MGR Online: ที่ประชุมรัฐมนตรีสหประชาชาติให้คำมั่น “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ทุกการเกิด การแต่งงาน และการเสียชีวิต จะต้องถูกบันทึกในระบบทะเบียนราษฎร์ตามหลักสิทธิพลเมืองภายในปี 2030
ทะเบียนราษฎร์ไม่ใช่แค่บันทึกการเกิด การแต่งงาน และการเสียชีวิต แต่เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้พลเมืองสามารถเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการที่ควรได้รับ และนำไปสู่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข ซี่งทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ตกหล่น และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพในเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 3 (Third Ministerial Conference on Civil Registration and Vital Statistics in Asia and the Pacific Bangkok) จัดขึ้นระหว่าง 24-26 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ( ESCAP ) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
รัฐมนตรีประเทศเอเชีย-แปซิฟิกได้หารือเพื่อทบทวนและติดตามความคืบหน้าของ ‘ระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพ’ เน้นย้ำถึงความสำคัญของทะเบียนประชากรที่เป็นระบบ แม่นยำ และเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ทั้งการเกิด การแต่งงาน การตาย การเคลื่อนย้าย ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง, ผู้อยู่ค่ายผู้ลี้ภัย, กลุ่มชาติพันธุ์, บุคคลไร้รัฐที่ไม่ได้รับการพิสูจน์สถานะ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ และการได้รับการปกป้องคุ้มครองตามสิทธิพลเมือง
ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านระบบทะเบียนราษฎร์ จากการบันทึกในเอกสารกระดาษเข้าสู่ระบบดิจิทัล ที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและมีความปลอดภัยมากขึ้น การจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญ เช่น การเกิด หากได้รับการบันทึกในระบบทะเบียนราษฎร์ จะได้รับการพิสูจน์สิทธิความเป็นพลเมือง การวางแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในอนาคต ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล หรือระบบบริการและโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่การบันทึกข้อมูลด้านการตายจะเป็นข้อมูลการเสียชีวิต หรืออุบัติการณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นสถิติวิเคราะห์การจัดการทางสาธารณสุขของประเทศ ข้อมูลด้านการตายยังช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ถึงแนวทางการดูแลความเป็นอยู่ของคนที่เหลือในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง, กลุ่มผู้ยากไร้
คำมั่นปฏิญญารัฐมนตรี ที่จะ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” (No one is left behind ) ตอกย้ำการดำเนินการเชิงรุกเพื่อการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของรัฐต่อประชากรโลก ออกมาตรการเพื่อสิทธิเท่าเทียม และขจัดปัญหาอุปสรรคของระบบทะเบียนราษฎร์ โดยทุกการเกิด-การตายต้องได้รับการบันทึกในระบบภายในปีค.ศ. 2030
ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประมาณการณ์ว่ามีผู้คนอย่างน้อย 10 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาตามกฎหมายว่าเป็นพลเมืองของรัฐใด ๆ รวมถึงผู้ที่อยู่ในภาวะ "ไร้รัฐโดยพฤตินัย" (de facto stateless) ผู้ที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมาย หรือไม่มีการรับรองสัญชาติอย่างเป็นทางการ คนเหล่านี้ไร้สิทธิ ไร้เสียง และขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางสังคม รวมถึงความเป็นอยู่ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ มีเด็กประมาณ 14 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิดภายในวันเกิดปีแรก และมีการเสียชีวิตประมาณ 6.9 ล้านรายที่ยังไม่ถูกบันทึก ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นนอกสถานพยาบาลหรือในชุมชนห่างไกล
ผู้แทนจากไทยย้ำถึงความสำคัญการวางแผนระบบสาธารณสุข, สุขภาพประชาชน, สิทธิเข้าถึงโครงการสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาระบบเพื่อบูรณาการจัดการในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ รัฐบาลไทยกำลังสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการลงทะเบียนราษฎร์ที่จะไม่มีใครตกหล่นหรือถูกละเลย.