วันนี้ (18 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนิน กทม. นายกฤษฎา อินทามระ หรือ “ทนายปราบโกง” พร้อมด้วย ภรรยาของนายนภัส ชัยสิทธิ์ อายุ 66 ปี อดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ตกเป็นจำเลยที่ 23 ซึ่งเสียชีวิตในคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน ที่เคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอเรียกร้องเงินเยียวยาเบื้องต้นจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต
คดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นในปี 2560 เมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้แจ้งความดำเนินคดีพนักงานกว่า 500 คน ในข้อหาโกงเงินค่าล่วงเวลา สร้างความเสียหายให้การท่าเรือฯ กว่า 3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ สามารถสั่งฟ้องได้เพียง 34 คน โดยพนักงานอัยการใช้เวลาทำสำนวนฟ้องนานกว่า 17 เดือน สร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสให้แก่จำเลยทั้ง 34 คน
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 ทนายปราบโกงได้นำผู้ถูกกล่าวหาอีกกว่า 100 คน เดินทางไปยัง ดีเอสไอ เพื่อขอมอบตัวสู้คดีพิเศษ และเรียกร้องให้พนักงานอัยการเร่งรัดการยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 34 คนโดยเร็ว ซึ่งกลายเป็นข่าวครึกโครมในสื่อออนไลน์และโทรทัศน์ และสร้างความประหลาดใจแก่สาธารณชนถึงการกระทำของหน่วยงานรัฐที่อาจกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์กว่า 500 คน
เพียง 10 วันหลังจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 34 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลได้เร่งรัดพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 5 เดือนเศษ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.68 ซึ่งรวมถึงจำเลย 6 คนที่รับสารภาพด้วย คำตัดสินนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าคดีนี้เป็นการกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์ทั้ง 34 คน และไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลใดที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
ทว่า กลับมีการประวิงเวลาด้วยการขยายเวลาอุทธรณ์ถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 23 ผู้บริสุทธิ์ตามคำพิพากษาศาล ต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหนัก และถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่าการท่าเรือฯ กลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 23 และผู้บริสุทธิ์อีกกว่า 500 คน เพื่อต้องการให้ได้รับโทษทางอาญา ทั้งที่พวกเขาบริสุทธิ์
ทนายกฤษฎา กล่าว การกระทำดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 23 ต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสรวม 8 ปี และเสียชีวิตลงในขณะที่ศาลได้พิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว การเรียกร้องเงินเยียวยาเบื้องต้น 1 ล้านบาทในวันนี้ ถือเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นและกรณีอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังชดใช้เงินเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตทันที 1 ล้านบาท แต่ในกรณีของจำเลยที่ 23 ที่ต้องถูกการท่าเรือฯ กลั่นแกล้งในคดีพิเศษนานถึง 8 ปี จนเสียชีวิตนั้น ถือเป็นการ “ตายทั้งเป็น”
ก่อนจะยื่นไว้อาลัยให้เพื่อนพนักงานฯ ผู้ต้องหาลำดับ ที่23 ที่เสียชีวิตเป็นเวลา 1 นาทีบริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มอดีตพนักงานการท่าเรือฯ ที่มายื่นหนังสือเรียกร้องเงินเยียวยากับผู้ตายได้ติดต่อประสานแจ้งเจ้าหน้าที่รับเรื่องฯ ของกระทรวงคมนาคมทราบ ทาง รมช.กระทรวงฯ ได้กำชับสั่งการให้ตัวแทนของการท่าเรือฯ มารับหนังสือด้วย แต่ตัวแทนการท่าเรือฯ มาล่าช้า จนทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้สอบถามขอดูภาพที่ทนายและตัวแทนยื่นกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางตัวแทนการท่าเรือฯ เพิ่งเดินทางมาถึง ซึ่งระหว่างรอยื่นหนังสือฯ นานเกือบชั่วโมง ทำให้อดีตพนักงานฯ ที่อายุมากและสุขภาพอ่อนแอ บางคนถึงขั้นเป็นลมต้องหายาดมช่วยกันปฐมพยาบาลช่วยเหลือกันไป