เปิดประวัติ "เชิดชาย ใช้ไววิทย์" ทูตประจำ UN ผู้รับหน้าที่สำคัญ แจงโลกปม "ไทย-กัมพูชา"
จากกรณี นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรของประเทศไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวแถลงในการประชุมส่วนตัวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ภายใต้หัวข้อ “ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 25 กรกฎายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะมนตรีความมั่นคง สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ, นครนิวยอร์ก ประณามกัมพูชารุกราน ละเมิดอธิปไตย-โจมตีพลเรือน ย้ำตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองตามกฎบัตร UN เรียกร้องหยุดใช้ความรุนแรงทันที จนได้รับคำชื่นชมกับภารกิจสำคัญครั้งนี้
สำหรับประวัติของนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ประวัติส่วนตัวและการศึกษา
เกิด: 1 เมษายน พ.ศ. 2512 (ปัจจุบันอายุ 56 ปี)
การศึกษา มัธยมต้น/ปลาย: โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท: Master of Arts (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) Faculty of Social Science, Keynes College University of Kent at Canterbury สหราชอาณาจักร
ประสบการณ์การทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ มีประสบการณ์การทำงานในกระทรวงการต่างประเทศกว่า 30 ปี โดยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ดังนี้:
พ.ศ. 2537-2540: เจ้าหน้าที่กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
พ.ศ. 2540-2544: เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
พ.ศ. 2544-2546: เจ้าหน้าที่กองเอเชียตะวันออก 2 (ฝ่ายเมียนมา) กรมเอเชียตะวันออก
พ.ศ. 2547: เจ้าหน้าที่โต๊ะเวียดนาม กองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก
พ.ศ. 2548-2552: หัวหน้าฝ่ายญี่ปุ่น กองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก
พ.ศ. 2552-2555: ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา
พ.ศ. 2555-2560: ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 4 กรมเอเชียตะวันออก
พ.ศ. 2560-2562: อัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน: อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งทูตประจำ UN)
ปัจจุบัน: เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
บทบาทสำคัญ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการทูตของไทยหลายครั้ง เช่น
เป็นผู้ดูแลเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) 2022 ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส
ล่าสุดมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติในการชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)