โฆษก ทบ.แจงรั้วปราสาทตาเหมือนธมที่เคยมีเป็นประตูคัดกรองคนกัมพูชา จะให้สร้างใหม่หรือไม่แล้วแต่ฝ่ายนโยบายตัดสินใจ ชี้นักท่องเที่ยวพุ่ง หวังพลิกสนามรบเป็นแหล่งท่องเที่ยว เมินตอบโต้ IO ชี้ประชาชนมีวิจารณญาณ ย้ำไทยยึดข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 68 ที่ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่กองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) ว่า หน่วยทหารในพื้นที่ที่อยู่แนวหน้ามีภาระงานอย่างหนึ่ง ส่วนทหารแนวหลังก็จะมีแนวทางอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งงานด้านกิจการพลเรือนที่ทำร่วมกับฝ่ายปกครอง เน้นเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือมีเหตุที่ไม่ปกติ ก็จะใช้ช่องทางสื่อสารไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัย
เมื่อถามถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวในพื้นที่ปราสาทตาเมืองธมที่เพิ่มสูงขึ้น พล.ต.วิธัย กล่าวว่า การที่มีนักท่องเที่ยวมาเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยมีผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนเกิดความสนใจ โดยเฉพาะการเยี่ยมชมโบราณสถาณ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ร่วม 100 ปีแล้ว แต่คนไทยในภูมิภาคอื่นอาจไม่ค่อยให้ความสนใจ จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวกลุ่มปราสาทตาเมือนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจำนวนมาก
“เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการทำงานของทหารในการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ และสถานการณ์ก็ไม่ได้อยู่ในความน่ากังวลในส่วนประเทศเพื่อนบ้านฝั่งกัมพูชา สามารถปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี” พล.ต.วินธัยกล่าว
เมื่อถามว่าฝ่ายกัมพูชาได้มีการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) โดยสร้างเหตุการณ์ต่างๆ จะมีผลกระทบต่อชายแดนอย่างไร พล.ต.วินธัยกล่าวว่า ไม่มีอะไรน่ากังวล เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในระดับปฏิบัติยังใช้ช่องทางความสัมพันธ์ในการพูดคุย ส่วนปัญหาการกระทบกระทั่งกันมีเพียงเล็กน้อย และแนวโน้มไม่ได้พัฒนาไปสู่ที่น่ากังวล และไม่ว่าใครที่มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารอย่างไรเชื่อว่าสังคมจะดูออก แต่อย่างน้อยก็ต้องใช้วิธีการเจรจาพูดคุยและขอความร่วมมือกัน
“ไทยมีจุดยืนในการนำเสนอข้อมูล โดยไม่ขยายความขัดแย้งผ่านการสื่อสาร แต่เน้นในเรื่องข้อมูลและข้อเท็จจริง” โฆษกกองทัพบกกล่าว
เมื่อถามว่าแนวคิดในการสร้างรั้วเขตพื้นที่ปราสาทตาเมืองธมเป็นอย่างไร พล.ต.วินธัยกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูในรายละเอียดต่อไป เพียงแต่มีการพูดถึงในอดีตมีการสร้างในลักษณะที่ไม่เชิงเป็นรั้วแต่เป็นประตูผ่านเข้า-ออก อาจจะทำเพื่อความปลอดภัย เพราะในอดีตสภาพเป็นป่ามากกว่านี้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะสร้างใหม่หรือไม่ เพราะการจะสร้างอะไรในพื้นที่ละเอียดอ่อนอาจจะต้องให้ระดับนโยบาย ระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหาร ซึ่งกองทัพบกในฐานะผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ก็จะต้องทำอยู่ภายในกรอบของผู้บังคับบัญชา ซึ่งในวันนี้ก็จะทำให้พื้นที่ที่รับผิดชอบมีระเบียบและเรียบร้อยมากที่สุด