แฉ ขรก.บิ๊กชั้นผู้ใหญ่เขมรรวมหัวแก๊งจัดหาต่างด้าวยุค รมว.แรงงานพรรค ภท. ทุจริตต่อใบอนุญาตทำงาน
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เปิดเผยขบวนการทุจริตต่อใบอนุญาตทำงานต่างด้าว ซึ่งแผนประทุษกรรมมีความเชื่อมโยงกันระหว่างข้าราชการกระทรวงแรงงานไทย กับ กระทรวงแรงงานกัมพูชา
มีการกำหนดตัวบุคคลจากองค์กรเอกชน ที่เปิดบริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวขึ้นมาเรียกเก็บหัวคิว โอนเงินทุจริตผ่านบัญชีม้าเป็นค่าตอบแทน จากความร่วมมือคอร์รัปชันระหว่างประเทศ สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาทนั้น
เรื่องนี้เป็นผลพวงมาจากนโยบายการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ในช่วงที่ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังนั่งเป็นเจ้ากระทรวงแรงงาน
ประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้นนี้มาจากประกาศกระทรวงแรงงานวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่กำหนดว่าแรงงานต่างด้าวต้องได้รับการรับรองจาก “สถานทูตและ AGENCY” ก่อนต่อใบอนุญาต
เงื่อนไขดังกล่าวได้เปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการจัดหางาน หากแรงงานและนายจ้างไม่จ่าย “เงินพิเศษ” ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติจากระบบ
เพราะฉะนั้นจึงเกิดลักษณะการทุจริต คือ มีการเรียกรับเงินเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าวคนละ 2,500-2,550 บาท นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ทางราชการกำหนดไว้
ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยมีทั้งสิ้น 2,398,218 คน แบ่งเป็นสัญชาติ
- เมียนมา 2,012,856 คน
- กัมพูชา 287,557 คน
- ลาว 94,132 คน และ
- เวียดนาม 3,673 คน
หากประเมินยอดเงินใต้โต๊ะที่ขบวนการนี้เรียกเก็บแบบทุกหัวได้ครบทั้งระบบน่าจะอยู่ที่ ประมาณ 5,996-6,115 ล้านบาท!
มีรายงานแจ้งว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ตรวจพบปัญหาของกลุ่มแรงงานกัมพูชาบางส่วน โดยหลังจากที่กระทรวงแรงงานออกประกาศกำหนดวิธีการต่อใบอนุญาต ออกมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานคนปัจจุบัน ก็เร่งกำหนดวิธีการตามประกาศ ในข้อที่ 5 ซึ่งกำหนดไว้ว่าแรงงานต่างด้าวจะต้องเดินทางกลับประเทศ แต่ให้อำนาจอธิบดีกรมการจัดหางานกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาโดยที่แรงงานฯ ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางของตนเอง
กรมการจัดหางานจึงได้สร้างระบบขึ้นมารองรับ สำหรับแรงงานกัมพูชาให้ใช้วิธีการลงชื่อในลิงก์ http://cam.doe.go.th ที่ทางกรมการจัดหางานดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด
ด้วยการให้นายจ้าง หรือบริษัทที่รับจ้างดำเนินการแทนนายจ้าง เรียกตัวย่อตามภาษาทางราชการว่า “บนจ.” เป็นผู้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานตามระบบ ตามสัญชาติของแรงงานต่างด้าวนั้นๆ ซึ่งเมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้วจะต้องกรอกรายชื่อของแรงงานฯ หรือ Name List ชื่อนายจ้าง และส่วนอื่นๆ ตามที่ระบบกำหนด
ส่วนการกระทำความผิดที่ตรวจพบหลักฐานในส่วนของแรงงานกัมพูชา ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอระบุตัวตนได้ว่า มีนายหน้าจัดหาแรงงานต่างด้าวที่เปิดบริษัทดำเนินการแทนนายจ้างชาวไทยชื่อ นายกิตติพล หอวิจิตร เป็นคนแจ้งข้อมูลไปยังนายจ้างและแรงงานชาวกัมพูชา ในความรับผิดชอบของตัวเอง ให้โอนเงินค่าหัวคิวรายละ 2,500-2,550 บาท แบบเสียเปล่าผ่านบัญชีม้า
บัญชีม้า ก็เป็นบัญชีธนาคารของคนต่างด้าวด้วยกัน ซึ่งหากไม่จ่ายเงินส่วนนี้ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้ต่อใบอนุญาต ทำให้แรงงานต่างด้าวเกิดความกลัวว่าจะถูกจับกุมจนยอมทำตาม และเมื่อมีการจ่ายเงินในส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แรงงานฯ แต่ละรายจะได้รับอนุมัติเรื่องภายใน 2-3 วัน
จากนั้นก็สามารถพรินต์เอกสาร Name List ออกจากระบบ นำไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งการตรวจสุขภาพ การทำประกันสุขภาพ การทำวีซ่า ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานก็จะได้รับการต่อใบอนุญาต เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการอย่างง่ายดาย
ทว่า หากรายใดไม่ยอมโอนจ่ายค่าหัวคิว ระบบก็จะไม่อนุมัติ Name List ให้ ซึ่งแรงงานกัมพูชารายที่ดื้อดึงขัดขืนนั้นจะต้องรอต่อไปแบบไม่มีกำหนด
สำหรับ “นายกิตติพล หอวิจิตร” นายหน้าจัดหาแรงงานต่างด้าว ดำรงตำแหน่งเป็น อุปนายกสมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน หรือ LDTA
นอกจากนั้นยังประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เป็นผู้บริหารของ บริษัท ซี.อี.โอ.เซอร์วิส จำกัด นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ เปิดบริษัทจัดหาต่างด้าวนำเข้าไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีใบอนุญาตประกอบการที่ออกให้โดยอธิบดีกรมการจัดหางาน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ นายกิตติพล หอวิจิตร ผู้นี้จะมีศักยภาพด้านการประสานงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมการจัดหางาน รวมถึงข้าราชการในกระทรวงแรงงาน ทั้งของฝั่งไทย และฝั่งกัมพูชา
คราวนี้มาถึงเรื่องแผนผังบัญชีม้าที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอขยายผลจนรวบรวมทำเป็นพยานหลักฐานนำมาประกอบสำนวนคดีเอาไว้ได้
พบว่าบัญชีม้าที่ใช้เป็นของบุคคลต่างด้าว 3 คน เข้ามาเปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์ ประเทศไทย ดังปรากฏตามหนังสือร้องเรียนจากผู้เสียหาย และจากคำให้การของพยานที่เรียกมาสอบสวน ตอนนี้ระบุได้ 4 บัญชี คือ
1. บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 5042218261 ชื่อ Mr. SUNLY HUNG สัญชาติกัมพูชา
2. บัญชีธนาคารทหารไทยธนชาต หมายเลข 2307261327 ชื่อ Mr. SUNLY HUNG คนเดียวกัน
3. บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 0203925131 ชื่อ Mr. OAKKAR KYAW สัญชาติพม่า
4. บัญชีธนาคารกรุงเทพ หมายเลข 7410120450 ชื่อ Mr. LAY LOEUT สัญชาติกัมพูชา
ทั้ง 4 บัญชี จากม้า 3 ตัว หรือเจ้าของ 3 คน มีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นบัญชีม้าจริง เพราะหลักฐานเส้นทางการเงินที่ได้รับมาจากธนาคาร มีชื่อของบริษัทรับจ้างที่ดำเนินการแทนนายจ้างเป็นผู้โอนไปจริง
ที่สำคัญ จำนวนเงินที่โอนบางรายการ เมื่อหารด้วยจำนวนเงินแต่ละรายที่ต้องจ่ายตามที่พยานให้การแล้วจะได้ผลลัพท์ลงตัวตามจำนวนแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ขอต่อใบอนุญาต
และเมื่อมีเงินเข้าบัญชีม้าเหล่านี้มาแล้ว พนักงานสอบสวนดีเอสไอยังตรวจพบว่า ได้มีการโอนต่อไปยังเจ้าหน้าที่สถานทูตและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของประเทศกัมพูชา ดังนี้
จากบัญชีม้าที่ 1 ข้างต้น มีหลักฐานการโอนเงินต่อไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 0298403234 ชื่อ Mr. MANITH RONG ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศกัมพูชา มียอดโอนไปนับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2567-21 มีนาคม 2568 จำนวน 87 ครั้ง ยอดรวม 3,285,415 บาท
ส่วนบัญชีม้าที่ 2 พบหลักฐานการโอนเงินต่อไปยัง Mr. MANITH RONG รองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศกัมพูชา เช่นเดียวกัน โอนเงินในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 39 ครั้ง ยอดรวม 3,240,240 บาท
นอกจากนี้ แนวทางการสืบสวนตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2567 หลังจากได้มีประกาศกระทรวงแรงงานเปิดให้มีการต่อใบอนุญาตทำงานได้จนถึงวันที่ 24 เมษายน 2567 มีหลักฐานการโอนเงินจากบัญชีม้าที่ 1 และบัญชีม้าที่ 2 ส่งเงินไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 0318469059 ชื่อ Mr.Kem Chamreoun ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ ของประเทศกัมพูชา รวมกัน 100 ครั้ง เป็นเงิน จำนวน 15,879,125 บาท
และจากบัญชีของ Mr. Kem Chamreoun นี้ได้มีการโอนต่อไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 7332469007 ชื่อ Mr. Bunhak Un ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพของประเทศกัมพูชา จำนวน 107 ครั้ง เป็นเงิน 15,074,050 บาท
มิหนำซ้ำ ยังมีหลักฐานเงินโอนจากบัญชีของผู้ประกอบการรับจ้างดำเนินการแทนนายจ้างฝั่งไทยโอนตรงเป็นค่าอนุมัติ Name List ไปยังบัญชีของ Mr. MANITH RONG รองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศกัมพูชา หลายครั้ง
โดยตั้งแต่เปิดให้มีการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จนถึงวันที่ 24 เมษายน 2568 มีเงินจากบัญชีของ Mr. MANITH RONG ซึ่งได้รับมาจากส่วนต่างๆ โอนต่อไปยังบัญชีธนาคารของ Mr. BUNHAK UN ที่ปรึกษารัฐมนตรีแรงงานกัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสายตรง จำนวน 7 ครั้ง เป็นเงิน 145,600 บาท
ส่วนบัญชีม้า เล่มที่ 3 ธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 0203925131 ชื่อ Mr. OAKKAR KYAW สัญชาติพม่า ตรวจสอบพบยอดฝากและถอนเงินโดยลิ่วล้อแก๊งฉ้อราษฎร์ฝั่งเขมรก๊วนเดียวกัน นับจากวันที่ 12 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2568 ฝากเงิน 95 ครั้ง รวม 5,931,550 บาท มียอดถอนออกไปจำนวน 8 ครั้ง รวม 5,931,420 บาท
สำหรับบัญชีม้าเล่มที่ 4 ธนาคารกรุงเทพ หมายเลข 7410120450 ชื่อ Mr. LAY LOEUT สัญชาติกัมพูชา พบเส้นทางการเงิน นับแต่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 10 มีนาคม 2568 มียอดเงินฝากเข้าประมาณ 14 ล้านบาทเศษ และตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2568 มีรายการโอนเงินต่อไปยังบัญชีของ Mr. Bunhak Un ที่ปรึกษารัฐมนตรีแรงงานกัมพูชา จำนวน 298 ครั้ง ยอดเงินรวมกัน 14,178,769 บาท
คราวนี้มาดูรายงานผลประโยชน์จากความร่วมมือกันทุจริตที่ฝ่ายไทยได้รับมาบ้าง
พนักงานสอบสวนดีเอสไอพบหลักฐานการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของ Mr. MANITH RONG รองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศกัมพูชามายังบัญชีคนไทย 3 ราย ประกอบด้วย
1. บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 9542012509 ชื่อบัญชี น.ส.สิธารัตน์ วิสุทธิธรรม ซึ่งคาดว่าเป็นบัญชีม้าของขบวนการผู้รับประโยชน์ฝั่งไทย เช่นเดียวกัน จำนวน 20 ครั้ง เป็นเงินรวม 13,757,230.84 บาท
2. บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลขบัญชี 6602303002 ชื่อบัญชี บริษัท ธุวติ เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 23 ครั้ง เป็นเงินรวม 41,539,690.20 บาท
3. บัญชีธนาคารกรุงเทพ หมายเลข 2270772722 ชื่อบัญชี บริษัท ดวงตะวันเพชรฯ จำนวน 7 ครั้ง จำนวนเงิน 1,929,900 บาท
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพแวดล้อม ของบริษัท ธุวติ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งทางดีเอสไอพบหลักฐานการโอนเงินจากรองผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและ เทคโนโลยีสารสนเทศประเทศกัมพูชา เข้ามาจำนวน 23 ครั้ง เป็นเงินรวมถึง 41,539,690.20 บาท
พบว่าขัดกับรายงานที่ทางบริษัทให้ข้อมูลกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างสิ้นเชิง!!!
โดยข้อมูลที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ ทราบว่าบริษัทแห่งนี้ดำเนินการขายส่งอิฐ หิน ปูน ทราย และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ตั้งอยู่เลขที่ 65/33 หมู่ 1 แขวงและเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 เลขนิติบุคคล 0105556115205 มีกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม 1 คน ชื่อ น.ส.จรูญ สิทธิทรัพย์ศรี
โดยที่ตั้งของ บริษัท ธุวติ เทรดดิ้ง จำกัด แห่งนี้ยังใช้สถานประกอบการเป็นที่เดียวกับ บริษัท เจริญค้า วัสดุภัณฑ์ จำกัด ดำเนินการขายส่งอิฐ หิน ปูน ทราย และผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหมือนกัน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 เลขนิติบุคคล 0105557147984 มีกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม 1 คน ชื่อ น.ส.จรูญ สิทธิทรัพย์ศรี คนเดียวกันอีกด้วย
จากการตรวจสอบสถานที่ประกอบการก็พบว่ามีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น สีบานเย็นตั้งอยู่กลางชุมชนเลิศพัฒนาใต้ หรือซอยจอมทอง 13 ไม่ได้มีลักษณะเป็นห้าง ร้าน ขายอุปกรณ์ก่อสร้างแต่อย่างใด
ที่สำคัญ บ้านดังกล่าวปิดเงียบ ทั้งประตูรั้วด้านนอก และประตูเหล็กด้านใน คล้ายไม่ได้มีความประสงค์ที่อยากจะเปิดรับลูกค้า หรือผู้ต้องการมาติดต่อขอซื้อของ และใช้บริการ
ส่วนรายละเอียดของ บริษัท ดวงตะวันเพชรฯ ซึ่งได้รับเงินโอนจากทางกัมพูชาเข้ามา 7 ครั้ง จำนวนเงิน 1,929,900 บาท ตามข้อมูลที่แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทราบว่าบริษัทแห่งนี้ขายส่งปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร เคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ตั้งอยู่เลขที่ 134 หมู่ 2 ถนนสุขุมวิท 107 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง สมุทรปราการ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545 เลขนิติบุคคล 0115545009824 มีกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม 2 คน ชื่อ นายปานพงษ์ เจริญคุปต์ และ นายปิยะพงษ์ เจริญคุปต์
ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ควบรวมกับ บริษัท อะโกร เจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งทำธุรกิจแบบเดียวกัน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ทำให้มีที่ตั้งเดียวกัน และมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามชุดเดียวกันกับบริษัท ดวงตะวันเพชรฯ ทุกประการ
จากการสรุปสำนวน การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอเบื้องต้นตอนนี้ยอดรวมผลประโยชน์ที่ทางเจ้าหน้าที่กัมพูชารับไปมีทั้งสิ้นจำนวน 44.8 ล้านบาท ส่วนผลประโยชน์ที่บุคคลและบริษัทในไทยได้รับกลับมา รวม 57.1 ล้านบาท
จากขบวนการทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายให้แรงงานต่างด้าว และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในระบบราชการไทยอย่างมาก
งานนี้มีคำถามไปถึงพรรคภูมิใจไทยว่า ถือเป็นการทุจริตเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของอดีตรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคภูมิใจไทยที่วางหมากเอื้อให้เกิดช่องทางทุจริตเป็นขบวนการหรือไม่อย่างไร?