xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปงเครือข่าย “พรรคสีน้ำเงิน” บงการฮั้วเลือกตั้ง สว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหน้าผู้บงการฮั้วเลือกตั้ง สว. “ภูมิใจไทย” วางโครงข่ายรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ จนกวาด สว.ในสังกัดได้ถึง 130 กว่าคน หลังจากนั้นก็เรียกประชุมที่ รร.พูลแมน ล็อกชื่อคนเป็นประธาน-รองประธาน สร้างอำนาจต่อรองกับพรรคแกนนำรัฐบาล คัดกรองคนเป็นองค์กรอิสระไว้ปกป้องตัวเอง แต่สุดท้ายอาจพากันซวย เตรียมโดนคดีอาญาทั้งเรื่องฟอกเงิน-อั้งยี่ ผิดกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. นำไปสู่กายุบพรรคและตัดสิทธิการเมือง



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2568 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการไต่สวนและสอบสวนการทุจริตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ “คดีฮั้วเลือก สว.” ของอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งวันยิ่งเข้าใกล้ “พรรคภูมิใจไทย” มากขึ้นเรื่อยๆ

โดย อนุกรรมการ กกต.ออกหมายเรียก สว.55 คน บวกอีก 10 คนในล็อตสอง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา “คดีฮั้ว สว.” ที่ให้มาชี้แจงด้วยตัวเองหรือทำหนังสือชี้แจงแบบลายลักษณ์อักษรในช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 19-21 พฤษภาคมนี้ ซึ่ง สว.ที่อยู่ในโผ 55 คน เห็นชัดว่า นอกจากเป็นระดับแกนนำ “สว.สีน้ำเงิน” หลายคน ก็ชัดเจนว่าใกล้ชิด-แนบแน่นกับ บ้านบุรีรัมย์ บ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ “เนวินและศักดิ์สยาม”


สว.ที่จัดว่าเป็นบริวารเนวินกับศักดิ์สยามมายางนาน คือ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ที่ตลอดชีวิตรับราชการเป็น “ลูกหม้อ” ของกระทรวงมหาดไทยอย่างแท้จริง จากตำแหน่งปลัดอำเภอ เลื่อนขึ้นมาเป็นนายอำเภอในหลายพื้นที่ ก่อนที่จะได้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ตามด้วยเลื่อนขึ้นเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 2551

จากนั้นใน ปี 2552 โยกเข้าส่วนกลางมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ปี 2553 เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ


คนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า ระหว่างที่นายมงคล เติบโตในชีวิตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จากตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ จนมาเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และเริ่มเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจของมหาดไทยด้วยการเข้ามาเป็น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน-อธิบดีกรมการปกครอง นั้นอยู่ในยุค “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.มหาดไทย (ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2551 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554) โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายนายเนวิน นั่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย

เพราะตอนนั้นศักดิ์สยาม ติดโทษแบนการเมืองห้าปีคดียุบพรรคไทยรักไทย ทำให้ไม่สามารถมีตำแหน่งการเมืองได้ ต้องนั่งเป็นกุนซือใหญ่ให้ นายชวรัตน์ บิดานายอนุทิน

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
แต่คนทั้งมหาดไทย ต่างรู้กันทั้งกระทรวง บทบาท “ศักดิ์สยาม” ไม่ต่างอะไรกับ “รัฐมนตรีโท” เพราะแฟ้มทุกแฟ้ม ที่เป็นแฟ้มสำคัญๆ ก่อนส่งให้ นายชวรัตน์ อ่านและเซ็น ต้องให้ศักดิ์สยาม ตรวจสอบก่อน หรือโผแต่งตั้งโยกย้ายมหาดไทย ตั้งแต่ระดับนายอำเภอ-ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ถึงปลัดกระทรวง ก็ต้องให้ นายศักดิ์สยาม ทำโผและเห็นชอบก่อนทุกรอบ

ช่วงนั้น “มงคล” กับ “ศักดิ์สยาม” ก็ทำงานเข้าขากันอย่างมาก จน “ศักดิ์สยาม” ดันให้ มงคล ขึ้นเป็นปลัดมหาดไทย แต่พอดีจังหวะไม่ให้ เพราะตอนนั้นกรมการปกครอง โดนร้องเรียนเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ


และมีชาวสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านการแต่งตั้ง จากกรณีทุจริตการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ ทำให้ “มงคล” ถูก “นายเนวิน” สั่งให้ถอนตัว จากเก้าอี้ปลัดมหาดไทย ทั้งที่ ครม. เห็นชอบไปแล้ว นายมงคลจึงแถลงถอนตัวเมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2553 และเกษียณอายุในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

ภายหลังเกษียณอายุ “มงคล” ได้กลับไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร โดยก่อตั้ง “ไร่เพื่อนคุณ” ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ. 2558 และเป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้ใกล้ชิดนายเนวินแบบเต็มตัว โดยเป็นที่ปรึกษานางกรุณา ชิดชอบ เมียเนวิน ตอนเป็นนายกอบจ. บุรีรัมย์


ตอนยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงยุครัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายมงคล ที่มีห้องทำงานอยู่ที่ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย อดีตส.ส.บุรีรัมย์หลายสมัย ลูกพี่ลูกน้องกับเนวิน รหัส มท.2 โดย นายมงคล นั่งเป็นกุนซือให้ นายทรงศักดิ์ร่วม 5 ปี จนเมื่อมีการเปิดรับสมัคร สว. ในปีที่แล้ว มงคลจึงไปวางแผนสมัครที่บุรีรัมย์ และเข้ารอบได้เป็น สว.จากบุรีรัมย์แบบสบายๆ แล้วก็ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาโดยได้เสียงโหวตแบบชนะขาดลอย ตามที่ “เนวิน” จัดให้

บุรีรัมย์ กวาด สว. 14 คน มากกว่า กรุงเทพที่ได้แค่ 9 คน

ประเด็นที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ จังหวัด บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มี สว.จำนวนมากอย่างผิดปกติ โดยสว.ที่มาจากบุรีรัมย์ มีมากถึง 14 คนจนบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่มี สว.มากที่สุด ขนาดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากรเยอะกว่า ยังมีสว.จากกรุงเทพฯ เข้าไปแค่ 9 คน


ซึ่งทั้ง 14 คน ชัดเจนว่า เป็นสายตรง-อดีตลูกน้องของ เนวิน ที่หลายคนก็ติดโผ 55 สว. ที่ถูก อนุกรรมการ กกต. เรียกไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อม ๆ กับ นายมงคล ประธานวุฒิสภา

14 คนก็จัดว่าเป็นคนรู้จัก มักคุ้นกับนายเนวินทั้งสิ้นคือ

1.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จว.บุรีรัมย์ ที่ เนวิน ดันให้นั่งเก้าอี้ใหญ่ในวุฒิสภาคือ “ประธานกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต วุฒิสภา”


ส่วนบทบาทอย่างไม่เป็นทางการก็คือ “มือกฎหมาย-ทนายความ” ประจำกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน”เพราะอดีต ผบก.ภว.บุรีรัมย์ คนนี้คือคนที่เขียนเอกสารคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีร้องถอดถอน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กรณีใช้บอร์ดคดีพิเศษมีมติให้ดีเอสไอ เข้ามาสอบสวนการเลือก สว. และศาลรัฐธรรมนูญ ก็รับคำร้องไว้วินิจฉัย แบบหลายคนคาดไม่ถึง

และเป็นอดีต ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ คนนี้อีกเช่นกันที่เป็นคนเขียนคำร้องเพิ่มเติมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นรมว.ยุติธรรมไว้ก่อน จนศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งให้ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฏิบัติหน้าที่คุมดีเอสไอและการเป็นรองประธานบอร์ดคดีพิเศษ ชนิดตะลึงกัน ทั้งประเทศ

รวมถึง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ยังเป็นแกนนำสว. ในการล่ารายชื่อ สว. 92 คนและเขียนคำร้องส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิด พ.ต.อ.ทวี และพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดดีเอสไอ ทำผิดมาตรา 157


2.นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สมัยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สาธารณสุข)โดยคนนี้ก็คือ พี่ชายของ “เฮียเม้ง” ประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตส.ส.บุรีรัมย์ หลายสมัย นักการเมืองกลุ่มเนวินที่เสียชีวิตไปแล้ว โดย “เสี่ยเม้ง” ก็คืออีกหนึ่งน้องรักเนวิน ทำให้ เนวิน จึงดูแลหมอประพนธ์อย่างดี ดันให้เป็น สว.และยังให้เป็น ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาในปัจจุบัน

3.“นายดำ” ปราณีต เกรัมย์ อดีตคนขับรถ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา บิดาของนายเนวิน ที่เนวิน ก็ตอบแทนให้หลังพี่ดำ ที่เป็นสารถีคู่ใจ ลุยไหนลุยกันกับปู่ชัย มาตลอดหลายสิบปี เนวิน ต้องตอบแทนให้ ด้วยการดันให้เป็นสว.จนพาสชั้นจากคนขับรถตระกูลชิดชอบมาเป็น สว.ผู้ทรงเกียรติ


และยังมี สว.ที่มาจากบุรีรัมย์ ที่ติดโผโดนเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาอีกหลายคนเช่นนายฤชุ แก้วลาย ,นางปวีณา สาระรัมย์ ,นายจตุพร เรียงเงินที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนของ เนวินทั้งหมด

แค่ บุรีรัมย์ จังหวัดเดียว ไม่ต้องไปดูจังหวัดอื่น ก็จะเห็นแล้วว่ามี สว.ที่มาจากบุรีรัมย์สายเนวินติดโผจ่อโดนกกต.-ดีเอสไอสอย สิบกว่าคนเข้าไปแล้ว

ส่วน สว.อีก 40 กว่าคนจาก 55 คน ที่โดนอนุ กกต.เรียกไปสอบ หากไล่สแกนรายบุคคลและที่มาที่ไป จะพบว่ามาจากเครือข่ายการเมืองขั้วสีน้ำเงิน พรรคสีน้ำเงิน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กับภรรยา
เช่น สายภาคใต้ ไล่ตั้งแต่ ระนอง ลงไปถึง ใต้สุด ยะลา ที่มีคนเข้าไปเป็น สว.หลายสิบคน ก็เป็นที่รู้กันดีว่า พื้นที่ภาคใต้ อยู่ในรับผิดชอบของ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยคนหนึ่ง คือ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กับภรรยา ที่เป็นเจ๊ใหญ่ผู้กว้างขวาง ที่เป็นคนพัทลุง คอยวางแผนการเลือก สว.ภาคใต้จนเข้าไปได้หลายสิบคน รวมทั้ง “หมอเกศ” พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย คนดังที่เจอ กกต.แจ้งข้อหาทุจริตเลือก สว. โดยการแจ้งข้อมูลเท็จไปแล้ว ก็ได้ “เจ๊ใหญ่” เมียรัฐมนตรีพิพัฒน์ช่วยเข้ามา


ผลงานของ รัฐมนตรีพิพัฒน์เข้าเป้า ขนาด จังหวัดยะลา จังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรแค่ 4-5 แสนคน ก็ยังเอาคนของสีน้ำเงิน เข้าไปเป็น สว.ได้ถึงสามคน ไม่ธรรมดาจริงๆ

หรือ ภาคกลาง ก็มีข่าวว่า เครือข่ายขั้วน้ำเงิน แบ่งโซนจังหวัดให้คนในพรรคดูแล เช่นภาคกลาง ก็ให้ บ้านใหญ่ของพรรคในสามจังหวัดคือ อุทัยธานี-ชัยนาท-ราชบุรี ซึ่งเอ่ยชื่อหรือนามสกุลมา ทุกคนรู้จักกันทั้งประเทศ เพราะเป็นบ้านใหญ่ตระกูลการเมือง ที่อยู่ในขั้วสีน้ำเงิน แบ่งโซนคุมพื้นที่ภาคกลางไปเลย จนได้ สว.เข้าไปเป็นกอบเป็นกำ ตามเป้าที่วางไว้

จนทำให้ เครือข่ายสีน้ำเงิน กวาด ส.ว.เข้าสภาฯ ไปได้ร่วม ๆ 130-140 คน ที่เป็น สว.น้ำเงินแท้จริง ๆ เกาะกลุ่มกันมาตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด จนถึงรอบสุดท้ายที่เมืองทองธานี

ซึ่งตัวเลขที่ได้ สว. ร่วม 130 กว่าคนที่เป็น“สว.สีน้ำเงินแท้”ทำเอา ห้องประชุมลับที่เซฟเฮ้าส์ซอยรางน้ำ เห็นตัวเลขแล้ว ยังตกใจไม่น้อย เพราะเกินกว่าเป้าที่วางเอาไว้แต่แรก

เพราะเดิมทีวางแผนฮั้วบล็อกโหวต สว ไว้แค่ 90 เสียง สูงสุด และวางแผนว่าจะไปต้อน สว. หลังจาก สว. เข้าทำงานแล้ว จะดึงเข้ามากลุ่ม สว. สีน้ำเงิน ให้ได้อีก 20-30 เสียง ก็จะได้ประมาณ 120-130 เสียง ก็เกินกึ่งหนึ่งของ สว. 200 เสียง ทำให้ควบคุมเสียงข้างมากในการโหวตกฎหมาย การโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ และบุคคลสำคัญในองค์กรอื่นๆ เช่น อัยการสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ กรรมการ ป.ป.ช. หรือแม้กระทั่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ชี้เป้า “เนวิน-กรุณา-อนุทิน” ตัวบงการ?

นายณฐพร โตประยูร
ตามคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ซึ่งมีข้อกฎหมายอย่างเดียวกันกับที่เคยร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล การร้องครั้งนี้ไม่มีปัญหาทางกฎหมายที่จะยกคำร้องและมีข้อเท็จจริงมากมายสอดคล้องกับการตรวจสอบและสอบสวนของดีเอสไอ และ กกต. คณะที่ 26 ที่ล่าสุดพวกกลุ่ม สว. เรียกร้องให้ยุบคณะนี้ และไม่ให้ตรวจสอบต่อไป

ตามคำบรรยายฟ้องของนายณฐพร โตประยูร ระบุว่า ผู้มีอำนาจค่ายน้ำเงิน คือนายเนวิน ชิดชอบ นางกรุณา ชิดชอบ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีส่วนความเกี่ยวข้องเป็นผู้นำและวางแผนทั้งหมด มีการประชุมย่อยภายในพรรคเกี่ยวกับการควบคุมสมาชิกวุฒิสภา และการจ่ายเงิน ใช้ถ้อยคำอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ข้างบนสั่ง อ้างทำสมาชิกวุฒิสภาเบื้องสูง ไม่ต้องกลัว


นายเนวิน ชิดชอบ นางกรุณา ชิดชอบ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในวุฒิสภา เช่น ประธาน รองประธานกรรมาธิการ การแต่งตั้งผู้ช่วยสมาชิกวุฒิสภา ที่มีนายวุฒิชาต กัลยาณมิตร เป็นผู้ดำเนินการ โดยควบคุมจากนายใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน

พฤติกรรมจากการสอบสวน คือ มีการนัดประชุมแผนเลือกตั้ง ประชุมลับกันที่ “รีสอร์ตสุขสำราญ” มีผู้ร่วมประชุมประมาณ 50-70 คน เพื่อวางแผนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

ในการประชุมมีการแจกเงินให้แก่ผู้สมัคร เช่น ค่าสมัคร ค่าถ่ายรูป ค่าเดินทาง และ ค่าป่วยการ หลังไม่ได้รับเลือก นอกจากนี้ยังมีการแนะนำวิธีจัดโพยเลือก “สมาชิกวุฒิสภา” ให้ผู้สมัครเอาเข้าไปในห้อง เอาไปกา เนื้อหาแต่ละคนก็แตกต่างกัน มีการสั่งการเลือกไขว้กันภายในกลุ่มผู้สมัคร เช่น เลือกตนเองและเลือกผู้สมัครที่กำหนดไว้แล้ว มีพฤติกรรมฝากคะแนน และห้ามเลือกบางคนอย่างเจาะจง

สำหรับเงิน ก็นำมาให้ผู้สมัครฟอกเป็นงวดๆ (งวดละ 1,000 - 3,500 บาท หรือมากกว่านั้น) จากบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ เพื่อสนับสนุนการเดินทางไปเลือกตั้งระดับประเทศ เช่น จัดรถตู้ พักโรงแรม และแจกเงิน 2 หมื่นบาทต่อคนในรถ


ข้อมูลจากพยาน บุคคลที่เข้ามามีส่วนสำคัญในคดี กล่าวว่า
- มี 3 รัฐมนตรี และอีก 1 ผู้นำ เอี่ยวกันจ่ายเงินฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา
- โดยพยานจะเบิกเงินจากพรรคการเมืองปัจจุบันยังค้างอยู่คนละ 8 หมื่นบาท
- พยานในบางจังหวัด โอนเงินผ่านบัญชีคนละ 5 หมื่นบาท
- เจ้าหน้าที่ กกต ชื่อย่อ ส. มีส่วนร่วมกับขบวนการฮั้วสมาชิกวุฒิสภาและแนะนำให้ฉีกบัตร และนำเข้าคูหา หรือจดใส่มือ

หลังการเลือกตั้งเสร็จ จะมีการนำโพยฮั้ว สมาชิกวุฒิสภา จากทุกคนมาเผาทำลาย และผลการเลือกตั้งที่ออกมา ได้รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา 138 คน สำรอง 2 คน มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 120 คน


ที่ผ่านมา หลังเริ่มมีการไต่สวน-สอบสวนการเลือก สว.ทั้งจาก กกต. และดีเอสไอ จะพบว่า แกนนำพรรคสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย พยายามปฏิเสธ บอกว่า ตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับ“สว.สีน้ำเงิน” พรรคไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เพื่อพยายามปัดเรื่องนี้ออกจากตัวเอง

แต่ไล่ดูเบื้องหลัง-ที่มาที่ไปของสว.สีน้ำเงินแต่ละคน แต่ละจังหวัด มันก็เห็นชัดว่า เป็นคนของพรรคภูมิใจไทย

ยกตัวอย่าง สว. ที่มาจากภาคใต้ หลายคนก็เป็น อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต สังกัดพรรคภูมิใจไทย ตอนปี 2566 แต่สอบตก เลยมาลงสว.สังกัดสีน้ำเงินใน ปี 2567 แล้วก็เข้ารอบ ไม่นับรวม กับ “สว.สีน้ำเงิน” แต่ละคน ก็จะพบว่า มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ระหว่าง “สว.สีน้ำเงิน” กับพรรคภูมิใจไทย

แม้คนในพรรคภูมิใจไทย จะพยายามปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ก็ได้แต่เอาสีข้างเข้าถู เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คือ“สว.สีน้ำเงิน”นั้นเป็นคนของ บ้านใหญ่บุรีรัมย์ เนวินและพรรค ภูมิใจไทย

มาถึงตอนนี้ที่ “อนุ กกต.-ดีเอสไอ” เริ่มยกระดับการไต่สวน-สอบสวนน จาก“สว.สีน้ำเงิน” ปล่อยหมัดตรง ไปถึงแกนนำพรรคสีน้ำเงินแล้ว คือออกหมายเรียก คนที่เกี่ยวข้องกับการฮั้ว สว. มาให้ปากคำเพิ่มเติมอีกหนึ่งล็อต รวมสิบคน


มันชัดว่า กำลังไปถึง ภูมิใจไทย เพราะรอบนี้มี รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยเลย คือนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย นักธุรกิจใหญ่ราชบุรี อดีต สว.ราชบุรีตอนปี 2543 เจ้าของตลาดศรีเมือง ตลาดกลางค้าส่งผัก-ผลไม้รายใหญ่ภาคกลาง และเจ้าของธุรกิจอีกหลายอย่าง

โดยเป็นที่รู้กันว่า รมช.พาณิชย์คนนี้ คืออีกหนึ่งกระเป๋าใหญ่ของภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 นอกจากดูแลพื้นที่ภาคกลางบางจังหวัดให้ภูมิใจไทยแล้ว นายนภินทรยังลงไปช่วยดูแลการเลือกตั้งภาคใต้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ กับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน

ทำให้ นายนภินทร เลยรู้จักมักคุ้น ผู้สมัคร สว.ภาคใต้ ที่ตอนนี้เป็น สว.ที่มาจากภาคใต้หลายคน และหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น หลัง ภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขตภาคใต้หลายคน ทำให้ นอกจาก นายพิพัฒน์ ได้เป็น รมว.แรงงานแล้ว นายเนวิน ก็จัดสรรเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ กับ นายนภินทร ด้วยเพื่อเป็นรางวัลทางการเมือง


เท่านั้นไม่พอ ยังมีชื่อ “ครูแก้ว” หรือ “สหายแสง” นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต ส.ส.นครพนม ภูมิใจไทย หลายสมัย อดีตรองประธานสภาฯ สมัยที่ผ่านมา หนึ่งในนักการเมืองอีกสาน ที่เป็นคนสนิท นายเนวิน ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ไทยรักไทย-พลังประชาชน จนมาเป็นภูมิใจไทย


และยังมี น.ส.วาริน ชิณวงศ์ หรือ นายกน้ำนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ที่ก่อนหน้าเป็นนายกฯ อบจ. ก็คือหนึ่งในทีมงานหน้าห้อง พิพัฒน์ รมว.แรงงาน


ยังไม่หมดแค่นี้ ยังมี นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ นายกสมาคมประมง จ.สตูล นักธุรกิจใหญ่อุตสาหกรรมประมงภาคใต้ พ่อของ นายวรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล 2 สมัย และยังเป็นกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดปัจจุบันด้วย


หรือนายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ อดีต สส.สุโขทัย ซึ่งตอนเลือกตั้งปี 2566 ลงสมัคร ส.ส.สุโขทัย ภูมิใจไทยแต่สอบตก แพ้ให้กับ ประภาพร ทองปากน้ำ จากพรรคเพื่อไทย เด็กปั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ ภูมิใจไทย ก็ไม่ทอดทิ้ง ส่งนายสมเจตน์ไปเป็น ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ของนายอนุทิน


เช่นเดียวกับนายวงศกร ชนะกิจ อดีตผู้สมัคร สส.ภูเก็ต เขต 2 พรรคภูมิใจไทย แต่สอบตกแบบไม่มีลุ้น แต่ภูมิใจไทย ก็ส่งไปทำงานในสภาฯ ให้ไปเป็น เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎรที่มี นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ หลายสมัย พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ.ฯ

ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า เชื่อมโยงถึง พรรคสีน้ำเงิน เต็มๆ ฉ่ำๆ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บางคนโดนหางเลขเข้าไปรอบนี้ เพราะมีการแกะรอยเส้นทางการเงิน โยงมาถึงทั้งทางตรงและทางอ้อม !

เรียกได้ว่า ตอนนี้เรื่องการสอบสวน-ไต่สวน “คดีฮั้ว สว.” จากที่เคยอ้อม ๆ พรรคภูมิใจไทย ตอนนี้ไม่อ้อมแล้ว พุ่งเข้าชน คนในพรรคภูมิใจไทย ระดับแกนนำพรรค รัฐมนตรี- อดีต สส.หลายสมัย มีเอี่ยวกับ“คดีฮั้ว สว.”แบบเต็ม ๆ

เปิดลับดีล “กระทรวงพูลแมน” วางตัว ประธาน-รองประธาน สว.

การเดินเกมยึดอำนาจสภาสูงของกลุ่มนายเนวิน ปรากฏภาพชัดจากการเสนอชื่อคนเป็นประธานวุฒิสภา ในการประชุมครั้งแรกของ สว.สีน้ำเงิน หรือวุฒิสภาชุดที่ 13 เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดย นายมงคล สุระสัจจะ ได้รับการเสนอชื่อจาก พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ ให้เป็นประธานวุฒิสภา และผลการลงมติปรากฎว่ามงคลชนะด้วยคะแนนเสียง 159 เสียงจาก 200 เสียง แบบขาดลอย ผงาดขึ้นเป็นประธานสภาสูง โดยการหนุนของพรรคภูมิใจไทย

การเดินเกมครั้งนั้น “เนวิน” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ลงทุนเปิดเซฟเฮาส์ โรงแรมพูลแมน รางน้ำ และภาพการเมืองที่ปรากฎในครั้งนั้นคือ สว.สีน้ำเงิน จากทั่วประเทศได้เดินทางมาร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ในช่วงเที่ยง

จากนั้นทั้งหมดได้ร่วมหารือกัน โดยมี สว.ประมาณ 150 คน เข้าประชุมพร้อมกับแกนนำกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน และมีการเก็บโทรศัพท์มือถือของ สว.ทุกคนไว้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ยอมให้นำเข้าที่ประชุมเด็ดขาด รวมถึงห้ามนำเครื่องบันทึกเสียงต่าง ๆ เข้าในวงประชุมด้วย


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงเรื่องตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา โดยได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วคือ ให้
- นายมงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงเนวิน เจ้าของพรรคภูมิใจไทยตัวจริงเป็นประธานวุฒิสภา
- พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ บิ๊กเกรียง อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.กับ บิ๊กหนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
- ส่วน นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2

และปิดการหารือในเวลา 16.00 น. พร้อมสั่งกำชับให้ สว.ทุกคนเข้าร่วมประชุมโหวต วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดยพร้อมเพรียง

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์
นายณัฐพร โตประยูร ที่ได้ยื่นคำร้องเรียนให้อัยการสูงสุดตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่ง สว.ทั้งสภาสูงหยุดปฏิบัติหน้าที่บางส่วน คือระงับการรับรองชื่อคนที่จะเข้าไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้งรับรองชื่ออัยการสูงสุด

นายณฐพร ยังไปยื่น กกต. ยุบพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันพุธที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เช่นกัน เท่ากับตอนนี้ มีคนไปร้องยุบภูมิใจไทยแล้วสองราย อึกรายคือ นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต สส.ไทยรักไทย จังหวัดมหาสารคาม ที่เป็น สว.สอบตก นับว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการโกงเลือก สว. รอบนี้ ทั้งสองคนมีหลักฐาน พยานชัดเจน และยังสอดคล้องกับผลการสอบสวนของ กกต.และ ดีเอสไอ

 นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท
จะเห็นว่า“สว.สีน้ำเงิน” เข้ามายึดอำนาจวุฒิสภา มีปัญหาถูกกล่าวหาตลอดเส้นทาง ผมเห็นว่าไม่ควรให้ทำหน้าที่ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์จากศาลแล้ว แต่“สว.สีน้ำเงิน”กลับจะฉกฉวยโอกาส ยามน้ำขุ่นนี้ ทำเรื่องสำคัญ คือจะประชุมลับเพื่อโหวต ว่าจะ“เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” รายชื่อ 3 ว่าที่ ป.ป.ช.ที่ผ่านการเลือกมาจากกรรมการสรรหา คือ

หนึ่ง นายประกอบ ลีละเปสนันท์ รองประธานศาลฎีกา ที่ถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.คนใหม่ แทน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตประธานป.ป.ช.

สอง นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการภาค 2 ที่จะมาแทนวิทยา อาคมพิทักษ์
และ

สาม นายประจวบ ตันตินนท์ ผู้สอบบัญชีอิสระ แทนนางสุวณา สุวรรณจูฑะ ที่อยู่ครบวาระอายุ 70 ปี

นายประจวบ ตันตินนท์
รวมทั้งจะฉวยโอกาส ตั้ง กรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. หนึ่งคน - ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคน

เรื่องนี้ สว.อิสระ ที่นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส จะรวบรวมชื่อ สว.1 ใน 10 หรือ 20 คนขึ้นไปของสมาชิกวุฒิสภา ยื่นประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย เป็นการเดินรอยเดียวกับที่นายมงคล กับพวก สว.สีน้ำเงิน ใช้เขี่ยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง พ้นทางจับผิดพวกตน

แต่อุปมาอุปมัยเหมือน น้ำไกล ดับไฟใกล้ การดำเนินการของ สว.นันทนา กับพวกคงยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ทัน วันที่ 30 พฤษภาคมนี้แน่ เพราะประธานมงคลคงจะดองเรื่องไว้ก่อน ใครจะยื่นดาบมาเชือดตัวเอง

แต่ตามที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า “ผังเครือข่ายพรรคภูมิใจไทย” ที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. ที่ผ่านมา ที่ตอนนี้ กำลังอาจพากันซวย จะโดนดำเนินคดีอาญา ทั้งเรื่องฟอกเงิน-อั้งยี่ ทำผิดกฎหมายเลือก สว. รวมถึงอาจนำไปสู่การถูกยื่นยุบพรรค และตัดสิทธิ์การเมืองสิบปี หาก กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่าไปตามเนื้อผ้า !

หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียดอย่างที่ผมได้เล่าไปตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยแตก “รุ่นพ่อ ถึง รุ่นลูก” คือ นายชัย ชิดชอบ กับ นายเนวิน ชิดชอบ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล

จะเห็นสายสัมพันธ์ และพัฒนาการของกลุ่มการเมืองขั้วสีน้ำเงิน ที่เชื่อมโยงกับบรรดากลุ่มทหาร ตำรวจ และข้าราชการประจำ อย่างลึกซึ้ง


เล่าเรื่องขบวนการการเมืองฝั่งสีน้ำเงินนี้ จริง ๆ สื่อในเครือผู้จัดการเคยชำแหละมาแล้วรอบนึง โดยเขียนเป็นหนังสือชื่อ “อำนาจใหม่ อำมาตย์ อำมหิต : รวมพลคนคิดการใหญ่” ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2553 หรือ 15 ปีที่แล้ว

ซึ่งตอนนั้นเป็นสถานการณ์หลังจากที่พรรคไทยรักไทยแตก พรรคพลังประชาชน นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ถูกยุบ กลุ่มของนายเนวินก็เลยต้องกระโดดมาจับกับพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งรัฐบาล แต่ติดที่บรรดาลูกๆ ติดโทษแบนทางการเมือง บรรดาพ่อ ๆ อย่าง นายชัย กับ นายชวรัตน์ ก็เลยต้องกระโดดมาเล่นเอง ส่วนลูก ๆ อย่างนายเนวิน กับ ศักดิ์สยามก็ไปอยู่เบื้องหลัง “ว่าราชการหลังม่าน” แทน


แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป สถานการณ์ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยการที่ขั้วสีน้ำเงิน โดยพรรคภูมิใจไทยจะไปจับมือกับกับสีเขียว คือ ทหารนั้นไม่สามารถยึดครองอำนาจนำในบ้านเมืองต่อไปได้ หลังการเลือกตั้งปี 2566 จึงต้องหันกลับมาจับมือกับ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง แต่คราวนี้เห็นช่องทางในการสร้างอำนาจต่อรองในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการยึดครองสภาสูง หรือ วุฒิสภา ผ่านระบบการคัดเลือกกันเอง

นายเนวิน กับ พรรคภูมิใจไทย ที่วางเครือข่ายทางการเมือง และระบบราชการเอาไว้ โดยเฉพาะกับ กกต. เมื่อรู้เส้นสนกลใน และกระบวนการในการเลือก สว. อย่างละเอียด โดยเฉพาะการที่ได้ อดีตรองเลขาธิการ กกต. อย่างนายธนิศร์ ศรีประเทศ อดีตรองเลขาธิการ กกต.ไปนั่งเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย


ผนวกกับการที่นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต.คนปัจจุบัน ก็เป็นศิษย์ก้นกุฎิของนายชัย ชิดชอบ บิดานายเนวิน ทำให้ทางพรรคภูมิใจไทยทะลุปรุโปร่งหมด เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก สว. ที่สามารถเข้าไปแทรกแซง และแทรกซึมได้ จนในที่สุดได้ สว.สีน้ำเงินมามากถึง 130 กว่าเสียง


แต่ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองอื่นไม่ทำนะพรรคเพื่อไทยก็พยายามสร้างกลุ่ม สว.สีแดง โดยถึงกับมีการส่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณไปลง สว. แต่ไม่ผ่าน, หรือพรรคก้าวไกล-ประชาชน ก็ส่งตัวแทน สว.สีส้มของตัวเองลงสนามเหมือนกัน แต่ไม่มีใครรู้เส้นสนกลในเท่ากับ “สว.สีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย

“ท่านผู้ชมครับ ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรครับ ช่วงที่ภูมิใจไทยตีกาสิโนโยนหินถามทางเพื่อเปิดตัวว่ายืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเพื่อไทย สายสัมพันธ์เนวิน กับ อนุทิน ตอนนี้วิ่งเข้าไปในสำนักราชเลขาของพระราชวัง เพื่อพึ่งพาผู้หลักผู้ใหญ่ในการที่จะออกมาสร้างเรื่องสร้างราวที่ไม่เป็นความจริง ให้แวดวงคนหลายคนที่เกี่ยวข้องในการใช้กฎหมายนั้น ต้องคิดแล้วคิดอีก


“ท่านผู้ชมครับ เรื่่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย การที่พรรคภูมิใจไทยคิดที่จะครอบครอง สว. แล้วกำหนดกรรมการตัวแทนองค์กรอิสระ ตลอดจนผู้นำองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ป.ป.ช. ทุกจุด ที่ต้องพึ่งการลงคะแนนเสียงของ สว. นั้น เป็นการกระทำที่ไร้ยางอาย และเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมืองมาก เราจะไม่สามารถได้ตัวแทนจากองค์กรอิสระที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติบ้านเมืองได้เลย แต่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและคำขอร้องของคนที่ลงคะแนนเสียงให้ตัวเองผ่านเสียง สว. เพื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

“ท่านผู้ชมครับ คนไทยต้องการการเมืองแบบนี้หรือ การเมืองแบบนี้ การเมืองแบบพรรคเพื่อไทย การเมืองแบบหลายพรรค รังแต่จะทำให้ประเทศไทยล่มสลายเร็วขึ้น เป็นไปไม่ได้ครับ ถึงกับมีข่าวว่าผู้สมัครตำแหน่งใหญ่ๆ ก็พากันไปเจอตัวแทนของพรรคภูมิใจไทยที่โรงแรมพูลแมน เพื่อไปฝากเนื้อฝากตัวให้ช่วยดูแลให้หน่อย น่ากลัวมาก น่ากลัวและน่าเกลียดมากๆ”
นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น