แวดวงอุตสาหกรรมนมเผย "น้ำนมดิบ" ล้นตลาด แต่ผู้ประกอบการนมพาณิชย์กลับตกเป็นแพะรับบาปจาก “มาเฟียนมโรงเรียน” ลดคุณภาพ ผสมน้ำ ทำเด็กไทยดื่มนมไร้คุณภาพ พบไม่อนุมัตินำเข้านมผง แต่กลับบีบให้รับภาระที่ไม่ได้ก่อ ทำขาดแคลนวัตถุดิบ กระทบการผลิต ละเมิดข้อตกลงออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ กระทบภาพลักษณ์ไทย เสี่ยงเจอโต้กลับกระทบส่งออก วอน “นฤมล” ช่วยแก้ปัญหาจริงจัง
วันนี้ (19 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากแวดวงอุตสาหกรรมนมร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว MGR Online ว่าได้รับความเดือดร้อนจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชะลอการอนุมัตินำเข้านมผงขาดมันเนยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โดยอ้างว่าน้ำนมดิบในประเทศล้นตลาด ทั้งที่ความจริงเกิดจากการทุจริตโครงการนมโรงเรียน อีกทั้งนมไม่มีคุณภาพ มีนักเรียนไม่ได้ดื่มนม เกษตรกรประสบปัญหานมล้นตลาด แต่กลับโยนให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์รับภาระ ตกเป็นแพะอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ กระทบต่อภาคการผลิต อีกทั้งละเมิดข้อตกลงทางการค้ากับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เรียกร้องให้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว
แหล่งข่าวระบุว่า เดิมโครงการนมโรงเรียน เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2535 โดยมีกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ละปีใช้งบประมาณราว 14,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่ใช้การประมูล โดยให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการรายย่อย กลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดขบวนการ “มาเฟียนมโรงเรียน” โดยผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตนมพาสเจอไรซ์ หรือนมถุง ซึ่งไม่ได้ทำนมพาณิชย์จำหน่าย
ที่ผ่านมามีการเซ็นเอ็มโอยูเพื่อจัดซื้อน้ำนมดิบเข้าโครงการนมโรงเรียนที่ 1,894 ตันต่อวัน แต่ในความเป็นจริงกลับมีโควตานมเพื่อผลิตให้โรงเรียนเพียง 951 ตันต่อวันเท่านั้น ส่วนนมที่เกินไม่มีที่รองรับเกิดเป็นปัญหานมล้น เนื่องจากผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดเป็นรายเล็ก ไม่ได้ทำนมพาณิชย์ที่สามารถส่งไปจำหน่ายตามท้องตลาดได้ จึงมักร้องเรียนให้ทางราชการช่วยเหลือ นอกจากนี้ โครงการนมโรงเรียนกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในการรับซื้อนมจากเกษตรกรตลอดปี 365 วันและมีแผนรองรับนมส่วนเกินจากโควตาที่ได้รับ ซึ่งโดยปกติเกษตรกรต้องรีดนมวัวทุกวัน แต่ส่งนมให้โรงเรียนได้เฉพาะวันเปิดภาคเรียน 260 วันเท่านั้น จึงทำให้นมที่ไม่ได้ส่งมอบล้นตลาดทุกปีในช่วงปิดเทอมโดยไม่มีแผนรองรับและไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อศูนย์รวบรวมนมดิบหรือฟาร์มคู่สัญญา โดยนมพาสเจอไรซ์ หรือนมถุง มีอายุการเก็บรักษาเพียง 10 วัน นับจากวันที่ผลิตเท่านั้น อีกทั้งพบปัญหานมโรงเรียนไม่ได้คุณภาพ มีการผสมน้ำ เกิดการเน่าเสีย หรือตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์เกินกว่ามาตรฐาน
- แฉระบบ "มาเฟียนมโรงเรียน" ครอบงำ-ทุจริต
แหล่งข่าวระบุอีกว่า โครงการนมโรงเรียนมีการทุจริตหลายรูปแบบ เช่น ผู้ผลิตใช้วิธีผสมน้ำเพื่อลดต้นทุน น้ำนมไม่มีคุณภาพ หรืออาจไม่ได้ส่งนมจริง ซึ่งการทุจริตดังกล่าวมีระบบ “มาเฟียนมโรงเรียน” ครอบงำการจัดสรรน้ำนมดิบ และมีอิทธิพลต่อการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานในระบบนมโรงเรียนมาโดยตลอด ทำให้การตรวจสอบทุจริตเป็นไปได้ยากและไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด
ปัญหาทุจริตนมโรงเรียนยังส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการนมพาณิชย์ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ พยายามโยนบาปให้ภาคเอกชนด้วยการบีบให้ร่วมกันรับซื้อน้ำนมดิบที่ล้นตลาดทุกวัน เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวงเกษตรฯ และ อ.ส.ค. โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและการทุจริตไม่รับผิดชอบของโครงการนมโรงเรียน จากการกำหนดให้รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 365 วัน แต่ส่งนมให้โรงเรียนได้เฉพาะวันเปิดภาคเรียน 260 วันเท่านั้น นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างเหตุผลดังกล่าวมาจำกัดอนุมัตินำเข้านมผงจากต่างประเทศ เพียง 35% จากที่ภาคเอกชนยื่นขอไว้ ทั้งที่ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อ 20 ปีก่อน และมีผลบังคับเต็มรูปแบบในปีนี้ แต่ไทยกลับละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เสี่ยงต่อการฟ้องร้องเป็นคดีความ และรัฐบาลอาจเกิดค่าโง่ตามมา
กระทรวงเกษตรฯ ยังบีบให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบแทนผู้ประกอบการนมโรงเรียน ขณะที่ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ได้รับผลกระทบ เพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ เมื่อสอบถามกลับได้รับคำตอบว่าน้ำนมดิบจากโครงการนมโรงเรียนยังเหลือ ให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์มาซื้อมาทำเป็นนมผง ซึ่งทำไม่ได้เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่านมผงนำเข้าถึง 2 เท่า
- หวั่นออสฯ-นิวซีแลนด์ตอบโต้ทางการค้า
ปัจจุบันภาคเอกชนมีทั้งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมมากกว่า 10 บริษัท และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้นมผงขาดมันเนยเป็นวัตถุดิบ เช่น นมเปรี้ยว ไอศกรีม เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ขนม มากกว่า 40 บริษัท จำเป็นต้องนำเข้านมผงขาดมันเนยจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิต ร่วมกับน้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก เนื่องจากน้ำนมดิบในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ นมส่วนใหญ่นำไปจดเอ็มโอยูกับโครงการนมโรงเรียน ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ไม่สามารถซื้อนมจากโครงการนมโรงเรียนได้โดยตรง เพราะเป็นนมมีเจ้าของที่ภาครัฐอุดหนุนงบประมาณผ่านสถานศึกษามาแล้ว
การที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่อนุมัติการนำเข้านมผง โดยอ้างเรื่องนมโรงเรียนล้นตลาด และโยนให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ตกเป็นแพะรับบาป สร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบการนมอย่างยิ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการต้องวางแผนการสั่งซื้อและนำเข้านมผงเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งต้องสั่งซื้อล่วงหน้าหลายเดือนกว่าที่จะได้นมผงเข้ามาใช้ในการผลิต เมื่อขาดแคลนวัตถุดิบก็เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง สูญเสียรายได้ เสียโอกาสทางธุรกิจในการเติบโตของตลาดอาหารและนม รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และประเทศไทยเสียความน่าเชื่อถือเพราะละเมิดข้อตกลงทางการค้ากับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
หากทั้งสองประเทศออกมาตรการตอบโต้ทางการค้า อาจเสียหายถึงสินค้าส่งออกจากประเทศไทย ไม่ต่างจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ และกระทบความเชื่อมั่นของสหภาพยุโรป (EU) ที่ไทยกำลังเจรจาเอฟทีเอในขณะนี้ จึงอยากให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงมาแก้ปัญหาการทุจริตนมโรงเรียนที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน แก้ไขระบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ให้เกิดความโปร่งใส และแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เด็กไทยได้ดื่มนมอย่างมีคุณภาพ และอนุมัตินำเข้านมผงตามข้อตกลงเอฟทีเอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรด้วยการตั้งกองทุน FTA พร้อมกับพัฒนาระบบจัดการฟาร์มโคนมให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกัน
- คาดนมโรงเรียนค้างสต๊อกพันล้านกล่อง
ด้านนายปรีติ เจริญศิลป์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม ระบุว่า กมธ.ได้เชิญเกษตรโคนมและผู้ประกอบการนม รวมทั้งลงพื้นที่พบผู้ประกอบการเพื่อรับทราบข้อมูล พบว่าปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาเด็กนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนล่าช้าทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า ในช่วงเปิดเทอมวันแรกนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนเพียง 5,200 โรงเรียน จากทั้งหมด 26,600 โรงเรียน หรือ 19.55% เท่านั้น ซึ่งความล่าช้าเกิดจากการออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตานมโรงเรียนล่าช้าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อย่างต่อมาคือ ปัญหานมล้นทั้งระบบ ได้แก่ น้ำนมดิบและนมโรงเรียน เพราะโครงสร้างการบริหารจัดการของมิลค์บอร์ด และคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (บอร์ดนมโรงเรียน) ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานมีการบริหารจัดการแยกกัน ทั้งการเซ็นเอ็มโอยูซื้อนมดิบที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.ของทุกปี แต่ได้รับสิทธิโควตานมโรงเรียนช่วงเดือน พ.ค.ของปีถัดไป ซึ่งกลุ่มที่ซื้อน้ำนมดิบตั้งแต่เดือน ต.ค. เพื่อหวังจะได้โควตานมโรงเรียนมีมากถึง 1,894 ตันต่อวัน แต่มีโควตานมโรงเรียนจริงเพียง 951 ตันต่อวันเท่านั้น
"หมายความว่ากลุ่มที่ซื้อนมโรงเรียนตั้งแต่เดือน ต.ค.เพื่อหวังจะได้โควตานมโรงเรียน จะไม่ได้รับสิทธิประมาณครึ่งหนึ่ง ผลก็คือกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิประมาณครึ่งหนึ่งจะกลายเป็นนมที่ล้นในระบบ ซึ่งมีประมาณ 943 ตันต่อวัน ผู้ซื้อนมเหล่านี้ต้องหาที่ปล่อยนมหรือนำนมมาบรรจุใส่กล่อง UHT นมโรงเรียน เพื่อรักษาอายุการเก็บได้นานขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยมาทุกปี คาดว่าในระบบมีนมโรงเรียนแบบกล่อง UHT ค้างสต๊อก 1,000 ล้านกล่องทั่วประเทศที่รอการระบายออก" นายปรีดี กล่าว
ทั้งนี้ นมโรงเรียนที่นักเรียนได้ซึ่งควรจะได้รับเป็นนมพาสเจอไรซ์แบบถุง ที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากว่านมกล่อง UHT แต่นักเรียนมักได้รับนมกล่องแทน เพราะเป็นการระบายสต๊อกนม แม้จะมีการเปลี่ยนช่วงเวลาการจัดสรรนมโรงเรียนและการเซ็นเอ็มโอยูเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานมล้นได้ เว้นแต่มีการปรับเพิ่มการบริโภคนมโรงเรียนจากเดิม 260 วัน เป็น 365 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับโควตานมโรงเรียนสามารถระบายนมโรงเรียนออกไปได้ในปริมาณเท่าๆ กัน
- เตือน ก.เกษตรฯ แหก FTA ไทยไร้เชื่อถือทางการค้า
กมธ.ได้รับร้องเรียนจากหลายภาคส่วนถึงวิธีการจัดสรรโควตานมโรงเรียนที่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ทั้งการกำหนดพื้นที่ใหม่ การกำหนดสัดส่วนใหม่ของแต่ละกลุ่ม ถึงการออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย กล่าวคือ มีการเปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการเข้าโครงการรับสิทธิโควตานมโรงเรียนไปแล้ว แต่ก็ยังมาประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรเพิ่มเติมในวันสุดท้ายของการรับสมัคร ซึ่งเกิดคำถามว่า การออกประกาศแบบนี้ ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย ให้ได้รับโควตานมโรงเรียนมากกว่าเดิมหรือไม่ รวมถึงข้อร้องเรียนของสถาบันการศึกษา ที่ปีนี้แทบไม่ได้รับโควตานมโรงเรียนเลย
ที่สำคัญ ปัญหาการบริหารจัดการนมโรงเรียนผิดพลาด ส่งผลต่อการปฏิบัติที่อาจละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และยังส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการนมพาณิชย์ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ หยิบยกสถานการณ์น้ำนมดิบล้นตลาดจากโครงการนมโรงเรียนมากล่าวอ้างในการจำกัดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ โดยอนุมัติการนำเข้าเพียง 35% จากที่ภาคเอกชนยื่นขอไว้ ทั้งที่ประเทศไทยได้ลงนามเอฟทีเอ ซึ่งมีผลบังคับเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา
การห้ามนำเข้านมผงนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดวิธีของทางกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าระหว่างประเทศได้แจ้งเตือนไปแล้วด้วย การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมนม ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามแผน จนต้องหยุดสายการผลิตในบางช่วง และนำไปสู่ปัญหาสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดนมพาณิชย์ รวมทั้งส่งผลให้อุตสาหกรรมนมหดตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งมีผลเสียเป็นวงกว้างต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่กับ สหภาพยุโรป ซึ่งกำลังติดตามท่าทีของไทยในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
- แฉปลัดเกษตรฯ เงียบหาย อ.ส.ค.ตัดสินใจไม่ได้
นายปรีดีกล่าวว่า หลังจาก กมธ.ได้ทราบปัญหาเหล่านี้ จึงได้เชิญปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด และประธานบอร์ดนมโรงเรียนมาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งขอเอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อจะนำไปแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม ปรากฏว่าในวันดังกล่าวปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มาร่วมประชุม แต่มอบหมายให้ตัวแทน อ.ส.ค.มาประชุมแทน แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจน และตัดสินใจอะไรแทนปลัดไม่ได้ ประกอบกับข้อมูลที่ กมธ.ได้ทำหนังสือขอไปล่วงหน้าหลายรายการ เกี่ยวกับข้อมูลการจัดสรรนมโรงเรียน การทำเอ็มโอยูซื้อนม ก็ไม่ได้นำมาให้ กมธ.พิจารณาแต่อย่างใด
"ผมเห็นว่าปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานมโรงเรียน รวมทั้งความเดือดร้อนของเกษตรกรโคนม และผู้ประกอบการนมในเรื่องนมล้น อีกทั้งไม่ให้การสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงขอเรียกร้องให้ทาง รมว.เกษตรและสหกรณ์พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงปลัดกระทรวงเกษตรฯ ที่บริหารงานบกพร่อง ทำให้เด็กนักเรียนไม่ได้ดื่มนมโรงเรียนทันในช่วงเปิดเทอม รวมทั้งการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะ กมธ.) ในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นมฉบับนี้"
ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้พิจารณาดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการบริหารนมทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานมล้นอันเนื่องมากจากนมโรงเรียน และเตรียมพร้อมการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการนมทั้งระบบให้พร้อมก่อนการลงนาม MOU การซื้อนมในเดือน ต.ค. 2568 ที่จะมาถึง การผลักดันให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 365 วัน ช่วยระบายสต๊อกนมโรงเรียน และช่วยเหลือเกษตรกรโคนมไปด้วย และพิจารณาให้หยุดการกระทำที่อาจเป็นการละเมิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศในทันที เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมากับประเทศไทยในอนาคต