xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ 3 จุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม “เอกอุทัย” ทุบปัญหาเชิงระบบที่ ก.อุตฯ กำลังเร่งแก้ที่ตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

โรงงานรีไซเคิล บริษัท เอกอุทัย ต.สามบัณฑิต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าของใบอนุญาตรีไซเคิลซึ่งเป็นต้นทางของกากอุตสาหกรรมปริมาณมหาศาลที่พบในภายหลังว่าถูกลักลอบทิ้ง ฝังกลบ ทั้งในที่ของโรงงานเอง และส่งต่อไปอีกอย่างน้อยรวม 6 จุด

บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด เช่าโกดัง 2 หลัง พร้อมขอจดทะเบียนเป็นโรงงาน ที่ ต.อุทัย อ.อุทัย เพื่อลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและฝังกลบไว้ใต้ดิน

โกดัง 5 หลัง ที่ถูกใช้เพื่อนำกากอุตสาหกรรมมาลักลอบทิ้ง ที่ อ.ภาชี ซึ่งต่อมาเกิดไฟไหม้รุนแรงทำให้เกิดการปนเปื้อนออกไปในวงกว้าง

ถ้าตีมูลค่าความเสียหายเป็นเงินที่ต้องนำมากำจัดกากของเสียและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม น่าจะมีมูลค่าหลักพันล้านบาท






นั่นเป็นพื้นที่ 3 จุด ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสื่อมวลชน ร่วมกันเข้าไปสำรวจอีกครั้งเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเชิงระบบอย่างแท้จริงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568

จากการลงพื้นที่ทั้ง 3 จุด ทำให้เห็นปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานในหลายประเด็น เช่น

- การออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย (อันตราย) โดยขสาดการตรวจสอบศักยภาพที่แท้จริงของโรงงาน
- การอนุญาตให้โรงงานกลุ่มรไซเคิล (ลำดับที่ 106) สามารถรับวัสดุมารีไซเคิลได้แบบครอบจักรวาล โดยไม่คำนึงถึงประเภทของเครื่องจักรที่มีอยู่จริงในโรงงาน
- การเข้าตรวจสอบโรงงานเมื่อมีข้อร้องเรียนจากประชาชน และแก้ปัญหาด้วยการสั่งให้ปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนทำให้ความเสียหายลุกลามเป็นวงกว้าง
- ระบบการจัดการขนส่งกากของเสียอันตรายที่ผู้ประกอบการสามารถเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายออกนอกเส้นทางได้อย่างง่ายดาย
- บทลงโทษตามกฎหมายที่เอื้อต่อผู้ประกอบการมากเกินไป

ทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องพูดถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่กำกับดูแลโรงงานโดยตรง






ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือหัวหน้าทีมตรวจการสุดซอย ระบุว่า จากการทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาของโรงงานกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสียมาตลอด 7-8 เดือน ทำให้เห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งในเชิงระบบการทำงาน โครงสร้าง ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร

“มันไม่ใช่ช่องว่างกฎหมาย มันคือตราบาปของหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นที่ไม่ติดตามกำกับดูแลจนทำให้เกิดความเสียหาย”

“และที่สำคัญคือการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ ตั้งแต่การออกใบอนุญาต ไปจนถึงการกำกับดูแล ตรวจสอบ ลงโทษ” ฐิติภัสร์ เกริ่นนำ

ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า เมื่อปัญหามันเกิดจากการกำกับดูแลจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นของกระทรวง ทีมตรวจการสุดซอยจึงจำเป็นต้องแก้ไข โดยการออกเป็นคู่มือแนวปฏิบัติในการทำงานให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ มีหลักในการทำงานที่จะลดการใช้ดุลพินิจลง

“เราทำแนวและคู่มือปฏิบัติไว้เลย เป็นแนวปฏิบัติของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศรวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งขณะนี้ร่างไว้เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจทานเตรียมจะออกเป็นประกาศเร็วๆ นี้”

“ที่ผ่านมา 7-8 เดือน เราใช้ทีมตรวจการสุดซอยลงไปทำงานคู่ขนานกับหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงมากกว่าที่จะมานั่งรอรับรายงานจากเอกสาร และทำให้สามารถจัดการกับโรงงานที่กระทำความผิดไปได้มาก ... แต่แน่นอนว่าทีมตรวจการสุดซอยคงไม่ได้อยู่ตลอดไป ดังนั้นระหว่างนี้ เราต้องใช้ผลที่ได้จากการลงพื้นที่ไปเห็นปัญหา มาออกเป็นแนวปฏิบัติ โดยแนวคิดหลักคือ แนวปฏิบัตินี้มีขึ้นเพื่อทำให้กลไกปกติมันกลับมาทำงานได้จริง ... เช่น เมื่อพบการกระทำผิด เจ้าหน้าที่ก็ต้องกล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ประกอบการด้วย แม้ว่าคดีจะไปขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังมากขึ้นหากจะทำผิดซ้ำ เพราะเมื่อเคยทำความผิดมาแล้ว ก็จะมีโทษก็จะหนักขึ้น”






“ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่ทำความผิดมีโทษจำคุกแม้จะแค่ 1 ปี ก็ต้องดำเนินคดี ... มีโทษปรับเกิน 5 พันบาท ก็ต้องดำเนินคดีด้วยการปรับขั้นสูงสุด ไม่ใช่ไปใช้ดุลพินิจเพื่อลดหย่อนโทษกันเอง ที่เราต้องวางแนวปฏิบัติเช่นนี้ เพราะถ้ามีคนใช้ดุลพินิจที่ไม่พึงประสงค์มากๆเข้า องค์กรก็จะเป็นองค์กรที่มีปีญหา และเหตุการณ์ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก” หัวหน้าทีมตรวจการสุดซอย อธิบายให้เห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในระยะยาว


“เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมีความผิดใรกรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” เป็นข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษเลยในกรณีความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ล่าสุด หัวหน้าทีมตรวจการสุดซอย ยืนยันว่า ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัดไปแล้ว 3 พื้นที่ และบางรายจะถูกลงโทษฐานทำผิดวินัยร้ายแรง

“นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ดุลพินิจ”

“ตั้งแต่มีทีมสุดซอยเกิดขึ้นมา เราตั้งกรรมการตรวจสอบอุตสาหกรรมจังหวัดไปแล้ว 3 จังหวัด ที่แรกคือ ชลบุรี ...เรื่องการออกหนังสือราชการที่ไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติ จนมีการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนจากซากรถยนต์ ผลสอบออกมาแล้วว่า ผิดวินัยร้ายแรง”

“ยังมีจังหวัดอื่นที่จะสอบทานย้อนหลังจากที่ทีมสุดซอยเข้าไปตรวจ คือโรงงานเหล็กที่ปราจีนบุรี พบว่า อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี อาจจะออกใบอนุญาตไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติ ... และล่าสุดเพิ่งตรวจสอบการออกใบอนุญาตให้โรงงานอีกแห่งที่มีลักษณะเป็นโรงงานศูนย์เหรียญของกลุ่มทุนจีน เพิ่งจะนำเสนอให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมตรวจสอบว่า ออกใบอนุญาตโดยชอบหรือไม่”






ทั้ง 3 พื้นที่ ที่หัวหน้าทีมตรวจการสุดซอยกล่าวถึง เป็นกรณีที่พบรูปแบบการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมเหตุสมผลของเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจะวางแนวมาตรฐานการออกใบอนุญาตขึ้นมาใหม่เลย

“เราได้ตั้งกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อวางแนวทางการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับอุตสาหกรรมจังหวัดนำไปใช้แทนการใช้ดุลพินิจ โดยแนวทางนี้จะมีมาตรฐานชัดเจนในการพิจารณาให้ใบอนุญาต เช่น สัดส่วนของพื้นที่ที่จะตั้งโรงงาน ศักยภาพของเครื่องจักร กำลังคน แรงงาน ต้องมีความสัมพันธ์กัน ต้องเปิดโรงงานแล้วสามารถทำงานได้จริงด้วย ไม่ใช่แบบที่เราตรวจเจอมาโกดังแห่งเดียวมีใบอนุญาต 3-4 ใบ”

จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่มรับกำจัดและบำบัดของเสียตั้งอยู่มากที่สุดในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก มีเพียง 3 อำเภอเท่านั้น จึงกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกที่กระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มเข้าไปจัดการระบบให้เกิดกาบูรณาการการใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่างๆต่อการจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม เพราะมีข้อสังเกตมาตลอดว่า หนึ่งในจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เป็นเพราะอำนาจทางกฎหมายที่จะจัดการกับโรงงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไปรวมอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว

“เรากำลังทำสมุทรสาครโมเดล เพื่อพิสูจน์ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถบูรณาการการจัดการกับโรงงานระหว่างหน่วยงานได้ โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานแล้ว ทั้งตำรวจ DSI องค์กรปกครองท้องถิ่น ... และกำลังเริ่มเซ็ตให้สมุทรสาครเป็นจังหวัดต้นแบบการบูรณาการกฎหมายร่วมกันในระดับท้องถิ่น เราตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดประธาน อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นฝ่ายเลขา และมีหน่วยงานอื่นๆมาร่วมเป็นกรรมการ เช่น สาธารณสุขจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติอละสิ่งแวดล้อมจังหวัด .... เพราะสมุทรสาครอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ปัญหาจากโรงงานก็เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วย ถ้าเราทำสำเร็จ ก็ไปทำที่อื่นต่อได้ไม่ยาก”






ส่วนกรณีที่มีโรงงานรีไซเคิลจากกลุ่มทุนจีนเข้ามาประกอบกิจการและทำให้เกิดการปนเปื้อนของเสียอันตรายกระจายไปในหลายพื้นที่ หัวหน้าทีมตรวจการสุดซอย ย้ำว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการเปิดทางของคนไทยเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพล หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ

“คนจีน มีทั้งที่เขาตั้งใจทำดี และมีทั้งที่ตั้งใจทำไม่ดี มันอยู่ที่ตัวกลางคือคนที่นำพาเขาเข้ามา อาจจะเป็นบริษัทที่ปรึกษา ล่าม ทนายความ หรือแม้แต่คนในหน่วยงานของรัฐ ว่าจะชักนำเขาไปทางไหน คนจีนไม่ดีก็เยอะ พอถูกจับเขาก็หนีกลับบ้านไป แต่คนที่อยู่เบื้องหลังบางทีก็เป็นอดีตข้าราชการ อยู่ในแวดวงผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายไปเอื้อให้เขา เป็นผู้มีอิทธิพล ... เท่ที่ได้สัมผัสกับทุนจีนกลุ่มนี้มา เขาก็คิดว่า เขาใช้เงินแล้วก็จบ จ่ายไปแล้วก็จบ ... แต่เราต้องไม่ยอมให้จบ”

“ถ้าเราคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่จะต้องเสียไปจากปัญหานี้ เราจะพบว่ามันมีราคามหาศาล ดังนั้นการจะแก้ปัญหาระยะยาวเราก็จะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ สร้างบรรยากาศใหม่ๆที่จะดึงนักลงทุนดีๆ เข้ามาแทน”

“เรายังเชื่อว่า มีข้าราชการดีๆ มีคนที่อยากทำงานให้ดีอยู่อีกเยอะ แต่ที่ผ่านมาเขาไม่กล้าแสดงตัว ถ้าเราทำให้เห็นว่าเขาสามารถทำให้ถูกต้องได้โดยไม่มีผลกระทบกับเขา พวกเขาก็จะกล้ามากขึ้น” ฐิติภัสร์ ทิ้งท้ายถึงเป้าหมายที่จะต้องแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากในองค์กรที่ฝังรากลึกมานาน






















กำลังโหลดความคิดเห็น