ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ชี้ประชาชนกว่า 42% เห็นควรด้วย แพทองธารลาออก สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามบัญชีแคนดิเดต 32% อีกด้านกว่า 64% สนับสนุนพรรคประชาชน ร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ
วันนี้ (13 ก.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง “การเมืองไทย ไปต่อแบบไหนดี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่าตัวอย่างร้อยละ 42.37 ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกฯ คนใหม่ รองลงมาร้อยละ 39.92 ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป ร้อยละ 15.04 ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรบริหารประเทศต่อไปเหมือนเดิม ร้อยละ 1.37 ระบุว่าเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ร้อยละ 0.99 ระบุว่าอย่างไรก็ได้ และร้อยละ 0.31 ระบุว่าไม่ตอบ
ด้านบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเผชิญกับปัญหาทางการเมือง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 32.82 ระบุว่าเป็น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (องคมนตรี-แต่เป็นแคนดิเดตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ) รองลงมาร้อยละ 27.94 ระบุว่าไม่สนับสนุนใครเลยตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 11.53 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) ร้อยละ 10.92 ระบุว่าเป็น นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 9.77 ระบุว่า ใครก็ได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 3.82 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ร้อยละ 1.83 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 0.84 ระบุว่าเป็น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่พรรคประชาชนควรร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ/หรือรัฐมนตรี จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 64.43 ระบุว่าควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ/หรือ รัฐมนตรี รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่าไม่ควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ/หรือ รัฐมนตรี ร้อยละ 7.48 ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ตอบ