xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐานกัมพูชาครอบครองทุ่นระเบิด PMN-2 จริง อ้างมีไว้ฝึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเอกสารหลักฐานกัมพูชามีทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 แบบที่พบบริเวณชายแดนช่องบกไว้ในครอบครองจริง แต่อ้างมีไว้เพื่อฝึกตามมาตรา 3 อนุสัญญาออตตาวา แต่สามารถเอาผิดได้หากแอบนำไปวางในพื้นที่อธิปไตยของประเทศอื่น

วันที่ 22 ก.ค. เฟซบุ๊กเพจ Army Military Force เปิดเอกสารที่บ่งชี้ได้ว่ากัมพูชามีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN-2 ไว้ในครอบครองจริง (ข้อมูลวันที่ 31 ธันวาคม 2024) และยังพบว่ากัมพูชายังคงครอบครองทุ่นระเบิดประเภทอื่นๆ ไว้อีกจำนวนมาก กัมพูชาอ้างว่ามีไว้เพื่อการฝึกเท่านั้น จากข้อมูล ณ ปี 2020 กัมพูชาได้รายงานว่าตนมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและทุ่นระเบิดประเภทอื่นๆ จำนวน 3,730 ลูกที่ถูกเก็บรักษาไว้ เพื่อวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตใช้เพื่อการฝึก ภายใต้มาตรา 3 ของอนุสัญญาออตตาวา :

มาตรา 3 ของอนุสัญญาออตตาวา (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิด" กล่าวถึงข้อยกเว้น จากพันธกรณีทั่วไปของอนุสัญญาฯ

มาตรา 3 ระบุว่า:

- อนุญาตให้เก็บรักษาหรือโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้จำนวนหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและการฝึกอบรมเทคนิคการตรวจหาทุ่นระเบิด การเก็บกู้ทุ่นระเบิดหรือการทำลายทุ่นระเบิดเท่านั้น โดยจำนวนทุ่นระเบิดที่เก็บรักษาไว้จะต้องไม่เกินจำนวนขั้นต่ำที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว

- อนุญาตให้โอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอนุสัญญาจะห้ามการใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยสิ้นเชิง แต่มาตรา 3 นี้ได้ให้ข้อยกเว้นบางประการเพื่อให้รัฐภาคียังคงสามารถดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาได้ เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิด หรือการโอนทุ่นระเบิดเพื่อนำไปทำลายอย่างปลอดภัย

เอกสารชุดนี้เป็นหลักฐานเด็ดและชัดเจนที่สุด ซึ่งบ่งชี้ได้ว่ากัมพูชามีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN-2 ไว้ในครอบครองจริง โดยสามารถเอาผิดกัมพูชาได้ เนื่องจากกัมพูชาได้ลักลอบนำทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN-2 ไปวางไว้ในดินแดนอธิปไตยของชาติอื่น (ประเทศไทย) ถือเป็นการละเมิดมาตรา 3 และมาตราอื่นๆ ของอนุสัญญาออตตาวา

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาออกมาตอบโต้ฝ่ายไทยแต่ละครั้ง พบว่าย้อนแย้งและไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีสื่อหลัก, สื่อออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ของกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ร่วมกันปฏิบัติการ IO ปั่นกระแสข่าวและบิดเบือนข้อมูลใส่ร้ายประเทศไทย

ย้อนอ่านแถลงการณ์ข้อ 2-4 ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.

2. กัมพูชาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทุ่นระเบิดและเศษระเบิดจากสงคราม ดังนั้น กัมพูชาจึงขอประณามและคัดค้านการใช้ การผลิต และการเก็บรักษาทุ่นระเบิดอย่างรุนแรง และขอแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมทั้งหมดที่เกิดจากทุ่นระเบิดและเศษระเบิดจากสงคราม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดหรือเกิดขึ้นกับประเทศใด

3. กัมพูชา ภายใต้การนำอันมีวิสัยทัศน์ของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งสันติภาพของชาติกัมพูชาทั้งมวล” และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรี ได้ยึดมั่น “สันติภาพ” เป็นคุณค่าสูงสุด และมุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนในการบรรลุวิสัยทัศน์ของโลกที่ปราศจากทุ่นระเบิด เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ปราศจากภัยคุกคามจากทุ่นระเบิดและเศษซากระเบิดจากสงคราม

4. กัมพูชาเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) และได้ปฏิบัติตามพันธกรณี ตลอดจนบรรทัดฐานและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาอย่างสม่ำเสมอ กัมพูชาได้รับการยอมรับและยกย่องอย่างสูงจากรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาในฐานะรัฐภาคีที่มีความมุ่งมั่นและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการกำจัดและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทุกประเภทที่มีอยู่และถูกค้นพบ

นอกจากนี้ กัมพูชายังเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 11 และการประชุมทบทวนอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2567 หรือ “การประชุมสุดยอดเสียมราฐ-อังกอร์ ว่าด้วยโลกที่ปราศจากทุ่นระเบิด” ซึ่งการประชุมทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม




















กำลังโหลดความคิดเห็น