•• ขณะที่สถานการณ์ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคง ดำรงอยู่, พัฒนาขึ้น โดยไม่มีวี่แววว่าเมื่อไรรัฐบาลชุดนี้จะคลอด ยุทธศาสตร์ใหม่ หรือแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า อ่านโจทย์ถูกต้อง (ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นตอนต่อไป ตอบโจทย์, แก้สมการ) จู่ ๆ ก็เกิดเหตุการณ์น่ากังขา กระทรวงกลาโหม ภายใต้รัฐมนตรีว่า การคนปัจจุบัน พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร จัดการปรับแต่งภูมิทัศน์ หน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เสียใหม่ด้วยการ กลับทิศปากกระบอกปืนใหญ่โบราณ 2 กระบอก คือ นางพญาตานี และ ไทใหญ่เล่นหน้า จากเดิมที่หันตรงไปทางทิศของ พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้หันตรงไป ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะชี้แจงแสดงเหตุผลว่าเป็นไปตามคำแนะนำของ กรมศิลปากร เพื่อให้เป็นไป อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่คนทั่วไปอดคิดไม่ได้ว่าหรือนี่จะเป็นหนึ่งในกระบวนการ แก้เคล็ด, ฮวงจุ้ย หรือ ฯลฯ เพราะปืนใหญ่ 1 ใน 2 กระบอกนี้คือ พญาตานี หรือในชื่อเดิมว่า ศรีปาตานี นั้นเป็นเสมือน ตัวแทนแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรปาตานีดารุสลามในอดีต เป็นปืนใหญ่ขนาดใหญ่ที่ถูกชะลอขึ้นมายัง กรุงรัตน โกสินทร์ เมื่อ ปี 2329 คู่กับปืนใหญ่ขนาดใหญ่อีกกระบอกหนึ่งคือ ศรีนะฆะรา (หรือ ศรีนาฆารา) ที่มาไม่ถึง จมพร้อมเรือลำเลียงทรัพย์สิน ที่บริเวณ อ่าวปัตตานี นั่นเอง
•• ปืนใหญ่โบราณหน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นนับรวมได้ 40 กระบอก ไฉน กลับทิศปากกระบอกปืน เพียง 2 กระบอก โดยเฉพาะกระบอกที่ชื่อ พญาตานี นี่เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา
•• ปืนใหญ่ที่เป็นเสมือน ปากคำประวัติศาสตร์ กระบอกนี้ ยาวที่สุดในบรรดาปืนใหญ่โบราณ รูปลักษณ์อรรถาธิบายด้วยภาษาโบราณได้ดังนี้ “...หล่อด้วยทองสำริด มีห่วงสำหรับยก 4 ห่วง ท้ายลำกล้องทำเป็นรูปสัตว์ หรือเขางอน ที่เพลาสลักรูปราชสีห์ ดินบรรจุหนัก 15 ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง 11 นิ้ว ยาว 3 วาศอกคืบ 2 นิ้วกึ่ง.” ที่กระบอกปืนมีชื่อสลักไว้ว่า พญาตานี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ในยุคที่ ปาตานีดารุสลาม อยู่ภายใต้การปกครองของ 4 ราชินี คือ ราชินีฮิเญา (หรือ มัรฮูม ตัมบังงัน), ราชินีบีรู, ราชินีอูงู และ ราชินีกูนิง ระหว่าง ปี 2159 – 2268 ซึ่งตรงกับสมัย กรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์บางสำนักเชื่อว่าสร้างขึ้นในรัชสมัย ราชินีบีรู เพื่อเตรียมรับมือกับการโจมตีของ กรุงศรีอยุธยา (ที่เคยมีตี ครั้งแรก ในสมัย ราชินีฮิเญา) ในครั้งนั้นมีการหล่อปืนใหญ่ขนาดใหญ่ขึ้น 3 กระบอก คือ ศรีปาตานี, ศรีนาฆารา และ มหาเลลา โดย 2 กระบอกแรกมีความยาวเท่ากันที่ 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 นิ้ว ส่วนกระบอกสุดท้ายที่ไม่รู้ว่า ณ วันนี้สถิตอยู่แห่งหนตำบลใดหรือสร้างสำเร็จหรือไม่นั้นมีบันทึกไว้ว่ายาว 5 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว และที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ใช้คำว่า ปากคำประวัติศาสตร์ กับ พญาตานี ก็เพราะเป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรที่เป็น เมืองท่า เป็นศูนย์กลางของ พ่อค้าตะวันตก ทั้ง สเปน, โปรตุเกส, ฮอลันดา, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และ ฯลฯ พ่อค้าเหล่านั้นนอกจากนำ ปืนใหญ่, ปืนไฟ เข้ามา จำหน่าย รวมทั้งถ่ายทอด โนว์-ฮาว วิชา หล่อปืนใหญ่ จนทำให้ในยุคนั้น ปาตานีดารุสลาม เป็น แหล่งซื้อขายปืนใหญ่ แม้แต่ ญี่ปุ่น ในสมัย โชกุนอิเอยะสึ ยังเป็น ลูกค้าสำคัญ โดยติดต่อผ่านทาง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ความล้มเหลวในการยกทัพมาตีปาตานีดารุสลามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยาก็เพราะฤทธิ์เดชของ ปืนใหญ่ รวมทั้ง การเข้ามาช่วยรบของทหารต่างชาติ เป็นเรื่องราวที่ควร ศึกษา เพื่อ ทำความเข้าใจ ในลักษณะ ศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน ได้อีกมาก
•• น่าเสียดายที่เราไม่พยายามจะ เปิด สิ่งที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เรียกว่า ปากคำประวัติศาสตร์ นี้อย่าง จริงจัง ในประวัติศาสตร์ปืนใหญ่ พญาตานี ฉบับทางการของ กระทรวงกลาโหม มีบันทึกไว้เพียง สั้น ๆ โดย อิงตำนาน เรื่อง ลิ้มกอเหนี่ยว – ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เสียมากกว่า
•• คือใน ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงกลาโหม ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” หาได้นั้นมีบันทึกเพียงว่า “...ศรีวัน เจ้าเมืองปัตตานี (คือจังหวัดปัตตานีปัจจุบัน) ให้นายช่างชาวจีนฮกเกี้ยงแซ่หลิม ชื่อเคียม ซึ่งชาวมลายูเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคียม เป็นผู้สร้าง ณ ตำบลบ้านกะเสะ ในเมืองปัตตานี วันเดือนปีที่หล่อไม่ปรา กฏ.” เท่านั้น
•• ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยน กลับทิศ ของ พญาตานี พูดตามตรงว่า “เซี่ยงเส้าหลง” อยากให้ กลับทิศทางการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ โดยอาจจะเริ่มจาก ปืนใหญ่ แล้วไหลไปหา สังคม, วัฒนธรรม และ ศาสนา ภาพจาก อดีต จะทำให้เราอ่านโจทย์ ปัจจุบัน ได้ชัดขึ้น
•• หากสามารถให้ ปากคำประวัติศาสตร์ อย่าง พญาตานี สามารถ พูดความจริงได้ เราก็จะเข้าใจ มัสยิด กรือเซะ เพราะสร้างขึ้นใน ยุคสมัยใกล้เคียงกัน และถ้าเข้าใจ 2 ประการนี้ก็จะ เข้าใจสถานการณ์พื้นฐาน ที่เป็น รากเหง้า แห่งสถานการณ์ปัจจุบัน
•• ก็อย่างที่เคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่าเราจำเป็นต้อง ยอมรับความจริง ว่า กรุงรัตนโกสินทร์ ส่งกองกำลังอำนาจรัฐส่วนกลางเข้าโจมตี ปาตานีดารุสลาม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ มัสยิดกรือเซะ อย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรกในรัชสมัย รัชกาลที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 ครั้งสำคัญที่สุดคือครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นใน ปี 2328 หลังจาก สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงชนะ ศึก 9 ทัพ แล้วก็ทรงยาตราทัพลงมายัง สงขลา และ ปัตตานี กองทัพกรุงรัตนโกสินทร์ภายใต้การนำของ พระยากลาโหมราชเสนา และ พระยาจ่าแสนยากร รบชนะแล้วดำเนินการเผาผลาญ พระราชวังไพลิน หรือ อิสตานาลีลัม เป็นเหตุให้ มัสยิดกรือเซะ ที่ตั้งอยู่ภายในพระราชวังมีอันต้อง ตกเป็นเหยื่อพระเพลิง ชาวมุสลิมในพื้นที่เชื่อในประวัติศาสตร์นี้ที่บอกว่า มัสยิดกรือเซะ วายวอดเพราะ ไฟสงคราม ไม่ใช่เพราะ ฟ้าผ่า ที่เป็นผลมาจากคำสาปของ ลิ้มกอเหนี่ยว ที่พวกเขาเห็นว่าเป็น ตำนานที่ถูกขับเน้นจนเกินจริงเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของอำนาจรัฐส่วนกลาง ไม่ใช่เรื่องจริง
•• ความแตกต่างของ มุมมอง ต่อ มัสยิดกรือเซะ ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ จังหวัด, อำนาจรัฐส่วนกลาง มองเป็น สถานที่ท่องเที่ยว (ที่จะดึงดูด รายได้ จาก นักท่องเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศ) รวมทั้งเป็น โบราณสถานที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม (ที่จะต้อง อนุรักษ์, ปรับเปลี่ยนไม่ได้) ในขณะที่ ชาวมุสลิมในพื้นที่ มองเป็น มัสยิด เป็น บ้านของพระเจ้า, สถานที่ประกอบศาสนกิจ ความแตกต่างในมุมมองนี้จึงนำมาซึ่งความแตกต่างในวิถีชีวิตทางสังคม มัสยิดกรือเซะ ที่อยู่ในฐานภาพ สถานที่ท่องเที่ยว ไม่อาจสร้าง กรอบจำกัด ให้ผู้ที่เข้ามาเยือนต้องเป็นผู้ที่มี ความสะอาด ทั้ง กาย, ใจ ได้เหมือน มัสยิดกรือเซะ ที่อยู่ในฐานภาพ สถานที่ประกอบศาสนกิจ เคยมีความพยายามจากชาวมุสลิมในพื้นที่ที่จะ ขอคืนสภาพมัสยิดกรือเซะกลับไปเป็นเพียงศาสนสถานเหมือนมัสยิดทั่วไป ครั้งล่าสุดก็ในช่วง ปี 2532, 2533 แต่ก็ติดขัดตรงที่ กฎหมายส่วนกลาง ขีดเส้นไว้แล้วว่านี่คือ สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน-อนุรักษ์ เป็น สมบัติของชาติ มาตั้งแต่ ปี 2478 ทำอะไรไม่ได้
•• ข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ให้รัฐบาลเร่ง บูรณะ 3 ศาสนสถาน โดยเฉพาะ มัสยิดกรือเซะ ที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยเขียนสนับสนุนว่าจะเป็น หนทางสู่การแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ (โดยพิจารณาในฐานภาพ สัญลักษณ์สำคัญ ที่แสดง ความจริงใจ, การยอมรับในความแตกต่าง ที่จะต้องตามติดมาด้วย การเปลี่ยน แปลงชุดนโยบาย) ณ บัดนี้เสมือนเงียบหายไป
•• หากจะมีความพยายามใด ๆ ที่จะเยียวยา ความเสียหายใหญ่หลวง ของการตัดสินใจบุกโจมตี มัสยิดกรือเซะ เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2547 และ การสลายเงื่อนไขสงครามศาสนา แล้วละก็ “เซี่ยงเส้าหลง” ว่ายกเรื่องดังกล่าวให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ วาระแห่งชาติ ที่จะเป็นการแสดงออกซึ่ง ความจริงใจ, ความจริงจัง ของภาพรวมอันเป็นนามธรรมที่เรียกว่า อำนาจรัฐส่วนกลาง ควรมี คณะกรรมการภาคประชาชนในระดับพื้นที่ ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของทั้ง 3 ศาสนา 3 วัฒนธรรม โดยการดำเนินการแก้ไขเยียวยานั้นจะต้องก้าวให้พ้น กรอบของกฎหมายในอดีต ไม่ใช่เป็นเพียงการส่งทหารช่างเข้าไป ทำความสะอาด, บูรณะ ประเด็นที่ควรพิจารณาในที่นี้ก็คือความเป็น โบราณสถานอนุรักษ์ ของ กรมศิลปากร นั้นสมควร ทบทวน จริงอยู่ ณ เบื้องต้นเชื่อว่าเป็น เจตนาดี, เจตนาบริสุทธิ์ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่กลับเห็นว่าเป็น เจตนาแฝงเร้น เพราะการประกาศของทางการ 2 ครั้ง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 และ วันที่ 26 สิงหาคม 2526 ไม่เคยผ่าน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ การประกาศฝ่ายเดียวพร้อม ๆ กับการย้าย สุสานเจ้าแม้ลิ้มกอเหนี่ยว จากเดิมตั้งอยู่ที่ ริมฝั่งทะเล – อ่าวตันหยงลูโล๊ะ มาไว้ที่บริเวณ ริมทางหลวง – ด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ ความหมายโดยรวมก็คือ “...การยอมรับว่าอาคารและบริเวณนั้นมีคุณค่าทางศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ ก็คือจะต้องไม่มีการก่อสร้างสิ่งต่อเติมใด ๆ และต้องจะอนุญาตให้กับทุกคนเข้าไปเยี่ยมชมโบราณสถานนั้นได้อย่างเสมอหน้ากัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม มัสยิดกรือเซะจึงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกตอกย้ำตามคำสาปในตำนานปรำปราของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น.” ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เฝ้ามองการกระพือข่าวการประชาสัมพันธ์ด้าน การท่องเที่ยว ของทั้งภาครัฐและกลุ่มทุนกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้ง ในพื้นที่, นอกพื้นที่ เชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว ณ วันนี้ “...มัสยิดกรือเซะก็คือเวทีจำลองของการเบี่ยงเบนและบิดเบือนประวัติความเป็นมาของดินแดนปาตานีดารุสลาม ที่มวลหมู่ชาวมุสลิมและชาวปัตตานีทั้งหลายจะต้องร่วมกันทบทวนบทบาทความหมายที่แท้จริงกลับคืนมา.” นี่คือนัยและความหมายที่ แรง อย่างยิ่ง
•• ในมุมมองของคนภายนอก แนวคิดแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่อง เพ้อเจ้อ, ไร้สาระ และ เป็นไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แต่การที่อำนาจรัฐส่วนกลางเลือกที่จะตัดสินใจ เดินเข้าสู่กับดัก, เดินไปตามหมากกล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรเป็นหลักอะไรเป็นรองก็ตามก็เท่ากับว่าทำให้ วัตถุประสงค์พื้นฐานเบื้องต้นของผู้ก่อการ นั้น สำเร็จ กล่าวคือ บทบาทและความหมายดั้งเดิมของมัสยิดกรือเซะ ถูกนำมาเป็น ประเด็นสาธารณะ อีกครั้งหนึ่ง แนวคิดแบ่งแยกดินแดน ที่อ่อนแรงอ่อนพลังลงไปมากหลังการเข้าสู่สนามการเมืองในระบบของ ปัญญาชนผู้นำทางการเมืองในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็น สัญลักษณ์ ในฐานะทายาทของปัญญาชนผู้นำทางการเมืองและทางศาสนาที่ประสบเภทภัยจากอำนาจรัฐส่วนกลางอย่าง หะยีสุหลง อับดุลการ์เดร์ คือ เด่น โต๊ะมีนา และการเดินหมากการเมืองที่ถูกต้องทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในช่วง ปี 2530 – 2532 จะกลับมา มีพลัง อีกหรือไม่ ณ นาทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผลแห่งการปฏิบัติการพลีชีพเพื่อ กระชากความหมายหมายดั้งเดิมของมัสยิดกรือเซะให้กลับคืนมาสถิตอยู่ในหัวใจของชาวมลายูมุสลิมโดยทั่วไปใน 3 จังหวัดภาคใต้ จะ ประสบความสำเร็จ หรือไม่ในระดับใด
•• นับแต่นี้ไป จุดชี้ขาดอนาคต จะอยู่ที่ สงครามการเมือง ในยุทธการ ช่วงชิงการลิขิตความหมายใหม่ ให้กับ มัสยิดกรือเซะ ฝ่ายผู้ก่อการ ล้ำหน้าไป 1 ก้าว ไม่ได้หมายความว่าจะ ชนะ เพราะการหวลกลับไปยึดถือ ความหมายเก่า เป็นหนทางที่นำไปสู่ ความไม่สงบ, ความรุนแรง และ สงคราม อันโดยทั่วไปแล้วหาก มีทางเลือกอื่น มนุษย์ทุกผู้ไม่ว่านับถือศาสนาใดล้วน ไม่ต้องการ ทั้งสิ้น
•• จึงขึ้นอยู่กับว่า อำนาจรัฐส่วนกลาง จะเร่งตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางอย่างจริงจังและจริงใจเข้าไปเป็น The Candidate ในยุทธการช่วงชิง ลิขิตความหมายใหม่ ให้กับ มัสยิดกรือเซะ ในหนทางที่จะเป็น ทางเลือก ที่อยู่บนพื้นฐานของ สันติภาพ, เสรีภาพ และ ประชาธิปไตย อย่างชนิดที่เปี่ยมไปด้วย เกียรติยศ, ศักดิ์ศรี และ ความเป็นเจ้าของแผ่นดินร่วมกัน มวลชนโดยทั่วไปไม่มีใครต้องการเลือก สงคราม มากกว่า สันติภาพ บนเงื่อนไขที่ว่าสันติภาพที่เป็น ทางเลือก นั้นต้องไม่ใช่ สันติภาพบนพื้นฐานของการยอมจำนนยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ สถานเดียว “เซี่ยงเส้าหลง” นี่คือ ภารกิจเร่งด่วน ที่ควรยกระดับเป็น วาระแห่งชาติ ประเทศไทยและความขัดแย้งภายในประเทศไทยทุกวันนี้ไม่ได้อยู่อย่างแยกต่างหากจาก สถานการณ์โลก ในอดีตประเทศไทยถูกม้วนเข้าไปอยู่ในวังวนของ สงครามเย็น หรือ สงครามลัทธิ และเราเอาตัวรอดออกมาได้ด้วยยุทธศาสตร์ การเมืองนำการทหาร วันนี้เรากำลังจะถูกม้วนเข้าไปอยู่ในวังวนของ สงครามเย็นยุคใหม่ ระหว่าง สหรัฐอเม ริกา กับ ขบวนการมุสลิมจารีตนิยม ทำไมเราไม่พิจารณา บทเรียนในอดีต ให้ รอบคอบ, ถ่องแท้ เล่า
•• และในยุทธการ ช่วงชิงการลิขิตความหมายใหม่ให้กับมัสยิดกรือเซะ ไม่ใช่เป็นเพียงภารกิจของ รัฐบาลกลาง (ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ ใคร) แต่ต้องเป็นความร่วมมือของ คนไทยทั้งมวล ที่จะต้องยอมรับ ความแตกต่าง ที่สามารถ อยู่ร่วมกันโดยสันติ – ไม่แตกแยก ได้
•• ในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2482 เมื่อ วันที่ 8 พฤษภาคม 2482 นัดที่ถกพิจารณาและลงมติปัญหา เปลี่ยนชื่อประเทศ หนึ่งในรัฐมนตรีที่ยืนหยัด คัดค้าน และ แพ้มติ คือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งว่า “...ในแง่นโยบายปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้วใช้ว่าไทย เกรงว่าเขาอาจจะน้อยใจได้ อนึ่งถ้าเราเลิกใช้คำสยาม ใช้แต่ไทย จะเกิดความรู้สึกว่าเอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่าสยามก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไป อาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้.” เป็นคำกล่าวที่แม้เวลาจะผ่านไปนาน 65 ปี แต่ต้องยอมรับว่ายังคงเป็น ความจริง ที่ ทันสมัย อยู่ไม่คลายทีเดียว
•• แม้ไม่มี เหตุการณ์รวมศูนย์กำลังเข้าปฏิบัติการขนาดใหญ่ แต่ คลื่นใต้น้ำ นี่แหละ น่ากลัว วันละศพสองศพกับความพยายาม ตอกลิ่ม ระหว่าง 2 ศาสนา 2 วัฒนธรรม เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อำนาจรัฐส่วนกลางจะต้องเร่ง อ่านโจทย์ให้ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอน ตอบโจทย์, แก้สมการ ต่อไป
•• เพราะเมื่อ 2 วันก่อนได้ฟัง พระครูประภัสสรศิริคุณ – เจ้าอาวาสวัดเขากง นราธิวาส (ซึ่งขณะนี้เป็น พระสงฆ์เพียงรูปเดียว ที่อยู่ที่ วัดเขากง) เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาใน สภาท่าพระอาทิตย์ ออกอากาศทาง UBC 19 (ใน ระบบเคเบิล) และ UBC 77 (ใน ระบบดาว เทียม) แล้วก็ให้ หนาว พระคุณเจ้าท่านว่าไว้ “...หลวงพ่อแนะนำว่าให้หาเงินมาซักก้อนหนึ่ง ไม่ต้องเยอะ มาซื้อผ้าขาว ทำเป็นธงขาว และยกธงขาวทั้ง 3 จังหวัดให้พร้อมกัน นโยบายหลวงพ่อว่ายกธงขาวเท่านั้นแหละ เพราะเมื่อเราแก้ไม่ได้ และเมื่อเราไม่แก้ จะแก้ได้ยังไง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ แล้วเราไม่แก้ และปล่อยให้มันแบบว่า...เป็นโรคแล้ว ผ่าตัดก็ไม่ผ่าตัด รักษาโดยใส่ยาอยู่แต่บนหนอง ไม่รักษาให้มันเด็ดขาดไป แล้วเป็นโรคร้าย เป็นโรคมะเร็งอย่างนี้ โยมคิดดูนะ เพราะฉะนั้นนโยบายหลวงพ่อว่า วัดต่าง ๆ ก็หาเงินบริจาค ซื้อผ้าขาวและก็ตัดธงขาว ยกธงขาวทั้งจังหวัดให้พร้อมกันเลย ปัญหาคงจะยุตินะ.” โนคอมเมนท์แต่ หนาว เหลือเกิน