xs
xsm
sm
md
lg

เกร็ดประวัติศาสตร์ เกมชิงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก"สยาม"เป็น"ไทย"

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


•• เป็นนิมิตหมายอันดีที่มีผู้เสนอให้ เปลี่ยนชื่อประเทศ จาก ไทย กลับไปเป็น สยามนอกเหนือจาก สุพจน์ ด่านตระกูล ในการเสวนาเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2547 ภายใต้หัวข้อ หนทางสู่สันติสุขยั่งยืนในชายแดนภาคใต้ – และแนวความคิดปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง, จรัล ดิษฐาอภิชัย และ สันติสุข โสภณสิริ แล้วยังมี เสน่ห์ จามริก ในฐานะ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอออกมาเมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน 2547 ในงานเสวนาหัวข้อ คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย – คืออะไร, แก้ไขอย่างไรดี ร่วมกับบรรดา คนไทยไร้สัญชาติ, อดีตคนไทยไร้สัญชาติ อาทิ น้ำค้าง แซ่ตั้ง,อาภารัตน์ แซ่หวู, สสิธร วรรัตน์ และ ฯลฯ แม้หัวข้อจะแตกต่างแต่จุดยืนและแนวคิดตรงกัน “...คำว่าประเทศไทยนั้น ได้ปฏิเสธความแตกต่างของคนในชาติและสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ -- ผมเสนอว่าควรคิดกันใหม่ระหว่างคำว่าไทยกับสยาม มีความจำเป็นที่เราต้องทบทวนความเป็นชาติ เพราะคำว่าไทยทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมและกลายเป็นปัญหา ผมอยากเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อจากคำว่าไทยเป็นสยาม เพราะดินแดนของเรามีความหลากหลาย คำว่าไทและคำว่าไทยมีความแตกต่างกัน.” นี่คือวาทะของ เสน่ห์ จามริก ที่น่าจะจุดชนวน วิวาทะทางปัญญา อีกครั้งหลังชื่อ ประเทศไทย มีอายุครบ 65 ปีเต็ม ก็อย่างที่ “เซี่ยงเส้าหลง” กล่าวโดยย่นย่อไปเมื่อวานนี้แหละว่าคงจะหวังกันได้ยากถึง ผลโดยตรง แต่ที่จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่งคือ ผลข้างเคียง ที่จะทำให้หวนระลึกถึง ที่มาอันไม่ไม่ถูกต้องของแนวคิดเปลี่ยนชื่อประเทศ พูดง่าย ๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่ ชื่อ แต่เป็น ภูมิปัญญาในระดับปรัชญา ที่ครอบคลุมพรมแดน รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกันทีเดียวเวลาอภิปรายถึงคำ สยาม – ไทย, ไท – ไทย หรือแม้แต่คำแปลภาษาอังกฤษ Thai – Thailand ด้วย

•• แม้ในบันทึกประวัติศาสตร์จะถือว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2482 คือ วันเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยยึดตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ แต่ในทาง กฎหมาย แล้วต้องถือเอาวันที่ 26 สิงหาคม 2482 อันเป็นวันที่รัฐบาลสมัยนั้นเสนอ ร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศ ต่อ รัฐสภา และผ่าน วาระที่ 3 ในอีก 1 เดือนถัดมา นั่นเอง

•• คำแถลงต่อ รัฐสภา ของ จอมพลป. พิบูลสงคราม (หรือในขณะนั้นเรียกกันว่า นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม) ได้ระบุ เหตุผลหลัก ไว้ในลักษณะให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าเพื่อ ต่อต้านคนจีน(ในสยาม) ดังคำกล่าวตอนหนึ่งที่บันทึกไว้ว่า “...การที่เราใช้คำว่า ประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น.” เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ก่อนหน้านั้นจะมี การถกเถียงอย่างหนัก ใน คณะรัฐมนตรี ตั้งแต่การประชุมนัด วันที่ 8 พฤษภาคม 2482 ที่มีการเสนอเข้าไปเป็นครั้งแรกในฐานะ วาระจร ตามมาด้วยนัด วันที่ 22 พฤษภาคม 2482, วันที่ 31 พฤษภาคม 2482 ในนัดหลังนี้ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการรัฐนิยม (เริ่มแรกใช้ชื่อ คณะกรรมการธรรมนิยม) และนัดสุดท้าย วันที่ 23 มิถุนายน 2482 แต่พอชั้นการประชุมใน รัฐสภา แทบ ไม่มีเสียงคัดค้าน เลย

•• ในรัฐสภาครั้งกระนั้น วันที่ 26 สิงหาคม 2482 ประเด็นเดียวที่ ถกกันหนัก ใช้เวลา กว่า 1 ชั่วโมง ก็คือ ตัวสะกด ของชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ว่าควรจะมี ต่อท้าย ไท หรือไม่ – การลงคะแนนในวาระแรกใกล้เคียงกันมาก ไทย มี 64 เสียง ในขณะที่ ไท มี 57 เสียง แต่พอในวาระที่ 3 ปรากฏว่า ไทย ได้รับความเห็นชอบ เป็นเอกฉันท์ อย่างพลิกความคาดหมาย

•• จากนั้นมามี การถกเถียงอย่างจริงจัง ถึงการจะกลับไปใช้ชื่อ สยาม อีกในการอภิปรายใน สภาร่างรัฐธรรมนูญ รวม 3 ยุค คือ ปี 2491, ปี 2504 และ ปี 2517 ยุคแรก ไทย ชนะ สยาม ไปด้วยคะแนนเสียงหวุดหวิดเพียง 18 : 14 เสียง ยุคต่อมาเป็นยุคคณะปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้คะแนนเสียงจะออกมาขาดลอย 134 : 5 เสียง แต่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเป็นการอภิปรายโต้เถียงที่มี ลักษณะทางวิชาการสูงมาก ใช้เวลาอภิปรายเฉพาะประเด็นเดียวนี้ 3 ครั้ง 3 วันประชุม โดยหัวเรี่ยวหัวแรงฝ่ายสนับสนุน สยาม ก็คือ พล. อ.แสวง เสนาณรงค์ (ขณะนั้น ปี 2504 ยังติดยศ พล.ต.) ท่านผู้นี้ในกาลต่อมากล่าวได้ว่าเป็น ทหารก้าวหน้า, ทหารประชาธิปไตย มากที่สุดคนหนึ่งแม้จะเป็น เลขานุการ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร แต่ก็มีแนวคิดที่ไม่ตรงกับ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร โดยเฉพาะ ไม่เห็นด้วย กับ การปฏิวัติ(ตัวเอง) 17 พฤศจิกายน 2514 (เช่นเดียวกับพล.ต.ต.สง่า กิตติขจร) หากจังหวะเวลาเหมาะสม “เซี่ยงเส้าหลง” จะได้ค้นคว้าเรื่องราวของท่านผู้นี้ที่ในยุค ปี 2511 – 2514 เคยถูกเพ่งเล็งว่าตกอยู่ภายใต้ การครอบงำ ของ คอมมิว นิสต์ มาเล่าสู่กันฟัง

•• ล่าสุด ปี 2517 แม้จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 – 3 คนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายแต่ก็ ไม่ได้รับความสนใจ ไม่เป็น ประเด็น ที่จะต้อง ลงมติ แต่ประการใด -- แต่ก็เพียงพอที่จะให้มี ข้อเขียน เชิง เล่าความหลัง ออกมาจาก ท่านปรีดี พนมยงค์ ดังที่ “เซี่ยงเส้าหลง” คัดมาให้อ่านกันใกล้ ๆ นี้

•• ต้นคิดจริง ๆ ของ การเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยาม มาเป็น ไทย นี้นอกเหนือจาก จอมพลป. พิบูลสงคราม แล้วคนที่มีส่วนผลักดันสำคัญเห็นจะเป็น หลวงวิจิตรวาทการ ผู้ประกาศแนวคิด ต่อต้านคนจีน มาโดยตลอดและ ฮือฮามาก ในปาฐกถาองค์สำคัญเมื่อ กรกฎาคม 2481 ที่บอกว่า คนจีน(ในสยาม) เป็น กาฝาก ยิ่งกว่า ยิวในยุโรป ดูเหมือนจะเป็น ปม ของ ลูกจีน อย่าง หลวงวิจิตรวาทการ ที่น่าศึกษาไม่น้อย เหตุผล 4 ประการ ของท่านผู้นี้ในข้อเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศก็คือคำว่า สยาม มีปัญหารวม 4 ประการ ประการที่หนึ่งคือ ทำให้คนไทยมีสัญชาติกับบังคับไม่ตรงกัน (กล่าวคือ สัญชาติไทย, บังคับสยาม) ประการที่สองคือ ชื่อภาษากับชื่อคนไม่ตรงกัน (กล่าวคือ คนสยาม, ภาษาไทย) ประการที่สามคือ ในประเทศเดียวกันเกิดปวงชนเป็น 2 พวก (กล่าวคือ ปวงชนชาวไทย กับ ปวงชนชาวสยาม) และประการสุดท้าย ความใหญ่หลวงของเชื้อชาติไทยที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก (ที่นับรวมกันแล้วได้ 36 ล้านคน ใน ปี 2482) ข้อสุดท้ายนี้ ลูกจีนเกิดในสยาม ท่านนี้อ้างงานเขียนเรื่อง The Tai Race : Elder Brother of the Chinese ของ W.C. Dodd และงานวิจัยสำรวจอีกจำนวนหนึ่งของ นักวิชาการอเมริกันที่เข้าไปสำรวจในจีน นาม George B. Cressey ที่พยายามบอกเล่าว่ามี คนไทยในจีนเป็นจำนวนมหาศาล คนเหล่านั้น แปลกแยกจากจีน, ไม่ยอมรับจีน และประสงค์จะ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนไทยในสยาม เป็นแนวคิด ชาติใหญ่ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง

•• แม้จะอรรถาธิบายใน ปี 2517 แต่ใน ปี 2482 จะเห็นได้ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ได้ออกแรง คัดค้านอย่างถึงที่สุด สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพราะ ไม่ต้องการสร้างความแตกแยกขึ้นในคณะราษฎร ข้อคัดค้านที่ มีเหตุผลที่สุด ของ วันที่ 8 พฤษภาคม 2482 จึงยังคงเป็นของ นายพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่แม้นำมากล่าวในวันนี้ก็ยังคง ทันสมัย อยู่กับประโยคที่ว่า “...ในแง่นโยบายปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้วใช้ว่าไทย เกรงว่าเขาอาจจะน้อยใจได้ อนึ่ง ถ้าเราเลิกใช้คำสยาม ใช้แต่ไทย จะเกิดความรู้สึกว่าเอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่าสยามก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไป อาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้.” ขอนำมาให้อ่านกันอีกครั้งคงไม่ว่าอะไร

•• ประเด็นที่ ท่านปรีดี พนมยงค์ จริงจังคือ ชื่อภาษาอังกฤษ ของ ประเทศไทย, คนไทย ว่าควรใช้ Siam, Siamese ดังนั้นเมื่อท่านมีอำนาจใน ปี 2489 ท่านจึงเสนอให้รัฐบาล ทวี บุณยเกต ประกาศ ชื่อภาษาอังกฤษ ของ ประเทศไทย, คนไทย เสียใหม่ว่า Siam, Siamese โดยไม่ได้ดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งก็ใช้อยู่ไม่นานเพราะเมื่อ จอมพลป. พิบูลสงคราม กลับขึ้นไปมีอำนาจหลัง ปี 2492 ก็กลับไปใช้ Thailand, Thai อย่างเดิม

•• พูดง่าย ๆ ก็คือประเทศนี้ เสียโอกาสครั้งสำคัญ ในช่วง ปี 2489 ที่จะกลับไปใช้ชื่อ สยาม เพราะหลังจากนั้นมาแม้จะมีความพยายามจาก เสียงข้างน้อย แต่ก็ พ่าย ต่อ เสียงข้างมาก ดังที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เล่ามาข้างต้น

•• อย่างไรก็ดี การถกเถียงทางวิชาการ เกี่ยวกับ ที่มา ของคำว่า สยาม โดยเฉพาะใน สภาร่างรัฐธรรมนูญ ช่วง ปี 2504 ก็ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ มหาปราชญ์ อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ รังสรรค์งานชิ้นเอกขึ้นมาในบรรณพิภพ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม – และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ เป็นงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ

•• สนใจประเด็นต่าง ๆ มากกว่านี้กรุณาอ่านงานของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง ประเทศไทยอายุครบ 65 : ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด มิถุนายน 2547 นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่เคยมีผลงานเขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์วันชาติไทย มาก่อนหน้านี้สรุปว่า “...ปัญหาชื่อไทยหรือสยามได้ตายไปในทางการเมืองและสังคมนานแล้ว.” เปิดอ่านในได้ที่ http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0601010647&srcday=2004/06/01&search=noเมื่อมีข้อเสนอขึ้นมาจาก สุพจน์ ด่านตระกูล และ เสน่ห์ จามริก จึงนอกจากจะเป็น เรื่องน่าตื่นเต้น แล้ว “เซี่ยงเส้าหลง” ยังเห็นว่านี่เป็น ผลสะท้อนมาจากความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแท้

•• ย้ำอีกครั้งว่าในเรื่อง ชื่อนั้นสำคัญไฉน ว่าด้วยชื่อ สยาม กับ ไทย นี้โปรดอย่าพิจารณาแต่ รูปแบบ (อย่าง ตายตัว) ในทุกข้อเสนอ เปลี่ยนชื่อประเทศ กลับไปเป็น สยาม ขอให้ยึดถือ สารัตถะ จากกรณีเมื่อ 65 ปีก่อนควรแยกระหว่าง การสร้างรัฐ กับ การสร้างชาติ เพราะในยุคนั้นหรือยุคก่อนหน้าล้วนเป็น การสร้างรัฐ เนื่อง จากถึงที่สุดแล้ว การสร้างชาติ จะมีขึ้นมาได้ก็บนพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า “...ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ด้วยชีวิตจิตใจที่เป็นเจ้า ของร่วมกัน.” เท่านั้น

•• งานน่าอ่านอีกชิ้นหนึ่งเป็น บทสัมภาษณ์พิเศษผู้อาวุโส ธง แจ่มศรี – อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ธนาพล อิ๋วสกุล ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร สารคดี ฉบับล่าสุด

ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
ปรีดี พนมยงค์
(ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2517)


สาเหตุแห่งการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้นมีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)

ต่อมาประมาณอีก 4 - 5 เดือน หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอย เพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรวาทการกลับจากฮานอย ได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสนั้นได้จัดทำขึ้น แสดงว่ามีคนเชื้อชาติไทยอยู่มากมายหลายแห่งในแหลมอินโดจีน ในประเทศจีนใต้ ในพม่า และในมณฑลอัสสัมของอินเดีย

ครั้นแล้วผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงได้ยินและหลายคนยังคงจำกันได้ว่า สถานีวิทยุกรมโฆษณาการได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการรำพันถึงชนเชื้อชาติไทยที่มีอยู่ในดินแดนต่าง ๆ และมีการโฆษณาเรื่อง "มหาอาณาจักรไทย" ที่จะรวมชนเชื้อชาติไทยในประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ทำนองที่ฮิตเลอร์กำลังทำอยู่ในยุโรป

ในการประชุมวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศสทำไว้ ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่าง ๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย

โดยอ้างว่า "สยาม" มาจากภาษาสันสกฤต "ศยามะ" แปลว่า "ดำ" จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่ผิวดำ

และอ้างว่าคำว่า "สยาม" แผลงมาจากจีน "เซี่ยมล้อ"

ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่า โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ค้นคว้ากฎหมายเก่าของไทย โดยอาศัยหลักฐานเอกสารที่จารึกไว้โดยพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน รวมทั้ง "กฎหมายตราสามดวง" ซึ่งรัชกาลที่ 1 ให้สังคายนาและมิใช่คำว่า "สยาม" แผลงมาจากคำจีนแต้จิ๋ว "เซี่ยมล้อ" แต่จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทยเพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่าง ๆ เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรไทย ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนมากจึงตกลงตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น "ประเทศไทย" ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี

เมื่อได้ตรารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยแล้ว ก็เกิดปัญหาว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องเขียนชื่อประเทศไทยนั้น จะใช้คำอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างไร
ผู้ที่ได้รับคำยกย่องว่ามีความรู้ในภาษาต่างประเทศ รวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ ได้เสนอให้เรียกประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า "THAILAND" และภาษาฝรั่งเศสว่า "THAILANDE" และพลเมืองของประเทศนี้เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "THAILANDAIS" ซึ่งฝรั่งพากันงง

ข้าพเจ้าได้เสนอว่าควรให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า "SIAM" ตามที่คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อประเทศของเราในนามนั้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็มีตัวอย่างอยู่เช่นประเทศเยอรมันซึ่ง เรียก ชื่อประเทศเป็นภาษาเยอรมันว่า "DEUTSCHLAND" เขาก็มิได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศของเขาเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสตามชื่อภาษาเยอรมัน หากเรียกชื่อประเทศของเขาในภาษาอังกฤษว่า "GERMANY" และภาษาฝรั่งเศส "ALLEMANGNE"

ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นต่อไปว่า การที่จะเอาคำว่า "LAND" ต่อท้ายคำว่า "THAI" เป็น "THAILAND" ก็ดี ย่อมทำให้คล้ายกันกับประเทศเมืองขึ้นในอาฟริกาของอังกฤษ (สมัยนั้น) และเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (สมัยนั้น) ที่ลงท้ายด้วยคำว่า "LAND" หรือ "LANDE"


แต่ความเห็นส่วนข้างมากในคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษด้วยตามที่มีผู้เสนอให้เปลี่ยน เป็น "THAILAND" ในภาษาอังกฤษและ "THAILANDE" ในภาษาฝรั่งเศส
ข้าพเจ้าได้เสนอต่อไปอีกว่า ถ้าส่วนข้างมากต้องการให้ชาวโลกเรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสโดยมีคำว่า "THAI" เป็นสำคัญแล้ว ก็ขออย่าเอาคำว่า "LAND" หรือ "LANDE" ไปต่อท้ายไว้ด้วยเลย คือให้ใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสทับศัพท์ตามที่สามัญชนคนไทยเรียกชื่อประเทศของตนว่า "เมืองไทย" เป็นภาษาอังกฤษ "MUANG THAI" ฝรั่งเศส "MUANG THAI" แต่ส่วนมากในคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น