xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ“ฟ้องอย่างไรให้ถูกวิธี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2547 สำนักงานศาลปกครองได้จัดงาน “ศาลปกครองพบประชาชน” ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีที่ศาลปกครองได้อย่างถูกต้องถูกวิธี เนื่องจากปัจจุบันประชาชนนำคดีที่ไม่ใช่คดีปกครองมาฟ้องต่อศาลปกครอง หรือฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้ศาลปกครองอาจจะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นจำนวนมาก สำนักงานศาลปกครองจึงได้เชิญอธิบดีศาลปกครองกลางและรองอธิบดีศาลปกครองกลางทั้งสามท่านมาอภิปรายไขข้อข้องใจของประชาชนในหัวข้อเรื่อง “ฟ้องอย่างไรให้ถูกวิธี” เพื่อให้ประชาชนทราบว่าคดีประเภทใดบ้างที่จะนำมาฟ้องที่ศาลปกครองได้ และการฟ้องคดีต้องทำอย่างไร โดยมีเนื้อหาและสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. คดีที่จะนำมาฟ้องที่ศาลปกครองได้นั้น ต้องเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โดยผู้ฟ้องคดีต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก ให้ดูว่าผู้ที่ท่านจะฟ้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ เพราะคดีปกครองต้องเป็นคดีที่มีคู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่เป็นคดีพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

ประการที่สอง ต้องดูว่าเป็นเรื่องที่พิพาทกันเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ และต้องเป็นคดีตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เป็นการฟ้องคดีว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร หรือเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง เช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน สัญญารับทุนการศึกษา เป็นต้น ซึ่งศาลปกครองก็ต้องตัดสินคดีเหล่านี้ตามกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญา จะตัดสินคดีโดยอ้างแต่หลักนโยบายสาธารณะไม่ได้

ส่วนคดีที่นำมาฟ้องที่ศาลปกครองไม่ได้ แต่ประชาชนมักจะฟ้องผิดศาล เช่น คดีเกี่ยวกับวินัยทหาร หรือการบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม หรือเป็นคดีซึ่งได้มีการจัดตั้งศาลพิจารณาเรื่องนี้ไว้เป็นพิเศษแล้ว เช่น คดีภาษีอากรขึ้นศาลภาษีอากร หรือคดีแรงงานขึ้นศาลแรงงาน หรือคดีที่ขึ้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น
2. การฟ้องคดีต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด แม้ว่าการฟ้องคดีที่ศาลปกครองจะง่ายและสะดวก แต่กฎหมายก็กำหนดหลักเกณฑ์บางประการให้ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรก ท่านจะฟ้องคดีได้ต่อเมื่อท่านเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในเรื่องที่จะฟ้อง ดังนั้น ถ้าท่านเห็นคนบุกรุกที่สาธารณะ ท่านอยากจะเป็นพลเมืองดีช่วยเหลือสังคมโดยไปฟ้องคดีแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนก็ทำไม่ได้

ประการที่สอง ถ้ามีกฎหมายกำหนดวิธีการแก้ไขความเดือดร้อนไว้ ท่านก็ต้องใช้วิธีนั้นก่อน จะด่วนนำคดีมาฟ้องศาลยังไม่ได้ เช่น กฎหมายให้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่ง ก็ต้องอุทธรณ์ก่อน

ประการที่สาม ต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งหรือกฎของทางราชการ ก็ต้องฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือกฎนั้น เว้นแต่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ก่อน ก็เริ่มนับตั้งแต่ที่วันได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนกรณีราชการทำละเมิดหรือผิดสัญญา โดยหลักก็ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้เรื่องที่จะฟ้องนั้น

ประการที่สี่ ต้องฟ้องคดีตามรูปแบบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด การยื่นฟ้องนั้นอาจยื่นด้วยตนเองที่ศาลหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมายื่นแทน หรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ ส่วนคำฟ้องนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้โดยเฉพาะ แต่ต้องทำเป็นหนังสือ จะมาฟ้องด้วยวาจาที่ศาลไม่ได้ และผู้ฟ้องคดีต้องระบุรายละเอียดพอที่ศาลจะเข้าใจ โดยต้องระบุชื่อและที่อยู่ของตนเอง ชื่อและที่อยู่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่จะฟ้อง เล่าเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้นำคดีมาฟ้อง พร้อมทั้งระบุว่าท่านจะขอให้ศาลทำอะไรให้ และเซ็นชื่อมาในคำฟ้อง ส่วนพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ถ้ามี ก็ให้ส่งมาให้ศาลด้วย และอย่าลืมส่งสำเนาคำฟ้องและพยานหลักฐาน (เท่าจำนวนของคนที่ท่านจะฟ้อง) มาให้ศาลด้วย

โดยสรุป คือ จะฟ้องทั้งที ต้องฟ้องให้ถูกวิธี และฟ้องคดีให้ถูกประเภท ก็จะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น