โดย วลัญช์ ศรัทธา ท่ามกลางกระแสการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ มาเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการลดภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ คำถามที่คนไทยทุกคนควรถามคือ “มูลค่าทางเศรษฐกิจคุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่?”
เนื้อหมูจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีการใช้สารแรคโตปามีน (Ractopamine) ซึ่งเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตที่ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อของหมูให้ดูแน่น ฟู และมีปริมาณมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน สารนี้ถูกห้ามใช้ในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย สหภาพยุโรป จีน และรัสเซีย เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพ
จากรายงานขององค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ เองยังยอมรับว่าแรคโตปามีนสามารถส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยผู้ที่ได้รับสารนี้ในระดับที่สะสม อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ สั่น หายใจถี่ หรือคลื่นไส้อาเจียน
ไม่เพียงเท่านั้น ในโซเชียลมีเดียอย่าง X (Twitter) และ Facebook มีเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคในสหรัฐฯ เองที่กล่าวถึงกลิ่นเหม็นสาบแรงของหมูอเมริกัน และเนื้อสัมผัสที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ
สิ่งที่ผู้บริโภคควรระวังยิ่งไปกว่านั้นคือ เนื้อหมูนำเข้าซึ่งเป็นชิ้นส่วนตกเกรดที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นหัวหมู เครื่องใน หรือเนื้อหมูติดมันปนเปื้อน โดยมีการเปิดเผยจากสื่อท้องถิ่นในสหรัฐฯ ว่าบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์บางแห่งส่งชิ้นส่วนเหล่านี้ไปยังตลาดต่างประเทศที่มีกฎระเบียบอ่อนแอกว่า เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไทยยอมผ่อนปรนให้เนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาโดยไม่มีการกักกันหรือควบคุมสารตกค้างที่เข้มงวดพอ นั่นคือการเปิดประตูให้เนื้อหมูตกเกรด (หรือขยะหมูที่เขาทิ้ง) ให้เข้ามาสู่โต๊ะอาหารของคนไทยอย่างง่ายดาย
ไม่ควรนำสุขภาพคนไทยมาต่อรองเกมการค้า
คนไทยไม่ควรถูกบังคับให้ “แลก” สุขภาพของตนเองกับผลประโยชน์ทางการค้าระยะสั้น ในเมื่อประเทศไทยมีหมูเลี้ยงเองในระบบปิดจำนวนมาก ผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีมาตรฐาน GAP และ GMP ที่ใช้ควบคุมฟาร์มและโรงเชือด โดยเนื้อหมูไทยยังไม่ใช้แรคโตปามีนตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ การยอมเปิดตลาดให้นำเข้าหมูราคาถูกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรไทยให้ต้องล้มละลายกันตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว และเมื่อนั้นระดับราคาหมูนำเข้าจะแพงเท่าไหร่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะไทยไม่มีเกษตรกรที่จะทำหน้าที่เลี้ยงหมูให้คนไทยได้กินอีกแล้ว
ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ขอเรียกร้องให้รัฐยึดประโยชน์ของ “ผู้บริโภค” เป็นหลัก โดยต้องไม่เปิดทางให้เนื้อหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงเข้ามาในระบบการค้า ไม่ว่าในรูปแบบใด เพราะเมื่อสุขภาพประชาชนเสียหายแล้ว จะไม่มีการลดภาษีข้อใดมาชดเชยได้
อย่าให้หมูแรคโตปามีนล่อลวงคนไทยด้วยราคาถูก แล้วต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาแพงในวันหน้า ด้วยอาหารคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่ความปลอดภัยคือหลักประกันที่รัฐต้องยึดมั่น