สหรัฐฯ ฉวยโอกาสตั้งเงื่อนไขขอใช้ฐานทัพเรือพังงาเป็นหนึ่งในข้อต่อรองอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย สอดรับกับการตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ที่มีแนวคิดขวาจัด พร้อมสนองนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ คือการเปิดเกมรุกในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก มุ่งปิดล้อมจีนทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทหาร และเศรษฐกิจ เตือนรัฐบาล-กองทัพเรือไทย ถ้ายอมก็คือการขายชาติ
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ที่เป็นคนสำคัญที่รู้เรื่องยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นอย่างดี สอดคล้องกับข่าวการตั้งเงื่อนไขต่อประเทศไทยในการเจรจาลดอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่ง 1 ใน 4 ข้อคือการขอใช้ฐานทัพเรือของไทยที่ จ.พังงา ซึ่งแม้ว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธว่าเป็นคนละเรื่อง และกล่าวโทษสื่อมวลชนว่านำเสนอข่าวทำให้ประเทศเสียหายก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรมยอมรับว่าการที่สหรัฐฯ ขอใช้ฐานทัพเรือนั้น มีอยู่ในแผนแต่ไม่รู้ว่าเป็นแผนอะไร หรือจะเป็นแผนที่เจรจาลดภาษีหรือไม่? และตนเองในฐานะรองนายกฯ ด้านความมั่นคง จะไปพูดคุยประเด็นนี้กับกองทัพเรืออีกครั้ง
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เจรจาหลักฝั่งไทยเรื่องภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ ก็ยอมรับเช่นกันว่าบางข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เกินกว่าเรื่องเพดานภาษี และลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ ในภูมิรัฐศาสตร์ ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจโหมกระพือความไม่สงบภายในประเทศ
ที่สำคัญที่สุดคือ นายกฯ ตัวจริงอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ก็พูดเองในงานเสวนาของเครือเนชั่นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่าสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้วย แต่นายทักษิณไม่กล้าพูดว่าคืออะไร
คำถามก็คือ ฐานทัพเรือที่พังงาสำคัญยังไง?
สำหรับ ฐานทัพเรือพังงา หรือฐานทัพทับละมุ เป็นพื้นที่ของกองทัพเรือในทะเลอันดามัน ขึ้นตรงต่อทัพเรือภาคที่ 3 ตั้งอยู่ใน ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2525 หรือเมื่อ 43 ปีก่อน
โดยด้านในมีท่าเทียบเรือ มีลักษณะยื่นออกมาจากฝั่งเป็นรูปตัว L ด้านที่ยาวขนานไปกับชายฝั่งมีความยาวประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ด้านที่ยื่นออกจากชายฝั่งความยาวประมาณ 100 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และอนุสรณ์สถานรำลึกสึนามิอีกด้วย
หากดูแผนที่ก็จะเห็นได้ว่าจุดที่ตั้งของ ฐานทัพเรือพังงา หรือฐานทัพทับละมุ นั้นอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ขนาดไหน?
ยิ่งเมื่อเปิดแผนที่ความรับผิดชอบของ กองทัพเรือภาคที่ 3 แล้วก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งมี "ฐานทัพเรือพังงา" เป็นจุดส่งกำลังบำรุงที่สำคัญนั้นมีความรับผิดชอบเต็มๆ กับพื้นที่ช่องแคบมะละกาตอนบน เชื่อมโยงพื้นที่ของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งยังครอบคลุมพื้นที่ถึง 40,000 ตารางกิโลเมตรด้วย
ด้วยเหตุนี้ สาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องการมีฐานทัพที่จังหวัดพังงา ก็คือ
1. ที่นี่คือฐานทัพในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนที่สหรัฐฯ ขาดหายอยู่ในการปิดล้อมจีน เพราะว่าตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพในไทยหลายแห่งเพื่อปฏิบัติการในลาวและกัมพูชา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน แต่สหรัฐฯ ยังไม่มีฐานทัพสำคัญในฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หรือ มีก็อยู่ไกลมากในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตกคือเกาะดิเอโก การ์เซีย ซึ่งใช้ในปฏิบัติการในตะวันออกกลางและ อัฟกานิสถานเป็นหลัก
ขณะที่ก่อนหน้านี้หลายปีก็มีข่าวลือว่าสหรัฐฯ พยายามจะเข้าไปใช้พื้นที่ของประเทศศรีลังกาเป็นฐานทัพ เพื่อวางกำลังครอบคลุมมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก และช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการค้า และการขนส่ง แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง
2. เดิมทีสหรัฐอเมริกาเรียกพื้นที่ในบริเวณนี้ทั้งหมดว่าเป็น “เอเชีย-แปซิฟิก” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “อินโด-แปซิฟิก” อันแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ต้องการเสริมสร้างอิทธิพลทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เพราะว่าในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกสหรัฐฯ มีญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เกาะกวม, ฮาวาย และล่าสุดก็คือ ฟิลิปปินส์
แต่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออันดามัน จีนยึดพื้นที่ได้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา มัลดีฟส์ ไปจนถึงจิบูตี และประเทศแอฟริกาทั้งหลาย แม้จะไม่มีท่าเรือของจีน แต่ก็เป็น “มหามิตรกับจีน”
ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และ ยุทธศาสตร์ทางด้านการทหาร อันปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้นี่เองเป็นคำตอบว่าทำไมสหรัฐฯ จึงต้องการฐานทัพที่จังหวัดพังงาที่อยู่ในฝั่งมหาสมุทรอินเดียเป็นอย่างยิ่ง
3. เชื่อแน่ได้ว่า ฐานทัพที่พังงาไม่เพียงแค่จะถูกใช้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการควบคุมช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญ แต่ยังจะเป็นเหมือน “สร้อยไข่มุก” เพื่อปิดล้อมทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งแปซิฟิก และฝั่งมหาสมุทรอินเดีย นี่คือลักษณะเดียวกับ “ยุทธศาสตร์ห่วงโซ่เกาะ”แบบเดียวกับที่สหรัฐฯ มี “ห่วงโซ่เกาะที่ 1-2-3”ในฝั่งแปซิฟิก ดังภาพแผนที่ที่ผมแสดงให้ท่านผู้ชมได้เห็นดังนี้
ทั้งนี้ ห่วงโซ่เกาะที่ 1 ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์
ห่วงโซ่เกาะที่ 2 ประกอบไปด้วย เกาะกวม และฟิลิปปินส์
ห่วงโซ่เกาะที่ 3 ประกอบไปด้วย ฮาวาย และหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก ไปจนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
4. ฐานทัพเรือทับละมุ จ.พังงา อยู่ที่ปากทางเข้าของ “โครงการแลนด์บริดจ์” ซึ่งไม่ว่าไทยจะสร้างแลนด์บริดจ์หรือไม่สร้างก็ตาม สหรัฐฯ ต้องมาดักคอ-ขวางทางเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้จีนเข้าถึงพื้นที่นี้ได้
"ท่านผู้ชมครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก ทำไมถึงอันตราย? ที่ผมบอกว่าอันตรายก็เพราะว่าตอนนี้สหรัฐฯ อยู่ในขั้นตอนของการปิดล้อมจีน เลยมาทางฝั่งนี้ก็มีญี่ปุ่น มีเกาหลีใต้ และไต้หวัน
"ตอนนี้อเมริกาต้องการมีอิทธิพลตรงฝั่งนี้ ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งก็คือมหาสมุทรอินเดียนั่นเอง อเมริกาไม่มีฐานตั้งอยู่ตรงนี้ ทางตะวันออกนั้น อเมริกามีญี่ปุ่น มีเกาหลีใต้ มีไต้หวัน และล่าสุดคือมีฟิลิปปินส์ เพื่อเอามาบล็อกจีน ส่วนจีนก็เลยแก้เกม จีนแก้เกมด้วยการที่ใช้เขมร มีฐานทัพเรือเรียม ซึ่งจีนใช้เป็นฐานทัพ สร้างท่าเรือให้แล้ว เพื่อเอาเรือของจีนมาบล็อกพวกนี้เวลามีปัญหาเกิดขึ้นมา ส่วนทางด้านนี้เขาก็ยันเข้าไปแล้ว ส่วนทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เขาก็ใช้เขมรเป็นเสาหลัก
"ทำไมจีนถึงไม่ใช้ไทย ? เพราะจีนรู้อยู่แล้วว่าการขอตั้งฐานทัพที่ไทยนั้น ไทยคงไม่ให้ คงลำบาก เพราะว่าลึกๆ แล้วความมั่นคงของไทยนั้นยังผูกติดอยู่กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ทหารไทยนั้นผูกพันกับสหรัฐอเมริกามานานแสนนาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาวุธอะไรก็ตาม จะมาทางทิศตะวันตก แม้กระทั่งเครื่องบินกริพเพนล่าสุดก็ยังซื้อจากยุโรป (อียู) แล้วกองทัพอากาศก็มีความคิดจะซื้อ F-16 อีก ทั้งๆ ที่จีนเองนั้นก็ได้ซัปพลายเครื่อง J-10 ให้ปากีสถาน ซึ่งปากีสถานก็รบชนะอินเดียไปในสงครามทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยยิงเครื่องบินอินเดียตก 5 ลำ ด้วยเครื่องบิน J-10
"ผมไม่รู้ว่าทำไมกองทัพอากาศถึงชอบอาวุธอเมริกา ทั้งๆ ที่อาวุธอเมริกานั้นมาด้วยเงื่อนไขเต็มไปหมด เหมือนอเมริกาเคยคุยกับนเรนทรา โมที ตอนที่นเรนทรา โมที ไปเยือนประธานาธิบดีทรัมป์ หลังการทำพิธีรับมอบตำแหน่ง อเมริกาบอกว่า จะขาย F-35 รุ่นใหม่เอี่ยมให้อินเดีย อินเดียกระโดดโลดเต้นเลย แต่อเมริกามีข้อเรียกร้อง 8 หรือ 9 ข้อ ว่าจะขายให้ คุณต้องทำตามอย่างนี้ หลายๆ ข้อเรียกร้องคือทำให้อินเดียสูญเสียอิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเองในเรื่องของพลังงาน เช่น อเมริกาบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องบริษัทอเมริกาเป็นคนสร้าง 1..2..3..4..5.. เพราะฉะนั้นแล้ว ท่านผู้ชมครับ ที่คุณภูมิธรรมพูดนั้น ถูกครึ่ง ไม่ถูกครึ่ง" นายสนธิกล่าว
ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยคนใหม่ คีย์แมนสานต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก คุมภูมิภาค
นอกจากเรื่องของฐานทัพเรือที่พังงาแล้ว สหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เตรียมตัวตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นคีย์แมนของยุทธศาสตร์ “อินโดแปซิฟิก” โดยเรื่องนี้เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเชื่อมกับข่าวที่ว่า สหรัฐฯ ขอใช้ฐานทัพเรือที่ จ.พังงา โดยอ้างเรื่องการขึ้นภาษี แต่เบื้องหลังก็คือการปิดล้อมจีนทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทหาร และเศรษฐกิจ
โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยใหม่ ที่จะมาแทน นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ที่ต้องพ้นตำแหน่งไป เพราะว่าตามธรรมเนียมแล้วทูตสหรัฐฯ จะต้องเปลี่ยนตัวตามประธานาธิบดี ดังนั้น เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นายโกเดค ที่เป็นคนของพรรคเดโมแครต ที่อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน แต่งตั้งขึ้นมาก็ต้องอำลาไป
สำหรับทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่นั้นหลายคนคงจะคุ้นหน้าคุ้นตา และคุ้นหู เพราะมีชื่อว่า นายฌอน โอนีล (Sean O’Neill) ซึ่งตอนนี้ได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภารับรองแล้ว และก็จะมารับตำแหน่งที่ประเทศไทยภายในปีนี้
นายฌอน โอนีล ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส ประจำสำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศยาวนานกว่า 24 ปีตั้งแต่หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544, เคยประจำการในต่างประเทศมาแล้ว 8 ครั้ง ซึ่งก็เป็นประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกทั้งหมด คือ บังกลาเทศ ปากีสถาน พม่า ฮ่องกง มาเก๊า และตำแหน่งสุดท้าย คือกงสุลใหญ่ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
นายฌอน โอนีล มีชื่อเต็มคือ ฌอน โคทาโร่ โอนีล เพราะว่ามีภรรยาเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อว่า ซาจิโยะ นายฌอนถือเป็นคีย์แมนในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก รู้จักภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี และเข้าใจทั้งภาษาไทย จีน พม่า เบงกาลี และญี่ปุ่น
นอกจากรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของผู้บัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ ด้วย
สรุปง่ายๆ ก็คือฌอน โอนีลมีแนวคิดขวาจัด เป็นคนที่ทรัมป์ชอบมาก เป็นนักการทูตที่เชี่ยวชาญทั้ง “บุ๋น+บู๊” คือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ และยังทำงานร่วมกับหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ด้วย
ในเว็บไซต์ของสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน มีภาพงานเลี้ยงรับรองนายฌอน โอนีล ที่บ้านพักทูตทหารไทยในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขารู้เรื่องประเทศไทยดี
เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกนายฌอน โอนีล มาเป็นทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นและเอาจริงอย่างยิ่งที่จะปักหลักยึดประเทศไทยเพื่อปิดล้อมจีน
นี่ยังไม่นับเรื่องสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ ที่นายฌอนเคยเป็นกงสุลใหญ่มาก่อน และนายฌอนคนนี้นี่เองก็คือคนที่ ริเริ่ม-วางแผน การก่อสร้างสถานกงสุลใหม่ที่เตรียม Grand Opening ปลายปี 2568 นี้
“ผมอยากจะพูดอะไรบางอย่างกับทหารเรือ มีข่าวออกมาว่านายทหารเรือที่ดูแลในเรื่องของท่าเรือที่พังงา ผมไม่รู้ว่าใคร แต่เป็นผู้ใหญ่บางคน ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ พูดบอกว่า อ้าว ก็กองทัพเรือเคยของบประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อมาซ่อมแซมท่าเรือพังงา แต่รัฐบาลให้มา 700-800 ยกให้อเมริกามันซ่อมแซมดีกว่า แล้วก็ให้มันตั้งฐานทัพ
"ใครก็ตามที่พูดแบบนี้ รีบเอามือตบปากตัวเอง ยกมือแล้วกราบไปที่พระสยามเทวาธิราช ขอโทษ คุณเป็นทหารเรือ คุณมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยไทย คุณเป็นทหารเรือที่ต้องปกป้องไทย ไม่ใช่มาเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกาในการเอาเราไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศจีน คุณรู้ตัวว่าคุณผิด คุณรีบตบปากคุณซะ เชื่อผมสิท่านผู้ชม ในกลุ่มทหารเรือด้วยกัน มีคนคิดอย่างนี้จริงๆ แล้วพูดกันภายใน ทุเรศมากไหมท่านผู้ชม"
“ทหารเรือไทย คุณก็ต้องมีเพื่อนฝูงเป็นทหารเรืออเมริกา ก็ขนาดทูตทหารเรือของไทยที่ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ยังรู้จักทูตอเมริกาคนใหม่ ซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่น คุณรู้จัก คุณโทร.ไปบอกเลย คุณมาตั้งนี่ผมไม่เห็นด้วยนะ คนไทยไม่เห็นด้วย พี่น้องที่ฟังรายการผม เห็นด้วยไหมกับการขายชาติด้วยวิธีนี้ มันเลวทรามต่ำช้าและบัดซบมาก” นายสนธิกล่าว