ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้าครั้งใหม่ หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้าจากไทยสูงถึง 36% ชี้ว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องภาษี แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและสิทธิ์ในการเจรจา พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการส่งจดหมายจากทรัมป์ถึงผู้นำไทย ที่มีทั้งความผิดพลาดทางการทูต และภาษาที่แสดงถึง "Statement of Power" ว่าสหรัฐฯ คือผู้คุมเกม อัตราภาษี 36% ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นเพียง 'ค่าผ่านทาง' เข้าสู่โต๊ะเจรจา ที่สหรัฐฯ ต้องการให้ไทย "เปิดตลาด" ในบางส่วนที่เคยปิดไว้ พร้อมย้ำว่าหากไม่ดำเนินการในตอนนี้ ไทยอาจหมดสิทธิ์ต่อรองในอนาคต โดยยกตัวอย่างเวียดนามและมาเลเซียที่เจรจาได้ภาษีที่ต่ำกว่า ก่อนทิ้งท้ายว่าไทยต้องเร่ง "คิดใหม่ เล่นใหม่ แลกใหม่" เพื่อรักษาโอกาสในตลาดโลก และพิสูจน์ว่าไทยคือพันธมิตรที่พร้อมเล่นในเกมที่เปลี่ยนไป
วันนี้ (8 ก.ค.) ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ (Tirasan Sahatsapas) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ การตลาดดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ และ Digital Transformation ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น ภายหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นแจ้งกับบรรดาคู่หูทางการค้า ไล่ตั้งแต่ซัปพลายเออร์เจ้าใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปจนถึงผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งรวมถึงไทย ว่าจะโดนเพดานภาษีระดับสูง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถือเป็นปฐมบทใหม่ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยโดนกำแพงภาษีสูงถึง 36% ซึ่งจะสร้างความเสียหาย "นับแสนล้านบาท" ให้ประเทศไทย โดย ดร.ธีรศานต์ได้ระบุข้อความว่า
"'ไทย-อเมริกา' ศึกนี้ไม่ใช่แค่เรื่องภาษี แต่มันคือเรื่องศักดิ์ศรี และสิทธิ์ในการ “เปิดโต๊ะเจรจา”
“You will never be disappointed with The United States of America.”
เนื้อหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่เนื้อใน
แต่นัยที่ควรให้ความสำคัญอาจจะอยู่ที่คำขึ้นต้นและลงท้าย ด้วยการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพระเจ้าอยู่หัวด้วยตัวสะกดเช่นนี้
Maha Vajiralongkorn Phra Vajiraklaochaoyuhua, King of thailand
แต่เซ็นชื่อ DONALD J. TRUMP ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทุกตัวอักษร
ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น จม.อีกฉบับที่ส่งถึง Acting Prime Minister of Thailand ลงวันที่ 7 ก.ค. 2025 ยังเป็นชื่อท่านสุริยะ ทั้งที่ ณ เวลานั้นได้มอบให้ท่านภูมิธรรมเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย
ตรงนี้ต้องเกิดคำถามแล้วว่า Trump ให้ความสำคัญกับประเทศไทย แค่ไหนกันเชียว
เพราะแค่พิธีทางการทูต เช่น การเขียนหัวจดหมายถึงประมุขของประเทศเช่นนั้น และใส่ชื่อรักษาการนายกฯ ผิด ก็สะท้อนได้ชัดอย่างไม่ต้องคิดอะไร
ไม่นับว่าระดับภาษาที่ใช้ใน จม.ทั้ง 2 ฉบับ เหมือนกันชนิดที่เรียกว่า copy and paste
ดังนั้น ในเชิงการทูต นี่ไม่ใช่แค่ “การสื่อสาร” แต่มันกำหนดจุดยืนบนเวทีโลก นั่นคือ Statement of Power ว่า “ข้าคือผู้นำประเทศที่เจรจาจากจุดที่เหนือกว่า”
และหากจะอ่านหมากนี้ในแบบนักยุทธศาสตร์
นี่ไม่ใช่แค่จดหมายทั่วไป แต่มันคือ “Invitation to Surrender in Style.”
เจตนารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในอัตราภาษี 36% ไม่ใช่กลไกทางเศรษฐศาสตร์ หรือการจัดระบบงบดุลของสหรัฐอเมริกา แต่คือการ Downgrade ประเทศไทยผ่านวาทกรรมการต่อรองว่าให้ “เปิดตลาด”
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 สหรัฐฯ จะเก็บภาษีสินค้าจากไทยทุกหมวดที่ส่งเข้าอเมริกาในอัตรา 36%
ซึ่งแม้จะฟังดู “เยอะ” เมื่อเทียบกับประเทศในตารางเดียวกัน แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่าเขา “ตั้งให้ต่ำกว่าที่ควร” ตามคำในจดหมายว่า
“Please understand that the 36% number is far less than what is needed to eliminate the Trade Deficit disparity we have with your Country.”
แปลว่า นี่ไม่ใช่ดีลที่ดีที่สุด
แต่มันคือพาสเวิร์ด ที่จะพาเราเข้าไปนั่งที่โต๊ะเจรจา พร้อมนัยที่ซ่อนซ้อนกันไว้ว่า
“ถ้าจะคุย มาคุยตอนนี้”
“ถ้าจะเสนอ เสนอตอนนี้”
“ถ้ายังคิดว่าสหรัฐฯ ต้องพึ่งไทย คิดใหม่”
ในเกมนี้ ประเทศไทยไม่ได้แพ้เพราะตัวเลขภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่แพ้เพราะ “ไม่มีโต๊ะ” ให้เจรจา หรือต่อให้มีโต๊ะ ก็ไม่มีแม้แต่คนหรือเรื่องไปเจรจา
ลองดูเวียดนาม ประเทศคู่แข่งของไทยโดยตรงในตลาดส่งออกสหรัฐฯ ที่เจรจาจบแล้วภาษีอยู่แค่ 20% หรือแม้แต่ มาเลเซีย ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันยังถูกเก็บแค่ 25%
นี่ไม่ใช่เพราะเขาส่งออกเยอะน้อยกว่ากันมากนัก แต่มันคือเพราะเขามี “ดีล” ที่ชัด และมีคน “กล้าเดินเข้าห้องเจรจา” พร้อมของบางอย่างบนโต๊ะ
ขณะที่ไทย แม้จะมีความพยายามหลายรอบที่จะเจรจาอย่างเป็นกิจจะลักษณะในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีสัญญาณใดจากสหรัฐฯ ว่า “ข้อเสนอที่ไทยยื่นไป” ได้รับการตอบรับ
ดังนั้น จดหมายฉบับนี้คือคำว่า “ปฏิเสธ” ในรูปแบบสุภาพแต่เย็นชา และแฝงคำว่า “เจอกันใหม่ ถ้ามีอะไรที่ดีกว่าเดิมมาเสนอ”
นี่ไม่ใช่การบังคับให้เปิดตลาด แต่คือการ “เปิดจุดอ่อน” ของเราให้เราเห็น
ทรัมป์ไม่เคยอ้อมค้อม เขาบอกตรงๆ ว่า
“ถ้าไทยขึ้นภาษีตอบโต้ เราก็จะบวกเพิ่มจาก 36% ทันที”
แต่ก็เปิดเงื่อนไขว่า
“หากไทยเปิดตลาดที่เคยปิดมาก่อนหน้านี้ และยกเลิกกำแพงภาษี นโยบายที่ไม่เป็นธรรม เราอาจพิจารณาปรับอัตรานี้ลง”
แปลว่า
หากเรายังรักษา “ตลาดปิด” บางอย่างไว้ (ทั้งที่รู้ว่าอีกฝั่งรอแค่จะเอามาใช้ในเกมเจรจา)
เราจะถูก “โยกจุดอ่อน” จนไม่มีไพ่เล่น
และการเจรจาครั้งถัดไป เราอาจไม่มีสิทธิ์ “ตั้งเงื่อนไข” ใดอีกเลย
จุดที่แสบที่สุดไม่ใช่ตัวเลข แต่คือ “น้ำเสียงของผู้ชนะ”
ข้อความที่ว่า
“You will never be disappointed with The United States of America.”
ไม่ใช่คำปลอบ
แต่มันคือคำประกาศว่า
“ถ้าเล่นตามเกมเรา จะได้สิ่งที่ดีที่สุด”
และถ้าอ่านจากโทนของทั้งสองหน้า (2 pages letter ทางจำนวน)
นี่คือจดหมายสองหน้า
(2 faced letter ทางการแสดงออก) ที่สื่อสารในเชิงข่ม แต่จบอย่างสุภาพ เพื่อไม่ให้เรามีข้ออ้าง
มันคือการยื่นมือออกมา แล้วให้เรามีสิทธิ์เลือกแค่ว่าจะจับ หรือให้เขากำหมัดแล้วต่อย
ไทยต้องคิดใหม่ว่าเรามี “อะไร” ไปเจรจา
เพราะ
1. ตลาดภายในบางกลุ่มยังไม่พรัอมส่งออกตามเงื่อนไขระหว่างประเทศ
2. สิทธิพิเศษด้านการลงทุนดิจิทัล ที่ยังไม่เคยเปิดให้ใคร?
3. ช่องว่างของความร่วมมือทางเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ที่เชื่อมกับความต้องการของสหรัฐฯ
คำถามไม่ใช่แค่ว่า “เราจะยอมไหม”
แต่คือ “เรายอมแลกอะไร เพื่อรักษาโอกาสในตลาดใหญ่ที่สุดในโลก?”
เพราะวันนี้สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ ไม่ใช่แค่ให้ไทยลดภาษี
แต่คือ “การเคลื่อนตัวในเชิงโครงสร้าง” ที่จะสะท้อนว่าไทยไม่ใช่แค่ประเทศคู่ค้า แต่คือพันธมิตรที่รู้จักเล่นในเกมที่เปลี่ยนไป
สภาวะเช่นนี้ ไทยเสมือนไร้ทางเลือกขนาดที่คายก็ไม่ได้ แต่จะให้กลืนก็ไม่เข้า
เกมนี้สหรัฐฯ ไม่เพียงขยับกระดานเจรจา
แต่กลับเขียนกติกาใหม่
เพราะสิ่งที่ประเทศไทยได้รับ ไม่ใช่แค่ “จดหมาย” แต่มันคือ หมากกลยุทธ์ที่สะท้อนว่า ใครคุมเกม และใครต้องรีบตัดสินใจ
ไทยจะยอมเสียภาษี 36%
หรือจะยอมเปิดบางส่วนของตลาดภายใน
ทั้งสองทาง “ต้องยอม” อะไรบางอย่าง
คำถามคือ
จะยอมในจังหวะที่เรายังต่อรองได้ หรือจะยอมเมื่อหมดสิทธิ์แม้แต่จะนั่งโต๊ะ
เกมนี้จบไปอีกยก แต่ยังเปิดกระดานให้เจรจาใหม่
ถ้าเรากล้า “คิดใหม่ เล่นใหม่ แลกใหม่”"