รูปลักษณ์ของพิกเซลหรือภาพกราฟิกแบบ Pixel Art ที่ปรากฏในเกม 8 Bit ซึ่งโด่งดังในยุคทศวรรษ 80 และ 90 อาทิ เกมตู้ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อเกมอาเขต หรือเครื่องเล่นเกมแบบตลับรุ่นแรกๆที่ได้รับความนิยมอย่างสูง รู้จักกันดีในชื่อเครื่อง Famicom ( ชื่อเต็มคือ Family Computer สร้างโดย Nintendo)
พิกเซลในความทรงจำเหล่านั้น ได้ถูกรังสรรค์ผ่านภาพศาลพระภูมิ ศาลตายาย ศาลพระพรหม ที่มีผู้นำสิ่งของต่างๆ ไปถวายมากมาย อาทิ รูปปั้นกุมารทอง นางรำ นางกวัก รูปปั้นไก่ พวงมาลัย น้ำแดง มีแม้กระทั่งเจ้าแมวตัวอ้วนขึ้นไปนอนอย่างสบายอารมณ์
ยังมีภาพตู้โทรศัพท์ที่ปัจจุบันกลายเป็นตู้ซึ่งถูกทิ้งร้าง แต่ในยุคสมัยหนึ่ง ที่แห่งนี้มีความทรงจำมากมาย เนื่องจากถูกใช้แทบจะเป็นช่องทางสื่อสารหลักก่อนการมาถึงของสมาร์ทโฟน
ยังมี Street food อันนับเป็นอีกเอกลักษณ์สำคัญของเมืองไทย เช่น บะหมี่เกี๊ยว
ข้าวมันไก่ ผลไม้รถเข็น เป็นต้น
ทว่า เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผลงานในรูปแบบ Pixel Art ที่รังสรรค์ขึ้นโดย ‘ปัฐน์ พร้อมพงษ์’ ศิลปินผู้ใช้นามปากกา ‘Patpixels’ ยังมีอีกมากมาย ที่ล้วนสะท้อนถึงความเป็นไทยร่วมสมัย ผสานกับความรู้สึกคำนึงถึงอดีตในวัยเยาว์ได้อย่างน่าสนใจ
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์ ‘ปัฐน์ พร้อมพงษ์’ หรือ ‘Patpixels’ ถึงผลงาน Pixel Art อันมีเอกลักษณ์
นับแต่วัยเยาว์
ถามถึงความเป็นมา แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะด้วยรูปแบบ Pixel Art
ปัฐน์ตอบว่า “จริงๆ แรงบันดาลใจเริ่มตั้งแต่เด็กเลยครับ ตอนเด็กๆ ชอบเล่นเกม เช่น เกมบอย, เกม PlayStation แล้วเราก็สงสัยว่า Artwork ในเกม เป็นมายังไง พอเริ่มโตมาเรื่อยๆ ผมเรียนทางด้านศิลปะ เมื่อเรียนจบมาก็ค้นหาตัวเองว่าเราชอบอะไร ก็มาจบที่พิกเซลอาร์ตที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก”
“เริ่มแรกเรายังหาคำตอบจากมันไม่ได้ ว่าทำขึ้นมายังไง เราก็เลยลองศึกษาดู ก็รู้ว่าเค้าใช้โปรแกรมเฉพาะทางในการวาด นอกจากใช้ Photoshop แล้ว ก็ใช้โปรแกรมในการเขียนโค้ด วาดทีละจุดขึ้นมา แต่ว่า ณ ปัจจุบัน พอเริ่มศึกษาก็พบว่ามันมีโปรแกรมที่ช่วยวาดภาพพิกเซลเฉพาะทาง ก็เลยศึกษาและได้ลองทำครับ ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ด้วย เป็นช่วงที่ทุกคนอยู่บ้าน ค้นหาตัวเอง ผมก็เริ่มวาดพิกเซลตั้งแต่ตอนนั้น”
เสน่ห์ Pixel Art
ถามว่า อะไร คือเสน่ห์ของงานพิกเซลอาร์ตที่คุณชื่นชอบ
ปัฐน์ตอบว่า “ผมว่าน่าจะเป็นการที่เรามองงานแล้วเรารู้สึกหวนคืนบางอย่างสู่อดีต เพราะว่าด้วยเทคนิค มันเป็นเทคนิคที่เก่าก็จริง แต่ผมก็พยายาม Adapt ออกมาให้มันอยู่ในปัจจุบันและสามารถมองย้อนไปในอดีตได้”
ขอให้ช่วยเล่าหรือยกตัวอย่างกระบวนการทำงาน ว่าคุณนำไปผสานกับความเป็นไทยร่วมสมัยยังไง
ปัฐน์อธิบายว่า “ผมเป็นคนชอบสังเกต ชอบหยิบจับสิ่งของ หรือ Object ที่ผมสนใจ เช่น ก่อนหน้านี้ผมหยิบจับตู้โทรศัพท์มาวาด เพราะช่วงนั้นเขากำลังทำการรื้อถอนตู้โทรศัพท์ แต่เราสนใจมันและไม่อยากให้มันหายไป ก็วาดให้มันกลับมา เป็นงานของเรา มันก็จะอยู่กับเรา ได้เห็นผ่านหน้าผ่านตา แล้วก็ทำให้คนอื่นที่เห็น รู้สึกคิดถึงมันขึ้นมาอีกครั้งครับ สำหรับคอลเลคชั่นตู้โทรศัพท์มีทั้งหมด 3 แบบครับ”
ผีไทย ศาลไทย ความเชื่อแบบไทยๆ
ถามถึงคอลเลคชั่น กุมารทอง นางรำ นางกวัก บ้าง เป็นคอลเลคชั่นล่าสุดไหม
ปัฐน์ตอบว่า “ใช่ครับ ด้วยนิทรรศการล่าสุดที่แสดงไปแล้ว คือ Timeless Thai เราก็ได้หยิบจับความเป็นไทยที่เราสนใจมาวาดแล้วพ่นสีสเปรย์ลงบน Object ผมคิดว่าเทคนิคนี้เหมาะกับการทำพิกเซล คือ พ่น stencil ลงไป
( หมายเหตุ : stencil คือการใช้แผ่นฉลุเป็นแม่แบบสำหรับพ่นสี )
ถามว่าทำไมต้องเป็น กุมารทอง นางรำ นางกวัก
ปัฐน์ตอบว่า “เหตุผลนี้ง่ายๆ เลยครับ คือ ผมเป็นคนชอบหยิบจับ Object ที่มันน่าสนใจ เราชอบสิ่งนี้ แล้วอยากทำให้มันออกมาเป็นงานเรา มีทั้งศาลพระภูมิ มีทั้งของที่คนนำมาถวาย รูปปั้นไก่ก็มีครับ จริงๆ มีอีกหลายชิ้นที่อยากวาด แต่อันนี้มันเด่นขึ้นมา”
“จริงๆ แล้ว ตัวนางรำจะอยู่ในศาลพระภูมิ นางรำผมแค่นำมา Bold ให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งภายในศาลพระภูมิจะมีหลายอย่างที่วางบนศาล มีนางกวัก มีธูป มีแมว มีน้ำแดง แมวบ้านผมก็ชอบไปนอนบนศาลพระภูมิ มีหลายอย่างมาก ผมแค่นำกุมารทอง นางรำ นางกวัก มา Bold ให้ใหญ่ๆ ขึ้น”
ปัฐน์เล่าว่า กุมารทอง นางรำ นางกวักนี่เอง ที่ทำให้ต่างชาติร้องว้าว!เมื่อได้เห็นและได้รู้ว่า เป็นทั้งผี สะท้อนศาสนาและความเชื่อ ทั้งสะท้อนถึงความเป็นไทยๆ ได้ดี สิ่งทั้งหลายนั้นได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวในงานคอลเลคชั่นนี้เอง
ความร่วมสมัย
ขอให้ช่วยยกตัวอย่างงานพิกเซลอาร์ตอื่นๆ ของคุณที่มีความเป็นไทยร่วมสมัย
ปัฐน์ตอบว่า มีหลากหลาย เช่น Street food บะหมี่เกี๊ยว ผลไม้รถเข็น หรือในช่วงนี้สนใจเรื่องของผลไม้ไทยๆ ที่ชอบ เช่น ทุเรียน เงาะ ก็หยิบจับออกมาวาด
แต่งานของปัฐน์ใช่มีเพียงสิ่งที่พบเห็นได้ในความเป็นไทยร่วมสมัยเท่านั้น หากเขาเดินทางไปที่ใด และประทับใจสิ่งใด ก็จะนำสิ่งนั้นออกมาถ่ายทอดในรูปแบบพิกเซลอาร์ตเช่นเดียวกัน ซึ่งนับว่ามีความหลากหลายอย่างยิ่ง
ถามถึง งานนิทรรศการปัจจุบันที่จัดแสดงอยู่ที่ MRT พหลโยธินบ้าง
ปัฐน์ตอบว่า “คอลเลคชั่นที่ MRT พหลโยธินก็เป็นการหวนคืนสู่อดีต รูปแบบมันจะเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นครับ เพราะจริงๆ ผมรู้สึกว่าพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กน้อย เราก็เลยสร้างสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กขึ้นมา แต่ผู้ใหญ่ก็มานั่งเล่นได้ มันจะมีมินิเกม มี Object ที่ถ่ายรูปได้ มีมินิเกมเช่น XO ก็มาเล่นได้ครับ จัดแสดงที่ MRT พหลโยธินถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมครับ”
สุดท้าย ถามถึงผลงานในอนาคตบ้าง
ปัฐน์ตอบว่า “ตอนนี้อยากทำเป็น Solo Exhibition ครับ แต่ยังคิดอยู่ว่าจะเป็นแบบไหน อาจเป็นวินเทจ ย้อนยุค หรือแบบไทยๆ แต่ก็เป็นพิกเซลอาร์ตแน่นอนครับ”
สำหรับเหล่าวัยรุ่น Gen. X หรือผู้ที่คำนึงถึงอดีตในวัยเยาว์กับยุคทองของ Pixel Art เชื่อว่าย่อมรอคอยผลงานคอลเลคชั่นใหม่ๆ ของศิลปินหนุ่มผู้นี้เป็นแน่
……….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ปัฐน์ พร้อมพงษ์, รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
เอื้อเฟื้อสถานที่ 10 10 Art Space