !

จะได้ไม่โยนบาปให้ “ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมือง” แต่เพียงถ่ายเดียว !!


ดูจากรายชื่อของอดีตนักการเมืองรุ่น 40 ปีก่อนเหล่านี้ จะเห็นรอยเชื่อมต่อมาสู่ยุคปัจจุบัน

สุจินต์ เชาวน์วิศิษฐ - ไปสมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ โดยการช่วยเหลือของสง่า วัชราภรณ์ บิดาปิยะณัฐ วัชราภรณ์ จึงได้รับเลือกตั้งอย่างอื้อฉาว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่ชายร.อ.สุชาติ เชาวน์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี

สมพล เกยุราพันธุ์ – คือบิดาของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

อนันต์ ฉายแสง - เป็นบิดาของจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี

ชัย ชิดชอบ – ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นบิดาของเนวิน ชิดชอบ

กำนันวิภาส อินสว่าง – บิดาของจเด็จ อินสว่าง ว่าที่เลขาธิการพรรคมหาชน พรรคตัวแปรในอนาคตที่ตั้งเป้าจำนวนส.ส.ไว้ที่ 50 ที่นั่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น