ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศรับฟังคำชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย- กัมพูชาหลังกำลังพลเหยียบกับระเบิดบาดเจ็บ 3 นาย พบเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลวางใหม่ ขณะ พลจัตวา ฮอม คิม ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ร่วมด้วย ได้แค่รับฟัง ไม่ตอบโต้
วันนี้ (22 ก.ค.) กองบัญชาการกองทัพบกเชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทยรับฟังการชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ถึงข้อเท็จจริงกรณีไทยโดนรุกล้ำอธิปไตย และมีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทำให้ทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 6 ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และมีการตรวจสอบว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ ที่วางในเขตไทย ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาออตตาวาที่ทั้งไทยและกัมพูชาเป็นประเทศภาคีที่ให้สัตยาบัน
ทั้งนี้ กองทัพบก โดยกรมข่าวทหารบกได้เชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย รวม 18 ประเทศ (เวียดนาม, มาเลเซีย, เมียนมา, สิงคโปร์, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, อังกฤษ, บรูไน, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย, จีน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, กัมพูชา และรัสเซีย) โดยมี พลโท กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธานในการประชุม ณ อาคารศรีสิทธิสงคราม ภายในกองบัญชาการกองทัพบก
บรรดาทูตทหารได้ทยอยเดินทางมายังกองบัญชาการกองทัพ ห้องศรีสิทธิสงคราม ตั้งแต่เวลา 13.20 น. ทั้งนี้เป็นที่จับตา พลจัตวา ฮอม คิม ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ที่เดินทางมาร่วมด้วย
สำหรับข้อมูลที่กรมข่าวทหารบกได้ชี้แจงต่อผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทยประกอบด้วย รายละเอียดสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในวันที่ 16 ก.ค. 68 พร้อมยืนยันอย่างชัดเจนว่าทุ่นระเบิดที่พบไม่ใช่ของไทย โดยหน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่าหลุมระเบิดนั้นได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN-2 และพบทุ่นระเบิดเพิ่มอีก 2 จุด และจากการตรวจพบทุ่นระเบิดดังกล่าว ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นระเบิดชนิด PMN-2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้กองทัพไทยไม่มีอยู่ในระบบยุทโธปกรณ์
ขณะเดียวกันพบหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริเวณวางทุ่นระเบิดยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม และพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าในปี 2565 ฝ่ายไทยได้ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก และไม่มีการตรวจพบทุ่นระเบิด PMN-2 แต่อย่างใด จากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิด PMN-2 ที่ตรวจพบเป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมข่าวทหารบกยังได้ชี้แจงในกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเผยแพร่ภาพและคลิปภารกิจการฝึกเก็บกู้ทุ่นระเบิดของหน่วย TMAC ของไทย พร้อมกล่าวหาว่าฝ่ายไทยเป็นผู้วางทุ่นระเบิด ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ในช่วงท้ายของการประชุม ฝ่ายไทยยังได้แสดงจุดยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคีและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการเจรจาในกรอบทวิภาคีกับกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยคาดหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะให้ความร่วมมืออย่างจริงจังโดยเฉพาะการเข้าร่วมการประชุม JBC, RBC และ GBC ในอนาคต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
ด้าน พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า บรรยากาศการชี้แจงเป็นไปด้วยดี ส่วนใหญ่เป็นการรับฟัง และมีคำถามบ้าง ถือว่าน้อย เนื่องจากอาจจะได้รับข่าวสารจากช่องทางอื่นมาบ้างแล้ว ส่วนทหารของกัมพูชาไม่ได้ชี้แจงหรือมีคำถามอะไร คำถามส่วนใหญ่มาจากท่านอื่นมากกว่า ที่ถามเรื่องของความมั่นใจและยืนยันใช่หรือไม่ ซึ่งทางเราก็ให้เหตุผลไป และจะให้เอกสารชี้แจง ส่วนท่าทีของประเทศมหาอำนาจก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งการเชิญมาในวันนี้เราก็ทำตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก คือทำให้เป็นทางการ
พลตรี วินธัยกล่าวด้วยว่า มีการพูดถึงประเด็นการละเมิดบูรณภาพดินแดนและเอ็มโอยู 2543 และอนุสัญญาออตตาวาด้วย และได้อธิบายตามหลักอนุสัญญาที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก และเล่าถึงกลไกการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดชายแดนมีช่องทางอะไรบ้าง ตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพภาค ซึ่งผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาไม่ได้แก้ต่างในที่ประชุม แม้ว่าทางรัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาปฏิเสธ
ส่วนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ที่มีการนัดหมายของคนไทยและกัมพูชาไปที่กลุ่มปราสาทตาเมือน พลตรี วินธัยยืนยันว่ากองทัพภาคที่ 2 มีแนวทางในการดำเนินการอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้พูดในที่ประชุมว่ามีกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสนับสนุน ซึ่งหากประเมินสถานการณ์แล้วเกิดการขยายผลความขัดแย้งจะต้องมีมาตรการดำเนินการ แต่ขอให้ทางกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ชี้แจง ส่วนจะถึงขั้นต้องปิดปราสาทหรือไม่นั้นก็ขอให้ฟังกองทัพภาคที่ 2 ชี้แจงเช่นกัน