รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ความรู้จักกับ "ทุ่นระเบิด PMN-2" ของกัมพูชา พบผลิตในรัสเซีย และคาดว่ามีการนำมาวางใหม่ในพื้นที่
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. เฟซบุ๊ก "Jessada Denduangboripant" หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ทำความรู้จักกับ "ทุ่นระเบิด PMN2" ของกัมพูชา
ระบุว่า “เห็นรายงานข่าวที่เมื่อวาน มีเจ้าหน้าที่ทหารพราน เหยียบกับระเบิด ขณะลาดตระเวนที่บริเวณเนิน 481 อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จนได้บาดเจ็บไป 3 นาย โดยพบว่าเป็น "ทุ่นระเบิด PMN-2" ที่ผลิตในรัสเซีย
ซึ่งคาดว่ามีการนำมาวางใหม่ในพื้นที่ เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่ 3 ระบุว่าพื้นที่ตรงนั้นได้กวาดล้างทำลายทุ่นระเบิดเดิมไปหมดแล้ว
และก่อนหน้านี้ ก็เคยมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไปพบทุ่นระเบิดชนิด PMN2 นี้ มา 4 ลูกแล้ว ซึ่งน่าจะถูกวางใหม่เช่นกัน
เลยขอเอาข้อมูลเกี่ยวกับ "ทุ่นระเบิด PMN-2" มาให้อ่านกันครับ เผื่อจะได้ทำความรู้ไว้
------------------
"ทุ่นระเบิด PMN-2"
- ทุ่นระเบิด PMN-2 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อยู่กับที่ มีชนวนระเบิดในตัว ทำงานด้วยน้ำหนักกด ทำอันตรายฝ่าเท้าผู้เหยียบ ตัวทุ่นทำจากวัสดุพลาสติก การตรวจค้นทำได้ยาก
- ส่วนเปลือกของทุ่นระเบิด PMN-2 ทำจากพลาสติก ที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการฉีด โดยทั่วไป มีสีเขียวใบไม้ แต่บางครั้งอาจพบสีน้ำตาล
- ด้านบนของทุ่นระเบิด มีแผ่นกดแรงดันรูปตัว X สีดำทำจากยาง
- บรรจุวัตถุระเบิดชนิด RDX/TNT
- PMN-2 มีปริมาณวัตถุระเบิดที่มากผิดปกติ เมื่อเทียบกับทุ่นระเบิดต่อบุคคลหลายชนิด
- PMN-2 ออกแบบในช่วงกลางทศวรรษ 1970 มีชนวนที่ทันสมัยกว่ารุ่นเก่า โดยมีแผ่นกั้นใต้แผ่นกดแรงดัน
- การออกแบบแผ่นกดแรงดัน เป็นรูปตัว X ทำให้ PMN-2 มีความต้านทานต่อวิธีการปราบปรามทุ่นระเบิดแบบดั้งเดิม ที่ใช้แรงดันกะทันหันเพื่อระเบิด ถือได้ว่าเป็นทุ่นระเบิดที่ทนต่อการระเบิด
- ชนวนของ PMN-2 มีการหน่วงเวลาประมาณ 60 วินาที (สั้นกว่ารุ่นเก่า) เมื่อหมุนและถอดกุญแจนิรภัยออก สลักนิรภัยจะถูกตัด ซึ่งช่วยให้ลูกโป่งอากาศภายในทุ่นระเบิด ขยายตัวโดยสปริงอัด และยกแท่งนิรภัยออกจากเส้นทางของลูกเลื่อน ทำให้สามารถเคลื่อนที่ ระเบิดทำงานได้
ความสูง: 53 มม.
เส้นผ่านศูนย์กลาง: 120 มม.
น้ำหนักวัตถุระเบิดหลัก: 100 กรัม TG-40 (RDX/TNT)
น้ำหนักรวม: 440 กรัม
ชนวน: MD-9 (ไวต่อการกระแทก)“