กองทัพสั่งปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชาด้านสระแก้ว จันทบุรี ตราด ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ หลังพบกัมพูชารุกล้ำอธิปไตย ลาดตระเวน ดัดแปลงภูมิประเทศ ห้ามยานพาหนะ-ประชาชน-นักท่องเที่ยวผ่านเข้าออก อนุญาตเฉพาะด้านมนุษยธรรม เช่น การรักษาพยาบาล ส่งต่อผู้ป่วยกรณีเร่งด่วน และการศึกษาของนักเรียน
วันที่ 23 มิถุนายน 2568 เวลา 19.10 น. กองทัพภาคที่ 1 ได้เผยแพร่คำสั่งกองทัพภาคที่ 1 เรื่องควบคุมการเปิด-ปิดจุดผ่านแดนทุกประเภท ลงนามโดย พลโท อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1
เนื้อหาคำสั่งระบุว่า เนื่องด้วยปัจจุบัน ปรากฏข่าวสารทหารกัมพูชามีการรุกลํ้าอธิปไตยในพื้นที่ของประเทศไทยโดยการลาดตระเวน ปรับปรุงที่มั่น และดัดแปลงภูมิประเทศ รวมถึงมีการนำประชาชนเข้ามาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ความปลอดภัยของประชาชนตามแนวชายแดนได้รับความเดือดร้อน และเกิดความตึงเครียด
จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่เดินทางข้ามแดนในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1รวมถึงยังปรากฏการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการ Call Center และ Hybrid Scam ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ และในภูมิภาคเป็นวงกว้าง
กองทัพภาคที่ 1 ในฐานะที่เป็นหน่วยรับผิดชอบพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดสระแก้ว ได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคง และความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย จึงให้มีมาตรการดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว ดังนี้
1. งดการผ่านเข้า-ออก ของยานพาหนะทุกประเภท
2. งดการเดินทางผ่านเข้า-ออก ของประชาชน, นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และการค้าขายทุกประเภท
3. ตามข้อ 1 และข้อ 2 อนุญาตให้อำนวยความสะดวกด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสมและความจำเป็น เช่น ด้านการรักษาพยาบาล, การส่งต่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีเร่งด่วน และด้านการศึกษาของนักเรียน รวมทั้งการดำเนินการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้านกองทัพภาคที่ 2 ออกคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 177/2568 เรื่อง มาตรการยกระดับการควบคุมการผ่านแดนในพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์, จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ มีใจความว่า เนื่องด้วยปัจจุบันปรากฏข่าวสารทหารกัมพูชามีการรุกล้ำอธิปไตยในพื้นที่ของประเทศไทยโดยการลาดตระเวน ปรับปรุงที่มั่น และดัดแปลงภูมิประเทศ รวมถึงมีการนำประชาชนเข้ามาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย อีกทั้งได้ปรากฏการก่ออาชญากรรมข้ามชาติขบวนการ Call Center และ Hybrid Scam
เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพภาคที่ 2 จึงให้ ยกเลิก คำสั่งกองทัพภาคที่ 2 (เฉพาะ) ที่ 136/2568 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2568 เรื่อง อนุมัติปิดจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และกำหนดมาตรการควบคุมการผ่านแดน บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์, จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีมาตรการ ดังนี้
1. งดการผ่านเข้า-ออก ของยานพาหนะทุกประเภท
2. งดการเดินทางผ่านเข้า-ออก ของประชาชน การค้าขายทุกประเภท นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
3. ตามข้อ 1 และข้อ 2 อนุญาตให้อำนวยความสะดวกด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสม เช่น ด้านการรักษาพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีเร่งด่วน ด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ การซื้อขายผักผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือนตามความเหมาะสมและจำเป็น เป็นต้น
ขณะที่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดได้ออกคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 1092/2568 เรื่อง มาตรการยกระดับการควบคุมการผ่านแดน ในพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม ต่าบลเทพนิมิต อําเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด ตําบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ตําบลหาดเล็ก อําเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จุดผ่อนปรนการค้า บ้านซับตารี ตําบลทุ่งขนาน อําเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี จุดผ่อนปรนการค้าบ้านสวนส้ม ตําบลสะตอน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และจุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง ตําบลนนทรีย์ อําเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคําสั่งกองทัพเรือ จึงให้หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรีและหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราดควบคุมการสัญจรข้ามแดนของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการตลอดจนแรงงานในพื้นที่ ผ่านจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าทุกแห่งในพื่นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ดังนี้
1. งดการเดินทางผ่านเข้า-ออก ของประชาชน การค้าขายทุกประเภท นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
2. งดการผ่านเข้า-ออก ของยานพาหนะทุกประเภท
3. ตามข้อ 1 และข้อ 2 อนุญาตให้อํานวยความสะดวกด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสม เช่น ด้านการรักษาพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีเร่งด่วน ด้านการศึกษา นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ การซื้อขายผักผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตามความเหมาะสม และจําเป็น เป็นต้น