xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมฯ คาดปีนี้ฝนตกมากเป็นปัจจัยให้เกิดน้ำท่วม เตือน ต.ค.มีโอกาสเจอพายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์สนธิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม เตือนประเทศไทยปีนี้ฝนตกมาก มีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ โดยในพื้นที่เขต กทม.และปริมณฑล และภูมิภาคทางภาคเหนือ ภาคกลาง และชายฝั่งทะเลอันดามันจะได้รับผลกระทบหนักถึงหนักมาก เผยเดือนตุลาคมมีโอกาสเจอพายุมากที่สุด

วันนี้ (26 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "Sonthi Kotchawat" หรือ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม โพสต์ถึงสถานการณ์ฝน โดยระบุว่า ปีนี้ฝนตกมาก มีปัจจัยทำให้เกิดน้ำท่วมได้
1. ประเทศไทยเผชิญกับฝนตกหนักเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ โดยในพื้นที่ในเขต กทม.และปริมณฑล และภูมิภาคทางภาคเหนือ ภาคกลาง และชายฝั่งทะเลอันดามันจะได้รับผลกระทบหนักถึงหนักมาก

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกคำเตือนเร่งด่วนเกี่ยวกับน้ำท่วมฉับพลันและอันตรายจากน้ำ มีผลตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเพียงพื้นที่เดียวที่รอดพ้นจากสภาพอากาศเลวร้าย

2. สาเหตุที่ฝนตกมากในช่วงนี้ซึ่งถือว่าเข้าสู่ฤดูฝน คือ
2.1 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะทำให้เกิดฝนตกเนื่องจากเป็นลมที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีอุณหภูมิสูงและมีค่าความชื้นสูง เมื่อลมพัดเข้าสู่ประเทศ ไทยจะนำความชื้นจากทะเลเข้ามาสู่พื้นที่ทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำและเกิดฝนตกได้
2.2 ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำเป็นแนวความกดอากาศต่ำมีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออกและตะวันตกและมีกระแสอากาศไหลขึ้นและลงสลับกันตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ บริเวณร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตรนี้ถ้าเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่บริเวณใดจะทำให้เกิดฝนตกอย่างหนาแน่นในบริเวณนั้น โดยปกติร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศไทยช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นจะเคลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักในช่วงนี้ และหากในช่วงนี้มีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาบริเวณทะเลจีนใต้ ร่องมรสุมนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นทางเดินให้พายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตามแนวร่องมรสุมด้วย ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนตุลาคมประเทศไทยจะมีฝนชุกนั่นเอง

3. เดือนที่ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากพายุมากที่สุดคือเดือนตุลาคม พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประ เทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่มีโอกาสมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีโอกาสมากที่สุด

- เดือนพฤษภาคม : มีโอกาสเกิดพายุจากอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันได้
- เดือนมิถุนายน-กันยายน : มีโอกาสเกิดพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้
- เดือนตุลาคม : เป็นเดือนที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านประเทศไทยมากที่สุด ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

4. ปีนี้ฝนตกมาก น้ำมาก อาจมีพายุเคลื่อนเข้ามามากขึ้น เพราะช่วงนี้ประเทศในแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศอินเดีย ปากีสถาน มีสภาวะอากาศร้อนสุดขีด ถึง 50 องศาเซลเซียส ที่อ่าวเบงกอลอาจจะเกิดพายุขึ้นได้”




กำลังโหลดความคิดเห็น